ธงทอง จันทรางศุ | ความเปลี่ยนแปลงของภาษาเขียนแต่ละยุค

ธงทอง จันทรางศุ

เมื่อครั้งที่ผมเรียนหนังสืออยู่ในโรงเรียนชั้นมัธยม

จำได้ว่าในสมัยรัชกาลที่หก วรรณคดีสโมสรได้ประกาศยกย่องให้หนังสือพระราชนิพนธ์เรื่องพระราชพิธีสิบสองเดือนของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นยอดของความเรียงอธิบาย

ซึ่งมีความหมายว่า พระราชนิพนธ์เรื่องนี้เป็นหนังสือที่อธิบายรายละเอียดเกี่ยวกับพระราชพิธีต่างๆ ไว้อย่างบริบูรณ์ครบถ้วน ด้วยสำนวนร้อยแก้ว ที่ทำให้ผู้อ่านเกิดความเข้าใจได้โดยสะดวก

ทั้งยังมีความงดงามในแง่ของภาษาที่ทรงใช้ด้วย

ผมเองได้ใช้หนังสือสำคัญเรื่องนี้เป็นเครื่องมือในการแสวงหาความรู้อยู่บ่อยครั้ง

หนังสือที่มีอยู่ในบ้าน มีทั้งฉบับที่พิมพ์ครั้งแรกตั้งแต่สมัยรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และฉบับที่พิมพ์ในครั้งหลังต่อมา เวลาหยิบมาใช้งาน ส่วนมากแล้วผมเลือกที่จะหยิบเล่มที่ใหม่กว่ามาใช้พลิกไปพลิกมา ไม่กล้าหยิบเล่มที่พิมพ์ครั้งแรกมาเปิดอ่านครับ เพราะกระดาษกรอบและอาจหลุดติดมือมาก็ได้

ถ้าเกิดเหตุอย่างนั้นขึ้น ผมต้องร้องไห้โฮแน่ เพราะหาอีกไม่ได้แล้ว

ผมเคยนำหนังสือที่ได้รับยกย่องว่าเป็นยอดแห่งความเรียงเล่มนี้ให้ผู้เป็นนักเรียนของผมลองอ่านดู โดยเลือกใช้นักเรียนที่มีความรู้ความสามารถในระดับมาตรฐานของยุคปัจจุบันเป็นตัวอย่าง หลังจากปล่อยให้เขาใช้เวลาอยู่กับหนังสือเล่มนี้พักใหญ่แล้ว ผมถามว่า อ่านแล้วเห็นเป็นอย่างไรบ้าง

เกือบทุกคนพูดเหมือนกันว่า เป็นหนังสือที่อ่านยากมาก พลางอธิบายต่อไปว่า ยากทั้งภาษาที่ทรงใช้ และยากทั้งเนื้อหาที่ปรากฏในเรื่อง

ในส่วนที่เด็กๆ ว่ามีความยุ่งยากซับซ้อนในเรื่องเนื้อหานั้น ผมพอเข้าใจได้ เพราะเป็นสาระส่วนที่ทุกวันนี้ผู้คนหลงลืมกันไปเกือบหมดแล้ว

แต่ที่น่าสนใจเป็นพิเศษ คือ ข้อความเห็นที่ว่า ภาษาที่ปรากฏในพระราชนิพนธ์เรื่องนี้ไม่ใช่ภาษาที่เขาได้พบเห็นในชีวิตประจำวันอีกต่อไป

ไม่ต้องย้อนถอยหลังกลับไปร้อยปีเศษเพื่อไปอ่านหนังสือพระราชนิพนธ์เรื่องนี้หรอกครับ

เพียงแค่สำนวนที่ผมเขียนหนังสือให้ทุกท่านได้อ่านอยู่ในขณะนี้ ผมก็ไม่แน่ใจเสียแล้วว่าเป็นภาษาไทยที่เด็กรุ่นลูกรุ่นหลานของเราที่มีอายุในราว 20 ปี หรือมากน้อยกว่านั้นไม่มาก อ่านแล้วจะเข้าใจได้สักแค่ไหน

ในทางกลับกันตรงกันข้าม ผมลองไปพลิกอ่านหนังสือที่เด็กวัยรุ่นชอบอ่านกัน เวลามีงานสัปดาห์หนังสือหรืองานมหกรรมหนังสือแห่งชาติที่ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ หรือที่เมืองทองธานีก็ตาม ผมเห็นเด็กจำนวนมากที่อายุยังไม่ถึง 20 ปีบริบูรณ์นั่งบนพื้น ก้มหน้าก้มตาอ่านหนังสือที่เพิ่งซื้อมาสดๆ ร้อนๆ หนังสือเหล่านั้นแหละครับที่ผมไปขอเขาอ่านมา

ผมพบว่า ผมอ่านหนังสือแต่งใหม่ของยุคนี้ได้ช้ามาก เหมือนคนอ่านหนังสือไม่แตกเลยทีเดียว

สายตาต้องไล่ไปทีละบรรทัด มีคำศัพท์แปลกใหม่ที่ผมไม่เคยเห็นปรากฏบ่อยครั้ง

แถมหนังสือพวกนี้ส่วนมากก็เป็นนวนิยายเสียด้วย ผมต้องตั้งสติให้ดีเชียวว่า บนหน้ากระดาษที่ผมกำลังอ่านอยู่นั้น ใครกำลังพูดอะไรกับใคร และมีความหมายว่าอะไร

ความรู้สึกนี้ไม่ได้เกิดขึ้นเวลาที่ผมอ่านหนังสือที่คนรุ่นเดียวกันเป็นคนเขียน สำหรับหนังสือที่คนร่วมสมัยของผมเป็นผู้แต่งผู้เขียนนั้น อ่านไปหน้าไหนบรรทัดไหนก็เข้าใจซึมซาบไปหมด เรื่องที่เล่าก็ล้วนแต่ได้พบเห็นมาแล้วทั้งนั้น หนังสือแบบนี้ ผมสามารถกวาดสายตาได้อย่างรวดเร็ว และเก็บเนื้อความพร้อมอารมณ์ได้อย่างครบถ้วน

ไม่ตะกุกตะกักอย่างที่ตัวเองรู้สึกเมื่อไปอ่านหนังสือของ “เยาวชน” ปัจจุบัน

นี่แสดงว่าภาษาเขียนของแต่ละยุคก็เปลี่ยนแปลงไปเรื่อยๆ ภาษาหยุดนิ่งอยู่กับที่เสียเมื่อไหร่

เพื่อให้เข้าใจเรื่องนี้ชัดเจน ลองไปอ่านศิลาจารึกสมัยสุโขทัย หรือไปอ่านกฎหมายตราสามดวงซึ่งเป็นหนังสือเก่าตั้งแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยาดูบ้าง จะประจักษ์ความจริงในข้อนี้ทีเดียว

ผมมีข้อสังเกตเพิ่มเติมแต่เพียงว่า อัตราเร่งของความเปลี่ยนแปลงในยุคนี้ดูจะเร็วกว่าความเปลี่ยนแปลงที่เคยมีมาในภาษาหนังสือของเรา ผมลองสันนิษฐานดูเล่นๆ นะครับ ว่าสาเหตุที่เป็นเช่นนี้อาจมีมาจากต้นทางหลายอย่าง

อย่างหนึ่งที่พอเห็นได้ชัดคือความจำเป็นของภาษาที่ต้องปรับเปลี่ยนไปตามเทคโนโลยี ไม่ต้องดูอื่นไกลครับ ดูจาก LINE ที่เราพบเห็นในชีวิตประจำวันกันอยู่เสมอ ด้วยความจำกัดของพื้นที่ ด้วยหัวใจที่เร่งร้อนของคนเขียนข้อความที่อยากจะส่งไปยังปลายทางเสียให้ได้ในอึดใจนั้น รวมทั้งเมื่อมีความขี้เกียจเข้ามาผสมโรงด้วย

คำว่า เดี๋ยว จึงกลายร่างเป็น เด๋ว ไปได้อย่างง่ายดาย

อีกหน่อยพจนานุกรมของทางราชการไทยอาจจะต้องเก็บคำว่า เด๋ว เข้าไว้ในฉบับพิมพ์คราวหน้าเสียละกระมัง

สาเหตุแห่งความเปลี่ยนแปลงของภาษาเขียนอีกอย่างหนึ่งที่ผมพบบ่อยครั้ง คืออิทธิพลของวิธีเขียนภาษาต่างประเทศโดยเฉพาะอย่างยิ่งภาษาอังกฤษ ตัวอย่างเช่น การใช้คำว่า ซึ่ง เพื่อเชื่อมความที่อยู่ข้างหน้ากับข้างหลังเข้าด้วยกัน ซึ่งภาษาอังกฤษใช้คำว่า Which และใช้กันบ่อยครั้งในลีลาภาษาของเขา

ลองไปอ่านดูหนังสือที่เขียนกันในยุคนี้เถิดครับ คำว่า “ซึ่ง” มีปรากฏอยู่แทบทุกบรรทัด

มีแม้กระทั่งการใช้คำว่า “ซึ่ง” ขึ้นต้นย่อหน้า และย่อหน้าที่เพิ่งจบไปข้างบนก่อนหน้านั้นก็ไม่มีอะไรเกี่ยวข้องต้องเชื่อมโยงด้วยคำว่า “ซึ่ง” ให้ต้องเชื่อมโยงกับย่อหน้าที่ขึ้นต้นใหม่นี้เลย

“ซึ่งในเรื่องนี้ผมก็เห็นว่าน่ากังวลอยู่มาก…”

เห็นไหมครับว่า คำว่า “ซึ่ง” โผล่มาแบบจู่โจมจริงๆ มาแบบไม่มีปี่มีขลุ่ยเลยทีเดียว

ตัดคำนี้ออกไปก็ไม่เสียความอะไรเลย

อีกเรื่องหนึ่ง คือการเขียนรูปประโยคที่ภาษาฝรั่งเรียกว่า passive voice และแปลเป็นไทยแบบไม่มีใครรู้เรื่องว่า กรรมวาจก เช่น สำนวนว่า พระราชนิพนธ์เรื่องพระราชพิธีสิบสองเดือนถูกเขียนขึ้นโดยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

“ถูกเขียนขึ้นโดย” แบบนี้ล่ะครับ ที่มีกลิ่นอายนมเนยของฝรั่งอย่างเห็นได้ชัด

ถ้าเป็นสำนวนไทยตามขนบของเราย่อมกล่าวว่า พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระราชนิพนธ์หนังสือเรื่องพระราชพิธีสิบสองเดือน หรือถ้าจะเขียนว่า หนังสือเรื่องพระราชพิธีสิบสองเดือนนี้เป็นพระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ก็ได้เหมือนกัน

คำว่า ถูกเขียน ถูกพิมพ์ และถูกอะไรอีกมากมายล้วนแต่เป็นเรื่องนอกตำราภาษาไทยทั้งสิ้น

ถ้าผมจำไม่ผิด หม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช เคยให้ความเห็นไว้ว่า สำนวนที่ขึ้นต้นด้วยคำว่า “ถูก” แล้วตามด้วยคำกริยานั้น ในภาษาไทยมีความหมายไปในทางลบเสียทั้งสิ้น เช่น ถูกลงโทษ ถูกตี ถูกสอบสวน

มีถูกเดียวเท่านั้นที่ใครๆ ก็อยากถูก คือ “ถูกหวย”

ที่เขียนมาทั้งหมดนี้ก็ไว้อ่านกันเองสำหรับคนรุ่นราวคราวเดียวกัน อย่าเผลอเอาไปให้เด็กอ่านนะครับ

เด็กมันจะหัวร่อกันเกรียวทีเดียว

โถ! คนแก่เขาคุยกัน


พิเศษ! สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์, ศิลปวัฒนธรรม และเทคโนโลยีชาวบ้าน ลดราคาทันที 40% ตั้งแต่วันนี้ – 30 มิ.ย. 63 เท่านั้น! คลิกดูรายละเอียดที่นี่