วิรัตน์ แสงทองคำ : กระแสร้านสะดวกซื้อ

วิรัตน์ แสงทองคำviratts.wordpress.com

ท่ามกลางวิกฤตการณ์ COVID-19 แวดวงธุรกิจไทยแทบจะชะงักงัน เมื่อกลุ่มเซ็นทรัลขยับ จึงเป็นเรื่องจับตา มาจากความเคลื่อนไหวของบริษัท เซ็นทรัล รีเทล คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ CRC

“ดำเนินธุรกิจค้าปลีกสินค้าหลากหลายประเภทผ่านรูปแบบและช่องทางที่หลากหลายในประเทศไทย ประเทศอิตาลี และประเทศเวียดนาม และเป็นผู้บุกเบิกธุรกิจค้าปลีกในรูปแบบ Omni-channel ในประเทศไทย ซึ่งช่วยเสริมสร้างเครือข่ายร้านค้าปลีกในการนำเสนอสินค้าและบริการแก่ผู้บริโภค”

บริษัทล่าสุดของกลุ่มเซ็นทรัล เพิ่งจดทะเบียนกับตลาดหลักทรัพย์ฯ (20 กุมภาพันธ์ 2563)

เปิดฉากด้วยความเชื่อมั่น ตั้งราคาหุ้นในการสนอขายทั่วไป (Initial Public Offering หรือ IPO) ไว้ที่ 42 บาท/หุ้น แต่ในความเป็นไปไม่เป็นอย่างที่คาด ตั้งแต่วันแรกราคาซื้อ-ขายในตลาดหุ้นลดต่ำกว่าที่เสนอขายทั่วไปจนถึงทุกวันนี้

ยิ่งในช่วงต้นๆ วิกฤตการณ์ COVID-19 ราคาได้ลดลงระดับต่ำสุดอยู่แค่ 21 บาท/หุ้น

เมื่อสถานการณ์ค่อยๆ คลี่คลาย จึงค่อยๆ ปรับตัวสูงขึ้น และหลังจากดีลใหม่ ราคาหุ้นปรับตัวขึ้นอีกเล็กน้อย ยืนในระดับสูงที่สุดก็ว่าได้ ใกล้ราคา IPO ซึ่งก็ยังต่ำกว่าราวๆ 10%

ดีลที่ว่ามีขึ้นเมื่อวันที่ 27 กันยายน 2555 บริษัท เซ็นทรัล รีเทล คอร์ปอเรชั่น ได้ลงนามในสัญญาเข้าซื้อหุ้นของบริษัท สยามแฟมิลี่มาร์ท จำกัด ในจำนวน 50.29%

กลุ่มเซ็นทรัลจึงกลายเป็นผู้ถือหุ้นทั้งหมด (100%) และได้เปลี่ยนชื่อเป็น บริษัท เซ็นทรัล แฟมิลี่มาร์ท จำกัด เป็นไปตามแผนการให้กลุ่มเซ็นทรัล

“มีอำนาจในการบริหารแฟรนไชส์ภายใต้แบรนด์ Family Mart อย่างเต็มรูปแบบและสามารถต่อยอดนวัตกรรม เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภค ซึ่งจะเพิ่มโอกาสในการขยายกิจการซึ่งสอดคล้องกับกลยุทธ์ของบริษัท” สาระสำคัญถ้อยแถลงของ CRC ต่อตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย

 

Family Mart เครือข่าย Convenience store รายใหญ่แห่งญี่ปุ่น เข้ามาเมืองไทยนานพอสมควร เปิดสาขาแห่งแรกตั้งแต่ปี 2536 ถือว่าเป็นยุคต้น Convenience store หรือ C-Store ในประเทศไทย

ซึ่งก่อนหน้านั้นมี 7-Eleven เครือข่าย Convenience store รายใหญ่ที่สุดทั้งในญี่ปุ่น และเมืองไทย ได้เข้ามาเมืองไทยเป็นรายแรก (ปี 2531) โดยร่วมมือกับเครือซีพี แผ้วทางสู่ความสำเร็จทางธุรกิจได้อย่างเหลือเชื่อ

ในช่วงสองทศวรรษแรก Family Mart เติบโตอย่างเชื่องช้า มีสาขาเพิ่มขึ้นเพียงราวๆ 500 สาขาในปี 2555

ขณะที่ 7-Eleven ขยายเครือข่ายสาขาได้มากถึง 7,000 สาขาในช่วงเดียวกัน

เป็นจังหวะนั้น Family Mart พยายามปรับยุทธศาสตร์และโครงสร้างธุรกิจครั้งใหญ่ จับมือกับกลุ่มเซ็นทรัลในปลายปี 2555 ตามโมเดลการร่วมทุนแบบฉบับญี่ปุ่น (กลุ่มเซ็นทรัลถือหุ้นในสัดส่วน 51% และ Family Mart แห่งญี่ปุ่น 49%) พร้อมประกาศแผนการทางธุรกิจเชิงรุก เพื่อขยายสาขาตามเป้าหมายใหม่ให้มากกว่า 1,500 สาขา ภายใน 5 ปี และเพิ่มเป็น 3,000 สาขา ภายใน 1 ทศวรรษ

ในความเป็นจริงผ่านมาเกือบๆ ทศวรรษ แผนการเชิงรุกที่ว่านั้น ไม่บรรลุเป้าหมายอย่างสิ้นเชิง ปัจจุบัน Family Mart ในประเทศไทยยังคงมีสาขาไม่ถึง 1,000 แห่งเท่านั้น (อ้างข้อมูลจำนวนสาขาจาก https://www.centralretail.com/th/business/food)

 

ข้างต้นเชื่อว่าจะเป็นเหตุปัจจัยหนึ่งของการเปลี่ยนแปลง การเกิดดีลครั้งล่าสุด ท่ามกลางมุมมองธุรกิจ C-Store ในประเทศไทย เป็นไปในเชิงบวก ไม่ว่าจะอ้างอิงบทวิเคราะห์จากผู้เชี่ยวชาญอย่าง Euromonitor (เพิ่งนำเสนอรายงาน Convenience Stores in Thailand เมือเดือนมีนาคมที่ผ่านมา) ซึ่งกลุ่มเซ็นทรัลมักใช้ข้อมูลจากแหล่งนี้ หรือมุมมองของคู่ค้าสำคัญ -ผู้นำธุรกิจ FMCG (Fast Moving Consumer Goods) อย่าง DKSH Thailand (หากสนใจ โปรดอ่าน The rise of convenience stores in Thailand : what”s the impact on brand owners? by Luke Horton General Manager, Business Development, Business Unit Consumer Goods at DKSH Thailand)

ปัจจัยเร่งควรเป็นไปอีกมิติหนึ่ง คือความเป็นไปทางสังคมผู้บริโภคท่ามกลางวิกฤตการณ์ COVID-19 ปรากฏว่า C-Store ใกล้บ้าน เปิดบริการอยู่เสมอ แม้จะลดเวลาให้บริการลงบ้าง ขณะที่ห้างค้าปลีกอีกหลากหลายโมเดลจำต้องปิดตัวลงอย่างสิ้นเชิงในช่วงเวลา Lockdown

ภาพนั้นกระจ่างชัดยิ่งขึ้น เมื่อเปรียบเทียบโมเดลธุรกิจค้าปลีก ระหว่างเครือข่ายซีพีกับกลุ่มเซ็นทรัล

 

มิติสำคัญกลุ่มเซ็นทรัล กับ “บริหารแฟรนไชส์ภายใต้แบรนด์ Family Mart อย่างเต็มรูปแบบและสามารถต่อยอดนวัตกรรม…” (อ้างไว้ข้างต้น) มีความเชื่อมโยงโดยตรงกับ Family Mart แห่งญี่ปุ่น พันธมิตรธุรกิจที่มีความเคลื่อนไหวน่าสนใจ เชื่อว่าสอดคล้องแผนการเชิงรุก

Family Mart ธุรกิจ C-Store เกิดขึ้นในปี 2524 ในฐานะธุรกิจญี่ปุ่นตั้งแต่ต้น ขณะที่คู่แข่งสำคัญอย่าง 7-Eleven และ Lawson ไม่ได้เป็นเช่นนั้น

7-Eleven เริ่มต้นที่ Dallas, Texas สหรัฐอเมริกา เมื่อเผชิญวิกฤตการณ์ตลาดหุ้นตกต่ำครั้งใหญ่ในสหรัฐ หรือที่เรียกกันว่า Black Monday (ปี 2530) ผู้ถือลิขสิทธิ์ 7-Eleven ในญี่ปุ่นในฐานะมีสาขามากที่สุดในโลกได้กลายมาเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ ในที่สุด 7-Eleven จึงกลายเป็นธุรกิจญี่ปุ่น (ปี 2548)

ขณะที่ Lawson มีตำนานเริ่มต้นมาจากสหรัฐเช่นเดียวกัน เปิดขึ้นที่ Akron, Ohio ด้วยเรื่องราวอื้อฉาวและไม่ราบรื่นในช่วงต้นๆ ก่อนมาเริ่มต้นดำเนินกิจการในญี่ปุ่นอย่างจริงจังในปี 2518 โดยกิจการร่วมทุนระหว่างบริษัทอเมริกันกับญี่ปุ่น ก่อนจะกลายเป็นของญี่ปุ่นไม่นานจากนั้น

โดยเครือข่ายธุรกิจยักษ์ใหญ่-Mitsubishi Corporation ได้เข้ามาถือหุ้นใหญ่ (Lawson เข้ามาเมืองไทยปี 2556 ด้วยร่วมมือกับกลุ่มสหพัฒน์ เพิ่งมีดีลในแผนการขยายสาขาในสถานี BTS)

 

ไม่กี่ปีมานี้ Family Mart ในญี่ปุ่นดำเนินแผนการเชิงรุกด้วยนวัตกรรมหลายกรณี ตั้งแต่การร่วมมือกับ Japan Post (ปี 2559) ให้บริการนักท่องเที่ยว สามารถส่งบรรจุภัณฑ์จากเครือข่าย Family Mart ในญี่ปุ่นไปยังเครือข่าย Family Mart ในต่างประเทศ ส่วนใหญ่อยู่ภูมิภาคเอเชีย ภูมิภาคซึ่งเป็นต้นทางกลุ่มนักท่องเที่ยวกลุ่มใหญ่ที่สุดในญี่ปุ่น ตามมาด้วยปรับโมเดลใหม่ในสาขาหลายแห่ง เปิดบริการโรงยิม ออกกำลังกาย (ปี 2560) กรณีร่วมมือกับ Airbnb (ปี 2561) เปิดบริการให้ผู้เข้าพักสามารถรับ-คืนกุญแจห้องพักที่สาขา Family Mart ได้ ไปจนถึงอีกกรณีที่น่าสนใจ เปิดบริการ mobile payment (ปี 2562) ด้วย Application ของตนเอง

ที่สำคัญ ไม่กี่ปีมานี้มีดีลสำคัญ (ปี 2559) Family Mart ได้ควบรวมกิจการกับ Uny Group Holdings ซึ่งถือแฟรนไชส์เครือข่าย C-Store จากแคนาดาในแบรนด์ Circle K Sunkus มีมากกว่า 6,000 สาขาในญี่ปุ่น (ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็น Family Mart) ส่งผลให้เครือข่าย Family Mart ในญี่ปุ่นเพิ่มขึ้นทันที กลายเป็นเครือข่าย C-Store ใหญ่ ขยับจากอันดับ 3 มาเป็นเครือข่ายที่ใหญ่ที่สุดเป็นอันดับ 2 ในญี่ปุ่น เป็นรองแค่ 7-Eleven ซึ่งมีจำนวนสาขาไม่ห่างกันมาก

กรณี เซ็นทรัล กับ Family Mart ในแผนการเชิงรุก เชื่อว่าคงไม่ได้มุ่งหมายขยายสาขาให้มีจำนวนมากมายให้เทียบเคียงกับ 7-Eleven อย่างกรณีในญี่ปุ่น หากเป็นไปได้ ตามแผนการผนึกกำลังในธุรกิจอาหาร (Food) ซึ่งมีธุรกิจแวดล้อม มีความซับซ้อน และมีประสบการณ์ กว่าเครือข่ายค้าปลีกรายอื่นๆ ในประเทศไทย

โดยเฉพาะมีรากฐานผู้นำธุรกิจค้าปลีกโมเดลซูเปอร์มาร์เก็ต (Supermarket) ที่มีแบรนด์ Tops เป็นแกนซึ่งแตกแขนงออกไปอย่างหลากหลาย

 


พิเศษ! สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์, ศิลปวัฒนธรรม และเทคโนโลยีชาวบ้าน ลดราคาทันที 40% ตั้งแต่วันนี้ – 30 มิ.ย.63 เท่านั้น! คลิกดูรายละเอียดที่นี่