ธมฺมํ สุจริตํ จเร พึงประพฤติธรรมให้สุจริต

สูตรสำเร็จในชีวิต (20)

การประพฤติธรรม (2)

ผู้รู้ท่านตั้งข้อสังเกตว่า นักประพฤติธรรม ควรดูพระอริยสงฆ์เป็นหลักแล้วจะไม่เสียหลักการประพฤติธรรม ท่านว่าอย่างนั้น

ดูอย่างไร พระอริยสงฆ์ท่านปฏิบัติครบสี่ลักษณะคือ ปฏิบัติดี ปฏิบัติตรง ปฏิบัติควร ปฏิบัติเหมาะสม ปุถุชนอย่างเราเวลาจะทำอะไรก็ควรยึดหลัก “ดี-ตรง-ควร-เหมาะสม” แล้วจะประสบความสำเร็จ นี่ว่าถึงการกระทำหน้าที่การงานโดยทั่วไป

พูดในเรื่องการทำความดี ไม่ว่าจะทำอย่างไหนก็ตาม ก็ต้องยึดหลักนี้เช่นกัน คือ จะต้องทำดีให้ดี ทำดีให้ตรง ทำดีให้ควร และทำดีให้เหมาะสม

พูดมาถึงตรงนี้บางท่านอาจสงสัยว่า ผมพูดอะไร “ไม่รู้ฟัง”

ทำดีไม่ดีมีหรือ

มีสิครับ ลองดูพฤติกรรมของคนส่วนใหญ่ดู หลายคนทำดีก็จริง

แต่ทำดีไม่ดีดอกครับ

ยกตัวอย่างบางคนตั้งใจจะบวช นั่นเป็นการทำดีไม่มีใครเถียง

แต่พอถึงวันบวชเลี้ยงเหล้ายาปลาปิ้งเฉลิมฉลองกัน

พอเหล้าเข้าปากก็ทะเลาะวิวาทกันถึงกับฆ่าฟันกันตายก็มี

นาคแทนที่จะได้เข้าโบสถ์บวชเป็นพระ กลับต้องเข้าเมรุ คือกลายเป็นศพถูกหามไปเผาที่เมรุแทนก็มี

อย่างนี้เรียกว่าเจตนาจะทำดี แต่ทำดีไม่ดี ทำดีไม่ตรงตามเป้าหมาย ทำดีไม่เหมาะสม ทำดีไม่ควร ก็เลยกลายเป็นเสียไป

เพราะฉะนั้น พระพุทธองค์จึงตรัสไว้ว่า ธมฺมํ สุจริตํ จเร พึงประพฤติธรรมให้สุจริต แปลเอาง่ายๆ ชนิดที่ฟังออกทันทีก็คือ อันการทำดีนั้นต้องทำดีๆ มันถึงจะดีนั่นแหละครับ

การประพฤติธรรมกับการปฏิบัติธรรมเป็นเรื่องเดียวกันนะครับ เพียงแต่ใช้คำให้มันต่างกันเท่านั้นเอง การประพฤติธรรมแปลมาจากคำพระว่า “ธัมมปฏิบัติ”

มีหลายคนยังเข้าใจผิดว่า การศึกษากับการปฏิบัติเป็นคนละเรื่องกัน เข้าใจว่าการเล่าเรียนหรือการเรียนหนังสือเรียกการศึกษา การลงมือทำตามที่เรียนมาคือการปฏิบัติ

ความจริงไม่ใช่

ถ้าดูที่มาของคำเหล่านี้แล้ว จะเห็นคำพูดอยู่สามคำมาเป็นหมวดเดียวกันคือ ปริยัติ ปฏิบัติ ปฏิเสธ ปฏิเวธ

ทั้งปริยัติ (การเรียน) และปฏิบัติ (การลงมือทำ) คือสิ่งที่เรียกว่าการศึกษา

ส่วนผลที่เกิดจากปริยัติและปฏิบัติเรียกว่าปฏิเสธ

ดังนั้น ปริยัติก็คือการศึกษา เป็นการศึกษาขั้นปริยัติ ปฏิบัติก็คือการศึกษา เรียกว่าศึกษาขั้นปฏิบัติ เรื่องที่ต้องศึกษาตามหลักพระพุทธศาสนาก็คือเรื่องปัญญา ศีล สมาธิ (หรือที่คนไทยเรียกติดปากว่า ศีล สมาธิ ปัญญา)

เมื่อใครเอ่ยคำว่าปฏิบัติ จึงมิใช่การทำสมาธิเพียงอย่างเดียว หากหมายถึงการทำศีล สมาธิ ปัญญา ให้เกิดมีและเจริญ เป็นการดำเนินตามหลักอริยมรรคมีองค์แปดหรือดำเนินตามแนวทางแห่งกุศลกรรมบถสิบ

ดังที่พระอรรถกถาจารย์ท่านว่า หรือเรียกง่ายๆ ว่า “การทำดีให้ดี ให้ตรง ให้ควร ให้เหมาะสม” นั่นเองมิใช่อะไรอื่น

ที่พูดมานี้ผมรู้ดีว่าบางท่านอ่านแล้วเข้าใจทันที แต่อีกหลายท่านคงบ่นอุบว่าเขียนอะไรอ่านไม่รู้เรื่อง

ไม่รู้ก็ต้องเขียนครับเพื่อปรับความเข้าใจให้ตรงกันในแง่หลักวิชาการ ไม่งั้นจะเตลิดไกล

ไกลจนเห็นว่า การนั่งทำสมาธิเท่านั้นคือการปฏิบัติธรรม คนอื่นที่เขาดำเนินชีวิตในทางที่ถูกต้องดีงามอย่างอื่นไม่ได้ปฏิบัติธรรมนั่นแหละจ้ะ