คุยกับทูต ‘อันดรีย์ เบชตา’ เส้นทางสู่เอเชียของยูเครน (จบ)

หลายสัปดาห์ หลายเดือนที่ผ่านมา การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ (COVID-19) ทำให้รัฐบาลทั่วโลกต้องหันมาทุ่มความพยายามในการปกป้องสุขภาพและความปลอดภัยของประชาชนเป็นหลัก

“จากการตัดสินใจใช้นโยบายอย่างเหมาะสมทันท่วงทีมีประสิทธิภาพ ที่ดำเนินการโดยรัฐบาลของประเทศยูเครนและประเทศไทย ทำให้จำนวนของผู้ติดเชื้อไวรัสโคโรนาค่อนข้างต่ำเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคของเรา”

“ทั้งนี้ รัฐบาลยูเครนได้ดำเนินมาตรการต่างๆ อย่างค่อยเป็นค่อยไป โดยการลดทอนข้อจำกัดต่างๆ ในการเปิดพื้นที่สำหรับกิจกรรมทางเศรษฐกิจมากขึ้น”

นายอันดรีย์ เบชตา (H.E. Mr. Andrii Beshta) เอกอัครราชทูตยูเครนประจำประเทศไทย เล่าว่า

“ผมได้รับโอกาสพิเศษเข้าร่วมประชุมปรึกษาหารือกับบุคคลสำคัญต่างๆของประเทศไทย ซึ่งได้แก่ นายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา และประธานสภาผู้แทนราษฎร เมื่อวันที่ 20 มกราคม และก่อนหน้านั้นคือวันที่ 10 มกราคม เข้าพบนายวิชาวัฒน์ อิศรภักดี ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงการต่างประเทศ ต่อมาเข้าพบนายวีรศักดิ์ หวังศุภกิจโกศล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ในวันที่ 20 กุมภาพันธ์”

“การพบกันดังกล่าว ทำให้ผมเชื่อมั่นว่าจะมีความร่วมมือกันในหลายๆ ด้านระหว่างสองประเทศ ที่สำคัญคือเราไม่ได้เริ่มต้นจากศูนย์ เพราะความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างยูเครนกับราชอาณาจักรไทยเริ่มมาตั้งแต่ปี ค.ศ.1992 และตลอดสามทศวรรษที่ผ่านมา ทั้งสองประเทศสามารถสร้างรากฐานที่มั่นคงเพื่อให้สามารถพัฒนาความร่วมมือระดับทวิภาคีได้ในหลายๆ เรื่อง”

“อีกครั้งในโอกาสนี้ ยูเครนขอขอบคุณเป็นอย่างสูงที่ประเทศไทยเป็นหนึ่งใน 100 ประเทศ ที่ได้ลงมติเห็นชอบในมติประวัติศาสตร์ของสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ เรื่อง “บูรณภาพแห่งดินแดนของยูเครน” เมื่อเดือนมีนาคม ค.ศ.2014 เนื่องจากเวลานั้น รัสเซียไม่เพียงแต่เข้ายึดครองพื้นที่ของเมืองไครเมีย (Crimea) เท่านั้น แต่ยังส่งกองกำลังติดอาวุธเข้ารุกรานเมืองดอนบาส (Donbass) พร้อมกับกองทัพนับพันเข้าประจำการ อีกทั้งการจัดหาอาวุธหนัก กระสุนจำนวนมากและเชื้อเพลิงเข้าพื้นที่อีกด้วย”

ท่านทูตอันดรีย์ เบชตา เสริมว่า

“อย่างไรก็ตาม ยูเครนหวังว่า ประเทศไทยจะยังคงปฏิบัติตามนโยบายไม่ยอมรับความพยายามของรัสเซีย ในการผนวกดินแดนไครเมีย และจะดำเนินการตามบรรทัดฐานและหลักการของกฎหมายระหว่างประเทศ”

“ยูเครนตระหนักดีว่า ไทยเป็นอีกประเทศหนึ่งที่มีบทบาทสำคัญในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ดังนั้น ไทยจึงเป็นหนึ่งในพันธมิตรที่สำคัญของยูเครนในภูมิภาคนี้ ด้วยศักยภาพทางอุตสาหกรรมและวิทยาศาสตร์ รวมทั้งทรัพยากรด้านการเกษตรของยูเครน ยูเครนจึงสามารถเป็นพันธมิตรที่สำคัญสำหรับประเทศไทย และโดยเฉพาะอย่างยิ่งเป็นประตูสู่ยุโรป เนื่องจากยูเครนมีเขตการค้าเสรีกับสหภาพยุโรป”

“ยูเครนตั้งตารอที่จะได้มีโอกาสใหม่ในการพัฒนาความร่วมมือระดับทวิภาคีกับไทยในทุกๆ ด้านที่มีความสนใจร่วมกัน ตามที่ได้มีการตกลงกันในระหว่างการเยือนไทยอย่างเป็นทางการของอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศยูเครน นายพาฟโล คลิมคิน (H.E. Mr. Pavlo Klimkin) ซึ่งมาเยือนประเทศไทยในเดือนมิถุนายน ค.ศ.2017”

“ปีที่แล้ว กรุงเคียฟ ประเทศยูเครน ได้รับเกียรติให้เป็นเจ้าภาพในการปรึกษาหารือทางการเมืองระหว่างกระทรวงต่างประเทศของยูเครนและประเทศไทยรอบที่ 2 ซึ่งผมหวังว่าในปีนี้เราจะสามารถจัดให้มีการปรึกษาหารือทางการเมืองระหว่างกระทรวงต่างประเทศรอบที่ 3 ที่กรุงเทพมหานคร เพื่อหารือเกี่ยวกับประเด็นปัญหาในวาระการประชุมของเรา รวมถึงกำหนดขั้นตอนที่จะต้องดำเนินการทั้งในระยะสั้นและระยะกลาง ซึ่งเราจะมีการจัดการประชุมคณะกรรมาธิการร่วมระหว่างรัฐบาลเพื่อความร่วมมือในระดับทวิภาคีเป็นลำดับ”

“ในแง่ของการค้านั้น ประเทศไทยเป็นหนึ่งในประเทศคู่ค้าที่ใหญ่ที่สุดของยูเครนในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และรวมอยู่ใน 20 ประเทศแรกของตลาดส่งออกของยูเครน ปีที่แล้วปริมาณการค้าเพิ่มขึ้นเกือบ 600 ล้านเหรียญสหรัฐ ผมเชื่อมั่นว่าแม้ตัวเลขเหล่านี้จะค่อนข้างดี แต่ยูเครนและไทยยังมีศักยภาพที่จะเพิ่มปริมาณการค้าระดับทวิภาคีให้ได้มากกว่านี้”

“ปัจจุบันนี้ การส่งออกสำคัญของยูเครนมายังราชอาณาจักรไทยประกอบด้วยสินค้าทางการเกษตร เช่นในปี ค.ศ.2019 ยูเครนเป็นผู้จัดหาข้าวสาลีรายใหญ่ที่สุดให้แก่ราชอาณาจักรไทย อย่างไรก็ตาม โดยแท้จริงแล้ว มีศักยภาพที่ยังไม่ได้ถูกใช้จำนวนมากในการร่วมมือกันโดยเฉพาะอย่างยิ่งในนโยบายเศรษฐกิจของรัฐบาล (Thailand 4.0)”

“พื้นที่ที่มีแนวโน้มมากที่สุด คือการเกษตรและเทคโนโลยีชีวภาพ, การบินและอวกาศ, อุตสาหกรรมการป้องกันประเทศ, ไอที, การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน, พลังงาน, ผลิตภัณฑ์ยา และอื่นๆ เนื่องจากศักยภาพทางอุตสาหกรรมและวิทยาศาสตร์ที่สำคัญของยูเครนนั้นมีความพร้อม ทั้งสองประเทศจึงสามารถให้ความร่วมมือที่เป็นประโยชน์ร่วมกันในด้านต่างๆ นี้ได้”

“ตัวอย่างเช่น ยูเครนเป็นหนึ่งในไม่กี่ประเทศในโลกที่มีวงจรอุตสาหกรรมการบินและอวกาศเต็มรูปแบบนั่นคือ การวิจัยและออกแบบ การทดสอบและการผลิตอย่างต่อเนื่อง ซึ่งยูเครนและประเทศไทยมีตัวอย่างด้านบวกในความร่วมมือทางด้านนี้อยู่แล้ว นั่นคือ การเปิดตัวที่ประสบความสำเร็จอย่างมากในปี ค.ศ.2008 ของดาวเทียมไทยดวงแรกที่ชื่อ “ไทยโชตหรือธีออส (THEOS)” ขึ้นสู่อวกาศโดยจรวดนำส่ง “เนปเปอร์ (Dnipro)” ของยูเครน”

ไทยโชตหรือธีออส เป็นดาวเทียมสำรวจทรัพยากรดวงแรกของไทยได้ทะยานขึ้นสู่อวกาศ ในวันพุธที่ 1 ตุลาคม ค.ศ.2008 ตามเวลาประเทศไทย 13:37:16 น. หรือ 6.37:16 น. ตามเวลามาตรฐานสากล (UTC) โดยจรวดนำส่ง “เนปเปอร์” (Dnepr) จากฐานส่งจรวดเมืองยาสนี (Yasny)

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานชื่อดาวเทียมสำรวจทรัพยากร THEOS ว่า “ดาวเทียมไทยโชต” ชื่อภาษาอังกฤษว่า “Thaichote” ซึ่งแปลว่า ดาวเทียมที่ทำให้ประเทศไทยรุ่งเรือง

“เมื่อไม่นานมานี้ อากาศยานยูเครน “อันโตนอฟ” รุ่น AN-225 (Antonov) ซึ่งเป็นเครื่องบินขนส่งขนาดใหญ่ที่สุดในโลกและทำลายสถิติโลกหลายครั้ง ได้ขนส่งเวชภัณฑ์ที่สำคัญจากประเทศจีนไปยังทวีปยุโรปเพื่อช่วยต่อสู้กับโรคระบาดไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ หรือ COVID-19 อีกด้วย”

“เราให้ความสนใจอย่างมากต่อการลงทุนของไทยในยูเครนซึ่งเปิดโอกาสอย่างกว้างขวาง การลงทุนของต่างชาติในยูเครนที่ให้ผลดีมากและเชื่อถือได้ไม่จำกัดเฉพาะภาคการเกษตรได้แก่ อุตสาหกรรมไอที การก่อสร้างและการบริการ ที่ตั้งทางภูมิศาสตร์เป็นเอกลักษณ์สำคัญของยูเครน รวมถึงมีเขตการค้าเสรีที่ครอบคลุม และความสัมพันธ์ของยูเครนที่ลึกซึ้งกับสหภาพยุโรป จะช่วยสร้างโอกาสอย่างมากมายสำหรับนักลงทุนไทยที่สนใจจะลงทุนในยูเครนเพื่อเข้าถึงตลาดในสหภาพยุโรป”

“ในระหว่างการพบปะกับนายวีรศักดิ์ หวังศุภกิจโกศล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ ผมรู้สึกยินดีที่เรามีความเห็นร่วมกันว่า ประเทศของเราจำเป็นต้องหาโอกาสในเชิงลึกเพื่อเพิ่มอัตราการค้าและการลงทุนในระดับทวิภาคี โดยตกลงที่จะจัดการประชุมคณะกรรมการการค้าร่วมครั้งที่ 1 และเวทีธุรกิจยูเครน-ไทยภายในสิ้นปีนี้ แม้ว่ามีการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ ผมก็คิดว่า มีความเป็นไปได้สูงที่จะจัดงานดังกล่าวในปีนี้”

ท่านทูตให้ความเห็น

“อีกหนึ่งในเรื่องหลักที่ยูเครนและราชอาณาจักรไทยได้พัฒนาความเป็นหุ้นส่วนที่ยืนยาวและบรรลุความก้าวหน้าที่สำคัญคือ เรื่องการป้องกันประเทศ ตั้งแต่ปี ค.ศ.2008 ยูเครนได้ส่งมอบรถหุ้มเกราะ (APC) รุ่น BTR-3E1 จำนวน 240 คัน และรถถัง (OPLOT) จำนวน 49 คัน ให้แก่กองทัพบกไทยและกองทัพเรือไทย ด้วยวิธีนี้ ยูเครนได้สนับสนุนการเสริมสร้างศักยภาพในการป้องกันประเทศของราชอาณาจักรไทย”

“ผมมีความภูมิใจที่ได้เห็นรถถัง “BTR-3E1” และ “OPLOT” เข้าร่วมในพิธีสวนสนามถวายสัตย์ปฏิญาณตนของกองกำลังผสม เนื่องในวันกองทัพไทยเมื่อวันที่ 18 มกราคมที่ผ่านมา”

“ยิ่งไปกว่านั้น ยูเครนได้ร่วมมือกับสถาบันเทคโนโลยีป้องกันประเทศ กระทรวงกลาโหมของไทย เพื่อการจัดตั้งความร่วมมือในการผลิตรถหุ้มเกราะ (APC) ในประเทศไทย รวมถึงชุดคำสั่งควบคุม BTR3 ซึ่งยูเครนและไทยออกแบบร่วมกัน โครงการดังกล่าวถูกนำเสนอในระหว่างการจัดนิทรรศการ “Defense & Security 2019” ที่กรุงเทพมหานคร เดือนพฤศจิกายนปี ค.ศ.2019 ซึ่งความร่วมมือดังกล่าวสอดคล้องกับนโยบาย “Thailand 4.0″ ของรัฐบาลไทย ตลอดจนนโยบายที่มีจุดประสงค์เพื่ออุตสาหกรรมป้องกันประเทศ”

“จากการปิดพรมแดนเมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ชาวยูเครนในประเทศไทยประมาณ 1,300 คน สามารถเดินทางกลับยูเครนโดยเที่ยวบินพิเศษเพื่อรับส่งบุคคลกลับภูมิลำเนา (repatriation flight)”

“อย่างไรก็ตาม ยังมีชาวยูเครนหลักพันคนที่ยังคงติดค้างอยู่ในราชอาณาจักรไทย ทั้งผู้มาในฐานะนักท่องเที่ยวและผู้ที่มีใบอนุญาตทำงานหรือพักอาศัย ชาวยูเครนที่ตกค้างหลายคนต่างประทับใจในความเป็นมิตรและความเห็นอกเห็นใจของคนไทยต่อชาวต่างชาติที่ติดค้างในประเทศ”

“ชาวไทยส่วนหนึ่งในยูเครนก็ได้รับการนำกลับมายังประเทศไทยเช่นกันโดยสายการบินยูเครนอินเตอร์เนชั่นแนล เมื่อช่วงต้นเดือนที่ผ่านมาด้วย”

“เมื่อปี ค.ศ.2019 มีนักท่องเที่ยวชาวยูเครนที่เดินทางเข้ามาราชอาณาจักรไทยจำนวน 100,000 คน ซึ่งถือเป็นจำนวนที่สูงเป็นประวัติการณ์ กล่าวคือ เพิ่มขึ้นประมาณ 25,000 คนเมื่อเทียบกับปี ค.ศ.2018 ซึ่งการเพิ่มขึ้นดังกล่าวนั้น ส่วนใหญ่เป็นผลมาจากนโยบายของรัฐบาลไทยที่ยกเลิกวีซ่าสำหรับนักท่องเที่ยวชาวยูเครน ตั้งแต่เดือนเมษายน ปี ค.ศ.2019 เป็นต้นมา”

“ผมมั่นใจว่า ภายหลังสถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 จะทำให้ชาวยูเครนเดินทางมาท่องเที่ยวประเทศไทยมากขึ้นในฐานะที่เป็นหนึ่งในจุดหมายปลายทางการท่องเที่ยวที่เป็นที่รักของพวกเขา เพราะการต้อนรับแบบไทยนั้นได้รับการชื่นชมจากชาวยูเครนเสมอมา”

“และผมก็หวังว่า คนไทยจะเลือกยูเครนเป็นจุดหมายปลายทางในการท่องเที่ยวเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ เพราะยูเครนเป็นประเทศที่ใหญ่ที่สุดประเทศหนึ่ง มีความหลากหลายและยังไม่ได้ถูกค้นพบ เป็นเขตแดนการท่องเที่ยวแห่งสุดท้ายของยุโรปซึ่งเต็มไปด้วยประเพณีที่มีสีสันอันงดงาม ผู้คนที่อบอุ่น และมากด้วยประสบการณ์ที่อาจหาไม่ได้ในแผนที่”

“นับตั้งแต่เดือนเมษายนปี ค.ศ.2018 พลเมืองไทยที่มีความประสงค์จะเดินทางไปยูเครน สามารถสมัครขอวีซ่าอิเล็กทรอนิกส์ทางออนไลน์ได้โดยไม่ต้องออกจากบ้าน ยูเครนเป็นจุดหมายปลายทางของการท่องเที่ยวที่ค่อนข้างใหม่ และบางครั้งนักท่องเที่ยวอาจมองข้ามไป ถึงอย่างไรก็ตาม หากกำลังมองหาธรรมชาติที่สวยงาม วัฒนธรรมที่หลากหลาย สถานที่ท่องเที่ยวให้เลือกมากมาย ยูเครนเป็นตัวเลือกที่เหมาะสมสำหรับทุกคน”

ท่านทูตอันดรีย์ เบชตา จบการสนทนาด้วยคำพูดของนายดมิโตร คูแลบา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศยูเครน ที่กล่าวว่า

“เราต้องการต้อนรับคนไทยให้ไปยูเครนกันให้มากขึ้น และเราก็อยากเห็นคนยูเครนมาประเทศไทยให้มากขึ้นเช่นกัน”

ประวัติ

นายอันดรีย์ เบชตา

1998-2001 : ผู้ช่วยเลขานุการ, เลขานุการตรี, เลขานุการโท ประจำแผนกสหประชาชาติและองค์กรระหว่างประเทศ กระทรวงต่างประเทศยูเครน

2001-2005 : เลขานุการโท, เลขานุการเอก คณะผู้แทนถาวรแห่งยูเครนประจำสหประชาชาติ ณ นครนิวยอร์ก

2005-2007 : ที่ปรึกษา ผู้อำนวยการกองสหประชาชาติ และองค์กรระหว่างประเทศ กระทรวงต่างประเทศยูเครน

2007-2011 : ที่ปรึกษา สถานเอกอัครราชทูตยูเครนประจำประเทศไทย

2011-2016 : รองอธิบดีรักษาการแทนอธิบดี กรมองค์การระหว่างประเทศ กระทรวงต่างประเทศยูเครน

2016-ปัจจุบัน : เอกอัครราชทูตยูเครนประจำประเทศไทย


พิเศษ! สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์, ศิลปวัฒนธรรม และเทคโนโลยีชาวบ้าน ลดราคาทันที 40% ตั้งแต่วันนี้ – 30 มิ.ย. 63 เท่านั้น! คลิกดูรายละเอียดที่นี่