กินเหล้าในที่สาธารณะช่วงสงกรานต์ไทย มีมาตั้งแต่สมัยโบราณ

ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ

ประกาศว่าด้วยคนพาลเสพสุราในเวลาตรุษสงกรานต์ คัดจากหมายรับสั่ง ปีเถาะ สัปตศก (พ.ศ.2398) ในรัชกาลที่ 4 มีสาเหตุสำคัญ ที่ทำให้ทรงต้องออกหมายรับสั่งอยู่ในประกาศฉบับเดียวกันนี้ว่า

“(รัชกาลที่ 4) ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ สั่งว่าเทศกาลตรุษสงกรานต์ ควรที่ราษฎรจะชักชวนทำบุญให้ทานกระทำการกุศลจึงจะชอบ นี่หาดังนั้นไม่ คนที่เป็นพาลสันดานหยาบชวนกันไปเสพสุราแล้วพากันไปเที่ยวกลางถนนหนทาง พูดจาท้าทายกล้าหาญให้เกิดการก่อวิวาทชกตีกัน เพราะเสพสุราแล้วหาอยู่ในบ้านในเรือนของตัวไม่ แต่นี้สืบไปเมื่อหน้า ผู้ใดผู้หนึ่งจะเสพสุราเมาสักเท่าใดก็มิได้ห้าม ด้วยสุรามีอากรอยู่แต่เดิม ครั้งจะห้ามเสียทีเดียวก็หาควรไม่ ถ้าผู้ใดเสพสุราแล้วก็ให้อยู่แต่ในบ้านในเรือนของตัว ห้ามอย่าให้ไปเที่ยวชกตีวิวาทตามถนนหนทาง ที่บ้านเรือนเขตแดนผู้อื่น เป็นอันขาดทีเดียว”

ส่วนที่ไม่แก้ปัญหาด้วยการประกาศห้ามให้เสพสุราในช่วงเทศกาลสงกรานต์ไปเลย ก็ประกาศอยู่โต้งๆ ว่า เป็นของมีอากร ซึ่งย่อมหมายถึงรายได้ โดยเฉพาะเมื่อเป็นรายได้สำคัญของรัฐอยู่แต่เดิม

ประกาศในรัชกาลที่ 4 เรื่องอากรเตาสุราที่กรุงเก่า ณ วันอังคาร เดือน 5 ขึ้น 9 ค่ำ ปีมะเมีย ยังเป็นนพศก (พ.ศ.2401) คืออีกเพียงสามปีถัดมาจากประกาศฉบับที่ผมพูดถึงข้างต้น แสดงให้เห็นถึงการเจริญเติบโตของธุรกิจการค้าสุรา ที่เป็นผลมาจากมาตรการที่พระองค์ทรงจัดการกับการประกันผลผลิตภายในประเทศ ก่อนส่งออกในช่วงเวลาก่อนหน้านั้นหนึ่งปี (พ.ศ.2400) ดังความตอนต้นในประกาศฉบับนี้ว่า

“ในปีมะเส็งนพศ๊ก ที่ล่วงไปแล้วนี้คนชาวกรุงเก่าขายข้าวได้มากก็ซื้อสุรากินกันมากขึ้น อากรเตาสุรามีกำไรจึงมีผู้คิดอ่านจะประมูลอากร”

ในประกาศฉบับเรื่องอากรเตาสุรา ฉบับนี้ยังมีรายละเอียดของฉากเหตุการณ์ในการแย่งชิงประมูลอากรเตาสุราช่วงนั้นอย่างซับซ้อนซ่อนเงื่อนเพื่อนทรยศกันอีกยาวเป็นหางว่าว

รายละเอียดเหล่านี้ต่างก็ยืนยันความรุ่งเรืองของธุรกิจการค้าสุราในช่วงเวลานั้นได้ดี จนไม่มีอะไรต้องสงสัยว่า รายได้จากการค้าขายสุรามีมูลค่าสำหรับการดำรงท้องพระคลังให้ไม่บักโกรกมากขนาดไหน

 

และก็เป็นเหมือนเรื่องตลกร้ายแรงๆ ที่ประกาศในรัชกาลที่ 4 อีกฉบับหนึ่งที่ประกาศหลัง ประกาศเรื่องอากรเตาสุราที่กรุงเก่าเพียง 5 วัน คือ ประกาศเรื่องคนเสพสุราเมาในวันสงกรานต์ ณ วันอาทิตย์ เดือน 5 ขึ้น 14 ค่ำ ปีมะเมีย ยังเป็นนพศก พระองค์ท่านก็ต้องย้อนกลับมาปวดพระเศียรกับปัญหาเดิมๆ ที่มี “สุรา” เป็นจำเลยสำคัญ

ประกาศเรื่องคนเสพสุราเมาในวันสงกรานต์ ฉบับปี พ.ศ.2401 นี้ ยังคงเป็นปัญหาเดิมๆ เช่นเดียวกับฉบับเมื่อสามปีก่อนหน้านี้ ดังมีใจความตอนหนึ่งว่า

“เป็นเยี่ยงอย่างสืบมาแต่โบราณยามตรุษสงกรานต์ ผู้ชายโดยมาก เป็นนักเลงบ้างมิใช่นักเลงบ้าง พากันเสพสุราเมามายไปทุกหนแห่ง แล้วก็ออกเที่ยวเดินไปในถนนแลชุมชนเข้าไปในวัดวาอาราม ก่อถ้อยความวิวาทชกตีฟันแทงกันหลายแห่งหลายตำบลนัก ทั้งในกำแพงพระนคร แลภายนอกพระนคร เหลือกำลังที่นายอำเภอแลกองตระเวนจะระวังดูแล”

น่าสนใจก็ตรงคำว่า “เป็นเยี่ยงอย่างสืบมาแต่โบราณ” นี่แหละครับ

ความตรงนี้แสดงให้เห็นว่า โดยส่วนพระองค์เอง รัชกาลที่ 4 ก็ทรงทราบอยู่แก่ใจว่า ประเพณีแต่ดั้งเดิม ที่เป็นกันมาในช่วงเทศกาลสงกรานต์นี้เป็นช่วงเวลาของการปลดปล่อย ดังนั้นหากจะไปคิดเพียงเรื่องผลประโยชน์จากอากรสุราเพียงอย่างเดียวก็ดูออกจะขาดมิติทางวัฒนธรรมไปอยู่มาก

ความจากประกาศตอนนี้บอกให้เราทราบว่า ช่วงสงกรานต์ ผู้คนจะไม่เสพสุราในบ้าน แต่จะออกมาเสพสุรากันตามท้องถนน ลักษณะอย่างนี้ใกล้เคียงกับเทศกาลอีกหลายๆ เทศกาลในวัฒนธรรมอื่น ที่จะมีการปลดปล่อยความคับข้องผ่านวิธีการแสดงออกต่างๆ กันในงานเทศกาลผ่านพื้นที่สาธารณะ

เพราะ “พื้นที่สาธารณะ” แม้จะประกอบท้ายคำด้วยคำว่า “สาธารณะ” แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าเป็นพื้นที่ที่สามารถกระทำอะไรก็ได้นะครับ พื้นที่สาธารณะกลับเป็นพื้นที่หวงห้ามไม่ให้เราสามารถทำอะไรที่เราสามารถทำได้ในที่ลับต่างหาก อย่างน้อยใครก็คงไม่สามารถแก้ผ้าโทงๆ ไปไหนมาไหนในที่สาธารณะได้ อย่างที่เดินอยู่ในห้องน้ำ หรือห้องส่วนตัว

คำว่า “สาธารณะ” ถูกกำกับด้วยมาตรฐานทางวัฒนธรรม ให้เราจำเป็นต้องปฏิบัติตาม หากไม่อยากถูกกล่าวหาว่าเป็นไอ้บ้าคนหนึ่ง สิ่งที่ไม่ถูกต้องตามมาตรฐานทางวัฒนธรรมจึงจะถูกกีดกันออกจากพื้นที่สาธารณะเสมอ

ดังนั้น “พื้นที่สาธารณะ” จึงเป็นพื้นที่ที่เหมาะสมที่สุดในการแสดงออกถึงการปลดปล่อยออกจากข้อห้ามในช่วงงานเทศกาลบางอย่างนั่นเอง

ดื่มเหล้าก็ไม่เป็นที่พึงประสงค์ในที่สาธารณะ สาดน้ำกันโครมๆ ก็ไม่ใช่ที่พึงประสงค์ในที่สาธารณะแน่

ผมไม่แน่ใจนักที่ในคำประกาศอ้างถึงเฉพาะ “ผู้ชาย” ในยุคสมัยของพระองค์ บทบาทและสถานะของ “เพศสภาพ” แบบโลกตะวันตกกำลังเข้ามามีบทบาทในวัฒนธรรมสยามภายใต้นามแห่งความเป็น “อารยะ” จะไม่มี “ผู้หญิง” เมาเหล้าเกรียนอยู่ตามถนนหนทางช่วงเทศกาลสงกรานต์อยู่ในสังคมสยามยุครัชกาลที่ 4 เลยหรือครับ?

ปัญหาเรื่องการจัดการบนท้องถนนในช่วงเทศกาลสงกรานต์ ไม่ใช่แค่ปัญหาเชิงจริยธรรม กฎหมาย ความเหมาะสมหรือความไม่เหมาะสมเท่านั้น

เพราะมีรากทางวัฒนธรรม และประวัติศาสตร์อยู่ด้วย การจัดการ และแก้ปัญหา (ถ้าจะสรุปออกมาแล้วว่ามันคือปัญหา และคิดว่าจำเป็นต้องแก้ไข) จึงจำเป็นต้องเข้าใจรากทางวัฒนธรรมและประวัติศาสตร์นั้นด้วย