เทศมองไทย : โปรเจ็กต์ “5 จี” ในอาเซียน ภายใต้สถานการณ์โควิด

โจลีน ชาน แห่งอาเซียนทูเดย์ เขียนถึงโครงการ 5 จี ภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 เอาไว้เมื่อ 26 พฤษภาคมที่ผ่านมา ชี้ให้เห็นว่า ถึงแม้จะเกิดการแพร่ระบาดอย่างหนักในประเทศหลักๆ ของกลุ่มอาเซียนทั้งหมดในเวลานี้ ทุกประเทศก็ยังพยายามเดินหน้าโครงการ 5 จีของตัวเองอย่างแน่วแน่ต่อไป

ทำไมถึงเป็นเช่นนั้น?

คำตอบง่ายๆ ก็คือ 5 จี เอื้อให้เกิดผลประโยชน์ที่ชวนดึงดูดใจอย่างมากสำหรับชาติในอาเซียนทุกชาติ

5 จี คือโครงข่ายการสื่อสารโทรคมนาคมไร้สายเจเนอเรชั่นล่าสุด เจเนอเรชั่นที่ 5 ที่ไม่เพียงจะช่วยให้การสื่อสารไร้สายทำได้รวดเร็วกว่ารุ่น 4 จี ที่เราใช้กันอยู่ในเวลานี้ถึง 50 เท่าเท่านั้น

ยังมีความเร็วในการตอบสนองมากกว่า 4 จี ถึง 10 เท่าตัวด้วย เพราะมีแบนด์วิธให้ได้ใช้กันมากมายกว่าเดิมมากอีกด้วย

นอกเหนือจากการอำนวยประโยชน์ในแง่ของความรวดเร็วในการติดต่อสื่อสารและเสพรับสรรพสิ่งจากโลกออนไลน์ได้เร็วขึ้นกว่าเดิม มากขึ้นกว่าเดิมแล้ว มีความเป็นไปได้สูงที่ว่า 5 จีสามารถพลิกโฉมหน้าของอุตสาหกรรมหลากหลายให้เปลี่ยนแปลงไปจากเดิม ให้ผลลัพธ์มากขึ้นกว่าเดิมควบคู่ไปกับต้นทุนที่ลดน้อยลงกว่าที่ผ่านมา

นั่นคือเหตุผลที่ว่า ทำไมทุกชาติในอาเซียนถึงมีโครงการ 5 จี และยังคงยืนกรานเดินหน้าโครงการต่อไปในท่ามกลางความยากลำบากของการแพร่ระบาด

 

จูเลียน กอร์แมน หัวหน้าประจำภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกของสมาคมจีเอสเอ็ม (จีเอสเอ็มเอ) ซึ่งเป็นสมาคมตัวแทนของอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับการสื่อสารโทรคมนาคมของโลกบอกว่า สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ก่อให้เกิดผลกระทบทั้งทางลบและทางบวกต่อโครงการ 5 จี

โควิด-19 ทำให้ความเคลื่อนไหวในทุกๆ ด้านถูกจำกัด ไม่เว้นแม้แต่กิจกรรมทางเศรษฐกิจ รัฐบาลจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนลำดับความสำคัญ หันมาให้ความสนใจกับการยับยั้งการแพร่ระบาดเป็นลำดับแรก

ดังนั้น โครงการ 5 จีในหลายประเทศในอาเซียนจึงอาจจำเป็นต้องชะลอช้าลงไปกว่าเดิม

“เราคาดว่าการประกาศเริ่มโครงการ 5 จีในชาติอาเซียนบางชาติอาจต้องล่าช้าออกไปในช่วงระยะสั้น แต่ในระยะยาวแล้ว เรายังเชื่อว่าจะไม่ก่อให้เกิดผลกระทบใดๆ”

กอร์แมนระบุ

 

ในขณะเดียวกัน โควิด-19 ก็ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทั้งในแง่ของจำนวนผู้ใช้และทราฟฟิกที่ใช้

“เครือข่ายในหลายประเทศมีการเปลี่ยนแปลงทราฟฟิกและจำนวนยูสเซอร์เพิ่มขึ้นมาก เนื่องจากเกิดการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการทำงานกลายเป็นการทำงานจากที่บ้าน การเรียกร้องให้อยู่แต่กับบ้านยิ่งทำให้เกิดความต้องการความบันเทิงออนไลน์เพิ่มมากขึ้น ทำให้เกิดการเพิ่มการใช้งานทั้งในรูปแบบของวอยซ์และดาต้ามากขึ้นอย่างมาก”

บางประเทศที่อาจต้องล่าช้าออกไป อย่างเช่นมาเลเซีย ที่คาดกันว่าโครงการทั้งหมดอาจต้องชะลอไปเริ่มต้นกันที่ไตรมาสที่ 3 ของปีนี้ อินโดนีเซียยังคงมีหลายอย่างต้องดำเนินการ ตั้งแต่เรื่องการจัดสรรคลื่นความถี่และกำหนดการให้บริการเชิงพาณิชย์ที่ยังไม่มีแผนปฏิบัติการชัดเจน

หรือในกรณีของกัมพูชา ที่ยังไม่มีการกำหนดกรอบเวลาเริ่มต้นการใช้งาน 5 จี ที่ชัดเจนในเวลานี้ เป็นต้น

ประเทศระดับหัวแถวของอาเซียนในแง่ 5 จี อย่างสิงคโปร์ ยังคงดำเนินการตามที่กำหนดไว้แต่เดิม โดยคาดว่าจะเปิดให้บริการ 5 จีเชิงพาณิชย์ในปี 2021 ส่วนเวียดนาม กำหนดให้บริการ 5 จีเชิงพาณิชย์ในปีนี้

และฟิลิปปินส์ เริ่มให้บริการแบบจำกัดในเขตเมโทรมะนิลามาตั้งแต่กลางปีที่แล้ว

 

โจลีน ชาน บอกว่า ในส่วนของไทย เริ่มโครงการ 5 จีมาตั้งแต่ปีที่ผ่านมา เปิดให้มีการประมูลคลื่นความถี่ไปเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ อีกไม่ช้าไม่นานต่อมา 5 จีเชิงพาณิชย์ก็กลายเป็นความจริงให้เห็น

ไทยกลายเป็นประเทศเดียวที่โควิด-19 ทำให้โครงการ 5 จีเป็นจริงได้เร็วกว่าที่คาดหมายกันไว้ มีเครือข่าย 5 จีให้ใช้กันทั้งๆ ที่ยังไม่มีอุปกรณ์ 5 จีวางตลาดอยู่แม้แต่ชิ้นเดียว

ตอนที่เราเริ่มมี 4 จีกันนั้น อุปกรณ์ 4 จีมีอยู่ในท้องตลาดมากถึง 30-40 เปอร์เซ็นต์แล้ว

เพราะถึงเดือนพฤษภาคม แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส ผู้ให้บริการเครือข่ายรายใหญ่ของไทยก็ติดตั้งเครือข่าย 5 จีให้กับโรงพยาบาล 158 โรงพยาบาล แถมยังนำเอาหุ่นยนต์ 5 จีมาใช้งาน “เทเลเมดิซีน” หรือการแพทย์ทางไกลให้เห็นกันในหลายโรงพยาบาล เพื่อลดการสัมผัสระหว่างหมอกับคนไข้โควิด-19 อีกด้วย

โจลีน ชาน สรุปเอาไว้อย่างนี้ครับ

“ประเทศไทยพิสูจน์ให้อาเซียนชาติอื่นๆ เห็นเป็นประจักษ์แล้วว่า สามารถเริ่มต้นการใช้งาน 5 จีได้แม้ในขณะที่กำลังต้องต่อสู้กับโควิด-19 อยู่ก็ตาม และได้แสดงให้เห็นว่า จริงๆ แล้ว 5 จีสร้างประโยชน์ได้แม้ในยามนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการบรรเทาผลกระทบจากการแพร่ระบาด”

ซึ่งหลายๆ ชาติก็น่าจะได้ประโยชน์ในทำนองเดียวกันหากเดินหน้า 5 จีในยามนี้

 


พิเศษ! สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์, ศิลปวัฒนธรรม และเทคโนโลยีชาวบ้าน ลดราคาทันที 40% ตั้งแต่วันนี้ – 30 มิ.ย.63 เท่านั้น! คลิกดูรายละเอียดที่นี่