ต่างประเทศ : แนวปฏิบัติในการเดินทางทางอากาศ ยุค “โควิด-19”

ที่มาภาพ : https://www.iata.org/

จากการระบาดใหญ่อย่างรุนแรงของโรคติดเชื้อจากไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด-19 ได้ทำให้เกิดการปฏิบัติตนตามวิถีใหม่ขึ้นมามากมาย เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของไวรัส ที่ดูเหมือนจะติดต่อกันง่ายดายเหลือเกิน

หลังมาตรการล็อกดาวน์ในหลายประเทศเริ่มผ่อนคลายลง วิถีการดำรงชีวิตแบบใหม่ หรือที่เรียกกันว่า “นิวนอร์มอล” นั้นก็เริ่มมีให้เห็นกันมากขึ้น

ตั้งแต่การใส่หน้ากาก จะหน้ากากผ้า หรือหน้ากากอนามัย การเว้นระยะห่างทางสังคม ที่ให้ธุรกิจต่างๆ ต้องปรับตัวกันยกใหญ่ เพื่อให้ธุรกิจขับเคลื่อนต่อไปได้ แต่ขณะเดียวกันก็ต้องป้องกันการแพร่เชื้อระหว่างกัน ที่อาจเกิดขึ้นได้เสมอ

ไม่เว้นแม้แต่ “การเดินทาง” ที่เกิดวิธีปฏิบัติใหม่ๆ ขึ้นมา ตามมาตรการเว้นระยะห่างทางสังคมที่ต้องปฏิบัติการทั่วหน้า

ล่าสุดองค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (ไอเคโอ) ได้เผยแพร่แนวทางปฏิบัติด้านสาธารณสุขสำหรับอุตสาหกรรมการบินในช่วงที่ต้องเผชิญกับการระบาดของโรคโควิด-19

 

แนวทางดังกล่าวมีจัดทำขึ้นโดยคณะทำงานระหว่างประเทศ ของไอเคโอ โดยได้รับความช่วยเหลือจากหน่วยงานของสหประชาชาติ (ยูเอ็น) อื่นๆ เช่น องค์การอนามัยโลก (ฮู) และสมาคมขนส่งทางอากาศระหว่างประเทศ (ไออาต้า)

ทั้งนี้ คำแนะนำดังกล่าว ได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมาธิการของไอเคโอ ที่มีเป้าหมายเพื่อสร้างกรอบการทำงานเพื่อให้แน่ใจได้ถึงความปลอดภัยของผู้โดยสารและผู้ที่ทำงานอยู่บนเครื่องบินและที่สนามบิน โดยตามแนวทางปฏิบัติการระบุว่า เมื่อผู้โดยสารเดินทางถึงสนามบินจะต้องแสดงใบรับรองเกี่ยวกับสุขภาพ และเข้ารับการตรวจวัดอุณหภูมิเบื้องต้น

นอกจากนี้ สิ่งที่ควรจะต้องทำก่อนหน้าเดินทางถึงสนามบินคือการเช็กอิน ออนไลน์ และเข้าเครื่องตรวจความปลอดภัยที่จะต้องมีการสัมผัสทางร่างกายให้น้อยที่สุด รวมทั้งการเว้นระยะห่างเมื่อต้องเข้าแถวเพื่อรอการตรวจ

ขณะที่ตั๋วเครื่องบินที่ใช้นั้น แนะนำให้ใช้ตั๋วออนไลน์ รวมถึงรูปแบบอื่นๆ ที่ใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยเพื่อไม่ต้องมีการสัมผัสกัน เช่น การสแกนใบหน้าหรือดวงตา ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะช่วยขจัดหรือลดการสัมผัสกันโดยไม่จำเป็นของเอกสารระหว่างเจ้าหน้าที่กับผู้โดยสาร

นอกจากนี้ ผู้โดยสารจะต้องเดินทางด้วยน้ำหนักที่เบาที่สุดเท่าที่จะเบาได้ โดยกระเป๋าถือขึ้นเครื่องจะต้องมีเพียงใบเล็กๆ ใบเดียว ส่วนหนังสือพิมพ์หรือนิตยสารจะไม่อนุญาตให้มีบนเครื่องบิน และการขายสินค้าปลอดภาษีจะต้องมีจำกัด ทุกคนจะต้องสวมหน้ากากหรือที่ปิดบังใบหน้าทั้งตอนอยู่ภายในเครื่องบินและอาคารผู้โดยสาร รวมไปถึงการเว้นระยะห่างทางกายภาพอย่างน้อย 1 เมตร

ขณะที่อาคารผู้โดยสารจะต้องจำกัดจำนวนผู้โดยสารและคนที่เดินทางร่วมด้วย เช่น ผู้ที่ต้องดูแลผู้โดยสารที่พิการ รวมไปถึงการจำกัดจำนวนเจ้าหน้าที่ของสนามบินด้วย

 

ส่วนตอนอยู่บนเครื่อง ผู้โดยสารควรจะสวมหน้ากาก เคลื่อนที่ให้น้อยที่สุด อย่ายืนเข้าแถวเพื่อรอหน้าห้องน้ำ เพื่อลดความเสี่ยงในการแพร่เชื้อ และจะต้องกำหนดว่าที่นั่งใดต้องเข้าห้องน้ำส่วนใดบนเครื่อง

ส่วนพนักงานต้อนรับบนเครื่องบินจะต้องมีอุปกรณ์ในการป้องกันส่วนบุคคล ทั้งหน้ากาก ถุงมือ และที่บังหน้า เพื่อป้องกันการติดเชื้อเช่นกัน

แต่ไอเคโอไม่ได้สนับสนุนให้มีการเว้นเก้าอี้ว่างระหว่างกัน เพียงแต่ขอให้ผู้โดยสารพยายามห่างกันให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้

ในส่วนของอาหารที่เสิร์ฟบนเครื่องนั้น ก็ควรจะแพ็กเตรียมไว้ก่อนล่วงหน้า ขณะที่เครื่องบินจะต้องมีการฆ่าเชื้ออยู่เป็นประจำ

เมื่อเครื่องบินถึงที่หมายแล้ว ก็ควรจะมีการตรวจวัดอุณหภูมิของทุกคน

 

การเปลี่ยนแปลงดังกล่าวถือว่าเป็นสิ่งสำคัญที่สุดสำหรับการเดินทางทางอากาศ นับตั้งแต่มีมาตรการรักษาความปลอดภัยที่เข้มงวดขึ้นตั้งแต่เกิดเหตุก่อวินาศกรรมโจมตีสหรัฐอเมริกาเมื่อวันที่ 11 กันยายน 2544 หรือที่เรียกว่า 9/11

อย่างไรก็ตาม มาตรการเหล่านี้เป็นเพียงคำแนะนำที่ไม่มีพันธะผูกพันให้ปฏิบัติตาม เพียงแต่สามารถนำไปใช้เพื่อเป็นแนวทางในการปฏิบัติตามได้

ทั้งหมดนี้เป็นแนวทางปฏิบัติที่ยังไม่รู้ว่าจะต้องใช้ไปอีกนานเท่าไหร่ หรืออาจจะเป็นแนวทางปฏิบัติที่สามารถใช้ไปได้ตลอด ที่แม้จะดูยุ่งยากสำหรับทั้งเจ้าหน้าที่และผู้โดยสาร หากแต่ก็เพื่อป้องกันการแพร่เชื้อ ที่เรายังไม่รู้ได้ว่าจะต้องสู้กับมันไปอีกนานเท่าไหร่

 


พิเศษ! สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์, ศิลปวัฒนธรรม และเทคโนโลยีชาวบ้าน ลดราคาทันที 40% ตั้งแต่วันนี้ – 30 มิ.ย.63 เท่านั้น! คลิกดูรายละเอียดที่นี่