วิเคราะห์ : คำเตือนด้านสิ่งแวดล้อม เพื่อรับมือ “โควิด-19” รอบ 2

ทวีศักดิ์ บุตรตัน

สถานการณ์แพร่ระบาดเชื้อโควิด-19 ในบ้านเรา ลดระดับความรุนแรงลงไปมากจนกระทั่งได้รับเสียงชื่นชมจากนานาชาติ ส่งผลให้รัฐบาลผ่อนคลายธุรกิจการค้าเปิดทำมาหากินแต่ยังอยู่ภายใต้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน มาตรการเว้นระยะห่างทางสังคม และการใส่หน้ากากอนามัยเพราะหวั่นเกรงจะเกิดการระบาดระลอกสอง

เมื่อโควิดไม่ระบาดรุนแรง นโยบาย “การแพทย์นำหน้า” จึงกลายเป็นประเด็นข้อโต้แย้งของอีกฝ่ายที่มองว่า ถ้ายังใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินปิดบ้านปิดเมืองอยู่อย่างนี้ คนทั้งประเทศจะเผชิญกับความยากจนหิวโหย เศรษฐกิจถอยหลังตกเหวลึก

เสียงเรียกร้องให้รัฐบาลเปิดทางผู้คนกลับมาใช้ชีวิตทำมาหากินเต็มรูปแบบดังกระหึ่มมากขึ้น

 

ข้อโต้แย้งของ 2 แนวคิดระหว่าง “การแพทย์นำหน้า” กับ “เปิดเมืองคลายล็อก” ไม่ได้มีเฉพาะในบ้านเราเท่านั้น หลายประเทศทั่วโลกมีความเห็นแตกแยกเป็น 2 ทางเช่นนี้เหมือนกัน

ต้องยอมรับว่าไวรัสโคโรนาตัวนี้แรงฤทธิ์จริงๆ สามารถผลักให้คนทั้งโลกเห็นต่างในการดำเนินวิถีชีวิตและการทำธุรกิจ

บางคนเห็นว่า ถึงเวลาที่ชาวโลกต้องเลิกเสพสุขจากวัตถุนิยม เลิกวัดความเจริญด้วยจีดีพีหันกลับมาทบทวนตัวเองว่า จริงๆ แล้วคนเราไม่ได้ต้องการอะไรมากไปกว่าการสร้างสมดุล ระหว่างชีวิตความเป็นอยู่อย่างพอเพียง มีสุขภาพแข็งแรงสมบูรณ์และไร้โรคภัยไข้เจ็บ

ให้ทุกๆ วันมีกิจกรรมป้องกันสมองฝ่อ มีอาหารกินทุกมื้อ มีเวลาออกกำลังกายให้เหงื่อชุ่มตัวและนอนหลับเต็มอิ่ม ตื่นขึ้นมาวันรุ่งขึ้นมีลมหายใจรับแสงตะวัน แค่นั้นก็พอแล้ว

ตราบใดที่เชื้อไวรัสโควิดตัวนี้ยังแผลงฤทธิ์ การตะเกียกตะกายทำงานหามรุ่งหามค่ำเพื่อหวังความร่ำรวย แต่สุขภาพทรุดโทรม จะเป็นวิถีชีวิตที่เสี่ยงตาย โควิดพร้อมจะรุมขย้ำเอาชีวิตคนที่ร่างกายไม่แข็งแรง ไร้ภูมิต้านทาน อยู่ในสภาพแวดล้อมย่ำแย่แออัด

โควิดบอกให้เราทุกคนรู้ว่า การมีสุขภาพแข็งแรง อยู่ในสถานที่ปลอดโปร่ง สิ่งแวดล้อมดีจึงจะปลอดจากการติดเชื้อหรือติดเชื้อก็จะหาย

โควิดยังกระตุ้นให้สังคมต้องรู้จักช่วยเหลือแบ่งปัน คนมีกินล้นเหลือต้องเกลี่ยมาเฉลี่ยให้คนไม่มีกิน

และโควิดกำลังบอกให้รัฐบาลทั่วโลกคิดวางนโยบายใหม่ทำอย่างไรประชาชนได้รับสุขถ้วนหน้า

สุขที่ว่านั้น หมายถึงสุขภาพกายที่แข็งแรงและสุขภาพจิตที่ดี

 

ในทางกลับกันโควิดให้บทเรียนว่าประเทศที่พัฒนาแล้วมีเศรษฐกิจเจริญรุ่งเรืองไม่ได้หมายความว่าประชาชนในประเทศนั้นๆ จะอยู่เย็นเป็นสุข

คนอเมริกัน อังกฤษ ฝรั่งเศส อิตาลี สเปน เยอรมัน รัสเซีย ติดเชื้อโควิดรวมกันกว่า 3 ล้าน ตายแล้วนับแสนคน

ขณะที่ประเทศอย่างลาว เขมร เวียดนามและอีกหลายๆ ประเทศซึ่งผู้คนยังยากจนอยู่มาก กลับมีคนตายหรือติดเชื้อเพียงไม่กี่คน บางประเทศไม่มีผู้เสียชีวิตเพราะเชื้อโควิดเลย

รัฐบาลประเทศร่ำรวยต้องเลิกใช้นโยบายเศรษฐกิจกินรวบทั้งประโยชน์และกอบโกยทรัพยากรจากประเทศที่ยากจนกว่า ในทางตรงกันข้ามต้องยื่นมือเข้ามาช่วยให้ประเทศยากจนมีสิทธิลืมตาอ้าปาก ให้มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นและเฉลี่ยทรัพยากรให้ได้ประโยชน์อย่างเท่าเทียม

ขณะเดียวกัน ทุกประเทศต้องเปลี่ยนแนวทางการดำเนินนโยบายใหม่ ให้มาเน้นความสำคัญกับสิ่งแวดล้อมธรรมชาติ คุมการปล่อยมลพิษ กรองให้อากาศสะอาด น้ำใส ป่าไม้เขียวสด ควบคู่ไปกับการดำเนินวิถีชีวิตที่เรียบง่ายแต่มีความสุข

 

พูดถึงอากาศสะอาดนั้น มีผลวิจัยหลายชิ้นออกมายืนยันว่า อากาศเป็นพิษกับอัตราการเสียชีวิตของผู้ป่วยด้วยโรคโควิด-19 มีความเชื่อมโยงกันอย่างมีนัยยะสำคัญ

เป็นที่ทราบกันดีว่า ที่ไหนมีอากาศสกปรก คนที่อยู่ในพื้นที่นั้นๆ เสี่ยงเป็นโรคทางเดินหายใจ ผลการแพทย์ยืนยันเรื่องนี้มานานแล้ว และในช่วงเหตุการณ์โควิด มีผลวิจัยออกมาว่า ผู้ป่วยที่เสียชีวิตจากโรคโควิดมีปัญหาเรื่องระบบการหายใจและโรคหัวใจ

นักวิทยาศาสตร์อเมริกัน พบว่า อากาศบนเกาะแมนฮัตตันของมหานครนิวยอร์ก สะอาดขึ้นเพียงเล็กน้อย สามารถปกป้องไม่ให้คนเสียชีวิตเพราะโรคทางเดินหายใจได้หลายร้อยคน

วิทยาลัยสาธารณสุข ที.แอช. ชาน ของมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด สหรัฐอเมริกา วิเคราะห์มลพิษทางอากาศและการเสียชีวิตของผู้ติดเชื้อไวรัสโคโรนา ในพื้นที่ต่างๆ 3,000 แห่งทั่วสหรัฐ ครอบคลุมประชากร 98 เปอร์เซ็นต์ พบว่า อนุภาคฝุ่นละอองขนาดเล็กไม่เกิน 2.5 ไมครอน หรือ PM 2.5 กระจายอยู่ในอากาศ เชื่อมโยงกับอัตราการเสียชีวิตของผู้ป่วยโควิด-19

ก่อนหน้าการแพร่ระบาดโควิด-19 มีการวิจัยพบว่า อากาศเป็นพิษส่งผลให้ผู้คนในพื้นที่นั้นๆ เสียชีวิตเพิ่มขึ้นราว 15 เปอร์เซ็นต์

ในการวิเคราะห์ข้อมูลระดับความเป็นพิษในอากาศของประเทศต่างๆ ทั่วโลกพบว่า ผู้ที่อยู่เขตมลพิษทางอากาศสูง จะเสียชีวิตมากกว่าผู้ที่อยู่ในพื้นที่ที่มีอากาศสะอาดกว่าเช่น ในแคว้นลอมบาร์ดีทางตอนเหนือของอิตาลี มีผู้เสียชีวิตและติดเชื้อโควิดสูงกว่าพื้นที่อื่นๆ เป็นเพราะว่ามลพิษในอากาศของแคว้นดังกล่าวสูงมากเนื่องจากเป็นเขตอุตสาหกรรม การเกษตรและแหล่งท่องเที่ยว

เมื่อรัฐบาลอิตาลีประกาศล็อกดาวน์ ปิดเมือง มลพิษในอากาศของแคว้นลอมบาร์ดีลดลง จำนวนผู้เสียชีวิตจากเชื้อโควิดก็ลดลงเช่นกัน

ยังมีงานวิจัยระหว่างการแพร่ระบาดของโรคระบบทางเดินหายใจเฉียบพลันรุนแรงหรือซาร์ส เมื่อปี 2546 พบว่าอากาศเป็นพิษมีส่วนสำคัญทำให้ผู้ป่วยเสี่ยงเสียชีวิตสูงขึ้น

ในงานวิจัยชิ้นล่าสุดของมหาวิทยาลัยควีนแมรี่ แห่งลอนดอนระบุว่า อากาศเป็นพิษมีผลต่อเยื่อบุจมูก เชื้อไวรัสจะบุกทะลวงเข้าไปได้มากขึ้น

 

เมื่อไม่นานมานี้ในรายงานของรัฐสภาอังกฤษ อ้างว่าการลดมลพิษในอากาศจะช่วยหลีกเลี่ยงการแพร่ระบาดเชื้อโควิดระลอกสอง

รายงานชิ้นนี้เรียกร้องให้รัฐบาลอังกฤษ ผลักดันนโยบายเวิร์ก ฟอร์ม โฮม ให้คนทำงานที่บ้านมากขึ้นพร้อมๆ กับสร้างไบก์เลนเพิ่มขึ้น ดึงคนขี่จักรยานไปทำงานมากกว่าเดิม ช่วยลดปริมาณการใช้บริการขนส่งมวลชน ยังเรียกร้องให้กำจัดรถที่ปล่อยควันพิษออกไปจากท้องถนน และยกเลิกการนำไม้และถ่านหินมาเป็นเชื้อเพลิงในบ้านเรือน

สาเหตุที่รัฐสภาอังกฤษเสนอแนวทางดังกล่าว เพราะหวั่นเกรงว่า เมื่อรัฐบาลประกาศผ่อนคลายล็อกดาวน์แล้ว ชาวอังกฤษจะหันกลับมาใช้รถยนต์ส่วนตัวกันมากขึ้นทำให้อากาศในอังกฤษเป็นพิษสูง มีผลต่อการแพร่ระบาดของเชื้อโควิดรอบใหม่

บ้านเราก็เช่นกัน มลพิษในอากาศลดลงด้วยผลของล็อกดาวน์ เคอร์ฟิวและความยอดเยี่ยมด้านการแพทย์สาธารณสุข ทำให้สิ่งแวดล้อมทั้งบนบก ในอากาศและในทะเลดีขึ้นอย่างผิดหูผิดตา

ถ้ายินยอมเปิดเมืองท่ามกลางเชื้อโควิดที่ยังคงแผลงฤทธิ์ คนไทยจะเผชิญความเสี่ยงจากวิกฤต “โควิด-19” รอบ 2 หรือไม่

 


พิเศษ! สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์, ศิลปวัฒนธรรม และเทคโนโลยีชาวบ้าน ลดราคาทันที 40% ตั้งแต่วันนี้ – 30 มิ.ย.63 เท่านั้น! คลิกดูรายละเอียดที่นี่