จัตวา กลิ่นสุนทร : คิดถึง ศาสตราจารย์ พลตรี หม่อมราชวงศ์ คึกฤทธิ์ ปราโมช (2)

อาจารย์ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ย่อมมีเรื่องราวให้รำลึกนึกถึง และนำมาเขียนถึงได้ไม่รู้จักหมดสิ้น เนื่องจากผลงานทั้งรูปธรรมและนามธรรม ที่สร้างไว้ในช่วงระยะเวลาที่มีชีวิตอยู่นั้นมากมายเกินจะคณานับ

ช่วงระยะเวลาที่อยู่ในเดือนเกิดของท่านซึ่งจะครบ 106 ปี ในวันที่ 20 เมษายน 2560 นี้ ขอถือโอกาสเก็บเอาบทบาทและผลงานที่ท่านสร้างไว้ทุกๆ ด้านมาบอกเล่าซ้ำอีกโดยไม่มีการเรียงลำดับอะไร นึกอะไรขึ้นได้ก็เอามาเผยแพร่ในฐานะที่อย่างน้อยก็ได้ทำงานใกล้ชิดกับท่านมานานเกินกว่า 20 ปีเหมือนกัน

จะพยายามเค้นค้นจากความจำอันยาวนานบ้าง จากเอกสารซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นหนังสือซึ่งได้จัดทำในโอกาสต่างๆ เสมอมา เพราะมีความรู้สึกว่าจะได้บรรยากาศมากกว่าการค้นหาจากแหล่งที่นิยมกันในปัจจุบัน

อาจารย์คึกฤทธิ์ ต่างยอมรับกันว่าเป็นอัจฉริยะ เป็นปราชญ์ของแผ่นดิน เพราะฉะนั้น จึงรอบรู้ไปทุกเรื่องราว ไม่ว่าจะไปหยิบจับด้านไหนก็ล้วนแล้วแต่จะเด่นดังไปเสียทั้งนั้น

เอาเป็นว่า ท่านจะริเริ่มในสิ่งที่ดี เพียงแต่ขาดผู้สนับสนุนสืบทอด ฉะนั้น อะไรที่อาจารย์สร้างไว้จึงล้วนจบลงไปพร้อมกับท่านแทบทั้งหมด

ด้านการเมืองดังได้กล่าวไปบ้างแล้ว ซึ่งเป็นที่รู้กันว่าท่านเป็นผู้ก่อตั้งพรรคการเมืองขึ้นมาเพื่อสร้าง “ประชาธิปไตย” ต่อสู้กับระบบ “เผด็จการ” แต่ก็ไม่เป็นผลสำเร็จ ทุกวันนี้ประเทศของเราก็ยังวนเวียนเปลี่ยนคนจาก “กองทัพ” รุ่นแล้วรุ่นเล่าเข้ามาสู่การบริหารประเทศ ทำเหมือนกับว่าเป็นประเพณีการปกครองของประเทศเราทีเดียว

ซึ่งอันที่จริงก็คงต้องกลับไปตำหนินักการเมืองส่วนใหญ่ซึ่งพอได้รับการมอบอำนาจจากประชาชนมาบริหารบ้านเมืองก็หลงใหลได้ปลื้มลืมตัวระเริงเหลิงอำนาจ ทำตัวใหญ่โตคับบ้านคับเมือง และประพฤติปฏิบัติโกงกินฉ้อราษฎร์บังหลวงเป็นการเปิดช่อง

เท่ากับเชื้อเชิญ “เผด็จการทหาร” ให้เข้ามาควบคุมทุกครั้ง

เหตุการณ์ 14 ตุลาคม ปี พ.ศ.2516 ซึ่งนักเรียน นิสิต นักศึกษา ประชาชนเป็นเรือนแสนเดินขบวนขับไล่ จอมพลถนอม กิติขจร จอมพลประภาส จารุเสถียร และ พันเอกณรงค์ กิตติขจร มีการปะทะกันขึ้น รัฐบาลใช้กำลังปราบปรามกระทั่งสูญเสียชีวิตทรัพย์สิน เรียกว่า “วันมหาวิปโยค” เกิดการเปลี่ยนแปลง โดยกลุ่ม “ถนอม-ประภาส-ณรงค์” ซึ่งครองอำนาจในบ้านเมืองมาเป็นเวลาค่อนข้างยาวนานถูกโค่นล้มลง ต้องเดินทางออกนอกประเทศ

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ทรงโปรดเกล้าฯ ให้ อาจารย์สัญญา ธรรมศักดิ์ เป็น “นายกรัฐมนตรี” จัดตั้งรัฐบาลขึ้นใหม่

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช โปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง “สมัชชาแห่งชาติ” ขึ้นทำหน้าที่นิติบัญญัติ ประกอบด้วยบุคคลจากสาขาอาชีพต่างๆ 2,346 คน อาจารย์คึกฤทธิ์เป็นหนึ่งในจำนวนนี้

สมาชิกสมัชชาแห่งชาติ ได้ประชุมกันขึ้นเพื่อคัดเลือกบุคคลที่เหมาะสมจากสมาชิกจำนวน 299 คน และนำรายชื่อกราบบังคมทูลเพื่อทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งบุคคลเหล่านี้เป็น “สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ” ซึ่งต่อมาสมาชิกได้เลือก “ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช” เป็นประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ

สภานิติบัญญัติแห่งชาติ ซึ่งเกิดมาจาก “สภาสนามม้า” ทำหน้าที่สภาร่างรัฐธรรมนูญ จัดทำร่างรัฐธรรมนูญขึ้นใหม่ และมีการประกาศใช้เป็น “รัฐธรรมนูญ ฉบับปี พ.ศ.2517”

อาจารย์คึกฤทธิ์มีส่วนร่วมอย่างมากในการเสนอชื่อบุคคลเข้าไปคัดเลือกกันเองในสภาสนามม้าโดยให้บรรดาเครือข่ายของท่าน ลูกศิษย์ลูกน้องในทีมงาน “หนังสือพิมพ์สยามรัฐ” ร่วมด้วยช่วยกัน

ถึงตรงนี้ก็ต้องเปิดเผยตัวว่าได้เป็นผู้หนึ่งเช่นเดียวกันที่ได้เสนอชื่อใครต่อใครหลายคนเข้าไป ทั้งในแวดวงสื่อมวลชน เพื่อนพ้องจากมหาวิทยาลัยเดียวกัน แต่เวลาเดินทางมานานแสนนานจนล้มหายตายจากกันไปหลายคนแล้ว ยังไม่เคยบอกใครจนถึงทุกวันนี้ คนที่ถูกเสนอก็ยังนึกไม่ออกว่าเข้าไปได้อย่างไร ขณะนั้นถ้าจะเสนอชื่อตัวเองเข้าไปด้วยก็คงไม่แปลก

แต่ที่ไม่ใส่ชื่อตัวเองเข้าไปด้วยเพราะกระดากใจ คิดว่ายังอ่อนด้อยประสบการณ์ทางการเมือง ไม่รู้เรื่องการบ้านการเมืองทั้งๆ ที่ทำงานอยู่กับหนังสือพิมพ์การเมือง ซึ่งเสนอข่าว วิพากษ์วิจารณ์การเมืองอย่างเข้มข้น แต่น่าจะเป็นเรื่องของวัยวุฒิมากกว่า เนื่องจากขณะนั้นอายุเพียงแค่เฉียดๆ เลข 3

อาจารย์คึกฤทธิ์เข้าสู่การเมืองอีกช่วงหนึ่ง ในปี พ.ศ.2516 ถึงแม้จะเป็นการได้รับเลือกตั้งมาโดยทางอ้อม เป็นการเริ่มชีวิตการเมืองที่มีความสำคัญที่สุดอีกยุคหนึ่งของท่านทีเดียว เพราะเป็นการก้าวไปสู่การจัดตั้ง “พรรคกิจสังคม” (Social Action Party) หลังการประกาศใช้รัฐธรรมนูญในปี พ.ศ.2517

มีการเลือกตั้งทั่วไปในปี พ.ศ.2518 แต่ไม่มีพรรคการเมืองใดได้รับเลือกตั้งเป็นเสียงข้างมาก ต้องจัดตั้งรัฐบาลผสมขึ้น “พรรคกิจสังคม” ซึ่งอาจารย์คึกฤทธิ์เป็นหัวหน้าพรรค และ นายบุญชู โรจนเสถียร เป็นเลขาธิการพรรค ได้รับเลือกตั้งเข้ามาเพียง 18 ที่นั่ง แต่ในที่สุดกลับได้เป็นแกนจัดตั้งรัฐบาล โดยผสมกันถึง 12 พรรค เรียก “รัฐบาลสหพรรค” และอาจารย์คึกฤทธิ์ได้เป็น “นายกรัฐมนตรี”

มีรัฐบาลจากการเลือกตั้งครั้งหนึ่ง ก็เริ่มพูดคุยกันว่า ประชาธิปไตยจะยืนยาวในประเทศของเรา นักการเมืองทำท่ากระดี๊กระด๊า แต่ต่างคนต่างอยากมีตำแหน่ง ต่อรองเพื่อจะได้ตำแหน่งในรัฐบาล วิ่งเต้นในพรรคตัวเองไม่พอ ยังไปวิ่งเต้นกับ “นายกรัฐมนตรี” ด้วยอีกทางหนึ่ง ไม่ได้ตำแหน่งรัฐมนตรี ขอรัฐมนตรีช่วยก็ได้ สุดท้ายก็ขอตำแหน่งเลขาฯ รัฐมนตรี ฯลฯ ก็ยังดี รัฐบาลแทบไม่มีเวลาทำงาน และต้องคอยประสานประโยชน์ของพรรค หรือฝ่ายต่างๆ ที่เข้ามาร่วมเป็นรัฐบาลด้วย เพื่อให้พรรคร่วมรัฐบาลสงบ ขณะเดียวกัน รัฐบาลผสมชุดนี้ก็ถูกบีบทุกทิศทุกทางในยุคที่เรียกว่า “ประชาธิปไตยเฟื่องฟู” ไม่ว่าจะเป็นทหาร+ตำรวจตั้งท่าจะแย่งอำนาจล้มประชาธิปไตยกันตลอดมา

เสรีภาพเบ่งบานกันจริงๆ มีการเดินขบวนเรียกร้องเป็นประจำวันทีเดียว และเหตุการณ์ที่จะต้องบันทึกไว้ในประวัติศาสตร์ ก็หนีไม่พ้นเรื่อง “ตำรวจบุกบ้านนายกรัฐมนตรี” ทำลายข้าวของพังพินาศ หมูหมาปลาไก่ล้มตายวิ่งกันกระเจิง ผีบ้านผีเรือนโกรธกริ้วความบ้าบอคอแตกของเจ้าหน้าที่ตำรวจในยุคนั้น

อาจารย์คึกฤทธิ์ต้องอดทนต่อสู้กับภัยอันตรายทุกด้านเพื่อรักษา “ประชาธิปไตย” เอาไว้จนถึงวินาทีสุดท้ายก็ต้องตัดสินใจ “ยุบสภา” เพื่อไปเลือกตั้งกันใหม่ ซึ่งดูเหมือนว่าจะเป็นนายกรัฐมนตรีท่านเดียวที่ยุบสภาแล้วไปลงสมัครรับเลือกตั้งตามวิถีทางประชาธิปไตย แต่ต้อง “สอบตก”

การเลือกตั้งครั้งใหม่ “พรรคประชาธิปัตย์” ได้รับเลือกเข้ามามากกว่าพรรคอื่นๆ แต่ไม่พอจัดตั้งรัฐบาลพรรคเดียว ต้องเป็นรัฐบาลผสมเช่นเดิม โดย “ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช” หัวหน้าพรรค ได้เป็น “นายกรัฐมนตรี” ซึ่งดูเหมือนว่ารัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์+พรรคชาติไทย+อื่นๆ แทบจะยังไม่ได้บริหารประเทศ เป็นรัฐบาลอยู่ได้เพียงพักเดียว

เกิดเหตุการณ์ 6 ตุลาคม พ.ศ.2519 ทหาร+ตำรวจ บุกกวาดล้างเข่นฆ่านิสิตนักศึกษาจนบาดเจ็บล้มตายในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มีการปลุกปั่นจนประชาชนคนไทยฆ่าคนไทยด้วยกันเอง บริเวณท้องสนามหลวง

ผู้สันทัดกรณีทางการเมืองกล่าวกันว่าเป็นการกลับมาทวงคืนของ “เผด็จการ” หลังจากถูกโค่นล้มไปในปี พ.ศ.2516

บทบาททางการเมืองของอาจารย์คึกฤทธิ์นั้นเป็นการรักษาการปกครองระบอบ “ประชาธิปไตย” ทั้งๆ ที่ท่านเองก็คงทราบดีอยู่แก่ใจว่าเป็นเรื่องยากมากสำหรับประเทศนี้

“ขอเรียนว่าได้อดทนมาเป็นเวลา 1 ปี 1 เดือนกับ 4 วัน อดทนให้คนเหยียบย่ำดูถูก ทำทุกอย่างโดยที่ตนเองไม่ใช่คนเช่นนั้นเลย พูดจริงๆ ก็เกิดมาเป็นลูกเจ้าลูกนาย การศึกษาก็สูง พ่อแม่ก็เลี้ยงมาดี ไม่เคยให้ใครมากระทืบเช้ากระทืบเย็น วันละ 3 เวลาหลังอาหารอย่างเมื่อครั้งเป็นนายกรัฐมนตรี”

อาจารย์คึกฤทธิ์กล่าวถึงสมัยที่ท่านเป็น “นายกรัฐมนตรี” ท่ามกลางวิกฤตการเมืองครั้งร้ายแรงที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์ชาติไทย

ทั้งหมดก็เพื่อรักษา “ประชาธิปไตย” จึงไม่แปลกที่สื่อจะเรียกขานท่านว่า “เสาหลักประชาธิปไตย”