มหากาพย์นาฬิกาหรู จาก “ยืมเพื่อนใส่” ถึง “ยืมใช้คงรูป” จับตาภาคต่อบิ๊กป้อม

ปมร้อนนาฬิกาหรู “บิ๊กป้อม” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ที่สังคมยังสงสัยและต้องการคำตอบ

ถึงที่มาที่ไปของนาฬิกายี่ห้อริชาร์ด มิลล์ ราคาหลักสิบล้านบาท ที่ พล.อ.ประวิตรสวมใส่ขณะถ่ายรูปหมู่ร่วมเฟรมกับคณะรัฐมนตรีเมื่อเดือนธันวาคม 2560

ก่อนโดนเพจดังและชาวเน็ตตามขุดคุ้ยภาพใส่นาฬิกาหรูเรือนอื่นอีกจำนวนกว่า 20 เรือน

ที่เป็นปัญหาคือ ทุกเรือนไม่พบการแจ้งในบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินต่อสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.)

เนื่องจากตามกฎหมาย หากทรัพย์สินมูลค่ารวมเกิน 2 แสนบาทจำเป็นต้องแจ้งและเปิดเผยบัญชีทรัพย์สินต่อ ป.ป.ช.

ความสงสัยทั้งหมดจึงพุ่งเป้าไปยัง พล.อ.ประวิตรที่ต้องออกมาชี้แจงต่อสังคม

อ้างว่านาฬิกาหรูดังกล่าวเป็นของเพื่อน “ยืมเพื่อนใส่”

เพื่อนคนนั้นคือ นายปัฐวาท สุขศรีวงศ์ หรือเสี่ยคราม ซึ่งเสียชีวิตไปแล้ว เป็นเพื่อนร่วมรุ่นเซนต์คาเบรียล เป็นกรรมการในมูลนิธิอนุรักษ์ป่ารอยต่อ 5 จังหวัดที่ พล.อ.ประวิตรเป็นประธานกรรมการมูลนิธิ

เป็นการยืมมาใส่หลายครั้ง หลายเรือน ยืมแล้วผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนคืนตลอด

ต่อมามีหลายคนยื่นร้อง ป.ป.ช.ให้ตรวจสอบทั้งประเด็นการไม่แจ้งบัญชีแสดงรายการทรัพย์สิน และประเด็นการรับทรัพย์สินมูลค่าเกิน 3 พันบาท

อย่างไรก็ตาม ทั้ง 2 ประเด็น ป.ป.ช.มีมติตีตกคำร้อง เหตุไม่มีข้อมูลเพียงพอและรับฟังได้ว่าเป็นการยืมนาฬิกาเพื่อน

นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ อดีตสมาชิกพรรคไทยรักษาชาติ ยื่นเรื่องขอให้ ป.ป.ช.ตรวจสอบเพิ่มเติมประเด็นไม่แจ้งหนี้สินในมูลค่านาฬิกาที่ได้มาจากการยืม

เวลาผ่านพ้นมาความกระจ่างชัดของ “นาฬิกาหรูยืมเพื่อน” ได้ข้อสรุปอีกครั้ง

เมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม 2563 สำนักงาน ป.ป.ช.ทำหนังสือถึงนายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ ในฐานะผู้ร้องตรวจสอบเรื่องดังกล่าว

เพื่อแจ้งผลพิจารณากรณีขอให้ชี้มูลความผิด พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ฐานไม่แจ้งหนี้สินในมูลค่านาฬิกาหรูที่มาจากการยืม

ป.ป.ช.ยืนยันอีกครั้ง พล.อ.ประวิตรไม่มีหน้าที่ต้องแสดงการยืมนาฬิกาดังกล่าวเป็นหนี้สินในบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สิน

เนื่องจากไม่ใช่หนี้สินตามที่คณะกรรมการ ป.ป.ช.กำหนดให้ต้องแสดงในบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สิน

คณะกรรมการ ป.ป.ช.พิจารณาแล้วเห็นว่า นายปัฐวาท สุขศรีวงศ์ เป็นเจ้าของนาฬิกาตามที่ปรากฏเป็นข่าวและได้ให้ พล.อ.ประวิตรยืมใช้ในโอกาสต่างๆ

และ พล.อ.ประวิตรคืนนาฬิกาให้กับนายปัฐวาทเมื่อใช้สอยเสร็จแล้ว

การยืมใช้ดังกล่าวเป็น “การยืมใช้คงรูป”

แม้เป็นหนี้ แต่มิใช่หนี้สินตามที่คณะกรรมการ ป.ป.ช.กำหนดให้ต้องแสดงในบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สิน

เพราะตามคำอธิบายการยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินท้ายแบบบัญชีรายการหนี้สินล้วนหมายถึงหนี้สินที่เป็นเงินตราเท่านั้น

มิใช่เป็นการยืมใช้สอยได้เปล่าและมีการคืนทรัพย์สินให้แก่ผู้ยืม

ดังนั้น พล.อ.ประวิตรจึงไม่มีหน้าที่ต้องแสดงการยืมนาฬิกาดังกล่าวเป็นหนี้สินในบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สิน

เมื่อดูนิยามคำว่า “ยืมใช้คงรูป” พบบัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 640 ระบุ

“อันว่ายืมใช้คงรูปนั้น คือสัญญาซึ่งบุคคลคนหนึ่งเรียกว่าผู้ให้ยืม ให้บุคคลอีกคนหนึ่งเรียกว่าผู้ยืม ใช้สอยทรัพย์สินสิ่งใดสิ่งหนึ่งได้เปล่าและผู้ยืมตกลงว่าจะคืนทรัพย์สินนั้น เมื่อได้ใช้สอยเสร็จแล้ว”

กระนั้นก็ตาม คำตอบล่าสุดจาก ป.ป.ช.ถึงนายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ ยังไม่สามารถคลี่คลายความสงสัยจากสังคมได้

ทำให้นายวรวิทย์ สุขบุญ เลขาธิการ ป.ป.ช. ต้องออกมาชี้แจงอธิบายความว่า

เรื่องดังกล่าวเป็นกรณีนายเรืองไกรยื่นร้องภายหลังคณะกรรมการ ป.ป.ช.มีมติว่ากรณีดังกล่าวยังไม่มีมูลเพียงพอว่าจงใจยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินด้วยข้อความอันเป็นเท็จ

คำร้องดังกล่าวเป็นการร้องให้ตรวจสอบว่าไม่มีการแสดงหนี้จากการยืมนาฬิกาในบัญชีทรัพย์สินและหนี้สิน

คณะกรรมการ ป.ป.ช.พิจารณาแล้วว่าหนี้ตามกฎหมาย ป.ป.ช.ที่จะต้องยื่นในแบบบัญชีมี 4 ประเภท คือ

1.เงินเบิกเกินบัญชี 2.เงินกู้ธนาคารและสถาบันการเงินอื่น 3.หนี้สินที่มีหลักฐานเป็นหนังสือ และ 4.หนี้สินอื่น

ทั้งหมดเป็นหนี้เกี่ยวกับการเงิน ไม่มีหนี้ที่ยืมใช้แบบคงรูปในแบบบัญชี

ดังนั้น คณะกรรมการ ป.ป.ช.จึงมีหนังสือถึงนายเรืองไกร เพื่อตอบกลับและแจ้งข้อสรุปถึงประเด็นดังกล่าว

 

ฟากผู้ร้องอย่างนายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ ที่ได้รับคำตอบจาก ป.ป.ช. แต่ยังคงมีข้อสงสัยอันต้องท้วงติงในมติที่ออกมา

นายเรืองไกรเผยถึงผลการสอบสวนของ ป.ป.ช.ว่า

ได้ดูหนังสือที่สำนักงาน ป.ป.ช.ส่งมา คณะกรรมการ ป.ป.ช.ไม่ได้ตอบคำถามท้ายหนังสือเรื่องรับประโยชน์อื่นใดที่ถามไป

กรณีนี้พูดคุยกับ ส.ส.หลายคนว่าสามารถเข้าชื่อยื่นศาลฎีกาวินิจฉัยว่าปฏิบัติหน้าที่ไม่ชอบได้หรือไม่

นอกจากนี้ มีนักกฎหมายแนะนำช่องทางดำเนินการต่อ โดยให้ยื่นเรื่องต่อศาลปกครองเพื่อขอให้วินิจฉัยมติของ ป.ป.ช.ต่อเรื่องดังกล่าว เป็นการใช้อำนาจไม่ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่

เพื่อขอให้เพิกถอนคำสั่งและให้ดำเนินการวินิจฉัยให้ถูกต้องตามขั้นตอน

พร้อมยืนยันเรื่องนี้มีภาคต่อแน่นอน เพราะมีความพยายามคล้ายกับว่าจะให้จบเรื่องโดยอภินิหารทางกฎหมายที่ยกมาอธิบาย

แต่ความจริงหาเป็นเช่นนั้นไม่ ขอให้โปรดรอติดตาม

เพราะตามหนังสือของ ป.ป.ช.ทำให้เห็นช่องทางตามกฎหมายอื่นเพิ่มด้วย

โดยเฉพาะประมวลรัษฎากร ซึ่งการได้ใช้ทรัพย์สินโดยไม่เสียค่าเช่าค่าตอบแทน ตามประมวลรัษฎากร มาตรา 39 ให้ถือเป็นเงินได้พึงประเมิน

ดังนั้น เรื่องนี้ต้องร้องไปยัง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และนายอุตตม สาวนายน รมว.คลัง

เพื่อสั่งการอธิบดีกรมสรรพากรตามประเมินและเรียกเก็บภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาจาก พล.อ.ประวิตรโดยด่วน

จากการยืมใช้คงรูปดังกล่าว

โดยได้ส่งจดหมายลงทะเบียนอีเอ็มเอสถึง พล.อ.ประยุทธ์ และนายอุตตม เพื่อสั่งให้เก็บภาษีพร้อมเงินเพิ่มและเบี้ยปรับ (ถ้ามี) จาก พล.อ.ประวิตรแล้ว

 

ประเด็นนาฬิกายืมเพื่อน ที่ ป.ป.ช.มีมติว่าเป็นการยืมใช้คงรูปมีความเห็นตามมาจากสังคมหลายแวดวง

รวมถึงความเห็นจากนายปิยบุตร แสงกนกกุล แกนนำคณะก้าวหน้า และอดีตเลขาธิการพรรคอนาคตใหม่ที่โพสต์เฟซบุ๊ก สรุปใจความได้ว่า

กรณี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ยืมใช้คงรูป เปิดช่องให้ซุกทรัพย์สินได้ง่ายขึ้น

คณะกรรมการ ป.ป.ช.พิจารณาถึงประเด็น พล.อ.ประวิตรยืมนาฬิกาหรูจากเพื่อน เป็นการยืมใช้คงรูปและไม่ได้เป็นหนี้สินที่ต้องแสดงในบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินนั้น

ทำให้ พล.อ.ประวิตรรอดพ้นจากการถูกตรวจสอบอีกเช่นเคย

ส่วนสังคมตั้งคำถามถึงมาตรฐานการทำงานขององค์กรอิสระในไทย

แต่ผลกระทบที่ร้ายแรงกว่านั้น ซึ่งไม่ทราบว่าคณะกรรมการ ป.ป.ช.เล็งเห็นถึงบ้างหรือไม่

นั่นคือแนวทางการวินิจฉัยกรณี พล.อ.ประวิตรยืมใช้คงรูป ส่งผลพวงทำลายระบบการตรวจสอบทรัพย์สินนักการเมืองและข้าราชการ

ทำลายระบบบังคับให้นักการเมืองและข้าราชการระดับสูงต้องแสดงบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินไปหมดสิ้น

ต่อไปนักการเมืองและข้าราชการระดับสูงคนใดที่ต้องการซุกทรัพย์สิน

สามารถยืมมุข “ยืมใช้คงรูป” แบบ พล.อ.ประวิตรมาใช้ได้

ทรัพย์สินราคาแพงๆ จำพวกเครื่องประดับ แหวน สร้อยทอง นาฬิกา รถสปอร์ต ไม่จำเป็นต้องถูกแจ้งในบัญชีอีก

“ขอเพียงหาเพื่อนเศรษฐีสักคนมาแสดงตนเป็นเจ้าของ แล้วอธิบายว่าเครื่องประดับ รถ ข้าวของแพงๆ ที่ใช้อยู่ยืมเขามาทั้งนั้น”

จากนี้คงต้องรอติดตามดูภาคต่อของมหากาพย์นาฬิกาหรู “พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ”

แม้ ป.ป.ช.จะมีความเห็นว่ายืมนาฬิกาหรูเพื่อนใส่ทำได้เพราะเป็นการยืมใช้คงรูป

แต่สุดท้ายแล้วสังคมยังคงมีคำถามคาใจ สงสัยตะขิดตะขวงในมหากาพย์นาฬิกาหรูยืมเพื่อน

ที่ไม่ได้ลดน้อยถอยลงแต่อย่างใด

 


พิเศษ! สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์, ศิลปวัฒนธรรม และเทคโนโลยีชาวบ้าน ลดราคาทันที 40% ตั้งแต่วันนี้ – 30 มิ.ย.63 เท่านั้น! คลิกดูรายละเอียดที่นี่