วิเคราะห์ : “บรรยง พงษ์พานิช” ชี้ทางคืนชีพ “การบินไทย” และยาขม “ปฏิรูป” รัฐวิสาหกิจ

ในที่สุด “การบินไทย” ก็เดินคอตกเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการ ภายใต้คำสั่งศาลล้มละลาย ตรงตามที่ “บรรยง พงษ์พานิช” ประธานกรรมการบริหาร ธนาคารเกียรตินาคิน และอดีตกรรมการบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) วิเคราะห์และคาดการณ์เอาไว้

แต่ภารกิจ “รัฐบาล” ไม่ได้จบเพียงแค่การประเคน “การบินไทย” ถึงมือ “ศาล”

ในมุมมองของกูรูด้านการเงินที่เคยทำงานจัดการดีลใหญ่รวมถึงคุ้นเคยกับบริษัทการบินไทย เป็นอย่างดี “บรรยง” มองว่า เรื่องสำคัญเร่งด่วนคือ รัฐบาลต้องเร่งซ่อมสถานะทางการเงิน (Balance Sheet) ของการบินไทยให้กลับมาอยู่ในสภาวะพร้อมเปิดดำเนินการ

ด้วยการ “ลดหนี้สิน” และ “เพิ่มทุน” เพื่อให้กลับมามีหนี้สินต่อทุนราว 2 ต่อ 1

“ปัจจุบันการบินไทยมีหนี้สินประมาณ 3 แสนล้านบาท หมายความว่ารัฐบาลต้องลดหนี้สินให้เหลือ 2 แสนล้านบาท และมีทุน 1 แสนล้านบาท” บรรยงแจงตัวเลขคร่าวๆ

ในการเจรจากับเจ้าหนี้เพื่อขอลดหนี้สิน ผู้ทำแผนต้องการันตีกับเจ้าหนี้ว่าการทำให้การบินไทยกลับมาดำเนินการได้ จะมีมูลค่าทางเศรษฐกิจสูงกว่าการเอาทรัพย์สินไปขาย

ตัวอย่างเทียบเคียงเช่นกรณี “เจแปนแอร์ไลน์” ซึ่งกระบวนการฟื้นฟูประสบความสำเร็จมาก สามารถลดหนี้ของเจ้าหนี้ที่ไม่มีหลักประกันลงไปได้ถึง 85% เหลือเพียง 15%

เมื่อเจรจาลดหนี้ลงได้แล้ว ค่อยถึงคิวรัฐบาลใส่เงินสดเข้าไป 1 แสนล้านบาท เพื่อให้การบินไทยกลับมาเปิดดำเนินการได้ 1 ปี

 

“บรรยง” เตือนด้วยว่าขั้นตอนนี้สำคัญมาก เพราะหากเติมเงินใหม่เข้าไปเฉยๆ หรือเติมเงินก่อนได้ข้อสรุปกับเจ้าหนี้ จะเกิด “ภาวะทึ้งแล้ววิ่ง” คือเจ้าหนี้ที่ถึงกำหนดรับเงิน ได้เงินแล้วก็รีบโกย ไม่กลับมาให้กู้อีก

เมื่อเจรจาลดหนี้บางส่วนลงได้ และมีเงินต่อลมหายใจอีก 1 ปี “การบินไทย” ก็ยังนิ่งนอนใจไม่ได้

“สายการบินอื่นๆ เช่น ลุฟท์ฮันซ่า สิงคโปร์แอร์ไลน์ ใช้วิธีใส่เงินเข้าไปเหมือนกัน แต่เป็นการใส่เงินเพื่อให้กลับมากำไรตามปกติ ขณะที่การบินไทยต้องพิสูจน์ว่าจะไม่กลับไปขาดทุน หลังจากขาดทุนมา 10 ปีต่อเนื่อง ต้องสามารถพลิกขึ้นมาให้ได้” บรรยงกล่าว

สิ่งที่ต้องทำเพื่อให้มีกำไรคือ การวางกลยุทธ์-ตำแหน่งทางการตลาดใหม่ ปรับเปลี่ยนเส้นทางการบิน ที่สำคัญคือการลดต้นทุน ทั้งต้นทุนการขายตั๋วโดยสาร ซึ่งเคยขายผ่านเอเย่นต์มากเกินไป รวมถึงต้นทุนการซื้อ ตั้งแต่เครื่องบิน เก้าอี้ กะปิ น้ำปลา มะนาว ฯลฯ

ตลอดจนการลด “คน” ซึ่งมีหลักฐานเชิงประจักษ์แล้วว่าการบินไทยมีคน “มากเกินไป” เทียบกับภารกิจที่ทำอยู่ ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายที่เกี่ยวกับการบิน ลูกเรือ ฝ่ายช่าง และคนในฝ่ายสนับสนุนต่างๆ

ดังนั้น การวางแผนหลังจากนี้จะกระทบพนักงานอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

อย่างไรก็ดี เมื่อออกจากห้องผ่าตัด “บรรยง” มั่นใจว่าการบินไทยจะมีศักยภาพแข่งขันในธุรกิจการบินแน่นอน ส่วนหนึ่งเพราะประเทศไทยอยู่ในจุดยุทธศาสตร์สำหรับธุรกิจการบิน ประกอบกับเป็นศูนย์กลางของภูมิภาค และเป็นประเทศที่มีคนเดินทางเข้า-ออกจำนวนมาก แต่ละปีมีนักท่องเที่ยวไม่ต่ำกว่า 40 ล้านคน นอกจากนี้ ยังมีค่าครองชีพไม่สูงมาก เมื่อเทียบกับคู่แข่งที่เป็นสายการบินพรีเมียม

หากแผนฟื้นฟูประสบความสำเร็จ การเชิดหัวขึ้นบินของ “การบินไทย” ครั้งนี้จะ “สง่าผ่าเผย” และ “ยั่งยืน” แน่นอน

 

นั่นนำไปสู่คำถามต่อไปว่า หากโมเดลฟื้นฟูการบินไทยสำเร็จ จะสามารถต่อยอดไปสู่การปฏิรูปรัฐวิสาหกิจอื่นที่กำลังแบกหนี้กันหลังอานหรือไม่?

ตอนนี้ทั้งโลกได้พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่า การบริหารแบบรัฐในกิจการที่ต้องออกแรงแข่งขัน มุ่งเน้นประสิทธิภาพ ไม่ให้มีการรั่วไหล รัฐยังทำได้ไม่ดีพอ

ซึ่ง “บรรยง” ฉายภาพที่ทำให้คนฟังเบือนหน้าด้วยความสิ้นหวัง

“นักการเมืองไม่ชอบการปฏิรูป เพราะอำนาจที่เคยมีจะหมดไป ข้าราชการประจำก็ไม่ชอบเพราะอำนาจของหน่วยงานที่ตัวเองดูแลอยู่ก็จะไม่มี และข้าราชการก็ไม่จำเป็นต้องนั่งเก้าอี้กรรมการอีกต่อไป ขณะที่ผู้บริหารรัฐวิสาหกิจเองก็ไม่ชอบ เพราะหมายถึงการถูกบีบให้กระโดดเข้าสู่สนามแข่งขัน พนักงานก็ไม่ชอบเพราะต้องทำงานมากขึ้น จะเช้าชามเย็นชามเหมือนเดิมไม่ได้ สุดท้ายคือคู่ค้าของรัฐวิสาหกิจที่เคยทำการค้าแล้วได้ผลกำไรดีก็จะเกิดการต่อต้าน

หนำซ้ำยังมีภาคประชาสังคมที่มักจะหยิบยกเรื่องความรักชาติ สมบัติชาติ ขึ้นมาโจมตี หลายคนบอกว่าการปฏิรูปรัฐวิสาหกิจจะทำให้เกิดการกินรวบ”

ถึงตรงนี้ “บรรยง” ตั้งคำถามให้คิดเล่นๆ ว่า ระหว่าง “กินแบ่ง” กับ “กินรวบ” อะไรจะกินน้อยกว่ากัน

 

เขายังยกตัวอย่างกระบวนการ “ลดรัฐ” (Privatization) ในต่างประเทศ ที่ประสบความสำเร็จมากที่สุด เช่น การจัดตั้งบรรษัทวิสาหกิจแห่งชาติ “เทมาเส็ก” ซึ่งเริ่มต้นมีเงินทุนเพียง 12 ล้านเหรียญ ปัจจุบันมีทรัพย์สิน 5 แสนล้านเหรียญ โดยที่รัฐบาลไม่ต้องใส่เงินลงไป แถมเทมาเส็กยังส่งเงินให้รัฐบาลจำนวนมาก และรัฐวิสาหกิจที่อยู่ภายใต้การดูแลของเทมาเส็ก เช่น สิงคโปร์เทเลคอม สิงคโปร์แอร์ไลน์ ดีบีเอสแบงก์ ฯลฯ ยังกลายเป็นบริษัทชั้นนำของโลก ไม่ใช่เฉพาะในสิงคโปร์

รวมถึง “คาซานาห์ นาเซียนนัล” ของมาเลเซีย ซึ่งอยู่ในรูปของบริษัทโฮลดิ้ง ถือหุ้นในรัฐวิสาหกิจที่ประสบความสำเร็จ ตลอดจน SCIC ของเวียดนาม หรือแม้แต่จีนที่มีซูเปอร์โฮลดิ้งชื่อ SALSAC

องค์กรเหล่านี้มีข้อดีเรื่องความโปร่งใส ทุกอย่างต้องเปิดเผย มีกระบวนการ เปิดให้เกิดการตรวจสอบเต็มที่

ที่ผ่านมาได้มีการเสนอ “กุญแจ” ดอกสำคัญนี้ไปแล้ว แต่น่าเสียดายที่ “สภาคนดี” เขวี้ยงกุญแจทิ้งลงน้ำอย่างไม่ไยดี

“การปฏิรูปทุกอย่าง มันจะทำให้เกิดการปรับเปลี่ยนผลประโยชน์ ทั้งผลประโยชน์ที่ชอบและไม่ชอบ มันก็จะมีคนเสียผลประโยชน์ แล้วก็จะคัดค้าน” บรรยงอธิบาย และว่า

ผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งนักการเมืองและข้าราชการ ต่างไม่ปลื้มการปฏิรูปรัฐวิสาหกิจ เพราะอำนาจที่เคยมีจะหมดไป ส่วนผู้บริหารรัฐวิสาหกิจเองก็ไม่ชอบ เพราะหมายถึงการต้องกระโดดเข้าสู่สนามแข่งขัน ต้องทำงานหนักขึ้น ยากขึ้น แม้แต่พนักงานเองก็ไม่ชอบ เพราะจะมัวเช้าชามเย็นชามแบบเดิมไม่ได้อีกต่อไป

ขณะที่คู่ค้าของรัฐวิสาหกิจ ที่เคยมีผลกำไรดีจากการผูกขาดก็เกิดการต่อต้าน

ไม่นับภาคประชาสังคมที่อ้างเรื่องความรักชาติ สมบัติชาติ ที่ออกมาเคลื่อนไหวคัดค้านหัวชนฝา

 

สุดท้าย “บรรยง” ได้แต่ฝากความหวังไว้ที่ประชาชน

“ผมเชื่อในประชาชน ตราบใดที่ประชาชนเข้าใจและเห็นประโยชน์ มันจะเกิด ตอนนี้อยู่ที่ประชาชนว่าจะสนับสนุนแค่ไหน ถ้ารัฐบาลนี้ยังไม่เห็นควร มีพรรคการเมืองไหนเห็นว่าดีจะเอาไปเป็นนโยบายก็เชิญตามสะดวก ผมมั่นใจว่ามันดีกว่าสถานะปัจจุบันแน่นอน”

 


พิเศษ! สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์, ศิลปวัฒนธรรม และเทคโนโลยีชาวบ้าน ลดราคาทันที 40% ตั้งแต่วันนี้ – 30 มิ.ย.63 เท่านั้น! คลิกดูรายละเอียดที่นี่