“สุขุม” อ่านเกมศึกในพลังประชารัฐ “ประวิตร” ทิ้งไพ่ใบสุดท้าย? เชื่อนายกฯ ยังไม่ทิ้งสมคิด-พึ่งเทคโนแครต

“ตอนที่มีกระแสออกมาในช่วงแรกๆ เกี่ยวกับข่าวนี้ผมก็ไม่เชื่อว่า พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ จะมารับตำแหน่งหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ แต่ถ้า พล.อ.ประวิตรต้องขึ้นมาเองจริงๆ แสดงว่าคงเอาไม่อยู่แล้ว มันเหมือนเป็นการทิ้งไพ่ใบสุดท้าย จริงๆ แล้วบทบาทของ พล.อ.ประวิตรก่อนหน้านี้เรียกว่าน่าจะอยู่สูงกว่าหัวหน้าพรรค ที่ผ่านมาเป็นถึงผู้จัดการรัฐบาล แล้วก็ชัดเจนว่าถ้ามีการปรับโครงสร้างภายในตรงนี้ได้ ก็จะตามมาด้วยปรับคณะรัฐมนตรีแน่นอน” รศ.สุขุม นวลสกุล อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยรามคำแหง มองเกมภายในพรรคพลังประชารัฐ-และการปรับทัพในรัฐบาลประยุทธ์ 2 โดยเชื่อว่าจะมีการปรับ ครม.หลัง พ.ร.ก.นี้หรืออาจจะเลื่อนไปช่วง พ.ร.บ.งบประมาณเข้าสภาอีกทีหนึ่ง ก็ไม่น่าเกินกรกฎาคมนี้จะได้เห็นกัน

รศ.สุขุมย้ำว่า มุ้งต่างๆ ภายใน พปชร.ที่มีหลากก๊กเหล่าเป็นสิ่งที่เห็นได้ชัดแต่แรกอยู่แล้ว ว่ามีหลายกลุ่ม อาทิ สามมิตร คุณสมศักดิ์ เทพสุทิน คุณสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ กับพวกคุณสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ แต่ปรากฏว่าที่ผ่านมาคนของคุณสมคิดได้ตำแหน่งไปจนเป็นที่น่าพอใจอยู่ฝ่ายเดียว ทำให้ปีกของสมศักดิ์กับสุริยะไม่ได้ดั่งใจ มันถึงไม่จบไม่สิ้น ต้องมีการเคลื่อนไหวเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลง

ส่วนตัวมองว่าคุณสมคิดเองก็คงจะไม่ยอม ถ้าดูจากบทบาทในสภาเรื่องการอภิปราย พ.ร.ก.กู้เงิน 5 วันที่ผ่านมา เราจะเห็นได้ชัดว่านายกรัฐมนตรีมองเห็นว่าคุณสมคิดยังมีน้ำยาอยู่ เป็นคนที่ชี้แจงอะไรอยู่พอสมควร ก็คงต้องต่อรองกันไป คงไม่ได้หลุดไปทั้งหมด

สิ่งที่จะเห็นแน่นอนคือการถูกแบ่งเก้าอี้อาจจะหลุด 1-2 ตำแหน่ง จากกลุ่มสี่กุมาร แต่ยังไงก็คงไม่หลุดไปหมด

ชมคลิปสัมภาษณ์

อย่างไรเสียการสลายขั้วคงไม่มีทางเกิดขึ้น (ได้) จะยังคงเป็นกลุ่มของใครของมัน เพียงแต่ว่าถ้าหัวหน้ากลุ่มเหล่านั้นยอมรับ พล.อ.ประวิตรทุกอย่างก็จบ ด้วยสถานะที่เคยเป็นผู้จัดการรัฐบาลมา คนก็ต้องเชื่อฟังอยู่แล้ว จริงๆ ส่วนตัวก็ไม่เห็นว่าจำเป็นจะต้องมานั่งตำแหน่งหัวหน้าพรรคเสียเอง ซึ่งการมาอยู่ตรงนี้จะตกเป็นเป้ามากกว่าเดิม

แต่ถ้าเขาเลือกทางนี้แล้วมันก็ทำให้เห็นว่าที่ผ่านมาภายในรัฐบาลมันมีการเปลี่ยนแปลงอย่างสุดๆ แสดงว่าต้องใกล้ถึงจุดอวสานอยู่

แล้วยิ่งมีการเปลี่ยนแปลงแสดงว่ายิ่งมีความยุ่งยาก การเปลี่ยนหัวหน้าพรรคในห้วงนี้ถือว่าเป็นเรื่องที่แปลกดีเหมือนกัน คนก็ตั้งคำถามได้ว่าถ้าจะเป็น ทำไมไม่เป็นตั้งแต่แรก? เพิ่งจะมาในห้วงนี้ เป็นเพราะว่าพรรคพลังประชารัฐเกิดความวุ่นวายขีดสุด ถึงขั้นต้องลงมาแสดงเอง

ซึ่งผมเองไม่คิดว่าเป็นความต้องการของคุณประวิตรเองที่อยากจะเป็นหัวหน้าพรรค

แต่อาจจะทนกับความเคลื่อนไหวของกลุ่มคนที่ต้องการจะเห็นความเปลี่ยนแปลงไม่ได้

อดีตผ่านมาคนพยายามมองว่า พล.อ.ประวิตรกับคุณสมคิดไม่ลงรอยกัน คำตอบนี้จะชัดเมื่อมีการปรับ ครม.แล้วกลุ่มสมคิดยังได้อยู่ก็อาจจะลบมุมมองตรงนี้ออกไปได้

แต่ปัจจัยที่ทำให้คนมองแบบนี้ ก็เพราะว่าจริงๆ แล้วคุณสมคิดมากันคนละสาย ย้อนไปเหตุการณ์ยึดอำนาจตอนแรก ที่ คสช.เข้ามามีอำนาจ ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล หรือหม่อมอุ๋ย ที่มาคุมเศรษฐกิจซึ่งถือว่าเป็นสายของ พล.อ.ประวิตรมาคุม ทาง พล.อ.ประยุทธ์อาจจะมองว่าผลงานด้านเศรษฐกิจของทีมนี้ทำไม่ได้ผลเลยมีการปรับทีมเศรษฐกิจ ดึงคุณสมคิดมาดูแล

ส่วนที่มีคนพยายามมองว่า ปลายทางในภายภาคหน้า พล.อ.ประวิตรจะพิชิตเก้าอี้ สร.1 นั้น คิดว่ามีความเป็นไปได้ยาก เอาแค่นั่งตำแหน่งหัวหน้าพรรคครั้งนี้ก็เป็นการล่อเป้าอย่างสูงแล้ว

แค่ไปย้อนดูผลงานก็จะพบว่า พล.อ.ประวิตรมีปัจจัยที่ถูกหยิบยกมาให้เป็นเป้าได้เสมอ มีหลายเรื่อง เอาแค่เรื่องแหวนมารดา นาฬิกายืมเพื่อน ก็หนักอยู่แล้ว

และผมเองก็ไม่ได้มองว่าถ้าพรรคนี้ไม่ได้มีคุณประวิตรมานั่งหัวหน้าแล้วพรรคจะแตก คิดว่าคงไม่ถึงขนาดนั้น ผมเชื่อว่ามีหลายคนที่อยู่ในพรรคพลังประชารัฐ ไล่ให้ตายยังไงก็คงไม่ออกจากพรรคหรอก เว้นแต่ใกล้ช่วงเลือกตั้งใหม่ค่อยว่ากันอีกที

รศ.สุขุมชี้ว่า พรรคที่ยืนหนึ่งของฝั่งนี้ยังไงเสียก็คือ “พรรควุฒิสภา” ที่พร้อมสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ต่อ เราจะเห็นได้ว่า พล.อ.ประยุทธ์ไม่ค่อยกลัวสภาผู้แทนฯ เท่าไหร่ เมื่อไปเปิดกฎเกณฑ์กติกาไม่ว่ายังไงก็แล้วแต่ จะเลือกยังไง พล.อ.ประยุทธ์ก็ถือเป็นหัวหน้าพรรคของ 250 ส.ว.

ด้านพรรคพลังประชารัฐเองเข้ามาอาศัยกติกาตรงนี้เติบโต และอาจคิดว่าตัวเองเป็นพรรคที่สร้างนายกฯ ขึ้นมา แต่ผมว่านายกฯ ไม่ได้มองจุดนี้ ยังไงก็แน่นอนว่า พปชร.คือพรรคเฉพาะกิจ ตราบใดที่ยังมีรัฐธรรมนูญที่ถูกออกแบบมาแล้วฉบับนี้อยู่ พรรคนี้ก็ได้เปรียบ ซึ่งการที่ได้ พล.อ.ประวิตรมานั่งหัวหน้าพรรคก็อาจเป็นการสร้างความเป็นพรรคทหารให้มั่นใจมากขึ้น

ขณะเดียวกันการที่พรรคเพื่อไทยอ่อนแอไป คุณก็อย่าไปคิดว่า ส.ส.ที่นั่งอยู่ในสภาเขามีอุดมการณ์ล้วนๆ มันก็มีอยู่หลายคนที่ยังเชื่อว่า การล้มทหารทำได้ แต่พอถึงเวลาเอาเข้าจริงๆ แล้วไม่เกิดเลย แม้ว่าเสียงในสภาอาจจะสูสีได้ แต่ยังไงก็ไม่มีทางตั้งรัฐบาลได้ ด้วยกลไกของฝ่ายนู้นที่ยิ่งนานวันไปยิ่งอยู่ได้นานวันแก้เกมได้

ต้องจำไว้อย่างว่า นักการเมืองเราส่วนใหญ่เล่นการเมืองแล้วอยากเป็นรัฐบาลกัน แถมมีกฎกติกาที่วางมาเพื่อให้เขามีอำนาจ หลายครั้งหลายหนก็แก้เกมกันแบบดื้อๆ หาช่องทางเล่นงานฝ่ายตรงข้ามทำให้นักการเมืองบางคนยังไม่ทันมีโอกาสได้เข้าสภาเลยด้วยซ้ำ

เมื่อมองมาที่พรรคเพื่อไทย การที่จะบอกว่าพรรคนี้เกี้ยเซียะกับรัฐบาลหลายครั้งหลายหน ก็ต้องมองเจาะลงไปอีกว่า คำว่า “พรรคเพื่อไทยในที่นี้” หมายถึงกลุ่มคนไหน? มันมีหลายกลุ่ม เช่น บางกลุ่มที่มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับรัฐบาลก็เป็นไปได้

แต่เท่าที่ผมดู มันเป็นพฤติกรรมของส่วนบุคคล อย่างกรณีไม่ส่งผู้สมัครที่จังหวัดลำปาง

ก่อนหน้านี้ที่มีการปล่อยข่าวว่าพรรคเพื่อไทยจะเข้ามาร่วมรัฐบาลก็อาจจะมีความเป็นไปได้ ในที่นี้หมายถึงบางคนบางกลุ่ม หรือไม่ก็ต้องอยู่แบบแฝงตัวมีงูเห่าที่พยายามแสดงตัวให้เห็นชัดเจนมากขึ้นเรื่อยๆ ก็เป็นไปได้ ซึ่งจะมักแสดงออกเพื่อให้เกิดผลดีต่อรัฐบาล

ส่วนท่าทีของคุณทักษิณ ชินวัตร ที่เราพอมองเห็น ก็ชัดว่าเขาอ่อนท่าทีลงไปเรื่อยๆ คุณทักษิณไม่เต็มที่แล้ว ยิ่งมีเรื่องของคุณพานทองแท้ หรือการปล่อยข่าววงในอะไรต่างๆ คนก็มองภาพต่อจิ๊กซอว์กันไปไกล ยิ่งในช่วงที่ พล.อ.ประวิตรกำลังจะถูกอภิปรายไม่ไว้วางใจ แต่ทำไมถึงไม่มีใครแตะได้

คนก็เลยไปคิดว่า คุณทักษิณกับ พล.อ.ประวิตรถึงกันหรือไม่

บทสรุปส่งท้าย รศ.สุขุมยังไม่เชื่อว่าปลายปีนี้จะมีการยุบสภา เพราะด้วยความเป็นต่อทุกอย่าง เราเห็นๆ อยู่ว่ารัฐบาลดีวันดีคืน

คำว่าดีในที่นี้ไม่ใช่ดีในแง่ของการบริหาร แต่เป็นในเรื่องของเสถียรภาพ แล้วแบบนี้มันจะยุบสภาได้อย่างไร แต่จะดูแค่ตรงนี้ไม่ได้ ต้องดูว่าหลังจากวันที่พรรคพลังประชารัฐ หาก พล.อ.ประวิตรขึ้นมาเป็นหัวหน้าพรรคจริงๆ แล้วมีการปรับ ครม.มันจะทำให้ภาพชัดขึ้น หากในที่สุดแล้วถ้ากลุ่มคุณสมคิดถูกตัดออกไปหมด มันก็จะมีผลอะไรหลายๆ อย่างต่อรัฐบาล

ฉะนั้น ความเป็นไปได้คือก๊กของคุณสมคิดอาจจะต้องเสียอำนาจไปบ้างแต่ต้องไม่ทั้งหมด แล้วบทที่คุณประยุทธ์จะต้องเล่นหลังจากนี้ เขาก็ต้องมองพรรคพลังประชารัฐเป็นเหมือนกับกลุ่มหนึ่งที่เข้ามาสนับสนุนเขา

แล้วถ้าเราสังเกตดูจะเห็นได้ว่าสิ่งที่เกิดขึ้นในห้วงที่ผ่านมา ผมมีความรู้สึกว่า พล.อ.ประยุทธ์จะค่อนข้างใช้บริการของกลุ่มเทคโนแครตมากกว่ากลุ่มนักการเมืองอีกด้วยซ้ำ ถ้าจะพูดกันให้ง่ายกว่านั้นก็หมายความว่า คุณประยุทธ์เชื่อมั่นในกลุ่มเทคโนแครตมากกว่านักการเมือง

อย่างไรเสียก็ต้องจับตาดูกันต่อไป


พิเศษ! สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์, ศิลปวัฒนธรรม และเทคโนโลยีชาวบ้าน ลดราคาทันที 40% ตั้งแต่วันนี้ – 30 มิ.ย. 63 เท่านั้น! คลิกดูรายละเอียดที่นี่