ธัมมจริยา | สูตรสำเร็จในชีวิตตามหลักพระพุทธศาสนา

สูตรสำเร็จในชีวิต (19)

การประพฤติธรรม (1)

วันนี้จะพูดถึงสูตรสำเร็จแห่งชีวิตสูตรที่ 16 คือธัมมจริยา (การประพฤติธรรม)

พระอรรถกถาจารย์ท่านให้คำจำกัดความว่า ธัมมจริยา คือการประพฤติตามกุศลกรรมบถสิบประการ ชาวบ้านฟังแค่นี้ก็คงถามต่อไปแล้วว่า แล้ว “กุศลกรรมบถสิบประการ” ล่ะ คืออะไร

กุศลกกรรมบถ คือแนวทางแห่งกุศล หรือ “ทางแห่งความดี” นั่นแหละครับมีสิบประการ แบ่งเป็นดีทางกายสาม ดีทางวาจาสี่ และดีทางใจอีกสาม รวมเป็นสิบพอดี มีอะไรบ้าง ผู้ใฝ่รู้ไปหาอ่านเอาเอง

ถ้าเราตั้งคำถามและหาคำตอบแก่ตัวเองได้ชัดแจ้งว่า ธรรมคืออะไร ประพฤติธรรมคือทำอย่างไร บางทีเรื่องนี้จะดูง่ายขึ้นกระมังครับ

ลองมาคิดดูกัน

ธรรมคืออะไร คงมีผู้รู้ให้คำตอบแตกต่างกันออกไป แต่ถ้าจะพูดสั้นๆ ให้ครอบคลุมแล้ว ธรรมน่าจะได้แก่ ความถูกต้องและความพอดี อะไรที่ถูกด้วยดีด้วย อันนั้นเรียกว่าธรรมหมดไม่มียกเว้น

ส่วนสิ่งใดไม่ถูกต้องและไม่ดี หรือพูดอีกนัยหนึ่ง สิ่งที่ผิดและสิ่งที่เสียไม่เรียกว่าธรรม

คำจำกัดความแค่นี้คิดว่าคงครอบคลุมลองนึกให้ดีก็แล้วกัน ธรรมะที่พระพุทธองค์ทรงสั่งสอนมีมากมายที่ท่านว่ามีถึงแปดหมื่นสี่พันพระธรรมขันธ์นั้นน่ะ เป็นเรื่องของความดีทั้งนั้น

สวากขาโต ภควตา ธัมโม-พระธรรมอันพระผู้มีพระภาคตรัสไว้ถูกต้องแล้ว ตรัสไว้ดีแล้ว ไหมล่ะ บทสวดสรรเสริญพระธรรมก็บอกอยู่ชัดแจ้งแล้ว

ทีนี้การประพฤติธรรมล่ะ ทำอย่างไร

การประพฤติธรรมสรุปได้สองสถานคือ

– ประพฤติเป็นธรรม หมายถึงทำให้ถูก ทำให้ดีนั้นเอง ไม่ต้องทำอะไรใหม่ ใครมีหน้าที่อะไรอยู่แล้ว มีงานมีการอะไรทำอยู่แล้ว ก็ทำหน้าที่นั้น การงานนั้นให้ถูกและให้ดียิ่งขึ้น ที่มันถูกอยู่แล้วดีอยู่แล้ว ก็ทำให้มันถูกมันดียิ่งๆ ขึ้นไป

เป็นนักเรียนก็เรียนให้มันถูกวิธี เรียนให้มันดี ทำราชการก็ทำให้มันถูก ทำให้มันดี ค้าขายก็ค้าให้มันถูก ให้มันดี เป็นนักการเมืองจะอนุมัติอะไรตามอำนาจหน้าที่ ก็อนุมัติให้มันถูก ให้มันดี คนขออนุมัติมาก็ขอให้มันถูก ให้มันดี เขาอนุมัติให้แค่นี้ก็ไม่ไปทำเกินกำหนดที่เขาอนุมัติ อะไรอย่างนี้ เรียกว่าการประพฤติตามธรรม

หลวงปู่ท่านหนึ่งท่านมักย้ำเสมอว่า การทำตามหน้าที่ให้ดีที่สุดนั่นแหละคือการปฏิบัติธรรม

ก็หมายความดังที่ผมว่ามานี่แหละครับ

– ประพฤติตามธรรม นัยนี้ก็คล้ายกับนัยต้นแต่ละเอียดประณีตขึ้น นัยต้นถูกดีอาจถูกดีเพียงระดับพื้นฐาน ถ้ามองอย่างสายตาชาวโลกก็อาจไม่เห็นความ “ถูกดีที่ไม่สมบูรณ์” ก็ได้

เช่น นาย ก. มีอาชีพขายลูกน้ำ เลี้ยงปลา ตั้งหน้าตั้งตาทำงานในหน้าที่ของตนอย่างขยันหมั่นเพียร จนขายลูกน้ำได้เงินมาเลี้ยงตนและครอบครัวไม่เดือดร้อน ก็เรียกนาย ก. ประพฤติเป็นธรรม คือทำหน้าที่ของตนให้ถูกให้ดี และเจริญรุ่งเรืองเพราะทำถูกทำดีนั้น

แต่ถ้ามองให้ลึก อาชีพนั้นยังเป็นไปเพื่อเบียดเบียนอยู่ ถ้าจะให้ถูกให้ดีจริงๆ นาย ก. จะต้องเลิกละอาชีพขายลูกน้ำ หันมาประกอบอาชีพอื่นที่ดำเนินตามธรรมหรือบริสุทธิ์กว่า

การประพฤติตามธรรมจึงหมายถึงการฝึกอบรมตนตามแนวทางแห่งความถูกต้องดีงามให้สูงขึ้น ประณีตขึ้น บริสุทธิ์ ตามลำดับ

จะอธิบายในแง่ไหนก็ไม่หนีกรอบที่พระอรรถกถาจารย์ท่านให้ไว้ คือ “การดำเนินชีวิตตามแนวทางแห่งกุศล” นั้นแหละครับคือการประพฤติธรรม