เส้นทางวิบากที่ถูกลืมของ ปตท. กับความท้าทายในอนาคต (3)

ผม (ดร.ทองฉัตร หงศ์ลดารมภ์) ไม่เคยมีความรู้เกี่ยวกับเรื่องปิโตรเลียมเลย เมื่อได้รับมอบหมายผมก็ต้องทำการบ้าน ผมใช้เวลาทำการบ้าน ดูไปรอบๆ ตัว รอบๆ บ้านว่า บริษัทน้ำมันใหญ่ๆ ทั้งภาครัฐและเอกชนเขาทำกันอย่างไร

อันนี้ผมก็เล่าให้พวกน้องๆ ฟังอยู่เรื่อยๆ ว่า ผมก็ง่ายๆ ก็ไปรวบรวม “รายงานประจำปี” (Annual Report) มีประโยชน์มาก ที่กฎหมายกำหนดให้แต่ละบริษัททำมา ในนั้นต้องมีหลักการ ต้องมีเหตุผล การแบ่งโครงสร้างอย่างไร ใครคุมอะไร มีการรายงานอะไรบ้าง ฐานะการเงินเป็นอย่างไร ขายได้เท่าไหร่ ลงทุนเท่าไหร่ ความเสี่ยงคืออะไร มีการตรวจสอบและถ่วงดุลอย่างไร มันมีหมด คุณทำธุรกิจ คุณก็หนีไม่พ้นเรื่องพวกนี้หรอก

รายงานประจำปีจึงเป็นเอกสารที่มีคุณค่ามหาศาล ซึ่งผมคิดว่า องค์กรใหญ่ๆ ควรรวบรวมรายงานประจำปีที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจของตัวเองเข้ามาไว้ศึกษา ไม่ใช่เอามาตั้งเฉยๆ

ผมก็ไปดูรายงานประจำปีของเชลล์ เอสโซ่ คาลเท็กซ์ ของญี่ปุ่น ของอะไรต่ออะไร ดูว่า ในหลักสำคัญๆ ของบริษัทใหญ่ๆ ที่เขาดูแลเรื่องปิโตรเลียมหรือธุรกิจน้ำมัน เขาทำอะไรกันบ้าง และเขาวางโครงสร้างการบริหารจัดการ แบ่งสายการบริหารอย่างไรบ้าง

อันนี้ผมคิดว่า ทุกคนควรจะใช้ประโยชน์ ไม่ต้องกลัวหรอกครับ ถ้าอยากเรียนรู้ของใหม่ก็ไปดูรายงานประจำปีว่า เขาทำกันอย่างไร บริษัทดีๆ นะ พวกบริษัทห้องแถวที่ไม่เป็นเรื่องเป็นราวอย่าไปดู บริษัทระดับสากล เขาต้องทำดี บริษัทที่มีระบบ มีระเบียบ มีวินัย มันช่วยเยอะ ยิ่งระยะหลังยิ่งเยอะใหญ่ พวกนี้มีประโยชน์ทั้งนั้น แค่เราไม่ค่อยใช้ให้เป็นประโยชน์กันเอง

ผมก็อาศัยอย่างนี้ และก็ฟังคนโน้นบ้าง คนนี้บ้าง ดูอย่างนี้บ้าง ก็เรียนรู้ เราก็สนใจเรื่องพวกนี้ ก็ติดตามข่าวสาร ดูว่า เขาพัฒนา เขาพูด เขามีความคิดอย่างไร เขาทำอะไรกัน

 

แล้วผมก็ได้โครงสร้างการบริหาร การจัดการ ปตท. ช่วงแรกหลักๆ ก็แบ่งเป็น 3-4 อย่าง ในการทำธุรกิจน้ำมัน ตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ

ต้นน้ำ จุดเริ่มต้นของการสำรวจ ค้นหาและผลิตปิโตรเลียม ก็คือ ปตท. สำรวจและผลิต

โลจิสติกพวกขนส่ง พวกคลังน้ำมัน เพราะเมื่อจัดซื้อจัดหามาแล้ว เจอน้ำมันแล้ว ก็ต้องขนส่งมาที่คลังน้ำมัน ก็มีธุรกิจเกี่ยวกับเรื่องการขนส่ง การจัดเก็บ คลังน้ำมัน

แต่เมื่อเป็นน้ำมันดิบ ก็ต้องมาเข้ากระบวนการกลั่น ก็ต้องมีระบบกลั่น เราก็ต้องศึกษาการมีโรงกลั่น จากระบบกลั่นออกมาเป็นน้ำมันเชื้อเพลิง ก็ต้องมีระบบจัดเก็บน้ำมันเชื้อเพลิง น้ำมันเชื้อเพลิงกับน้ำมันดิบก็ไม่เหมือนกัน และน้ำมันเชื้อเพลิงมีกี่ชนิด มีก๊าซโซลีน ดีเซล มีเกรดต่างๆ น้ำมันเตา มีอะไรต่ออะไร เราก็ต้องมีคนที่ดูแลเรื่องพวกนี้

พอมีน้ำมันสำเร็จรูปแล้วออกจากโรงกลั่น (ปลายน้ำ) ก็ต้องไปทำเรื่องการจัดจำหน่าย จัดจ่าย คือ ขายปลีก และกระจายระบบขายไปทั่วประเทศ

สิ่งเหล่านี้ ปตท. ก็ต้องทำหมด ก็ธุรกิจน้ำมันเป็นแบบนี้ถึงได้มีการกำหนดรูปแบบของ ปตท. ขึ้นมา

: ใช้เวลานานไหม

ก็ทำไปเรียนไป ไม่นาน ของอย่างนี้เรียนรู้กันได้ ไม่ใช่เรื่องลึกลับ ไม่ต้องไปคิดสูตรปรมาณู แค่เรียนรู้ว่า อะไรที่เราจำเป็นต้องทำ และจะต้องทำ จะต้องแบ่งอย่างไร ก็แบ่งตามธรรมชาติของธุรกิจ

ผมก็คิดว่า ผมใช้เวลาไม่นานเท่าไร

เมื่อได้โครงสร้างธุรกิจ ปตท. เสร็จแล้วก็จัดคนลง

 

: แผนคน ที่ท้าทายและยากที่สุด

เรื่องคน เป็นเรื่องที่ผมคิดว่าสำคัญ ผมก็โชคดีเพราะเรื่องพลังงานเป็นเรื่องสำคัญ ทุกคนก็เห็นอยู่ พอไปพูดกับใคร ขอให้เข้ามาร่วมงานเขาก็ยินดี ผมก็รวบรวมเพื่อนๆ ทั่วประเทศ ทั้งที่อยู่ในราชการ บริษัทเอกชน มารวมกันหมด และทุกคนก็สนใจอยู่แล้ว อยากจะทำเพื่อประเทศ พวกมือดีๆ ทั้งนั้น ที่ผมเชิญเข้ามาก็อยู่กันจนกระทั่งผมออก และพวกเขาเกษียณกันหมด

ตอนนี้รุ่นผมไม่มีเหลือแล้ว รุ่นที่มาวางรากฐาน ปตท. ไม่เหลือแล้ว เกษียณกันหมด ก็มี

ผู้ว่า เลื่อน กฤษณกรี

ผู้ว่า พละ สุขเวช

ผู้ว่า วิเศษ จูภิบาล

ผู้ว่า ประเสริฐ บุญสัมพันธ์

ท่านรอง ประทิน พัฒนาภรณ์

ท่านรองผู้ว่าหลายๆ คนที่ไม่ได้ขึ้นเป็นผู้ว่า แต่ก็มาช่วยกันตั้งแต่แรกเยอะ มีถึงระดับฝ่าย ก็ชวนๆ เขามา ทุกคนก็เต็มที่ ทำงานกันหามรุ่งหามค่ำเต็มที่

คนที่ผมเชิญมานี่เป็นคนที่มีคุณภาพทั้งนั้น เขาก็พิสูจน์ว่า เขามีคุณภาพ จากราชการ จากกรมเชื้อเพลิง กระทรวงอุตสาหกรรม เยอะแยะไปหมด ซึ่งหน่วยราชการก็ดีอย่าง เขาฝึกคนไว้ดี ข้าราชการเราเก่งๆ เยอะนะ ทุกยุคแหละ เพียงแต่เราไม่ค้นหาความเก่งเขาให้เอามาใช้ประโยชน์ให้เต็มที่

ทุกคนที่เรียนจบมา เก่งทั้งนั้น คนไทยฉลาดจะตาย เพียงแต่เราต้องใช้เขาให้ได้เต็มศักยภาพที่เขามีอยู่

: ใช้อย่างไร

ผมก็คุยๆ กับเขา ผมทำงานเป็นโครงการ (Project Base) ผมจะคุยเลยว่า โครงการนี้จะทำแบบนี้ มีเป้าหมายแบบนี้ อย่างนี้ คุณมีความรับผิดชอบแค่นี้ คุณมีคนแค่นี้ มีเงินแค่นี้ คุณไปทำ แล้วผมตามดูตลอด ซึ่งก็กินเวลาผมมากหน่อย เพราะผมตามดูตลอดทุกๆ เรื่อง

ผมก็ใช้เวลามาก แต่ผมไม่รู้สึกหนักหนาอะไร เพราะผมทำงานด้วยความสนุก เคล็ดลับผมคือ ทำงานให้สนุก ไม่เครียด ถ้าไม่สนุก ก็ไม่ทำ

: ความท้าทาย

ตอนจัดตั้ง ปตท. รัฐบาลให้รวม 2 องค์กร คือ องค์การเชื้อเพลิง กระทรวงกลาโหม กับองค์การก๊าซธรรมชาติที่จัดตั้งขึ้นมาโดยกระทรวงอุตสาหกรรม

องค์การก๊าซธรรมชาติเป็นองค์กรตั้งขึ้นมาใหม่ เพื่อให้มาจัดทำธุรกิจเกี่ยวกับการสำรวจ ผลิต และการบริหารจัดการเชื้อเพลิงที่เป็นก๊าซธรรมชาติ พนักงาน คือพวกเด็กหนุ่มไฟแรง การศึกษาดี มีพื้นฐานดี เก่งๆ ทั้งนั้น มาจากเมืองนอก

องค์การเชื้อเพลิง ซึ่งเป็นของทหารที่ทำปั๊มสามทหาร ซึ่งเป็นปั๊มสีขี้ม้า เป็นองค์กรเก่า ประกอบด้วยคนหัวเก่า คนที่อาจจะมีวัฒนธรรมของเขาอยู่ดึกดำบรรพ์อยู่แล้ว และบริหารกันแบบทหาร นายสั่งก็ทำทั้งนั้น นายสั่งดีไม่ดีไม่รู้ แต่ทำหมด เพราะเขามีวินัย

องค์กรเหล่านี้ต้องรวมกันตามกฎหมาย องค์กรใหม่อย่าง ปตท. จึงประกอบด้วย 2 หน่วยงานที่แตกต่างกันสิ้นเชิง และยังมีส่วนที่ผมดึงมาเองอีก นี่เป็นทางฝ่ายบริหารส่วนกลาง

กลุ่มที่เป็นมดงานจริงๆ คือ คนที่อยู่ในองค์กรเดิมทั้ง 2 องค์กร แล้วค่อยๆ กระจายไป แต่คนที่อยู่ฝ่ายบริหารตรงกลาง ผมจะดึงมาจากที่อื่นๆ จากภาคเอกชนและราชการ ก็รวมทั้งผู้บริหารองค์กรเดิมด้วย ก็มาช่วยกัน

ผมก็โชคดีที่ได้ผู้จัดการใหญ่ของทั้งสององค์กรมาเป็นรองผู้ว่าการอยู่กับผมด้วย และเขาก็มีลูกน้องเก่าของเขา เราก็จัดคนลงตามโครงสร้างที่ผมคิดขึ้นมาใหม่

ถ้าฝ่ายปฏิบัติก็คล้ายๆ เดิม พวกคลังน้ำมันเดิมก็ทำคลังน้ำมัน พวกทำขนส่งก็ทำเรื่องขนส่ง แต่องค์การก๊าซธรรมชาติ เนื่องจากเป็นของใหม่ก็มาทำเรื่องของใหม่ เรื่องท่อก๊าซ เรื่องการสำรวจ เรื่องการผลิต

หัวใจคือ เราต้องชนะใจพวกเขา