ฉัตรสุมาลย์ : ตัวตนของภิกษุณีในเวทีต่างประเทศ

บนเส้นทางภิกษุณ์สงฆ์ในประเทศไทย (9)
บทบาทบนเวทีนานาชาติ (1)

การประดิษฐานภิกษุณีสงฆ์สายเถรวาทนั้น หากจะคิดลำพังประเทศใดประเทศหนึ่ง โดยไม่มีการอิงอาศัยกันนั้น เป็นไปได้ยากมาก

ทั้งนี้เป็นเพราะรูปแบบวิถีชีวิตของผู้หญิงที่ออกบวชนั้น แม้จะเป็นสิ่งที่พระพุทธองค์ประทานไว้ให้ และผู้หญิงอยู่ในโครงสร้างของพุทธบริษัทชัดเจนทั้งที่เป็นสมณะและทั้งที่เป็นฆราวาส แต่ในวัฒนธรรมท้องถิ่นของสังคมเอเชีย ผู้หญิงรับบทบาทของเมียและแม่มาโดยตลอด การที่จะเลือกออกไปเดินบนเส้นทางของสมณะจึงเกิดขึ้นได้ยาก

ความช่วยเหลือซึ่งกันและกัน อย่างน้อยที่สุดในยุคแรกของการก่อตั้งภิกษุณีสงฆ์ในเอเชียจึงต้องอิงอาศัยกัน สนับสนุนกัน เอื้ออาทรต่อกัน

เมื่อภิกษุณีธัมมนันทาซึ่งเป็นภิกษุณีเถรวาทไทยรูปแรกออกบวชนั้น เส้นทางก็มิได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ แต่ด้วยความมุ่งมั่นและชัดเจนทั้งในศรัทธาที่มีต่อพระพุทธศาสนา ความคิดและเป้าหมายที่ชัดเจน จึงประคองตนและภิกษุณีสังฆะมาได้จนเข้า 20 ปีแล้ว

ใน พ.ศ.2558 ภิกษุณีธัมมนันทาจะมีอายุครบ 71 ท่านคิดถึงงานสืบพระศาสนาควบคู่ไปกับงานที่ลูกศิษย์ลูกหาจะฉลองวันเกิด แทนที่จะจัดงานทิ้งไปแต่ละปี ท่านอยากจะให้งานฉลองวันเกิดเป็นงานที่จะช่วยต่อยอดเสริมสร้างงานประดิษฐานภิกษุณีสงฆ์ในวงกว้างขึ้น

และเพราะมีพื้นฐานมาจากการเป็นนักวิชาการคุ้นเคยกับการจัดงานประชุมระดับนานาชาติมาอย่างดี แนวคิดของท่านจึงออกมาในลักษณะการจัดงานทางวิชาการเรื่องภิกษุณี เพื่อเปิดโอกาสให้มีการรวบรวมองค์ความรู้เกี่ยวกับภิกษุณีในประเทศต่างๆ ให้เป็นปึกแผ่นขึ้น

ท่านให้ความสำคัญกับการบันทึกงาน เพราะท่านเชื่อว่าผู้หญิงต้องเขียนประวัติศาสตร์ของตนเอง มิฉะนั้น การทำงานต่างๆ ที่เพียรทำมาไม่ช้าจะหายไปกับสายลม

 

ในนครปฐม สถานที่ที่จะรองรับงานการประชุมนานาชาติทางวิชาการได้ ต้องเป็นระดับมหาวิทยาลัย บังเอิญในช่วงนั้นท่านได้พูดคุยและสร้างความมักคุ้นกับอาจารย์ที่สอนด้านปรัชญาศาสนาที่มหาวิทยาลัยราชภัฏนครปฐม จึงไปลงตัวว่าจะจัดการประชุมนานาชาติที่นั่น

แต่เพราะที่มหาวิทยาลัยราชภัฏนครปฐมมีสอนหลักสูตรว่าด้วยอาเซียน (ASEAN) งานประชุมที่ท่านธัมมนันทาตั้งใจจะจัดเรื่องภิกษุณีก็ต้องให้เข้ากับอาเซียนด้วย

เลยมาลงตัวที่ ASEAN Bhikkhuni Conference ได้อักษรย่อว่า ABC แต่เรามาทราบทีหลังว่า ABC มักใช้ในความหมายของความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับเรื่องอะไร ก็มักจะพูดว่า ABC ของเรื่องนั้น ก็ไม่เป็นไร ไม่ว่ากัน

ครั้งนั้น มีการนำเสนองานของภิกษุณีสายเถรวาทใน 5 ประเทศ 4 ประเทศจากอาเซียน คือ ไทย อินโดนีเซีย เวียดนาม และมาเลเซีย ประเทศที่ 5 คือ อินเดีย

จากไทยเป็นท่านธัมมนันทาเอง ท่าน ดร.หลิวฟับ จากเวียดนาม รูปนี้จบปริญญาเอกจากอินเดีย ท่านฐิตาจารินี ภิกษุณีจากอินโดนีเซีย ขณะนั้นกำลังทำปริญญาเอกที่ศรีลังกา ท่านสุมังคลา จากมาเลเซีย และท่านสุนีติ ภิกษุณีจากกลุ่มชาวพุทธใหม่จากอินเดีย

การนำเสนองานทางวิชาการบนเวทีเป็นภาษาอังกฤษ มีอาจารย์ที่ราชภัฏช่วยแปลเป็นภาษาไทยสำหรับนักศึกษาของราชภัฏเองที่มาร่วมฟังการประชุม

เราได้นักศึกษา 500 คน ในช่วงเช้า และอีก 500 คนในช่วงบ่าย เรียกว่ามีนักศึกษาเข้ามาสัมผัสกับงานของภิกษุณีนานาชาติเป็นครั้งแรกถึง 1,000 คน

นอกจากนั้น ยังมีพระภิกษุสงฆ์ไทยนับสิบรูปมาร่วมรับฟังด้วย สำหรับพระภิกษุก็น่าจะเป็นครั้งแรกอีกเหมือนกันที่ได้เห็นภิกษุณีนานาชาติ อย่างน้อยก็ 5 ชาติที่อยู่บนเวที

ภิกษุที่มาร่วมประทับใจว่าภิกษุณีมีคุณภาพ พูดภาษาอังกฤษในการนำเสนองานทุกรูป

 

ตอนบ่าย ภิกษุณีนั่งประจำฐานของแต่ละประเทศที่เราจัดให้ นักศึกษาสามารถเข้ามาพูดคุยเพื่อเก็บข้อมูลเกี่ยวกับความเป็นอยู่ของประเทศในอาเซียน อย่างน้อยที่สุดก็มี 4 ประเทศ นักศึกษาแสดงความสนใจและได้รับการตอบรับดี

คณะผู้จัดงานประเมินกันว่า การจัดงานครั้งนั้นได้ผลเกินคาด แต่มองเห็นข้อจำกัด และเกิดความตระหนักว่า ในประเทศอาเซียนนั้นมีภิกษุณีสายเถรวาทเพียง 4 ประเทศ คือ ประเทศที่นิมนต์มาที่กล่าวมาแล้วข้างต้น ในการจัดงานประชุมครั้งต่อไปจำเป็นต้องขยายฐานให้ชาวพุทธได้ประโยชน์สูงสุด

ในปีถัดมา พอดีท่านธัมมนันทาครบ 72 ปี เรียกว่าครบ 6 รอบ ทีมงานจึงเสนอให้จัดงานประชุมทางวิชาการนานาชาติสำหรับชาวพุทธอีกครั้งหนึ่ง

 

คราวนี้วิธีคิดเริ่มลงตัวมากขึ้น แม้อักษรย่อยังใช้ ABC แต่คราวนี้มีความหมายกว้างขึ้น คือ ASEAN Buddhist Conference ไม่จำกัดเฉพาะภิกษุณี แต่เป็นชาวพุทธทั้งหมด หมายรวมภิกษุสงฆ์ ภิกษุณีสงฆ์ อุบาสกบริษัท และอุบาสิกาบริษัท

ที่ยังคงต้องใช้คำว่าอาเซียน เพราะยังจัดที่มหาวิทยาลัยราชภัฏนครปฐม คราวนี้มีอาจารย์ ดร.อมรชีพ อาจารย์จากมหาวิทยาลัยเดลี อินเดีย เข้ามาช่วยงานในฐานะเลขานุการของการประชุม มีผู้เข้าร่วมงานประชุมครั้งนี้จาก 26 ประเทศ แม้องค์ทะไลลามะก็ทรงทราบถึงการจัดงานครั้งนี้ และขอให้เลขานุการของงานประชุมนี้เข้าไปประสานงานที่สำนักงานของทิเบตในกรุงเดลี และส่งสามเณรีทิเบตมาร่วมประชุมด้วย

นอกจากนั้น พระองค์ท่านก็ยังส่งพระราชสาส์นมาแสดงความยินดี ท่านธัมมนันทาเป็นผู้อ่านพระราชสาส์นนี้เองในตอนเปิดงาน

ท่านอาจารย์พรหมวังโส (เจ้าคุณวิสุทธิสังวรมหาเถระ) พระภิกษุชาวอังกฤษ ลูกศิษย์ของท่านอาจารย์ชา ซึ่งปัจจุบันเป็นเจ้าอาวาสวัดในเมืองเพิร์ธ ออสเตรเลีย เมตตารับมาแสดงปาฐกถานำในการประชุมด้วย

แม้ชาวไทยก็รู้จักท่านดี แต่เนื่องจากฝรั่งเรียกท่านว่าอาจารย์บราห์ม คนไทยก็เลยพลอยออกเสียงเช่นนั้นตาม

ใน พ.ศ.2558 เมื่อท่านพบกับภิกษุณีธัมมนันทาในงานประชุมนานาชาติศากยะธิดาที่อินโดนีเซีย ท่านพูดว่า งานของภิกษุณีที่ทำนั้น เป็นงานที่ “อยู่บนหน้าที่ถูกต้องของประวัติศาสตร์” (we are on the right side of history) ที่ท่านใช้คำว่า “เรา” เพราะท่านเองจัดงานอุปสมบทให้ภิกษุณีที่ออสเตรเลีย ก็ถูกสมาชิกคณะสงฆ์ในสายวัดป่าของหลวงปู่ชาขับออกจากการเป็นสมาชิก เรียกว่าท่านก็มีส่วนได้ส่วนเสียกับการสนับสนุนภิกษุณีอย่างเป็นรูปธรรม การที่ท่านใช้คำสรรพนามว่า “เรา” จึงมีนัยยะสำคัญ คราวที่นิมนต์ท่านมาเป็นองค์ปาฐก จึงขอให้ท่านได้พูดในประเด็นเดียวกันนี้ ก็เลยเป็นที่มาของหัวข้อในการแสดงปาฐกถาเปิดงานครั้งนี้

ท่านเจ้าคุณฯ เจ้าคณะจังหวัดนครปฐมถือว่าท่านเป็นเจ้าของบ้าน เมื่อมีพระภิกษุจากต่างประเทศระดับเจ้าคุณฯ ด้วยกันมาร่วมเป็นองค์ปาฐกในงาน ท่านก็เมตตามาร่วมงานต้อนรับพระภิกษุสงฆ์ด้วย น่าเคารพยิ่ง พระภิกษุสงฆ์ไทยและนานาชาติที่มาร่วมงานในช่วงพิธีเปิดงานนับ 100 รูป ได้ภาพที่อบอุ่นอย่างยิ่ง

 

การประชุมครั้งนั้นดำเนินไปด้วยดี เห็นถึงสามัคคีธรรมของทั้งภิกษุและภิกษุณีสงฆ์ ตลอดจนฆราวาสที่มาร่วมงาน

ภิกษุณีที่มาร่วมงานนั้น มาร่วมประชุมอย่างอบอุ่น นอกจากไทยซึ่งเป็นเจ้าของบ้านแล้ว มีภิกษุณีจากเวียดนาม อินโดนีเซีย ศรีลังกา อินเดีย แม่ชีจากพม่า เนปาล ภิกษุมาจากบังกลาเทศ ไทย อินเดีย อินโดนีเซีย ศรีลังกา มาเลเซีย อังกฤษ ออสเตรเลีย เขมร ลาว ฮ่องกง ชาวพุทธมาจากภูฐาน เนปาล แคนาดา อเมริกา ฯลฯ เรียกว่าเป็นการประชุมชาวพุทธนานาชาติที่อบอุ่น

เจ้าภาพดูแลเรื่องอาหารอย่างอุดมสมบูรณ์ ตลอดจนมื้อเย็นสำหรับฆราวาสด้วย คืนสุดท้ายก่อนที่จะลาจากกัน มีการแสดงโขนตอนหนุมานถวายแหวน แต่ฉากนี้ กลายเป็นทศกัณฐ์ที่มีบทบาทมากกว่าคนอื่น นักแสดงฝีมือชั้นครูมาจากวิทยาลัยนาฏศิลป์สุพรรณบุรี ไม่เสียหน้าเจ้าภาพ ยินดีประชาสัมพันธ์ให้เลยค่ะ

ABC 2 นี้ มีการส่งไม้ต่อ สำหรับการประชุมครั้งต่อไปที่กำหนดมีขึ้นในสองปีข้างหน้า บนเวทีตอนปิดการประชุมที่ดำเนินการประชุมโดย ดร.อมรชีพจากอินเดีย ร่วมกับพระอาจารย์สรณังกร จากมาเลเซีย ผู้เข้าร่วมได้แรงบันดาลใจมาก แม้ยังไม่ชัดเจนว่าเจ้าภาพจะเป็นชาติใดต่อไป

แต่การขับเคลื่อนงานการประชุมที่เริ่มต้นจากภิกษุณีไทยก็เริ่มฟอร์มตัวชัดเจนขึ้น ให้เป็นพื้นที่ของการสร้างเครือข่ายงานชาวพุทธที่จะขับเคลื่อนต่อไป โดยมีภิกษุณีไทยเป็นรูปแรกที่เปิดพื้นที่นี้อย่างเป็นรูปธรรม

เพื่อให้ชาวพุทธในเอเชียได้ทำงานด้วยกันเพื่อความมั่นคงของพระพุทธศาสนาต่อไป

 


พิเศษ! สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์, ศิลปวัฒนธรรม และเทคโนโลยีชาวบ้าน ลดราคาทันที 40% ตั้งแต่วันนี้ – 30 มิ.ย.63 เท่านั้น! คลิกดูรายละเอียดที่นี่