ต่างประเทศอินโดจีน : อุตฯ สิ่งทอที่เวียดนาม

(ภาพ-Reuters)

ในบรรดาอุตสาหกรรมของเวียดนามทั้งหมด อุตสาหกรรมสิ่งทอและเสื้อผ้าสำเร็จรูปได้รับผลกระทบจากวิกฤตการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 มากที่สุด

ปัญหาของอุตสาหกรรมสิ่งทอและเสื้อผ้าสำเร็จรูปที่นี่ เกิดขึ้นพร้อมๆ กันทั้งสองด้าน ด้านหนึ่งคือ ด้านของห่วงโซ่ซัพพลาย อีกด้านหนึ่งคือ ความต้องการของตลาด

อุตสาหกรรมนี้ของเวียดนาม มีส่วนที่ผลิตผ้าผืนเพียงเล็กน้อยเท่านั้น ส่วนใหญ่แล้วเป็นการผลิตเสื้อผ้าสำเร็จรูปเพื่อการส่งออกเสียมากกว่า

นั่นทำให้เวียดนามจำเป็นต้องพึ่งพาวัตถุดิบจากต่างประเทศเกือบทั้งหมด 55 เปอร์เซ็นต์ของวัตถุดิบมาจากโรงงานผลิตในจีน อีก 16 เปอร์เซ็นต์มาจากเกาหลีใต้ 12 เปอร์เซ็นต์นำเข้าจากไต้หวัน อีก 6 เปอร์เซ็นต์มาจากญี่ปุ่น หลงเหลือที่ใช้จากในประเทศเพียง 11 เปอร์เซ็นต์เท่านั้นเอง

ในเวลาเดียวกัน สหรัฐอเมริกากับสหภาพยุโรปคือตลาดส่งออกเสื้อผ้าสำเร็จรูปใหญ่ที่สุดของเวียดนาม กินสัดส่วนมากกว่า 60 เปอร์เซ็นต์

ข้อเท็จจริงที่ปรากฏก็คือ ในทันทีที่เกิดการแพร่ระบาดขึ้นในจีนเมื่อเดือนมกราคม ผู้ผลิตชาวจีนจำเป็นต้องระงับการผลิตลงกะทันหัน การส่งผ้าผืนให้กับโรงงานผลิตเสื้อสำเร็จรูปในเวียดนามก็ชะงักตามไปด้วย

ในปลายเดือนมีนาคมและเมษายน เมื่อโรงงานในจีนเริ่มกลับมาผลิตได้ ปัญหาของอุตสาหกรรมนี้ในเวียดนามก็ยังคงอยู่ แต่คราวนี้เป็นผลมาจากการที่ศูนย์กลางการแพร่ระบาดโยกออกจากจีนไปเป็นหลายชาติในยุโรปและสหรัฐอเมริกา ตามลำดับ

คำสั่งซื้อจำนวนมากจากยุโรปและสหรัฐอเมริกาถูกยกเลิก สร้างความเสียหายให้กับอุตสาหกรรมเสื้อผ้าสำเร็จรูปของเวียดนามสาหัส

 

รายงานของสมาคมสิ่งทอแห่งเวียดนาม ระบุว่า 70 เปอร์เซ็นต์ของโรงงานผลิตเสื้อผ้าสำเร็จรูปที่นี่ เริ่มลดการผลิตลง ลดการหมุนเวียนเปลี่ยนกะของแรงงานตั้งแต่เดือนมีนาคมเรื่อยมา

พอถึงเดือนเมษายน ที่เคยอยู่ที่ 70 เปอร์เซ็นต์ก็เพิ่มขึ้นเป็นกว่า 80 เปอร์เซ็นต์

สมาคมเชื่อว่า ถึงสิ้นเดือนมิถุนายนนี้ มูลค่าความเสียหายของทั้งอุตสาหกรรม จะสูงถึง 508 ล้านดอลลาร์

มูลค่าการส่งออกทั้งหมดคาดว่าจะอยู่ที่ 7,030 ล้านดอลลาร์ ลดลงจากเมื่อปี 2019 ถึง 1.4 เปอร์เซ็นต์

แต่ถ้าเทียบกับเป้าหมายการเติบโตของทั้งอุตสาหกรรมที่เคยตั้งไว้ก็จะลดลงมากถึง 34 เปอร์เซ็นต์เลยทีเดียว

 

หัวใจของปัญหาอุตสาหกรรมสิ่งทอและเสื้อผ้าสำเร็จรูปของเวียดนามไม่ได้อยู่ที่ปัญหาวัตถุดิบอย่างเดียว ยังเชื่อมโยงไปจนถึงรูปแบบหรือโมเดลของธุรกิจนี้ในเวียดนามอีกด้วย

ธุรกิจเสื้อผ้าสำเร็จรูปในเวียดนามส่วนใหญ่ คือ 65 เปอร์เซ็นต์ เป็นไปในรูปแบบพื้นฐานที่สุด นั่นคือรูปแบบที่เรียกว่า “ซีเอ็มที” รับตัดเย็บเสื้อผ้าตามสั่ง ด้วยแบบที่กำหนดมาให้ โดยที่ผู้สั่งเป็นเจ้าของผลิตภัณฑ์ตั้งแต่ก่อนตัดเย็บและหลังตัดเย็บ

อย่างที่ในเมืองไทยเคยพูดกันติดปากว่ารับจ้างเย็บเสื้อโหลนั่นเอง

มีส่วนน้อยที่ทำธุรกิจแบบ “โออีเอ็ม” คือออกแบบชิ้นส่วนสำหรับนำไปประกอบเป็นผลิตภัณฑ์สำเร็จรูปของผู้ว่าจ้าง หรือออกแบบและผลิตจนสำเร็จเพื่อส่งต่อให้ผู้ว่าจ้างต่อไป

ยิ่งน้อยลงไปอีกที่ทำธุรกิจแบบ “โอดีเอ็ม” คือทั้งออกแบบ ทั้งตัดเย็บ สำเร็จแล้วส่งไปให้ตามออร์เดอร์

สองแบบหลังนี้ทำกำไรให้กับผู้ผลิตสูงกว่า แต่รวมๆ กันแล้วคิดเป็นเพียง 35 เปอร์เซ็นต์ของอุตสาหกรรมเท่านั้น

บทเรียนจากโควิดคราวนี้ นอกจากจะทำให้เวียดนามเพิ่มธุรกิจสิ่งทอมากขึ้นแล้วยังต้องพัฒนาโมเดลธุรกิจให้ก้าวหน้ากว่าเดิมอีกด้วย

 


พิเศษ! สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์, ศิลปวัฒนธรรม และเทคโนโลยีชาวบ้าน ลดราคาทันที 40% ตั้งแต่วันนี้ – 30 มิ.ย.63 เท่านั้น! คลิกดูรายละเอียดที่นี่