เศรษฐกิจ / ปลดล็อกท่องเที่ยว ยกแรกหลังโควิด ฝันติดเครื่องยนต์เคลื่อน ศก.2020 แต่…มาตรการที่ปักธงไว้ดีพอหรือยัง

เศรษฐกิจ

 

ปลดล็อกท่องเที่ยว ยกแรกหลังโควิด

ฝันติดเครื่องยนต์เคลื่อน ศก.2020

แต่…มาตรการที่ปักธงไว้ดีพอหรือยัง

 

ภาคการท่องเที่ยว ถือเป็นพระเอกในการสร้างรายได้เข้าประเทศไทยมาตลอด พร้อมกับหลายๆ ด้านของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวไทย ยังมีช่องโหว่ ถูกติถูกติง ให้ต้องปรับปรุงมาอย่างต่อเนื่อง

อาทิ ความสะดวกในการเดินทาง ห้องน้ำตามแหล่งท่องเที่ยวมีไม่เพียงพอ หรือไม่ได้มาตรฐานตามหลักสากล นักท่องเที่ยวร้องถูกเอารัดเอาเปรียบหรือวิตกเรื่องความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินก็มาก

แต่เมื่อเกิดการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 กวาดทุกอย่าง ถึงตอนนี้เปรียบเสมือนการตั้งไข่ใหม่ของภาคการท่องเที่ยวไทย

และทุกอย่างกลับไปสู่จุดเริ่มต้น ตั้งแต่ไม่มีนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามา การเดินทางท่องเที่ยวในประเทศเป็นศูนย์ ทรัพยากรธรรมชาติได้โอกาสฟื้นฟูตัวเองให้กลับมาสวยงามเหมือนช่วงก่อนหน้านี้

ตั้งแต่ที่แหล่งท่องเที่ยวที่ต้องเพิ่มสีสันและการดูแล “พิพัฒน์ รัชกิจประการ” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา จึงเตรียมขอใช้งบประมาณในส่วนของ พ.ร.ก.ฟื้นฟู 4 แสนล้านบาท แบ่งมาใช้ในโครงการซ่อมและสร้างแหล่งท่องเที่ยว พัฒนาทุกด้านให้มีมาตรฐานมากขึ้น

เรื่องนี้เปรยออกมาหลายครั้งแล้ว แต่ความคืบหน้าดูเหมือนจะยังไม่กระเตื้องมากนัก

อ้างติดเรื่องจัดทำแผนและรายละเอียดการขอใช้เงินของแต่ละโครงการยังไม่สมบูรณ์ แต่อย่างไรก็ต้องเร่งส่งเรื่องถึงมือนายกรัฐมนตรี และเข้าพิจารณาในคณะรัฐมนตรี (ครม.) ให้เร็วที่สุด เพราะ พ.ร.ก.เงินกู้ก็ผ่านทั้ง 3 ฉบับแล้ว ซึ่งก็ไม่น่าจะยากจนเกินไป เพราะหลายปัญหาก็เกิดมานานและรอการปรับปรุงมาตลอด

แต่ที่ต้องติดตามในระยะสั้นคือ ใครจะมีมาตรการหรือแคมเปญจูงใจอย่างไรให้การท่องเที่ยวบูมขึ้นมาอีกครั้ง!!!

 

เพราะระยะถัดไป หลังจากสถานการณ์โควิด-19 คลายตัวแล้ว ภาคการท่องเที่ยวไทยจะถูกหยิบขึ้นมาขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ซึ่งต้องอาศัยหัวคิดมากโขอยู่ เพราะไม่แค่แข่งขันกับตัวเอง คือการดึงนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาเที่ยวอีกครั้ง

ยังต้องกระตุ้นให้คนไทยเที่ยวไทย แทนที่จะบินไปเที่ยวต่างประเทศ

ซึ่งเชื่อว่าเตรียมแผนกระตุ้นต่อมความอยากเที่ยวอย่างรุนแรงกันอีกครั้ง และเกิดขึ้นกับทั่วโลก

ดังนี้ เราต้องจัดวางอันดับความสำคัญก่อน-หลัง อันดับแรกต้องทำอย่างไรก่อน แล้วจะทำอะไรตาม จะใช้จุดแข็งในด้านใดเป็นตัวดึงดูดของการท่องเที่ยวไทย

เพราะเชื่อว่าหลังจากโควิด-19 ที่ประเมินกันว่าต้นไตรมาส 3 นี้เริ่มคลายความรุนแรงลง เพราะระบบเศรษฐกิจที่มีความอ่อนแอ จากที่ได้รับผลจากไวรัสระบาด ทำให้เครื่องยนต์ในการขับเคลื่อนตัวอื่นๆ อาทิ การลงทุน การส่งออก ไม่สามารถพึ่งพาได้แล้ว เหลือเพียงการท่องเที่ยวเท่านั้น ที่จะเป็นแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจในระยะต่อไป

จึงคาดว่าจะได้เห็นหลายประเทศออกมาตรการดึงดูดใจ เพื่อต้อนคนให้ไปเที่ยวประเทศตัวเองมากขึ้นแน่นอน

 

เริ่มกันแล้ว!! จากรายงานจากหนังสือพิมพ์โยมิอูริของญี่ปุ่น ได้ออกมาเปิดเผยว่า อ้างอิงข้อมูลจากเจ้าหน้าที่รัฐบาล พบว่า ญี่ปุ่นกำลังพิจารณาคลายข้อจำกัดให้ประชาชนจาก 4 ชาติประกอบไปด้วย ไทย เวียดนาม ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ สามารถเดินทางมายังญี่ปุ่นได้ หลังจากที่การระบาดโควิด-19 ลดต่ำลงมาก โดยการผ่อนคลายข้อจำกัดดังกล่าวอาจเริ่มต้นในช่วงฤดูร้อนนี้

สำหรับผู้ที่เดินทางเข้ามาจาก 4 ชาติดังกล่าว จะต้องแสดงใบรับรองผลการทดสอบหาเชื้อโควิด-19 ว่าเป็นลบก่อนออกจากประเทศต้นทาง และจะต้องทดสอบหาเชื้ออีกครั้งเมื่อมาถึงญี่ปุ่น

รวมทั้งกรมการท่องเที่ยวญี่ปุ่นได้เตรียมแผนกระตุ้นภาคการท่องเที่ยว ด้วยการสนับสนุนค่าใช้จ่ายให้กับพลเมืองญี่ปุ่นสำหรับการเดินทางท่องเที่ยวภายในประเทศ

โดยตามเอกสารงบประมาณของกระทรวงเศรษฐกิจญี่ปุ่น ได้ระบุข้อเสนอให้มีการแจกบัตรกำนัลท่องเที่ยวสำหรับโรงแรมและร้านอาหารต่างๆ เพื่อเป็นส่วนลดให้กับนักท่องเที่ยวสูงสุด 20,000 เยนต่อคน ต่อการเข้าพัก หรือการใช้บริการ 1 ครั้ง

แต่มาตรการเหล่านี้ยังคงอยู่ในขั้นตอนการพิจารณาของรัฐบาลและอาจมีการขยายความครอบคลุมของมาตรการเพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวจากต่างชาติต่อไป

 

จะเห็นว่าญี่ปุ่นก็หันมากระตุ้นการเดินทางเที่ยวในประเทศ ไม่แตกต่างจากที่ไทยวางแผนไว้ โดย “ฐาปนีย์ เกียรติไพบูลย์” รองผู้ว่าการด้านสินค้าและธุรกิจท่องเที่ยว การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) เปิดเผยว่า ภาคการท่องเที่ยวไทยต่อจากนี้ การกระตุ้นตลาดในประเทศ จะเน้นใช้ต้นทุนทางวัฒนธรรม ประเพณีอันดีงาม และทรัพยากรทางธรรมชาติ ที่ฟื้นฟูตัวเองในช่วง 1-2 เดือนที่ผ่านมา รวมถึงกิจกรรมที่ทำให้เกิดความผ่อนคลายต่างๆ

อาทิ การเปิดเส้นทางท่องเที่ยวเชิงธรรมชาติ และการอนุรักษ์ เป็นจุดขายการท่องเที่ยวไทย ส่วนการจัดอันดับความสำคัญของแผนการขับเคลื่อนภาคการท่องเที่ยว ต้องเริ่มต้นที่การซ่อมสร้าง ก่อนจะเปลี่ยนแปลงภาพลักษณ์การท่องเที่ยวไทย เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับนักท่องเที่ยวทั้งตลาดในประเทศ และตลาดต่างชาติ ที่จะเข้ามาในช่วงถัดไป

โดยจะสร้างมาตรฐานความปลอดภัยและสาธารณสุข เพื่อสร้างความมั่นใจให้นักท่องเที่ยวที่จะเริ่มออกเดินทาง

 

ททท.ได้จัดทำโครงการยกระดับอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทยมาตรฐานความปลอดภัยด้านสุขอนามัย หรือ Amazing Thailand Safety & Health Administration หรือเอสเอชเอ ซึ่งจะเข้ามาเป็นส่วนยกระดับมาตรฐานคุณภาพท่องเที่ยวไทยทั้งอุตสาหกรรมเพราะประกอบไปด้วยมาตรฐานด้านการท่องเที่ยว ที่พัก แหล่งท่องเที่ยว และการบริการ ซึ่งผู้ประกอบการจะต้องพัฒนาทุกอย่าง เพื่อให้ได้รับตราสัญลักษณ์เอสเอชเอซึ่งจะเป็นการการันตีคุณภาพที่พัก หรือแหล่งท่องเที่ยวนั้นๆ ไปในตัว

โดยการจัดทำมาตรฐานดังกล่าว ได้อิงกับข้อปฏิบัติขององค์การอนามัยโลก (ดับเบิลยูเอชโอ) และร่วมมือกับกรมอนามัย กรมควบคุมโรค องค์กรต่างๆ ที่เกี่ยวกับการท่องเที่ยว รวมถึงสมาคมต่างๆ กว่า 20 สมาคม เพื่อจัดทำแนวปฏิบัติขึ้นมาใหม่

ซึ่งจะมีการแบ่งประเภทผู้ประกอบการเป็น 10 ประเภท ประกอบด้วย ภัตตาคารร้านอาหาร, โรงแรมและที่พัก สถานที่จัดการประชุม, นันทนาการและสถานที่ท่องเที่ยว, ยานพาหนะ, บริษัทนำเที่ยว, สปา/นวดเพื่อสุขภาพ และนวดเพื่อเสริมความงาม, ห้างสรรพสินค้าและศูนย์การค้า, กีฬาเพื่อการท่องเที่ยว, โรงละคร โรงมหรสพการจัดกิจกรรม, ร้านค้าของที่ระลึกและร้านอื่นๆ

สถานประกอบการแต่ละประเภทจะมีการกำหนดมาตรการในการปรับปรุงการให้บริการ ขั้นตอนการให้บริการต่อผู้มาใช้บริการ โดยมาตรการเหล่านี้อยู่ภายใต้การกำกับโดยกระทรวงสาธารณสุข เพื่อลดความเสี่ยงในการแพร่กระจายของโควิด-19

หากสถานประกอบการใดมีการปรับปรุงตามมาตรการที่โครงการเอสเอชเอกำหนด จะได้รับตราสัญลักษณ์ดังกล่าว ที่เปรียบเสมือนตราสัญลักษณ์รับรองคุณภาพและมาตรฐานการให้บริการของสถานประกอบการนั้นๆ ที่จะสามารถสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้ที่จะมาใช้บริการในอนาคต

 

ด้าน “ฉัททันต์ กุญชร ณ อยุธยา” รองผู้ว่าการด้านตลาดเอเชียและแปซิฟิกใต้ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) เปิดเผยว่า ขณะนี้ประเมินว่ากลุ่มนักท่องเที่ยวที่จะเข้ามามี 3 กลุ่มคือ 1.กลุ่มนักธุรกิจ 2.กลุ่มวัยรุ่นหรือเจนมิลเลนเนียล และ 3.กลุ่มนักท่องเที่ยวทั่วไป ซึ่งในทั้ง 3 กลุ่มนี้ กลุ่มนักท่องเที่ยวทั่วไปจะยังไม่สามารถกลับมาได้ในเร็วๆ นี้ จึงต้องหันมาให้ความสนใจและเน้นทำการตลาดกับนักท่องเที่ยวกลุ่มนักธุรกิจและกลุ่มวัยรุ่นมากขึ้น

ส่วนการทำตลาดต่อจากนี้จะเน้นกระตุ้นตลาดผ่านช่องทางออนไลน์มากขึ้นอีก เพื่อกระตุ้นกลุ่มนักท่องเที่ยววัยรุ่นให้ต้องการเข้ามามากขึ้น เพราะกลุ่มวัยรุ่นจะนิยมใช้สื่อโซเชียลมีเดีย การทำการตลาดผ่านช่องทางนี้จึงคาดว่าจะตรงกลุ่มเป้าหมาย และมีศักยภาพสูงสุด

แม้จะมีการวางแผนเดินหน้าภาคการท่องเที่ยวไทย แต่ดูเหมือนความเป็นรูปธรรมจะยังมีไม่มากนัก หากเทียบกับประเทศอื่นที่นำร่องดำเนินการไปแล้ว อาทิ ประเทศไต้หวันได้เตรียมขั้นตอนเปิดให้กลับมาท่องเที่ยวในประเทศไว้ 3 ขั้นตอนคือ

  1. ระหว่างวันที่ 27 พฤษภาคม – 31 มิถุนายน ผ่อนคลายข้อจำกัดด้านอาหารและการขายตั๋วรถไฟ
  2. ระหว่างวันที่ 1 สิงหาคม – 31 ตุลาคม สนับสนุนการท่องเที่ยวภายในประเทศ และยกเลิกการบังคับให้ใส่หน้ากากอนามัย ซึ่งในขั้นตอนนี้จะมีการอุดหนุนเงินให้กับการท่องเที่ยวภายในประเทศสำหรับกลุ่มทัวร์ ที่พักสำหรับนักท่องเที่ยวอิสระ รวมถึงส่วนลดตั๋วเข้าสวนสนุก ค่าโดยสารรถบัสสองชั้น และส่วนลดอื่นๆ นอกจากนี้ มาตรการป้องกันโรคบางอย่างอาจยกเลิกการบังคับใช้ เช่น การบังคับให้ใส่หน้ากากอนามัย

และ 3.ระหว่างวันที่ 1 ตุลาคม – 31 ธันวาคม จะเปิดให้นักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาไต้หวันได้ อีกทั้งยังได้ประสานกับมหาวิทยาลัยแสตมฟอร์ด ในการศึกษาความเป็นไปได้ในการท่องเที่ยวอย่างไรให้ปลอดภัยจากโควิด-19 คลายตัวแล้ว โดยจะมีการออกมาเป็นใบรับรองที่ได้รับการยอมรับจากสากล เพื่อยืนยันถึงศักยภาพในการต้อนรับนักท่องเที่ยวอย่างปลอดภัยจริงๆ

หากประเมินจากภาคการท่องเที่ยวในหลายประเทศที่เตรียมไว้ และเริ่มดำเนินการล่วงหน้าไปแล้ว กับสิ่งที่ภาคการท่องเที่ยวไทยเตรียมไว้ ดูเหมือนจะยังทิ้งระยะห่างพอสมควร หน่วยงานด้านการท่องเที่ยวไทยคงต้องเร่งเครื่องมากกว่านี้ เพื่อเริ่มต้นเดินเครื่องยนต์เต็มกำลัง และทำให้การท่องเที่ยวไทยกลับมาเป็นตัวสร้างรายได้หลักอีกครั้ง

ยกแรกเริ่มเดือนกรกฎาคมนี้ ที่รัฐบาลเปรยแล้วว่าจะปลดล็อกและออกแคมเปญหนุนเที่ยวไทยครั้งใหญ่

 


พิเศษ! สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์, ศิลปวัฒนธรรม และเทคโนโลยีชาวบ้าน ลดราคาทันที 40% ตั้งแต่วันนี้ – 30 มิ.ย.63 เท่านั้น! คลิกดูรายละเอียดที่นี่