การศึกษา / เจาะระบบ ‘ออนแอร์-ออนไลน์’ เตรียมความพร้อม… บนความไม่พร้อม??

การศึกษา

 

เจาะระบบ ‘ออนแอร์-ออนไลน์’

เตรียมความพร้อม…

บนความไม่พร้อม??

 

ผ่านมา 2-3 สัปดาห์แล้ว สำหรับการ “ทดลอง” จัด “การเรียนการสอนทางไกล” หรือ “ออนแอร์” ผ่านระบบโทรทัศน์ดิจิตอล ระหว่างวันที่ 18 พฤษภาคม – 30 มิถุนายน ที่กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ร่วมกับมูลนิธิการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียม ในพระราชูปถัมภ์ (ดีแอลทีวี) และคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ในการใช้ช่องรายการโทรทัศน์ในระบบดิจิตอล จำนวน 17 ช่อง

เพื่อเตรียม “ความพร้อม” ให้นักเรียน กรณีโรงเรียนไม่สามารถจัดการเรียนการสอนตามปกติ ในการเปิดภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2563 วันที่ 1 กรกฎาคม เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 หรือโควิด-19

การทดลองเรียนการสอนทางไกล หรือออนแอร์ ศธ.ได้ใช้สื่อของดีแอลทีวี ตั้งแต่ระดับอนุบาลถึงชั้น ม.3 ส่วนการเรียนการสอนในระดับชั้น ม.4-6 สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) จะผลิตสื่อการสอนเอง

นอกจากนี้ ยังมีช่องสำหรับผู้เรียนในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) และสำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (กศน.) ได้เรียนผ่านออนแอร์

โดย กสทช.ได้อนุมัติกำหนดช่องเรียงลำดับหมายเลขช่องรายการเพื่อการศึกษา จำนวน 17 ช่อง เริ่มตั้งแต่ช่องทีวีดิจิตอล 37-53 แบ่งเป็น ระดับชั้นอนุบาล 1-ม.6 ช่อง 37-51 กศน.ช่อง 52 และ สอศ.ช่อง 53

ส่วนการรับสัญญาณดาวเทียมจาก C-Band ระดับชั้นอนุบาล 1-ม.6 ช่อง 337-351 กศน.ช่อง 352 และ สอศ.ช่อง 353 และ KU-Band ระดับชั้นอนุบาล 1-ม.6 ช่อง 186-200 กศน.ช่อง 201 และ สอศ.ช่อง 202

การทดลองดังกล่าว ศธ.จะรวบรวมปัญหาที่เกิดขึ้นก่อนเปิดภาคเรียนที่ 1 ในวันที่ 1 กรกฎาคม เพื่อหาแนวทางแก้ไข ปรับปรุง และรับมือ หากโรงเรียนไม่สามารถจัดการเรียนการสอนตามปกติในโรงเรียนได้ และนักเรียนต้องเรียนออนแอร์เต็มรูปแบบจากที่บ้าน โดยเปิดช่องให้โรงเรียนที่มีความพร้อม จัดการเรียนการสอนผ่านออนไลน์เพิ่มเติม

ซึ่งการทดลองวันแรกๆ กระท่อนกระแท่นพอสมควร

ทั้งเว็บไซต์ของดีแอลทีวีล่ม เนื่องจากมีผู้ดึงสัญญาณเข้าชมผ่านทางโทรศัพท์มือถือ และแท็บเล็ตจำนวนมาก แทนการรับชมทางโทรทัศน์ดิจิตอล โทรทัศน์รับสัญญาณการสอนทางไกลไม่ได้ เพราะไม่มีกล่องรับสัญญาณ หรือมีกล่องรับสัญญาณ แต่ปรับจูนช่องไม่ได้ รวมถึงเนื้อหาของรายวิชาที่สอนผ่านออนแอร์ มีความผิดพลาด หรือสอนเร็วเกินไป จนนักเรียนเรียนตามไม่ทัน

ก่อนจะเริ่มเข้าที่เข้าทางในวันต่อๆ มา แต่ก็ใช่ว่าจะไร้ปัญหาใดๆ!!

 

ภายหลังเริ่มการทดลองระบบดังกล่าว ศูนย์สำรวจความคิดเห็น “นิด้าโพล” สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) ได้สำรวจความเห็นเรื่อง “เรียนออนไลน์” จากกลุ่มอายุ 18 ปีขึ้นไปทั่วประเทศ รวม 1,256 ตัวอย่าง เกี่ยวกับการเรียนการสอนออนไลน์สำหรับการศึกษาระดับอนุบาล ประถม และมัธยม

ส่วนใหญ่ 51.51% เห็นด้วยอย่างมากต่อคำสั่งให้เปิดเทอมในวันที่ 1 กรกฎาคม เพราะสถานการณ์การแพร่ระบาดคงหมดแล้ว และโรงเรียนควรมีมาตรการป้องกันเข้มงวด

รองลงมา 28.27% ค่อนข้างเห็นด้วย เพราะน่าจะปลอดภัยจากการแพร่ระบาดแล้ว และอยากให้เปิดทีละชั้นเรียน หรือผลัดกันเปิดของแต่ละชั้นเรียน

9.87% ไม่ค่อยเห็นด้วย เพราะปิดเทอมนาน ทำให้พัฒนาการเด็กช้าลง

8.28% ไม่เห็นด้วย อยากให้เปิดเรียนวันที่ 16 มิถุนายน

เมื่อถามความคิดเห็นต่อการเรียนการสอนออนไลน์ระดับอนุบาล ประถม และมัธยม พบว่า ส่วนใหญ่ 46.90% ไม่เห็นด้วยในทุกระดับ เพราะเด็กมีความพร้อมด้านอุปกรณ์การเรียนออนไลน์ไม่เท่ากัน โดยเฉพาะเด็กต่างจังหวัด และบางครอบครัวผู้ปกครองไม่มีเวลาคอยดูแล หรือให้คำแนะนำระหว่างเรียนออนไลน์

รองลงมา 29.86% เห็นด้วยในบางระดับ 22.05% เห็นด้วยในทุกระดับ เพราะเด็กจะได้พัฒนาความรู้ระหว่างรอเปิดเทอม ได้ทบทวนเนื้อหาวิชาที่เรียน และทำให้ปลอดภัยจากการแพร่ระบาด

ทั้งนี้ ผู้ที่เห็นด้วยในการสอนออนไลน์บางระดับ 63.47% ควรสอนออนไลน์ระดับมัธยมปลาย เพราะมีวุฒิภาวะที่ควบคุมตัวเองให้อยู่ในการเรียนได้ มีความรับผิดชอบ และใช้อุปกรณ์สื่อสาร สื่อออนไลน์ได้ดี

60.80% ระดับมัธยมต้น เพราะเด็กมีความรับผิดชอบ มีสมาธิในการเรียนด้วยตัวเองได้ดี และเรียนรู้เทคโนโลยีได้รวดเร็ว

21.33% ระดับประถมศึกษา ควรจัดการเรียนการสอนออนไลน์ตั้งแต่ประถมเป็นต้นไป เนื่องจากเด็กมีความเข้าใจมากกว่าระดับอนุบาล

10.40% ระดับอนุบาล เพราะช่วงนี้เด็กอยู่ในความดูแลของผู้ปกครอง!!

 

อย่างไรก็ตาม หลังการทดลองระบบดังกล่าว มีพ่อแม่ผู้ปกครองบางส่วน เข้าใจว่า ศธ.จะใช้ระบบออนแอร์ และออนไลน์ ในการจัดการเรียนการสอนอย่างถาวร ทำให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายรัฐมนตรี มอบหมายให้ ศธ.ทำความเข้าใจ ว่าเป็นการเตรียมความพร้อมให้นักเรียน และผู้ปกครองเท่านั้น

ซึ่งนายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการ ศธ.ยังยืนยันจะเปิดเรียนในวันที่ 1 กรกฎาคม และให้จัดการเรียนการสอนที่โรงเรียนตามปกติ โดยปฏิบัติตามมาตรการของกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) อย่างเคร่งครัด ยกเว้นสถานการณ์การแพร่ระบาดยังไม่คลี่คลาย ก็จะนำรูปแบบอื่น คือการสอนผ่านออนแอร์ที่บ้าน และสอนเสริมผ่านออนไลน์มาทดแทน

โดย ศธ.เตรียมการเรียนการสอนออนไลน์เสริม เฉพาะนักเรียนชั้น ม.4-6

สำหรับปัญหาต่างๆ ที่พบ ศธ.จะใช้เวลา 45 วันในช่วงการทดลอง รวบรวม และแก้ไขปัญหาต่อไป

นอกจากนี้ นายอำนาจ วิชยานุวัติ รักษาราชการแทนเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ได้สั่งการให้ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา (สพท.) ทั้ง 225 เขตทั่วประเทศ ลงพื้นที่พูดคุยถึงปัญหาอุปสรรคที่เกิดขึ้นจากการทดลองเรียนผ่านทางไกล ก่อนจะสรุปภาพรวมปัญหา 3 ช่วง คือ ช่วงที่ 1 สิ้นเดือนพฤษภาคม พบปัญหาอะไร และแก้ไขอย่างไร ช่วงที่ 2 กลางเดือนมิถุนายน ดูว่าสิ่งที่แก้ไขไปแล้ว ต้องเพิ่มเติมอะไรหรือไม่

และช่วงที่ 3 สิ้นเดือนมิถุนายน เติมเต็มในส่วนที่ขาดเหลือทั้งหมด!!

 

อย่างไรก็ตาม ศ.ดร.สมพงษ์ จิตระดับ อาจารย์คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ระบุว่า การเรียนผ่านทางไกล และออนไลน์ พบว่าต้นทางคือสื่อการสอนของดีแอลทีวี สอบผ่าน รายการดี แม้ล้าสมัยบ้าง เพราะนำมาใช้ในช่วงฉุกละหุก ส่วนข้อดีคือ ครูตื่นตัวในการปรับตัวสอนในแนวทางใหม่ มีโอกาสศึกษาเรื่องเทคโนโลยี เพื่อปรับใช้ในการเรียนระบบใหม่ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต

ส่วนปัญหาที่พบคือ ความลักลั่น ความไม่เท่าเทียมกันของอุปกรณ์รับสัญญาณปลายทาง อีกปัญหาคือ พ่อ-แม่ ผู้ปกครองจะดูแลเด็กอย่างไร เพราะไม่ได้เตรียมตัว และไม่รู้อีโหน่อีเหน่ จึงไม่เข้าใจบทบาทที่ต้องดูแลเด็ก

อีกทั้งสิ่งที่ ศธ.ควรทำต่อคือ การทดลองในระยะที่ 2 โดยทดลองจัดการเรียนการสอนในระบบผสมโดยใช้โรงเรียนเป็นหลัก ในโรงเรียนขนาดใหญ่ ขนาดกลาง และขนาดเล็ก ที่มีความต่างกัน เช่น ไปโรงเรียน 3 วัน เรียนที่บ้าน 2 วัน เป็นต้น และระยะที่ 3 เมื่อเปิดภาคเรียนในวันที่ 1 กรกฎาคม ศธ.จะจัดการเรียนการสอนอย่างไร จะร่วมมือกับ สธ.และท้องถิ่นอย่างไร

โดยให้ทุกฝ่ายมีส่วนร่วม

 

ล่าสุด สพฐ.ได้สรุปภาพรวมปัญหาครั้งที่ 1 ว่าการเรียนการสอนทางไกลผ่านโทรทัศน์ดิจิตอล ลงตัวแล้ว ปัญหาที่มีในระยะแรก ได้แก้ไขไปได้บ้างแล้ว

ขณะนี้ สพฐ.อยู่ระหว่างเตรียมความพร้อมเพื่อเปิดเรียนในวันที่ 1 กรกฎาคม เพราะจากการสำรวจพบว่า โรงเรียนขนาดเล็กที่อยู่ในพื้นที่ห่างไกล อาจประสบปัญหาครูไม่ครบชั้น หรือในโรงเรียนขนาดใหญ่ที่มีจำนวนนักเรียนต่อห้องเกินกว่าที่กำหนด อาจต้องใช้วิธีสลับกันเข้ามาเรียน และให้เรียนเพิ่มเติมผ่านโทรทัศน์ หรือออนไลน์

ต้องติดตามว่า การทดลองเรียนผ่านระบบออนแอร์ และออนไลน์ บนความ “ไม่พร้อม” ในหลายๆ ด้าน จะมีปัญหาอุปสรรคอะไรมาให้ลุ้นกันอีก!!

 


พิเศษ! สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์, ศิลปวัฒนธรรม และเทคโนโลยีชาวบ้าน ลดราคาทันที 40% ตั้งแต่วันนี้ – 30 มิ.ย.63 เท่านั้น! คลิกดูรายละเอียดที่นี่