ในประเทศ / หัวหน้า พปชร. ‘ยึด’ ใช้คงรูป

ในประเทศ

 

หัวหน้า พปชร.

‘ยึด’ ใช้คงรูป

 

พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รอดพ้นจากมรสุม “นาฬิกาเพื่อน” หวุดหวิด ด้วยข้ออ้างทางกฎหมาย “ยืม” ใช้คงรูป

ตอนนี้ พล.อ.ประวิตรกำลังถูกจับตาว่า จะปฏิบัติการ “ยึด” (พรรคพลังประชารัฐ-พปชร.) ให้ “คงรูป” ไม่แตกร้าว หลังจากปฏิบัติการ “ยึดพรรค” ดังกล่าวหรือไม่

ซึ่งก็น่าสนใจอย่างยิ่ง

ทั้งนี้ พล.อ.ประวิตรพยายามยึดหลัก ใช้ความสงบสยบความเคลื่อนไหว

โดยพยายามปฏิเสธว่าการลาออกของกรรมการบริหารพรรค พปชร.จำนวน 18 คน เมื่อวันที่ 1 มิถุนายนที่ผ่านมา ซึ่งจะส่งผลให้นายอุตตม สาวนายน พ้นจากตำแหน่งหัวหน้าพรรค พปชร. และนายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ พ้นจากเลขาธิการพรรค พปชร.นั้น

“ไม่มีอะไร”

และ “นิ่งเฉย”

เมื่อถูกผู้สื่อข่าวถามถึงท่าทีที่หลายเสียงใน พปชร.สนับสนุนให้ดำรงตำแหน่งหัวหน้าพรรคคนใหม่

 

เช่นเดียวกับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม

ก็พยายามทำให้ปัญหาใน พปชร.เป็นเรื่องเล็กน้อยเช่นกัน

“เป็นเรื่องของการเมืองในระดับพรรคการเมือง ก็เป็นกันทุกพรรค ผมไม่ได้จะชี้แจงหรือแก้ตัวอะไรให้กับใคร”

“ผมจะยุ่งเกี่ยวเฉพาะในเรื่องของรัฐบาล และในเรื่องของการร่วมรัฐบาล นี่คือหน้าที่ของนายกฯ ในฐานะหัวหน้ารัฐบาล ในเรื่องที่เกิดขึ้นวันนี้เป็นเรื่องของพรรคการเมืองก็ไปว่ากันมา แต่ก็ขอร้องว่าอย่าไปดราม่ากันเยอะแยะไปหมด เพราะมันทำให้สมองมันไม่ว่าง”

“ส่วนเรื่องการปรับความเข้าใจกันผมคิดว่าไม่จำเป็น เพราะเป็นเรื่องภายในพรรคก็ให้ภายในพรรคที่เขาจะคุยกันเอง ผมไม่จำเป็นต้องไปเรียกใครมาทั้งสิ้น”

เมื่อถูกถามว่า การเปลี่ยนตัว กก.บห.พรรค พปชร.เป็นแกนนำรัฐบาลในครั้งนี้ จะผูกโยงกับเก้าอี้รัฐมนตรีและจะส่งผลต่อการปรับคณะรัฐมนตรี (ครม.) หรือไม่

พล.อ.ประยุทธ์บอกว่า

“เรื่องนี้พูดมาหลายครั้งแล้วว่าการที่ผมจะปรับ ครม.ได้นั้น ต้องว่ากันอีกขั้นตอนหนึ่ง เป็นเรื่องของพรรคร่วมรัฐบาล นายกฯ จะต้องพิจารณาในภาพรวมตรงนั้น”

“เรื่องของวันนี้เป็นเรื่องของพรรคการเมืองต้องว่ากันไป พวกท่านทราบกันดีอยู่แล้วว่าหลายๆ เรื่องเป็นเรื่องกลไกทางการเมืองในระดับพรรค การเมืองมีตั้งแต่ระดับพรรคของแต่ละพรรค ระดับของพรรคร่วมรัฐบาลและระดับของรัฐบาล”

“ขอให้เข้าใจในตรงนี้ อย่าให้มีปัญหาอย่างอื่นต่อไปอีกเลย แค่นี้ก็พอแล้ววุ่นวายพอสมควร แต่ทั้งหมดสามารถแก้ไขได้ด้วยความเข้าใจระหว่างกัน”

 

คําถามก็คือ สิ่งที่เกิดขึ้นใน พปชร.และอาจจะลามไปถึงการปรับ ครม. เป็นเรื่อง “เล็ก” และ “ไม่มีอะไร” จริงหรือ

เพราะหากติดตามความเคลื่อนไหวใน พปชร. มาจนถึงการลาออกของกรรมการบริหารพรรค 18 คน

เป็นไปอย่างสลับซับซ้อน เข้มข้น หักเหลี่ยมเฉือนคมกันอย่างดุเดือด

จนไม่อาจเห็นพ้องกับ พล.อ.ประยุทธ์ และ พล.อ.ประวิตรได้ว่า นี่คือเรื่องเล็ก

ตรงกันข้าม กลับเป็น “เรื่องใหญ่”

ที่อาจชี้ชะตาพรรคแกนนำรัฐบาลเลยได้ทีเดียวว่า จะสามารถประคองตัวต่อไปได้หรือไม่

ความเป็นเอกภาพจะเกิดขึ้นได้จริงหรือ หลังจากมีการเปลี่ยนตัวกรรมการบริหารพรรค และการปรับคณะรัฐมนตรี

แม้ว่าก่อนหน้านี้ พล.อ.ประยุทธ์จะเคยโละทีมเศรษฐกิจของ ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล มาแล้ว ความแตกแยกก็ไม่เกิดขึ้น

และแม้จะมีรัฐบาลใหม่หลังเลือกตั้ง ดรีมทีมเศรษฐกิจของนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ ก็ไม่อาจดำรง “ทีม” เอาไว้ได้ตามต้องการ ต้องแบ่งโควต้าไปให้กลุ่มในพรรค พปชร.และพรรคร่วม

รัฐบาลก็สามารถดำเนินมาได้ จึงมีความคาดหวังจากคนใน พปชร.และรัฐบาลว่า การเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นก็คงไม่ทำให้เกิดความล่มสลาย

ตรงกันข้ามอาจจะทำให้มีการเฉลี่ยอำนาจได้ทั่วถึงขึ้น

 

แต่กระนั้น ต้องไม่ลืมว่า เป้าแห่งการเปลี่ยนแปลงคราวนี้มุ่งไปยังนายสมคิดและสี่กุมาร ซึ่งมีบทบาทในการสร้างพรรค พปชร.มาตั้งแต่ต้น

และว่าไปกลุ่มคนเหล่านี้ก็มีส่วนสำคัญที่ทำให้พรรค พปชร.ที่สืบทอดมาจากคณะรัฐประหาร คสช.ไม่มีภาพเป็นพรรคทหารเหมือนอย่างพรรคสามัคคีธรรม ที่สืบทอดจากคณะรัฐประหาร รสช.

การดำรงตำแหน่งหัวหน้าพรรคและเลขาธิการพรรคของนายอุตตมและนายสนธิรัตน์ ทำให้พรรคมีภาพของนักธุรกิจ หรือเทคโนแครต มิใช่พรรคสีเขียว

สามารถลดแรงเสียดทานในช่วงเลือกตั้งไปได้ระดับหนึ่ง

ดังนั้น การที่กลุ่มคนเหล่านี้เป็นเป้าหมายที่จะถูกขจัดออกไป จึงเกิดการต่อต้านและไม่ยอมง่ายๆ

ด้านหนึ่ง ต้องไม่ลืมว่า สถานะการเป็นหัวหน้าพรรคและเลขาธิการพรรค ก็ทำให้กลุ่มสี่กุมารมีแนวร่วมในพรรคอยู่ไม่น้อย

และกำลังถูกจับตาว่า หลังจากโครงการเงินกู้ 1.9 ล้านล้านผ่านออกไปสู่การปฏิบัติ อาจจะทำให้ฝ่ายฟากนี้เป็นพยัคฆ์เสียบปีกได้ เพราะกุม “ทุน” เอาไว้มหาศาล

นี่จึงอาจเป็นเหตุผลว่า ทำไมการหักโค่นจึงเกิดขึ้นทันทีหลังจาก พ.ร.ก.กู้เงินดังกล่าวผ่านสภา

ด้านหนึ่ง กลุ่มนายสมคิดและสี่กุมารมีกำลังหนุนจากนอกพรรค มากกว่ากลุ่มการเมืองในพรรค ที่ถูกมองว่า ตั้งก๊กหรือก๊วนขึ้นมาแย่งอำนาจเพียงอย่างเดียว

โดยเฉพาะขณะนี้ประเทศกำลังเผชิญวิกฤตไวรัสโควิด-19 และวิกฤตเศรษฐกิจ แทนที่จะสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์และทีมงานให้มีกำลังในการสู้ปัญหา

แต่กลับมาแย่งชิงอำนาจ โดยไม่คำนึงถึงชาวบ้าน

“แนวร่วมเชียร์รัฐบาล” นอกพรรคเหล่านี้ ต่างโจมตีฝ่ายที่เข้ามาช่วงชิงอำนาจในพรรคอย่างรุนแรง

และกลายเป็นผนังทองแดงให้ฝ่ายนายสมคิดและสี่กุมารอยู่ตอนนี้

 

จึงไม่แปลกที่นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ จะขยายแรงหนุนนี้ให้ใหญ่ขึ้น

โดยระบุว่า เรื่องภายในพรรคของเขา พี่ๆ น้องๆ ควรมานั่งคุยกัน

แต่น่าเสียดาย ที่น่าจะเอาพลังไปใช้ในทิศทางช่วยแก้ไขปัญหาของบ้านเมือง

ควรให้กำลังใจคนทำงาน ที่ผ่านมาทุกคนทำงานหนัก และตอนนี้พระราชกำหนด (พ.ร.ก.) กู้เงิน 3 ฉบับ ผ่านสภาผู้แทนราษฎรเรียบร้อยแล้ว เงินช่วยเหลือก็ไปถึงพี่น้องประชาชน วันข้างหน้ายังมีอุปสรรคอีกเยอะ อยากให้คิดถึงตรงนี้ให้มากๆ ก็ไม่เข้าใจเหมือนกันว่าอะไรกันนัก

“เบื่อไหม ผมถามสื่อว่าเบื่อไหม”

คำถามนี้ แน่นอน แม้เหมือนจะอิงแนบกับหลักการที่พรรคการเมืองควรจะเป็น

แต่อีกด้านก็เหมือนโยนระเบิดเข้าใส่ฝ่ายที่เข้ามาแซะอำนาจโดยตรง

ว่ามีความชอบธรรมเพียงใด

และเชื่อว่านี่จะเป็นประเด็นอันแหลมคมที่ฝ่ายหัวหน้าพรรคและเลขาธิการพรรคจะชูขึ้นมาต่อสู้

ซึ่งแม้ว่าจะเพลี่ยงพล้ำในเรื่องกรรมการบริหารพรรค

แต่ก็ยังหวังว่า เสียงของ ส.ส.ที่จะเลือกกรรมการบริหารพรรคใหม่จะยังเคียงข้างอยู่กับฝ่ายตน และพร้อมจะสู้ต่อไป

ด้วยอีกฝ่ายมีภาพลักษณ์ไม่ดี มีแต่เรื่องผลประโยชน์และการช่วงชิงอำนาจ

 

แน่นอนว่าหากอีกฝ่ายสู้ การต่อสู้ภายในพรรคก็ย่อมต้องเป็นไปอย่างรุนแรง

เพราะฟากที่สนับสนุน พล.อ.ประวิตร ก็คงไม่ยอมถอยอีกแล้ว

เนื่องจากได้ทุ่มเททุกอย่างในศึกครั้งนี้

การรุกคืบถึงขนาดทำให้กรรมการบริหารพรรคต้องพ้นจากตำแหน่ง ทำให้โอกาสเปลี่ยนขั้วเปิดกว้างขึ้นอย่างไม่เคยมีมาก่อน

โดยเฉพาะการดึงเอา พล.อ.ประวิตรมาเป็นฝ่ายของตน ด้วยการหนุนให้เป็นหัวหน้าพรรค

ยิ่งจะทำให้การยึดกุมการนำพรรคราบรื่นมากขึ้น

และโอกาสที่จะได้รับชัยชนะในศึกครั้งนี้ก็มีสูงยิ่ง

จึงไม่มีเหตุอะไรที่จะทำให้ถอย หรือไม่สู้

แม้ภาพลักษณ์จะสู้ฝ่ายตรงข้ามไม่ได้

แต่การรวมขั้วอำนาจใหญ่ในพรรคมาไว้กับฝ่ายตน ทั้งโดยเปิดเผย

ไม่ว่าจะเป็นปีกของนายวิรัช รัตนเศรษฐ นางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ นายสุชาติ ชมกลิ่น นายอนุชา นาคาศัย นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ นายสันติ พร้อมพัฒน์ นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ นายสุพล ฟองงาม

หรือที่แบบพลิกผันหมิ่นเหม่ เฉียดเฉียว จนแทบจะถูกกล่าวหาเป็นการแปรพักตร์ คือปีกสามมิตร นำโดยนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ นายสมศักดิ์ เทพสุทิน นายพงษ์กวิน จึงรุ่งเรืองกิจ เป็นอาทิ

รวมถึงปีกของ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า ที่มากด้วยปริศนา

โดยเจ้าตัวระบุว่า “มีคนวางแผนให้เกิดความขัดแย้ง เพื่อให้มีการปรับ ครม. แล้วผมจะได้ตำแหน่งที่หวังไว้”

 

กระนั้นไม่ว่าจะโดยสมัครใจ จะพลิกผันแปรเปลี่ยน หรือเป็นเกมชิงอำนาจ

แต่ในตอนนี้ ฟากหนุน พล.อ.ประวิตร ดูจะดำรงความได้เปรียบ

โดยเฉพาะแม้ พล.อ.ประวิตร และ พล.อ.ประยุทธ์ จะพยายามลอยตัว

แต่ก็ไม่ปฏิเสธการเปลี่ยนแปลงในพรรค

ทำให้กระแส “พี่คุมพรรค น้องคุมทำเนียบ” ยังขึ้นสูง

แต่ถามว่า จะราบรื่นหรือไม่

ดูเหมือนทุกฝ่ายจะมองไปในทางเดียวกัน นั่นคือ ไม่น่าราบรื่นนัก

ภาพลักษณ์ พล.อ.ประวิตรก็ใช่จะสดใสสุกสกาว แถมมีสีเขียวแห่ง “พรรคทหาร” เข้ามาเจือปน ยิ่งทำให้หม่นลงไปอีก

ขณะที่แนวร่วมในพรรค ล้วนถูกมองในด้านลบว่าเป็นนักการเมือง “เขี้ยวลาก” ไม่น่าไว้วางใจ

ถึงที่สุด บิ๊กป้อมอาจจะ “ยึด” พปชร.ได้

แต่จะ “คงรูป” พรรค ไม่ให้แตก หรือให้เป็นที่น่าศรัทธาได้ต่อไปหรือไม่

    ยังเป็นปัญหา!

พิเศษ! สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์, ศิลปวัฒนธรรม และเทคโนโลยีชาวบ้าน ลดราคาทันที 40% ตั้งแต่วันนี้ – 30 มิ.ย.63 เท่านั้น! คลิกดูรายละเอียดที่นี่