หนุ่มเมืองจันท์ | เต็มที่ที่สุด

หนุ่มเมืองจันท์facebook.com/boycitychanFC

ช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมามีงานสัมภาษณ์ 2 งาน

งานแรก เป็นคนถูกสัมภาษณ์

หลานชายชื่อ “พี” ที่ผมเคยเอามาเป็นตัวละครในคอลัมน์นี้

“พี” มีหัวธุรกิจตั้งแต่เด็ก รู้จักค้าขายตั้งแต่เป็นเด็กนักเรียน

ตอนนี้ “พี” เรียนจบแล้ว

ทำงานประจำได้พักหนึ่ง

ล่าสุดเพิ่งลาออกมาทำเพจชื่อ Career Fact เป็นเพจ “คนรุ่นใหม่” ที่น่าสนใจมาก

เขาอยากให้ผมคุยถึง “โอกาส” สำหรับ “เด็กรุ่นใหม่”

ผมบอก “พี” ว่า เรื่องแบบนี้ต้องระมัดระวังมาก เพราะตอนนี้อารมณ์ของคนส่วนใหญ่จะเปราะบาง

การมองโลกในแง่ดีตอนที่คนทุกข์มากๆ

ความรู้สึกจะตีกลับได้

แต่ไม่เป็นไร…ลองดู

ผมเริ่มต้นด้วย “บทเรียน” 2 เรื่องที่ได้เรียนรู้จาก “โควิด”

เรื่องแรก ในชีวิตของเรา ต้องหัดทำอาหารให้อร่อยสัก 1 อย่าง

เพราะเมื่อถึงยามคับขัน เราจะมีอาชีพเอาตัวรอดได้

วันนี้ “ทำเล” ตั้งร้านไม่สำคัญ

สำคัญที่ใครมีเพื่อนในโซเชียลมีเดียเยอะกว่ากัน

คนที่ขายอาหารออนไลน์ได้…รอด

เรื่องที่สอง เราควรมีเพื่อนที่เป็น “ช่างตัดผม” สักคน

ความน่ารำคาญที่สุดของ “โควิด” ครั้งนี้คือ ไปร้านตัดผมไม่ได้

ขนาดผมเป็นคนที่มีความอดทนสูง จะไปร้านตัดผมก็ต่อเมื่อผมยาวมากๆ จนทนไม่ไหว

แต่ครั้งนี้เกินไปจริงๆ

ได้ตัดผมครั้งแรกตอนที่ไปอัดรายการ “เจาะใจ” ขอให้ “ปู” ช่างทำผมประจำรายการตัดผมให้หน่อย

เชื่อไหมครับ ไม่เคยตัดผมครั้งใดจะมีความสุขเท่านี้มาก่อน

ดังนั้น เราควรมีเพื่อนเป็น “ช่างตัดผม” สักคน

หรือไม่ก็หัดตัดผมเอง

แต่ก็เสี่ยงมาก

ส่วนเรื่อง “โอกาส” ของ “เด็กรุ่นใหม่”

ต่อให้มองโลกในแง่ดีอย่างไร ผมก็บอกว่า “เส้นทาง” ที่อยู่เบื้องหน้าของ “เด็กรุ่นใหม่” ที่เพิ่งจบหนักหนาสาหัสแน่นอน

แนะนำเล่นๆ ว่า ถ้าใครเรียนอยู่ปี 4 แล้วคิดว่าจบสาขานี้มาแล้วตกงานแน่ๆ

ถ้าฐานะที่บ้านไม่เดือดร้อน

“ให้สอบตกสักวิชาหนึ่ง”

เพราะการที่ยังเรียนอยู่และขอเงินที่บ้าน พ่อ-แม่จะรับได้

แต่ถ้าเรียนจบแล้วยังหางานไม่ได้ ถึงพ่อกับแม่จะไม่พูดอะไร แต่เราจะรู้สึกไม่ดี

…พูดเล่นนะครับ เดี๋ยวมีคนทำตาม แย่เลย

เส้นทางข้างหน้าของ “คนรุ่นใหม่” บอกได้คำเดียวว่าเป็นเส้นทางสายที่ “ยาก”

วันนี้อาจ “โชคร้าย”

แต่ “โชคร้าย” ของวันนี้อาจเป็น “โชคดี” ของวันหน้า

เหมือนคนที่ผ่านวิกฤตปี 2540 เมื่อเจอวิกฤตไวรัส “โควิด” ครั้งนี้

ส่วนใหญ่จะรอด

เหมือนคนที่เคยเจอ “สึนามิ” มาแล้ว

พอเห็นน้ำทะเลเริ่มลด ชายหาดเริ่มแห้ง

คนอื่นยังงงๆ

แต่เขาวิ่งขึ้นยอดเขา ปีนต้นมะพร้าวแล้ว

“บุณยสิทธิ์ โชควัฒนา” ของค่ายสหพัฒน์ ยังบอกเลยว่าต้องขอบคุณปี 2540 ทำให้สหพัฒน์ไม่เคยใช้เงินเกินตัว

แทบจะไม่กู้แบงก์เลย

เจอวิกฤตครั้งนี้จึงพอรับมือได้

อีกเรื่องหนึ่งที่เป็นข้อดีของ “เด็กรุ่นใหม่” ที่ต้องเผชิญกับวิกฤตไวรัส “โควิด”

เหตุการณ์นี้ทำให้เขาเข้าใจถึงความสำคัญของ “เงินสด”

และการเก็บออม

ช่วงที่ผ่านมา “เด็กรุ่นใหม่” จะให้ความสำคัญกับการใช้ชีวิต และการหาประสบการณ์ระหว่างการทำงาน

แทนที่จะคิดแบบ “คนรุ่นเก่า” ที่ทำงานหาเงินงกๆ เก็บเงินไว้ใช้ยามเกษียณ

ผมเห็นด้วยกับ “เด็กรุ่นใหม่”

เพียงแต่บางคนอาจเก็บออมน้อยไปนิด

ใช้เงินกับการหาประสบการณ์มากไปหน่อย

วิกฤตครั้งนี้จะทำให้ “เด็กรุ่นใหม่” รู้ว่าประสบการณ์ชีวิตก็สำคัญ

การเก็บออมก็สำคัญไม่แพ้กัน

เพราะไวรัส “โควิด” บอกให้เรารู้ว่าไม่มีอะไรแน่นอน

ใครจะไปนึกว่า “การบินไทย” ที่มั่นคงมากจะเข้าแผนฟื้นฟู

นักบิน สจ๊วต แอร์โฮสเตส ฯลฯ จะตกงานกันทั่วโลก

แต่ “ทางสายที่ยาก” ในวันนี้เองจะทำให้ “เด็กรุ่นใหม่” แข็งแรง

อยู่เฉยๆ นั่งสบายๆ “กล้ามเนื้อ” ไม่เกิด

ต้องยกของหนักๆ ต้องออกแรงเยอะๆ

“กล้ามเนื้อ” จึงจะแข็งแรง

จบจากงานแรกที่เป็นคนถูกสัมภาษณ์ เปลี่ยนมาเป็น “คนสัมภาษณ์”

งานที่สองคือ การสัมภาษณ์คุณชฎาทิพ จูตระกูล บอสใหญ่ของ “สยามพิวรรธน์”

“ประชาชาติธุรกิจ” ฉลองครบรอบวันเกิด 44 ปี ด้วยการจัดสัมมนา “RESTART เศรษฐกิจไทย” ทางเฟซบุ๊ก ไลฟ์

ผมไม่เคยสัมภาษณ์คุณแป๋มมาก่อน

แต่ติดตามบทสัมภาษณ์และการบรรยายบนเวทีมาหลายครั้ง

เป็นผู้หญิงที่เก่งมากครับ

คุณชฎาทิพคิดเหมือนผมว่า “เด็กรุ่นใหม่” โชคดีที่ได้เจอวิกฤตครั้งใหญ่ตั้งแต่อายุยังน้อย

เพราะถ้าล้มก็มีพลังที่จะลุกขึ้นใหม่ได้

แต่ถ้าไปเจอวิกฤตตอนอายุ 50-60 เขาจะลุกขึ้นใหม่ไม่ไหว

ที่สำคัญ บทเรียนจากวิกฤตเป็นสิ่งที่มีคุณค่ามาก

เหมือนกับ “สยามพิวรรธน์” ที่เจอทั้งการลอยตัวค่าเงินบาทปี 2540 การปิดแยกราชประสงค์ของ “ม็อบ” ทุกสี

ดังนั้น สถานการณ์วันนี้แม้จะหนัก แต่ก็ถือว่ามีประสบการณ์มาแล้ว

พอรับมือได้

หรือบทเรียนจากปี 2540 ทำให้การก่อหนี้ของ “สยามพิวรรธน์” ค่อนข้างระมัดระวัง

ส่วนเนื้อหารายละเอียดทั้งหมดเป็นอย่างไร ลองฟังย้อนหลังในเพจของ “ประชาชาติธุรกิจ”

แต่มีประเด็นหนึ่งที่ผมชอบมาก

เป็นเรื่องวิธีคิดในการแก้วิกฤต

หลักคิดง่ายๆ ของคุณแป๋มก็คือ ทำให้เต็มที่ที่สุด

ทำแบบที่เมื่อมองย้อนหลังกลับไปแล้วจะไม่เสียใจ

ถ้าแพ้ เราก็สู้อย่างเต็มที่แล้ว

คุณแป๋มยกตัวอย่างตอนที่เกิดม็อบและมีไฟไหม้สยาม

เธอไปนั่งคุยกับร้านต่างๆ ที่เช่าพื้นที่ ทุกคนร้องไห้เพราะขายของไม่ได้เลย

คุณชฎาทิพตัดสินใจเช่าพื้นที่ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ให้ร้านค้าต่างๆ ไปออกบูธขายของ

เมื่อทำเลสยามพารากอนขายไม่ได้

ก็เปลี่ยนที่ขาย

“สยามพิวรรธน์” ไม่คิดค่าเช่าพื้นที่จากร้านต่างๆ สักบาทเดียว

…ฟรี

แต่ละร้านได้พื้นที่คนละเล็กคนละน้อย

ปรากฏว่าคนไปช้อปปิ้งกันแน่นขนัด

จบงาน ร้านค้าเดินมาขอบคุณ

บอกว่ายอดขายในงานไม่กี่วันมากกว่ายอดขายที่ร้าน 3 เดือนเสียอีก

ครับ ทำให้เต็มที่ที่สุด

…แค่นั้นเอง


พิเศษ! สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์, ศิลปวัฒนธรรม และเทคโนโลยีชาวบ้าน ลดราคาทันที 40% ตั้งแต่วันนี้ – 30 มิ.ย. 63 เท่านั้น! คลิกดูรายละเอียดที่นี่