มนัส สัตยารักษ์ | วิปริตกับวิกฤต อะไรน่าขนลุกกว่ากัน

ติดตามสถานการณ์ COVID-19 จากตารางตัวเลขประจำวันของศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) ในช่อง “เสียชีวิต” แล้วขนลุก

สหรัฐอเมริกามีผู้เสียชีวิตวันละประมาณ 1-2,000 คน-ทุกวัน ล่าสุดวันที่ 20 พฤษภาคม 2563 ตัวเลขผู้เสียชีวิตโดยรวมทะยานไปถึง 9 หมื่น 3 พันเศษ กว่าต้นฉบับนี้จะตีพิมพ์คงจ่อแสนคน!

ตามมาแบบหายใจรดต้นคอก็คือ สหราชอาณาจักร (3 หมื่น 5 พันเศษ), อิตาลี (3 หมื่น 2 พันเศษ) และฝรั่งเศส (2 หมื่น 8 พันเศษ)

ในช่อง “ติดเชื้อรวม” ของสหรัฐมียอดถึง 1 ล้าน 5 แสน 7 หมื่นเศษ ประธานาธิบดีกล่าวว่า “ถือเป็นเกียรติอย่างสูง” ไม่แน่ใจว่านายทรัมป์วิปริตจนเพี้ยนจริงหรือแสร้งพูดประชด

แต่ที่ผม “ขนลุก” ไม่ใช่เพราะตัวเลขครับ ผมขนลุกเพราะปฏิกิริยาและพฤติกรรมของผู้นำของแต่ละชาติที่เอ่ยมาข้างต้น…ทั้งสหรัฐ สหราชอาณาจักร อิตาลี และฝรั่งเศส ล้วนมีอาการไม่แยแสและไม่กังวลกับการสูญเสียชีวิตอย่างมากมายของผู้คนสักเท่าไหร่นัก!

แม้ไม่ถึงกับแสดงอาการดีใจหรือสะใจกับความตายของคนอื่น แต่ก็ทำให้นึกถึงคำเทศน์ของพระอาจารย์ไพศาล วิสาโล ที่ว่า “…แสดงว่าบางส่วนในตัวกำลังตายไปด้วย ส่วนนั้นก็คือความเป็นมนุษย์…”

ดูราวกับว่าชาวตะวันตกบางชาติเป็นมนุษย์อีกสายพันธุ์หนึ่งที่สูญเสียความเป็นมนุษย์ไปแล้ว

แต่เดิมเราคิดว่ามีฝรั่งเพียงบางส่วนเท่านั้นที่ยังคงมองคนเชื้อชาติอื่นเป็น “ประชาชนชั้น 3”

แต่สถานการณ์โควิด-19 ทำให้เห็นชัดขึ้นถึงการแบ่งแยกเชื้อชาติ คนหน้าตาเอเชียถูกทำร้ายโดยพวกเขาคิดว่าเป็นต้นเหตุของไวรัสโควิดที่กำลังแพร่ระบาด

ที่อังกฤษ อาชญากรรม hate crime (เกลียดชังเพราะเหยียดเชื้อชาติ) เพิ่มขึ้นถึง 21%

สงครามโลกครั้งที่ 2 ทำให้โลกสูญเสียประชากรไปกว่า 40 ล้านคน

ชาวยุโรปบางส่วนอาจจะเกิดความรู้สึก “ด้านชากับความตาย” แต่นักประวัติศาสตร์และนักวิเคราะห์มองว่าสงครามได้เปลี่ยนความหมายของชัยชนะจากการขยายดินแดน เป็นเรื่องของการได้ครองอำนาจทางเศรษฐกิจ

ฝรั่งจึงแบ่งประชากรในชาติออกเป็นสองหรือสามระดับอยู่ในที นั่นคือ ฝ่ายครองอำนาจทางเศรษฐกิจ ฝ่ายชนชั้นกลางทั่วไป กับฝ่าย “ตัวถ่วง” ซึ่งถูกถือว่าเป็นประชากรชั้น 3

ประเทศจะเป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจได้ต้องไม่มี “ตัวถ่วง” ที่คอยแต่สร้างปัญหา

จะเห็นได้ว่าเมื่อโควิด-19 เริ่มแสดงฤทธิ์ร้ายที่อิตาลีใหม่ๆ คร่าชีวิตผู้ติดเชื้อจนรัฐรับมือไม่ทัน อิตาลีต้องเลือกปล่อยมือผู้ป่วยที่สูงอายุและมีโรคประจำตัวให้ตายไปอย่างทรมาน อังกฤษเลือกใช้บทเรียนโบราณ ปล่อยให้คนป่วยสร้างภูมิคุ้มกันตามธรรมชาติ หรือไม่ก็ตายไป

อเมริกายอมเลิกมาตรการล็อกดาวน์เมื่อคนต่อต้านใช้อาวุธปืนในการประท้วง

ทั้งหมดล้วนเป็นเหตุให้มีผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว

นักวิเคราะห์ให้ข้อสังเกตชวนขนลุกว่า นายบอริส จอห์นสัน นายกรัฐมนตรีอังกฤษ ป่วยติดเชื้อถึงขั้นหามเข้าห้องไอซียู แต่เพียงไม่นานก็ออกมาทำงานต่อตามปกติ เจ้าฟ้าชายชาร์ลส์ทรงติดเชื้อโควิด-19 กักพระองค์อยู่ไม่กี่วันก็ปลอดภัย นายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา ไม่เคยป่วยทั้งที่ไม่ใช้หน้ากากอนามัยออกกล้อง

นักวิเคราะห์เชื่อว่า ทั้งนี้เพราะพวกนี้เป็นผู้นำและร่ำรวยยังไม่สมควรตาย หน้าที่ตายเป็นของตัวถ่วงหรือประชากรชั้น 3

วิปริต กับ วิกฤต 2 คำนี้เริ่มบอกคุณลักษณะและสำแดงอาการให้ต้องได้รับการพิจารณา เมื่อมีคำพูด “ไม่ได้ไปโรงเรียนร้ายแรงกว่าติดโควิด” เกิดขึ้น

ตามข่าวที่อ่านพบ ผู้ที่กล่าวข้อความนี้คือ ม.ล.ณัฏฐกรณ์ เทวกุล หรือ “หม่อมปลื้ม” พิธีกรและผู้ดำเนินรายการโทรทัศน์ ตามมาด้วยนายจาตุรนต์ ฉายแสง อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการและกระทรวงยุติธรรม อดีตแกนนำพรรคเพื่อไทย

ได้รับคำวิพากษ์วิจารณ์อย่างรุนแรงทำนองว่าผู้พูดเป็นพวกตรรกะและสมองเน่าเสีย… “ทำไมคนระดับนี้จึงคิดได้แค่นี้”

เมื่ออ่านแต่ข่าวในสื่อโดยไม่คำนึงถึงบริบทก็อาจจะทึกทักเอาได้ว่า ทำไมคนระดับนี้จึงวิปริตไปได้ถึงขนาดนี้

แต่ถ้าได้ติดตามข่าวการเมืองมาแต่ต้นปี เราจะพบว่ากลุ่มการเมืองฝ่ายตรงข้ามกับรัฐบาลซึ่งถูกรัฐบาลทิ่มแทงและเอาเปรียบมาตลอด ต่างหมายมั่นปั้นมือจะรวมพลังกับขบวนการนักศึกษาเคลื่อนไหวต่อต้านขนานใหญ่ให้เหมือนกับการเคลื่อนไหวในเดือนพฤษภาคมในปี 2535 และ 2553 โดยอาศัยจังหวะที่ฝ่ายรัฐบาลของปีนี้บริหารผิดพลาดและชวนให้น่ากังขาหลายประการ

รัฐบาลอ้างวิกฤตโควิด-19 วางมาตรการป้องกันการแพร่ระบาด ทั้งล็อกดาวน์ หยุดการค้า หยุดงาน หยุดเรียน ปิดเมือง ที่สำคัญคือประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินและมาตรการเคอร์ฟิว ทั้งหมดถูกฝ่ายตรงข้ามอ่านว่าเป็นการจำกัดเสรีภาพในการเคลื่อนไหวและการชุมนุมทางการเมือง และเพื่อการบริหารที่มีอำนาจพิเศษเหมือนเมื่อครั้งเป็น คสช.

มาตรการต่างๆ มีทั้งส่วนดีและส่วนเสียต่อประชาชนโดยทั่วไป แต่ที่พลาดก็คือ ให้หยุดเรียนถึงวันที่ 30 มิถุนายน (ประมาณเดือนครึ่ง) ในระหว่างที่หยุดให้เปิดการเรียนการสอนแบบออนไลน์

ก่อนหน้านี้ดูเหมือนรัฐบาลไม่เคยสนใจจะใช้ระบบออนไลน์มาก่อน จะเห็นได้ว่าเมื่อเกิดวิกฤติโควิด-19 ขึ้นในประเทศไทยเมื่อต้นเดือนมกราคม พอถึงต้นเดือนมีนาคม รัฐบาลได้อนุมัติให้กระทรวงมหาดไทยใช้งบฯ กลาง 225 ล้านบาท ให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) 7,774 แห่งทั่วประเทศ สร้างทีมวิทยากรจำนวนกว่า 9 หมื่นราย อบรมการทำหน้ากากอนามัย เพื่อขยายผลสอนประชาชนในพื้นที่ผลิตหน้ากากอนามัยมาตรฐาน สธ.ไว้ใช้เอง

ข่าวนี้ค่อนข้างแปลก สื่อโซเชียลจึงแนะนำว่า ใน YouTube มีคลิปประเภท DIY สอนวิธีทำหน้ากากอนามัยทุกรูปแบบ ไม่จำเป็นต้องลงทุนด้วยงบประมาณถึง 225 ล้านบาท

ต่อมาโฆษกกระทรวงมหาดไทยแจ้งข่าวมีเอกสารประกอบว่า เงิน 225 ล้านบาทนั้น เป็นค่าวัสดุอุปกรณ์ในการจัดทำหน้ากากอนามัยจำนวน 50 ล้านชิ้น

เป็นที่เห็นชัดว่า นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รัฐมนตรีกระทรวงศึกษาธิการ ไม่ได้ทำการบ้านเกี่ยวกับการเรียนการสอนออนไลน์มาก่อน การให้สัมภาษณ์และตอบปัญหาจึงย้อนแย้งเป็นแบบ “หาข้าวสารกรอกหม้อไปวันๆ” หรือแบบ “หาเช้ากินค่ำ” เปลี่ยนไปเปลี่ยนมาตามสถานการณ์ใหม่ที่ตัวเพิ่งทราบ

ยกตัวอย่างเช่น เคยพูดว่า “เรียนออนไลน์ไม่พบปัญหา” ซึ่งแสดงว่ารัฐมนตรีไม่เคยรับรู้ปัญหาของการออนไลน์มาก่อนเลย พอเริ่มทดลองเรียนทางไกลวันแรกปรากฏว่าเว็บไซต์ล่ม ก็ตอบแบบศรีธนญชัยว่า “เพราะนักเรียนให้ความสนใจกันมากจนเว็บล่ม”

เมื่อผู้สื่อข่าวรายงานว่าโรงเรียนชั้นประถมในต่างจังหวัดไกลๆ เด็กและครูไม่มีความสามารถพอ ก็ตอบว่าชั้นประถมไม่ต้องเรียนแบบออนไลน์

มันจะไม่มีปัญหาได้อย่างไร ในเมื่อครอบครัวนักเรียนบางคน อย่าว่าแต่ไม่มีทีวีหรือโทรศัพท์เลย แม้แต่เสื้อผ้า-รองเท้าก็ยังไม่มี หลายครอบครัวมีลูกหลายคน เรียนคนละชั้น มีปัญหาว่าจะแบ่งการเรียนกันอย่างไร ฯลฯ

ในที่สุดรัฐมนตรีก็ได้แต่ย้ำแล้วย้ำอีกยืนกรานว่า โรงเรียนเปิดการเรียนการสอนที่โรงเรียนในวันที่ 1 กรกฎาคม

หม่อมปลื้มในฐานะพิธีกรและผู้ดำเนินรายการโทรทัศน์ เปรียบเสมือนผู้เรียบเรียงเสียงประสานของเพลง (arranger หรือ composer) บางท่อนอาจจะใช้แค่เสียงทรอมโบนที่อ่อนนุ่มแต่งามสง่าก็น่าจะเพียงพอ แต่หม่อมปลื้มจงใจเน้นด้วยการใช้เสียงของทรัมเป็ตที่แผดก้องสดใสและแสดงอำนาจ เป็นการเรียบเรียงด้วยอารมณ์ มิใช่เพราะสมองวิปริต

ประโยคที่ว่า “ไม่ได้ไปโรงเรียนร้ายแรงกว่าติดโควิด” ถูกวิจารณ์ว่าผู้พูดถูกครอบงำด้วยความรู้สึกเกลียดชัง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา

แต่คนทั่วไปซึ่งเพียงแค่หงุดหงิด (ไม่ถึงกับเกลียดชัง) จึงฟังไพเราะรื่นหูไม่ว่าจะด้วยเสียงทรอมโบนหรือเสียงทรัมเป็ตก็ตาม


พิเศษ! สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์, ศิลปวัฒนธรรม และเทคโนโลยีชาวบ้าน ลดราคาทันที 40% ตั้งแต่วันนี้ – 30 มิ.ย. 63 เท่านั้น! คลิกดูรายละเอียดที่นี่