วิธีแสวงหาความรื่นรมย์แบบเดิมๆ กลายเป็นหนทางที่นำ “ความตาย” มาให้ ?

ความขัดแย้งครั้งใหญ่กว่า

ประเมินกันว่าวิถีชีวิตของโลกและมนุษย์จะเกิดความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ ตามสัญญาณที่เกิดขึ้นพร้อมๆ กันหลายๆ อย่าง จากวิกฤตโครงสร้างทางกายภาพซึ่งเกิดจาก “โลกร้อนขึ้น” จนเกิดความเปลี่ยนแปลงของแผ่นดินและพื้นน้ำให้เห็นมากมาย และสัญญาณที่ชัดเจนยิ่งคือ “โควิด-19” ที่ทำให้มีผู้ป่วยและผู้เสียชีวิตเป็นประวัติการณ์อีกครั้งของโลกเรา

เป็นโลกที่มนุษย์ครองความยิ่งใหญ่ สำเริงสำราญด้วยสิ่งประดิษฐ์ในความเชื่อว่าความสุขจะได้มาจากการเอาชนะธรรมชาติ

ว่ากันว่าความเปลี่ยนแปลงทั้งหมดนี้เป็นการตอบโต้จากธรรมชาติ ที่ทำให้อย่างน้อยมนุษย์ต้องหยุดเพื่อยั้งคิดว่า เกิดอะไรขึ้น แล้วจะจัดการอย่างไรเพื่ออยู่ได้ต่อไป

“โควิด-19” ไวรัสที่แพร่จากมนุษย์สู่มนุษย์แค่การสัมผัสกันและกัน

วิธีแสวงหาความรื่นรมย์แบบเดิมๆ กลายเป็นหนทางที่นำ “ความตาย” มาให้

เกิดความตระหนกอย่างใหญ่หลวง เมื่อผู้มีความรู้ทางการแพร่ระบาดของโลกยืนกรานว่าหนทางเดียวเท่านั้นที่จะทำให้ชีวิตรอดคือ “ห่างกันไว้” อย่าได้เข้าใกล้กัน อย่าได้สัมผัสกัน

ใส่หน้ากากปิดปากปิดจมูก เพื่อแยกจากลมหายใจของกันและกัน ต้องระวังอย่าให้อวัยวะทุกส่วนของร่างกายใกล้กันจนสัมผัสถึงเมื่อเผลอ

ข้าวของเครื่องใช้ต้องเป็นส่วนตัว ใช้รวมกันไม่ได้ และต้องทำความสะอาดเสมอ หรือทุกครั้งที่หยิบใช้ และก่อนเก็บ

โรคระบาดนี้ยังไม่มีกำหนดเวลาว่าจะจบลงเมื่อไร นั่นหมายความว่ามนุษย์ต้องใช้ชีวิตเช่นนี้ให้เคยชิน จนกลายเป็นวิถีชีวิตปกติ หรือที่เรียกว่า “NEW NORMAL” วิถีชีวิตปกติแบบใหม่

และนี่เองนำมาซึ่งความคิดที่นักวิเคราะห์แนวโน้มทั้งหลายต่างฟันธงว่าสัมพันธ์แบบ “ออนไลน์” จะเป็นทางเลือกที่มนุษย์ปฏิเสธไม่ได้

“ออนไลน์” ที่สร้าง “โซเชียลเน็ตเวิร์ก” ที่เป็น “สังคมเสมือน” ขึ้นมา ถูกมองว่าเป็นจุดที่ลงตัวที่สุด เป็นการพบกันครึ่งทางระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติ

“โซเชียลเน็ตเวิร์ก” คือสิ่งที่มนุษย์สร้างขึ้นมา และควบคุมได้ ทำให้ชีวิตจริงของมนุษย์แยกจากกันตามที่ “โควิด-19” จัดการให้เป็นไป

ชีวิตมนุษย์จะดำเนินต่อไปด้วย “ออนไลน์”

อย่างไรก็ตาม “NEW NORMAL” นี้เป็นเรื่องต้องอาศัยเครื่องไม้เครื่องมือเกินกว่า “อวัยวะ” อันเป็นเครื่องมือที่ธรรมชาติมอบมาให้มนุษย์ปกติทุกคนอย่างเท่าเทียม

เครื่องมือของ “NEW NORMAL” เป็นเรื่องที่ส่อแนวโน้มว่าจะก่อให้เกิดความเหลื่อมล้ำมากขึ้นไปอีก คนพร้อมก็ยินดี แต่คนไม่พร้อมก็วิตกกังวล เมื่อถูกบังคับให้เป็นไป

เรื่องราวเหล่านี้สะท้อนให้เห็นเบื้องต้นบ้างแล้ว เมื่อกระทรวงศึกษาธิการเดินหน้านโยบาย “การศึกษาออนไลน์” จัดการเรียนการสอนผ่านโซเชียลเน็ตเวิร์ก

ล่าสุด “นิด้าโพล” ทำการสำรวจเรื่องนี้

คําถามหนึ่งที่ว่า เห็นด้วยกับการเปิดเทอมในวันที่ 1 กรกฎาคมหรือไม่ ซึ่งมีความหมายว่าเลื่อนการเรียนการสอนในชั้นเรียนจากที่ปกติเปิดเทอมเดือนพฤษภาคมไปอีก 2 เดือน คำตอบส่วนใหญ่คือ ร้อยละ 51.51 เห็นด้วยมาก ร้อยละ 28.27 ค่อนข้างเห็นด้วย ที่ไม่ค่อยเห็นด้วยร้อยละ 9.87 และร้อยละ 8.28 ไม่เห็นด้วยเลย ร้อยละ 2.07 ไม่ตอบ

เมื่อถามว่า เห็นด้วยหรือไม่กับการเรียนออนไลน์ ร้อยละ 46.90 ไม่เห็นด้วยไม่ว่าจะเป็นการศึกษาในระดับไหน ร้อยละ 29.86 เห็นด้วยในบางระดับ ที่เห็นด้วยในทุกระดับมีร้อยละ 22.05 ที่เหลือร้อยละ 1.19 ไม่ตอบ

เมื่อมองจากคำตอบนี้ พบว่าแม้จะตระหนักถึงภัยจากโรคระบาด แต่คนส่วนใหญ่ยังปรารถนาระบบชีวิตแบบเก่า ยังอยากประนีประนอมกับชีวิตแบบเก่ามากกว่า

แน่นอน คนส่วนใหญ่ไม่พร้อมไม่ทางใดก็ทางหนึ่งสำหรับชีวิตที่ประเมินกันว่าจะเป็น “NEW NORMAL”

นั่นอาจจะเป็นไปได้ว่า คนส่วนน้อยคือผู้ที่เชื่อว่า “พร้อม” และเลือก “ความปลอดภัย” ให้กับคนในครอบครัวได้ง่ายกว่า

นั่นหมายความว่าร่องรอยของความขัดแย้งรอบใหม่เกิดขึ้นแล้วกับเผ่าพันธุ์มนุษย์

เป็นความขัดแย้งระหว่างผู้เลือก “วิถีชีวิตแบบใหม่” กับ “ผู้ที่ต้องอยู่กับชีวิตแบบเก่า”

ก่อนหน้านั้นมนุษย์ห้ำหั่นทำลายล้างกันด้วยความขัดแย้งในรูปแบบต่างๆ จากการแย่งชิงทรัพยากรธรรมชาติ จากความเชื่อที่แตกต่าง จากอุดมการณ์ที่ไม่เหมือนกัน และอื่นๆ อีกมากมาย

ถึงวันนี้ดูเหมือนว่าการปะทะกันระหว่าง “วิถีชีวิตใหม่” กับ “วิถีชีวิตเดิม” กำลังเกิดขึ้น

“วิถีชีวิตใหม่” ที่มุ่งไปสู่การพรากจากของความสัมพันธ์แบบธรรมชาติของมนุษย์ ไปสู่ความสัมพันธ์ประดิษฐ์ที่ใกล้ชิดกันด้วยมายาภาพที่สร้างขึ้นใหม่

กับ “วิถีชีวิตเก่า” ที่เชื่อมกันด้วยสัมผัสของเนื้อหนังซึ่งสร้างโดยธรรมชาติ

ความขัดแย้งนี้จะก่อให้เกิดอะไรขึ้น ยังเป็นเรื่องยากจะคาดเดา


พิเศษ! สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์, ศิลปวัฒนธรรม และเทคโนโลยีชาวบ้าน ลดราคาทันที 40% ตั้งแต่วันนี้ – 30 มิ.ย. 63 เท่านั้น! คลิกดูรายละเอียดที่นี่