มองบ้านมองเมือง / ปริญญา ตรีน้อยใส / ชุมชนถูกดิสรัปชั่น

ปริญญา ตรีน้อยใส

มองบ้านมองเมือง/ปริญญา ตรีน้อยใส

ชุมชนถูกดิสรัปชั่น

การอยู่บ้าน เพื่อช่วยชาตินั้น สำหรับคนมากมีมากกิน หรือพอมีพอกิน อาจเป็นเรื่องสนุกสนาน เมื่อได้ช่วยกันทำอาหาร ปลูกผักสวนครัว หรือติดตามดูซีรี่ส์เกาหลี

แต่สำหรับคนไม่พอมีไม่พอกิน การต้องอยู่บ้านช่วยชาติ กลายเป็นปัญหาในการดำรงชีวิต โดยเฉพาะผู้ที่ต้องตกงานถาวร เพราะบริษัทเลิกกิจการ หรือตกงานชั่วคราว เพราะร้านค้าต้องปิดกิจการ ตามคำสั่งรัฐบาล

คนพวกนี้ต้องหาทางเอาตัวให้รอดด้วยวิธีการต่างๆ

ลูกศิษย์ชื่อ อาร์ม ปาณพล จันทรสุกรี มีอาชีพเป็นครีเอทีฟ ทำงานด้านออแกไนซ์ มีบริษัทรับจัดอีเวนต์ต่างๆ โดนโควิดขวิดอย่างแรง จนต้องหารายได้เพื่อดำรงชีวิต

เริ่มต้นจากคิดจะให้แม่ทำขนม อาหาร และขายออนไลน์ แต่พบว่า แพลตฟอร์มที่มีอยู่ ไม่เอื้อต่อกิจการที่เพิ่งเริ่มต้น

เลยตัดสินใจสร้างหน้าร้านขึ้นมาเองในโลกโซเชียล เดิมตั้งใจจะขายให้คนรู้จักกันเท่านั้น คือ เพื่อนที่เรียนคณะสถาปัตย์ หรือคณะอื่นในจุฬาฯ เพราะแม่มีกำลังเท่านั้น

เลยเป็นที่มาของเฟซบุ๊ก จุฬาฯ มาร์เก็ตเพลส ที่ฮือฮาอย่างมากในช่วงวิกฤต ด้วยมีเพื่อนจุฬาฯ เข้ามาติดตามมากถึงสองแสนคน ภายในเวลาสองอาทิตย์ การซื้อ-ขายมียอดสูงเป็นหลักล้าน มากจนหมดร้าน หมดบ้าน หรือหมดสวน (ผลไม้)

กลายเป็นแพลตฟอร์มที่สานสัมพันธ์ผู้คนได้อย่างน่าอัศจรรย์ ในภาวะที่ชีวิตติดขัดไปไหนไม่ได้ ไม่ได้พบปะเพื่อนฝูง อยากพูดคุยกับคนคุ้นเคย

และที่สำคัญแก้ได้ทั้งปัญหาทางการเงิน ผลไม้ล้นตลาด และทำให้ขนมนิรนามขายดี

 

นับเป็นปรากฏการณ์ค้านกับทฤษฎีของอาจารย์เอ็มบีเอ ที่ออกมาอธิบายว่า หลังวิกฤตโควิด-19 การตลาดจะเป็นแบบฟังชั่นนอล ไม่ใช่อีโมชั่นนอล เพราะคนกลัวตาย กลัวติดโรค เลยหยุดเพ้อฝัน มุ่งหาความเป็นจริง

จุฬาฯ มาร์เก็ตเพลส กลับแสดงให้เห็นว่า ช่วงเวลานี้ ผู้คนรู้สึกว้าเหว่ เหงา ขาดที่พึ่ง ไม่รู้จะเชื่อใคร การเข้าร่วมกิจการ จุฬาฯ มาร์เก็ตเพลส จึงเป็นเรื่องของอารมณ์ล้วนๆ อยากได้ข่าวของเพื่อน มากกว่าดอกไม้ในตอนเช้า และพุทธวจนะในตอนเย็น อยากช่วยเพื่อนที่ลำบาก หรืออยากส่งเสริมกิจการเพื่อน

จุฬาฯ มาร์เก็ตเพลส จึงไม่เหมือนช้อปปิ้งออนไลน์ทั่วไป ที่มุ่งเอากำไรเป็นหลัก แต่เป็นศูนย์รวมของนิสิตจุฬาฯ เป็นเหมือนสนามที่เคยไปเชียร์ฟุตบอลประเพณีด้วยกัน

เป็นเหมือนตลาดนัดวันศุกร์ ข้างศาลาพระเกี้ยวที่เคยไปเดินเล่นด้วยกัน

หรือเป็นเหมือนโรงอาหารรวมของมหาวิทยาลัย ที่เคยนั่งกินด้วยกัน

จุฬาฯ มาร์เก็ตเพลส จึงเป็นชุมชนออนไลน์ ชุมชนเสมือน หรือชุมชนดิจิตอล ที่มีผู้คนปฏิสัมพันธ์ร่วมกันเป็นแสนคน

 

อาจารย์สัญญา สัญญาวิวัฒน์ เคยสอนไว้เมื่อสี่สิบปีก่อนว่า ชุมชน หมายถึง องค์กรทางสังคมอย่างหนึ่ง ที่มีอาณาเขตครอบคลุมท้องถิ่นหนึ่ง ปวงสมาชิก สามารถบรรลุถึงความต้องการพื้นฐานส่วนใหญ่ได้ และสามารถแก้ไขปัญหาส่วนใหญ่ในชุมชนตนเองได้

อาจารย์ชยันต์ วรรธนะภูติ เคยสอนไว้เมื่อสามสิบปีก่อนว่า ชุมชน หมายถึง การอยู่รวมกันของคนจำนวนหนึ่ง ในพื้นที่แห่งหนึ่ง เพื่ออาศัยทรัพยากรในบริเวณนั้น ในการดำรงชีวิต ในการผลิต จึงกำหนดรูปแบบความสัมพันธ์ซึ่งกันและกัน

อาจารย์อาวุโส ประเวศ วะสี กล่าวไว้เมื่อยี่สิบปีที่แล้วว่า ความเป็นชุมชน หมายถึง การที่คนจำนวนหนึ่ง เท่าใดก็ได้ มีวัตถุประสงค์ร่วมกัน มีการติดต่อสื่อสารหรือรวมกลุ่มกัน มีความเอื้ออาทรต่อกัน มีการเรียนรู้ร่วมกัน มีการจัดการเพื่อให้เกิดความสำเร็จตามวัตถุประสงค์ร่วมกัน

ปรากฏการณ์ จุฬาฯ มาร์เก็ตเพลส คงทำให้อาจารย์ที่สอนทางด้านสังคมศาสตร์ ต้องเปลี่ยนคำสอนเรื่องชุมชนใหม่แน่นอน

รวมทั้งสถาปนิกและนักผังเมือง คงจะแย่เพราะไม่มีพื้นที่ให้ออกแบบชุมชน หรือให้วางผังชุมชนอีกต่อไป

 

พิเศษ! สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์, ศิลปวัฒนธรรม และเทคโนโลยีชาวบ้าน ลดราคาทันที 40% ตั้งแต่วันนี้ – 30 มิ.ย. 63 เท่านั้น! คลิกดูรายละเอียดที่นี่