บทความพิเศษ/นงนุช สิงหเดชะ / อเมริกา-บราซิลและโควิด-19 ยอดติดเชื้อสัมพันธ์กับ ‘ภาวะผู้นำ’

บทความพิเศษ/นงนุช สิงหเดชะ

อเมริกา-บราซิลและโควิด-19

ยอดติดเชื้อสัมพันธ์กับ ‘ภาวะผู้นำ’

 

ในที่สุด บราซิลประเทศในทวีปอเมริกาใต้ ก็แซงอีกหลายประเทศขึ้นมาอย่างรวดเร็วสู่ที่ 2 ของโลกรองจากอเมริกาในแง่ของจำนวนผู้ติดเชื้อไวรัสโควิด-19

ส่วนอเมริกาที่ครองตำแหน่งอันดับ 1 ของโลกมาตั้งแต่ปลายเดือนมีนาคม ทั้งในแง่จำนวนผู้ติดเชื้อและเสียชีวิตมากที่สุด ล่าสุดก็มีผู้เสียชีวิตทะลุ 1 แสนคนเข้าไปแล้ว

พร้อมกับที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ได้สั่งให้ลดธงครึ่งเสาเป็นเวลา 3 วัน ระหว่างวันที่ 25-27 พฤษภาคม เพื่อไว้อาลัยผู้เสียชีวิต

การเสียชีวิตของคนอเมริกันจากการติดเชื้อโควิด-19 ลบสถิติการเสียชีวิตของคนอเมริกันในเหตุการณ์ใหญ่ๆ หลายเหตุการณ์ในอดีตรวมถึงการเสียชีวิตจากสงครามเวียดนาม

ท่ามกลางจำนวนผู้ติดเชื้อและเสียชีวิตมากมายนี้ สิ่งที่โลกได้เห็นมาตลอดคือการที่ผู้นำสหรัฐโทษคนอื่น โทษทุกอย่าง ยกเว้นโทษตัวเอง

เพราะในช่วงใกล้เลือกตั้งประธานาธิบดีเช่นนี้ การเบี่ยงเบนความสนใจของประชาชนไปจากความล้มเหลวถือเป็นงานหลักที่ต้องโหมประโคมอย่างเต็มกำลัง

ดังนั้น อย่าได้แปลกใจที่ทรัมป์ พูดซ้ำๆ บ่อยๆ ว่าจีนจงใจปล่อยไวรัสตัวนี้มาทำลายอเมริกาและโลก

และยังกล่าวหาว่าองค์การอนามัยโลก (WHO) เข้าข้างจีนในการปกปิดไวรัสตัวนี้เอาไว้ จนทำให้การระบาดลุกลาม

พร้อมกันนั้นยังพูดรายวันเรื่องที่จะให้มีการสอบสวนต้นตอของโรค โดยอ้างว่าไวรัสตัวนี้น่าจะไม่ได้เกิดจากธรรมชาติ แต่หลุดจากห้องแล็บของจีน

 

การตีกระหน่ำจีนช่วงนี้ถือเป็น “จุดขาย” ที่แข็งของทรัมป์ เพราะหลังเกิดการแพร่ระบาดโควิด อารมณ์และความรู้สึกของคนอเมริกันที่มีต่อจีนเป็นลบค่อนข้างมาก หากดูจากผลโพลที่มีการทำกันออกมา

แม้แต่คนหนุ่มสาวที่น่าจะใจกว้างต่อคนต่างชาติมากกว่าคนรุ่นเก่า ก็พบว่ามีทัศนคติด้านลบต่อจีนเพิ่มขึ้น

ส่วนคนอเมริกันที่หนุนทรัมป์อยู่แต่เดิมนั้นไม่ต้องพูดถึง

ดังนั้น อาจเป็นไปได้ว่าทรัมป์อาจชนะเลือกตั้งอีกสมัยก็เป็นได้ แม้ว่าผลสำรวจจะยังมีคะแนนตามหลังโจ ไบเดน จากเดโมแครตอยู่บ้าง แต่ไม่ถือว่าทิ้งห่างมาก อะไรก็พลิกผันได้

หากทรัมป์ตีหนักๆ ไปที่จีน อาจจะสามารถเบี่ยงเบนความสนใจของประชาชนไปจากข้อเท็จจริงที่ว่า หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งลับทั้งแจ้งได้ส่งสัญญาณเตือนมายังทรัมป์ตั้งแต่ต้นปีนี้แล้วเกี่ยวกับโควิด แต่เป็นทรัมป์เองที่เพิกเฉย ไม่ให้ความสนใจ บอกว่าไม่ใช่เรื่องใหญ่สามารถควบคุมได้

จึงเป็นเรื่องน่าลุ้นว่าคนอเมริกันส่วนใหญ่จะยังคงเลือกผู้นำอย่างทรัมป์กลับมาบริหารประเทศอีกหรือไม่ ผู้นำที่ปฏิเสธการสวมหน้ากากอนามัยเพื่อเป็นตัวอย่างที่ดีให้กับประชาชนและร่วมมือกับเจ้าหน้าที่สาธารณสุขและบุคลากรทางการแพทย์

ผู้นำที่แนะนำให้ทดลองฉีดสารประเภทน้ำยาฆ่าเชื้อเข้าสู่ร่างกายมนุษย์เพื่อฆ่าโควิด จนบรรดาหมอพากันร้องเสียงหลง รีบออกมาเตือนประชาชนอย่าทำตาม แถมเดือดร้อนบริษัทที่ขายน้ำยาฆ่าเชื้อโรคต้องออกโฆษณาย้ำถึงผู้บริโภคว่าอย่านำไปฉีดเข้าร่างกาย

ผู้นำที่บอกว่ารู้สึกภูมิใจที่อเมริกามียอดผู้ติดเชื้อมากที่สุดในโลกเพราะนั่นแสดงว่าอเมริกามีการตรวจหาเชื้อเยอะกว่าประเทศอื่น

ผู้นำที่ให้ท้ายสนับสนุนประชาชนที่ต่อต้านการล็อกดาวน์เพื่อหยุดยั้งเชื้อและช่วยบรรเทาภาระของแพทย์ พยาบาล

 

ในซีกของบราซิล ผู้นำของประเทศนี้คือ นายชาอีร์ โบลโซนาโร ถูกขนานนามว่า “ทรัมป์แห่งประเทศเขตร้อน” บ้างก็ว่าเป็นดูแตร์เตแห่งบราซิล เพราะเขาเป็นพวกขวาจัด

ประธานาธิบดีบราซิลผู้นี้ยิ่งไปกันใหญ่ ซึ่งก็เป็นคำตอบว่าทำไมบราซิลจึงติดเชื้อโควิดพุ่งขึ้นอย่างรวดเร็ว

เพราะนายคนนี้บอกว่าโควิดก็แค่ไข้หวัดเล็กๆ น้อยๆ

แต่ที่แย่กว่านั้น ก็คือออกไปร่วมขบวนกับประชาชนที่ออกมาต่อต้านคำสั่งล็อกดาวน์ของผู้ว่าการรัฐต่างๆ แถมไม่สวมใส่หน้ากากอีกด้วย

เลวร้ายจนหมดสิ้นภาวะความเป็นผู้นำมากกว่านั้น ก็คือการไล่ออกนายลูอิส เฮนริเก้ แมนเดตต้า รัฐมนตรีสาธารณสุข เพราะไม่เห็นด้วยกับนโยบายของนายเฮนริเก้ ที่ขอให้ประชาชนรักษาระยะห่างทางสังคม พร้อมกับขอให้โรงเรียนและธุรกิจต่างๆ ปิดลง เพื่อยับยั้งการระบาดของไวรัส

แต่ประธานาธิบดีบราซิลเห็นว่านโยบายของ รมว.สาธารณสุขทำลายเศรษฐกิจประเทศ และเรียกร้องให้แต่ละรัฐยกเลิกคำสั่งให้คนอยู่กับบ้าน

สภาพเช่นนี้เท่ากับว่าคนที่เป็นผู้นำสูงสุดของประเทศ ปล่อยให้รัฐต่างๆ ต่อสู้กับโรคระบาดตามลำพัง (แบบเดียวกับทรัมป์)

เมื่อไม่ช่วยแล้วยังเอาเท้าราน้ำด้วยการยุยงให้ประชาชนแข็งข้อต่อมาตรการล็อกดาวน์ ส่งผลให้ประเทศขาดศูนย์กลาง ขาดหลักยึดในการต่อสู้กับวิกฤตโรคระบาด

 

ต่อมากลางเดือนพฤษภาคม นายเนลสัน เทช รัฐมนตรีสาธารณสุขคนใหม่ที่เพิ่งรับตำแหน่งได้เพียงเดือนเดียว ได้ยื่นใบลาออกเช่นกัน เชื่อว่าเป็นเพราะเขาเห็นต่างจากผู้นำบราซิลเกี่ยวกับการควบคุมโรค โดยผู้นำบราซิลมีการออกคำสั่งให้เปิดฟิตเนส ร้านเสริมสวย ร้านตัดผมด้วยตัวเอง โดยไม่ปรึกษาเขาสักคำ

นอกจากนั้น ยังพยายามผลักดันให้นายเทชนำยาไฮดรอกซีคลอโรควิน มาใช้รักษาโควิด แต่นายเทชไม่เห็นด้วย

ยาไฮดรอกซีคลอโรควิน เป็นยาต้านไข้มาลาเรีย ซึ่งล่าสุด WHO ได้ระงับการทดลองนำยานี้มาใช้กับผู้ติดเชื้อโควิดเนื่องจากพบว่าทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิตเร็วขึ้น

และยาตัวนี้เช่นกันที่โดนัลด์ ทรัมป์ บอกว่าเขากินมาระยะหนึ่งแล้วเพื่อป้องกันการติดเชื้อโควิด ดังนั้น จึงไม่กลัวติดเชื้อและไม่ยอมสวมหน้ากาก

เป็นไปได้ว่าการที่ประธานาธิบดีบราซิลไม่ไว้ใจผู้เชี่ยวชาญหรือหมอให้เป็นทัพหน้าในการคุมโควิด คือสาเหตุที่ทำให้ยอดติดเชื้อในบราซิลพุ่งขึ้นแบบทะลักทลายอย่างรวดเร็วในช่วงหลัง

ทั้งกรณีของอเมริกาและบราซิล สะท้อนว่าวุฒิภาวะและสติปัญญาของผู้นำมีความสัมพันธ์กับการติดเชื้อโควิด ผู้นำวุฒิภาวะน้อย ดื้อด้านและโง่ ไม่มอบหมายหน้าที่การคุมโรคให้กับผู้เชี่ยวชาญ

นำมาซึ่งหายนะของชีวิตประชาชนและประเทศ

 

สําหรับในประเทศไทย

มีคนบางกลุ่มที่อยู่ตรงข้ามรัฐบาล กล่าวหาว่ารัฐบาลยอมให้หมอ “ขี่คอ” จนทำให้เศรษฐกิจเสียหาย คนจะอดตาย

แต่ผู้มีแนวคิดแบบนี้คงลืมนึกไปว่าการคุมโรคได้ในระดับดีมากนั้นมีความสำคัญต่อภาพรวมทั้งหมดของประเทศ โดยเฉพาะเศรษฐกิจ เพราะหากเราคุมโรคได้ก่อน ก็จะดึงดูดต่างชาติให้มาท่องเที่ยว มาลงทุน ได้ก่อนประเทศอื่น

การเน้นควบคุมโรคระบาด ไม่ควรถูกตีความว่าเพิกเฉย ขว้างทิ้งเศรษฐกิจ เพราะสองอย่างนี้ต้องไปด้วยกัน

ถ้าคุมการระบาดไม่ได้ ก็อย่าหวังว่าเศรษฐกิจจะฟื้น

 

พิเศษ! สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์, ศิลปวัฒนธรรม และเทคโนโลยีชาวบ้าน ลดราคาทันที 40% ตั้งแต่วันนี้ – 30 มิ.ย. 63 เท่านั้น! คลิกดูรายละเอียดที่นี่