สุจิตต์ วงษ์เทศ / แม่โพสพมาจากแม่ข้าว ในศาสนาผีอุษาคเนย์

นาตาแฮก ราว 2,500 ปีมาแล้ว (ต้นตอแรกนาขวัญ) ประกอบด้วยรูปต่างๆ ดังนี้ (1.) ต้นข้าวเป็นกลุ่มแถวเหมือนนาดำทดน้ำ (2.) คนทำท่าต่างกัน คนหนึ่งกางแขนกางขาเหมือนถูกฆ่าบูชายัญ อีกคนหนึ่งทำท่ายิงหน้าไม้เหมือนจะฆ่าควายบูชายัญ (3.) วัวควาย (4.) ฝ่ามือประทับของเจ้าแม่ผู้คุ้มครองชุมชน (5.) ลายจักสานแบบเรขาคณิต สัญลักษณ์ของขวัญ (ลายเส้นคัดลอกโดยกรมศิลปากร จากภาพที่ผาหมอนน้อย อ.โขงเจียม จ.อุบลราชธานี)

สุจิตต์ วงษ์เทศ

แม่โพสพมาจากแม่ข้าว

ในศาสนาผีอุษาคเนย์

 

แม่โพสพคือเทวีข้าวที่ถูกสถาปนาโดยรัฐนาฏกรรมลุ่มน้ำเจ้าพระยา ในพิธีธานย์เทาะห์ หรือเผาข้าว ตามคติเทวราช

ชาวนาดั้งเดิมเริ่มแรกทำนาทางฟ้า หมายถึงพึ่งพาความไม่แน่นอนของน้ำฝนที่หล่นจากฟ้า ดังนั้น รัฐต้องแสดงความมีอำนาจควบคุมและบันดาลความอุดมสมบูรณ์เป็นที่รับรู้ ด้วยการจัดให้มีพิธีกรรมเพื่อความมั่นคงและมั่งคั่งในพืชพันธุ์ว่านยาข้าวปลาอาหาร

ก่อนได้รับสถาปนา แม่โพสพคือแม่ข้าวซึ่งเป็นผีพื้นเมืองเพศหญิง บางทีถูกเรียกว่าแม่ศรี ดังนั้น ต้นตอของแม่โพสพคือแม่ข้าวในศาสนาผี และกว่าจะเป็นแม่โพสพมีพัฒนาการที่ต้องเชื่อมโยงกับสิ่งอื่นหลายอย่าง ดังนี้

 

1.เลือดมนุษย์หล่อเลี้ยงต้นข้าว

เลือดมนุษย์จากพิธีบูชายัญในนาตาแฮก หล่อเลี้ยงต้นข้าวเจริญเติบโตมีรวงหนาแน่นด้วยเมล็ดข้าว

นาตาแฮก เดือน 6 (ราวพฤษภาคม) คือ นาจำลองเพื่อทำพิธีบูชายัญทางศาสนาผีก่อนลงมือทำนาจริงของชุมชนชาวนาดึกดำบรรพ์หลายพันปีมาแล้ว ที่ยังสืบเนื่องประเพณีตราบจนทุกวันนี้ โดยเฉพาะแถบลุ่มน้ำโขง ส่วนลุ่มน้ำเจ้าพระยาถูกปรับเปลี่ยนเป็นที่รู้ทั่วไปในนาม “แรกนาขวัญ”

[นาตาแฮก ตรงกับ นาตาแรก (แฮก เป็นคำลาว ตรงกับไทยว่า แรก) แรกนาขวัญ คือ แฮกนาขวัญ ความหมายเดียวกับนาตาแฮก]

“บูชายัญ” (เป็นชื่อสมมุติได้จากชื่อสมัยหลัง) หมายถึงพิธีฆ่ามนุษย์ตัวเป็นๆ หรือคนจริงๆ เพื่อเอาเลือดคลุกเคล้าชโลมดินปลูกข้าว โดยเชื่อว่าเลือดมนุษย์ในดินหล่อเลี้ยงต้นข้าวเจริญเติบโตมีเมล็ดข้าวคับคั่งเลี้ยงคนในชุมชนดึกดำบรรพ์หลายพันปีแล้ว และยังทำสืบเนื่องอีกนาน แต่ปรับเปลี่ยนจากฆ่ามนุษย์เป็นฆ่าสัตว์ เช่น วัว ควาย เป็นต้น

พิธีบูชายัญมีหลักฐานโบราณคดีสนับสนุน ได้แก่ (1.) ประติมากรรมบนหน้ากลองสำริด (ปัจจุบันไทยเรียกกลองมโหระทึก) พบที่มณฑลยูนนาน สมัยนั้นไม่เป็นจีนฮั่น แต่เป็นพื้นที่ต่อเนื่องส่วนหนึ่งของอุษาคเนย์โบราณ (2.) ภาพเขียนบนเพิงผาที่ลุ่มน้ำโขง (จ.อุบลราชธานี) และ (3.) จดหมายเหตุจีน พรรณนาว่ามีพิธีบูชายัญมนุษย์ทุกปีที่ลึงคบรรพต บริเวณปราสาทวัดพู (แขวงจำปาสัก ในลาว)

กลองสําริด ราว 2,000 ปีมาแล้ว พบที่ตําบลสือไจ้ซาน อําเภอผู่หนิง มณฑลยูนนาน (ทางภาคใต้ของจีน) มีประติมากรรมลอยตัวขนาดเล็กประดับบนหน้ากลอง บอกเล่าพิธีกรรมอย่างหนึ่งที่เชื่อกันว่าเป็น “บูชายัญ” ผู้ชายที่ถูกมัดติดเสากลางลานหมู่บ้าน โดยรวมแล้วผู้ร่วมพิธีมี 52 คน ประกอบด้วยหญิงมีอำนาจซึ่งเกล้ามวยผม นั่งเสลี่ยงมีคนหาม แล้วมีหญิงสูงศักดิ์ 4 คนนั่งแวดล้อม นอกนั้นเป็นคนในชุมชนมีฐานะทางสังคมต่างๆ (เรียบเรียงโดยสรุปจากคําอธิบายของ ทองแถม นาถจํานง ภาพจากมิวเซียมมณฑลยูนนาน โดย ชินวัฒน์ ตั้งสุทธิจิต เมื่อ พ.ศ.2558)

 

2.แม่ข้าวถูกฆ่าด้วยเคียวเกี่ยวข้าว

แม่ข้าว คือขวัญต้นข้าวที่ถูกฆ่าโดยเคียวเกี่ยวขาดจากต้นข้าวแล้วได้รับยกย่องเป็นเจ้าแม่

เกี่ยวข้าว เดือน 1 หรือเดือนอ้าย (ราวธันวาคม) คือการฆ่าแม่ข้าวด้วยเคียวเกี่ยวต้นข้าวขาด ด้วยความเชื่อว่าเลือดแม่ข้าวจะคลุกเคล้าดินแล้วหล่อเลี้ยงต้นข้าวเติบโตในการปลูกข้าวครั้งต่อไป

ต้นข้าวสุดท้ายที่ถูกเคียวเกี่ยวขาดแล้วเอารวงข้าวไป ทำให้ขวัญข้าวไม่มีที่อยู่ จึงต้องอาศัยสิงสู่ข้าวตก (คือต้นข้าวที่ชาวนามองไม่เห็นหรือมองข้ามไป เกี่ยวไม่หมด จึงไม่ถูกเกี่ยว แล้วตกๆ หล่นๆ เหลือค้างคาท้องนา) ทั้งนี้ เป็นไปตามความเชื่อดั้งเดิมว่าต้นข้าวมีชีวิต (เหมือนคน) ต้นข้าวตาย ส่วนขวัญข้าวไม่ตาย เพียงเคลื่อนไหวเหมือนมีชีวิตอยู่ต่างมิติซึ่งจับต้องไม่ได้และมองไม่เห็น

ชาวนาเก็บข้าวตกซึ่งมีขวัญข้าวสิงอยู่โดยรวมเป็นพุ่มเป็นมัด แล้วเชิญไว้ในที่พิเศษสำหรับทำพิธีกรรม และเป็นพันธุ์ข้าวปลูกในฤดูทำนาต่อไป

 

3.ส่งขวัญแม่ข้าวเซ่นผีแถน

ขวัญของแม่ข้าวคือข้าวสุก ถูกส่งขึ้นฟ้าไปเซ่นสังเวยผีแถน

ทำขวัญข้าว เดือน 3 (ราวกุมภาพันธ์) ชาวนาทั้งชุมชนนัดหมายพร้อมกัน “วันฟ้าเปิด” (ลาวเรียกวันกำฟ้า) ร่วมกันส่งขวัญแม่ข้าวขึ้นฟ้า ด้วยการเอาข้าวเปลือกที่เพิ่งได้จากทำนาไปตำซ้อมเป็นข้าวสารชุดแรก แล้วหลามจนสุกในกระบอกไผ่สุมไฟ (เรียกว่า “บายศรี” คือข้าวขวัญ เรียกต่อมาสมัยหลังว่า “ข้าวหลาม”) เป็นเครื่องเซ่นสังเวยผีแถนโดยใส่ภาชนะทำจากใบไม้

ตรงนี้มีร่องรอยความเชื่ออยู่ในคำบอกเล่าเก่าแก่เกี่ยวกับแถนสั่งความไว้ว่า “กินข้าวให้บอกให้หมาย กินแลงกินงายให้บอกแด่แถน—-” (ตำนานขุนบรม, พงศาวดารล้านช้าง)

ก่อนทำขวัญข้าวเซ่นผีแถน ชาวนาไม่กินข้าวใหม่ที่เพิ่งได้มา แต่ต้องรอหลังทำขวัญข้าวจึงเอาข้าวใหม่ไปหุงกินได้

 

4.เผาข้าวและสถาปนาแม่โพสพ

ขณะชาวนาทำขวัญข้าว ราชสำนักทำพิธีเผาข้าว คือเผาศพแม่ข้าวในเดือน 3 แล้วสถาปนาแม่ข้าวเป็นแม่โพสพ ซึ่งเป็นไปตามความเชื่อในลัทธิเทวราชของภูมิภาคอุษาคเนย์ (อันเกิดจากการประสมประสานของความเชื่อเดิมเรื่อง “ขวัญ” ในศาสนาผีของอุษาคเนย์กับความเชื่อใหม่เรื่อง “วิญญาณ” ในศาสนาพราหมณ์-ฮินดูจากอินเดีย ราวหลัง พ.ศ.1000) ดังนี้

  1. เผาศพแม่ข้าว ราชสำนักโบราณก่อนสมัยอยุธยา (หลังรับประเพณีเผาศพจากอินเดียตามคติทางศาสนาพุทธ และศาสนาพราหมณ์-ฮินดู) มีพระราชพิธีธานย์เทาะห์ เผาข้าว หมายถึงเผาศพแม่ข้าวที่ถูกทำให้ตายจากการเกี่ยวข้าว โดยทำพิธีจุดไฟเผารวงข้าวที่มีเมล็ดข้าวเปลือกเต็มรวงติดอยู่ด้วย (เหตุนี้เองนักโบราณคดีจึงขุดพบซากเมล็ดข้าวสารถูกไฟเผาอยู่เมืองโบราณหลายแห่ง ซึ่งเรียกกันทุกวันนี้ว่า “ข้าวสารดำ”)
  2. สถาปนาแม่โพสพ การเผาศพแม่ข้าว เท่ากับสถาปนาแม่ข้าวขึ้นเป็นแม่โพสพ เพราะพลังของแม่ข้าวถูกเชิญขึ้นฟ้าแล้วรวมเป็นหนึ่งเดียวกับพระไพศพ (ตามคติพราหมณ์เรียกเป็นภาษาสันสกฤตว่า “ไพศฺรพณะ”) ผู้เป็นเทวะแห่งความมั่งคั่งอุดมสมบูรณ์ และผู้พิทักษ์ทรัพย์ในดินสินในน้ำ เป็นใหญ่ดูแลรักษาทิศเหนือ (รู้จักทั่วไปในนาม ท้าวกุเวร, ท้าวเวสสุวรรณ) แต่คนพื้นเมืองยกย่องเรียกเป็นเพศหญิงตามความเชื่อดั้งเดิมของตนว่า “แม่โพสพ”

เผาข้าวและสถาปนาแม่โพสพ พบหลักฐานในเอกสารหลายเล่ม แต่เล่มสำคัญคือ ทวาทศมาสโคลงดั้น (วรรณกรรมสมัยอยุธยาตอนต้น) พรรณนาพระราชพิธีว่าแห่พนมรวงข้าวไปลานเผาข้าว (หลังเสร็จทําขวัญข้าว) เพื่อทําพิธีเผาข้าว เรียกในทวาทศมาสว่า “ส่งไพศพ” หมายถึงส่งพระไพศพราชขึ้นฟ้าด้วยการเผาศพ

ตําราพระราชพิธีเก่าและตําราทวาทศพิธีจดไว้ว่าขุนนางผู้ใหญ่เชื้อสายพราหมณ์แห่พนมรวงข้าว (สมมุติเป็นฉัตร) มีประธาน 1 พนม และบริวาร 8 พนม เมื่อพร้อมแล้วให้ตระกูลพราหมณ์เป็นใหญ่จุดไฟเผาฉัตรรวงข้าวประธานขึ้นก่อน แล้วตามด้วยเผาฉัตรรวงข้าวบริวารทั้ง 8

ทวาทศมาสโคลงดั้น (บท 204 และ 211) พรรณนาพิธีเผาข้าวว่าขบวนแห่พนมรวงข้าวมีหมู่ฟ้อนร่อนรําเต็มแถวทาง ครั้นเสร็จพิธีเผาข้าวก็เท่ากับส่งพระไพศพขึ้นฟ้า แต่ไฟเผายังคุกรุ่นส่งแสงร้อนรุ่มผลาญไม้ใบข้างเคียง ดังนี้

 

“รัถยาบ่าวสาวพวง                       พาลแพละ กันนา

ตามส่งไพศพคล้อย                      คลาศคลา”

“เสร็จส่งไพศพสิ้น                       สารสุด

เพลิงฉี่ใบบัวบง                          เหี่ยวแห้ง”

 

ปัจจุบัน แม่โพสพอยู่ในความเชื่อและความทรงจำสืบเนื่องมา ส่วนแม่ข้าวถูกลืมจนไม่มีใครรู้จักอีกแล้ว

นอกจากนั้น บายศรีคือข้าวขวัญของแม่ข้าวที่ถูกทำให้สุกเพื่อเซ่นสังเวยผีแถนผีฟ้าโดยใส่ภาชนะทำจากใบไม้ ก็ถูกให้ความสำคัญแก่ภาชนะโดยทำจากใบตองซ้อนชั้นทรงสูงขึ้น ในที่สุดก็ลืมเรื่องข้าวขวัญของแม่ข้าว

 

พิเศษ! สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์, ศิลปวัฒนธรรม และเทคโนโลยีชาวบ้าน ลดราคาทันที 40% ตั้งแต่วันนี้ – 30 มิ.ย. 63 เท่านั้น! คลิกดูรายละเอียดที่นี่