ศิลปินผู้พลิกโลกด้วยรูปทรงลูกบาศก์

ภาณุ บุญพิพัฒนาพงศ์

“หน้าที่ของวิทยาศาสตร์คือการสร้างความเชื่อมั่น, หน้าที่ของศิลปะคือการสร้างความปั่นป่วน”

ในวันที่ 13 พฤษภาคม 2020 เป็นวาระครบรอบ 138 ปีชาตกาลของเจ้าของประโยคข้างต้น เขาเป็นศิลปินชาวฝรั่งเศสคนสำคัญแห่งศตวรรษที่ 20 ผู้เป็นทั้งจิตรกร ศิลปินคอลลาจ ศิลปินภาพพิมพ์ และประติมากร

ศิลปินผู้นั้นมีชื่อว่า ฌอร์ช บราก (Georges Braque)

ศิลปินผู้ยิ่งใหญ่ผู้ร่วมให้กำเนิดกระแสเคลื่อนไหวทางศิลปะแนวทางใหม่ ในช่วงต้นศตวรรษที่ 20 ที่พลิกโฉมหน้าของโลกศิลปะไปตลอดกาล แนวทางนั้นมีชื่อเรียกว่าคิวบิสต์ (Cubism)

เกือบตลอดชีวิตการทำงาน บรากมุ่งเน้นในการนำเสนอการมองสิ่งรอบตัวอย่างผู้คน สัตว์ ทิวทัศน์ วัตถุสิ่งของจากหลายมุมมอง ผ่านสีสัน เส้นสาย และพื้นผิว อันสอดประสานกลมกลืนเข้าด้วยกันในรูปทรงเรขาคณิต

แรกเริ่มเดิมที บรากทำงานวาดภาพทิวทัศน์ด้วยสีสันจัดจ้านรุนแรงในแนวทางศิลปะแบบโฟวิสต์*

แต่หลังจากพบกับ ปาโบล ปิกัสโซ่ (Pablo Picasso) ในปี 1907 และได้เห็นผลงาน Les Demoiselles d”Avignon (1907) อันลือเลื่องของปิกัสโซ่ จนเกิดความประทับใจอย่างมาก

The Portuguese (1911) ภาพจากhttps://bit.ly/2Xdzs1Z

ทั้งสองจึงเริ่มพัฒนามิตรภาพอันแน่นแฟ้นและความสนใจทางศิลปะร่วมกัน พวกเขาสุมหัวอยู่ด้วยกันทุกวี่วัน และหารือถกเถียงเกี่ยวกับแนวทางศิลปะที่ร่วมกันพัฒนาขึ้นใหม่

ในปี 1908 บรากกับปิกัสโซ่ร่วมกันทำการทดลองใช้รูปทรงทางเรขาคณิต ซึ่งได้แรงบันดาลใจส่วนหนึ่งมาจากผลงานในช่วงสุดท้ายของศิลปินรุ่นพี่อย่าง ปอล เซซานน์ (Paul Cézanne) ที่มีองค์ประกอบในภาพเป็นรูปทรงเรขาคณิต มาใช้ในการทำงานศิลปะจนกลายเป็นแนวทางใหม่ขึ้นมา ด้วยการวาดภาพที่ไม่ยึดหลักทัศนียภาพโดยสิ้นเชิง และทำลายรูปทรงของสิ่งที่พวกเขาวาดจนกลายเป็นชิ้นส่วนของพื้นผิวแบนราบรูปทรงเรขาคณิตชิ้นเล็กชิ้นน้อย มาประกอบขึ้นเป็นรูปทรงเชิงนามธรรมขึ้นมา

ศิลปะแนวทางนี้นอกจากจะมีเอกลักษณ์อยู่ที่การคลี่คลายรูปทรงและองค์ประกอบในภาพวาดให้กลายเป็นเรขาคณิตแล้ว

ลักษณะเด่นอีกประการหนึ่งของมันก็คือ แทนที่จะนำเสนอภาพของสิ่งต่างๆ จากมุมมองเดียว มันกลับฉายภาพของสิ่งเหล่านั้นออกมาในหลากหลายมุมมอง จนเราสามารถเห็นมุมมองทั้งด้านหน้าและด้านข้างของคน สัตว์ หรือวัตถุสิ่งของในภาพได้พร้อมๆ กันในคราวเดียว

ราวกับวัตถุหรือคนในภาพถูกคลี่ให้กางออกมา

ที่ทำเช่นนี้ก็เพื่อเป็นการนำเสนอถึงเนื้อหาที่ยิ่งใหญ่และลึกซึ้งของตัวแบบมากกว่าจะเป็นแค่การวาดภาพเหมือนธรรมดาๆ

นอกจากภาพวาดแล้ว ศิลปะคิวบิสต์ ยังมีงานประติมากรรม และงานศิลปะปะติด/สื่อผสมอีกด้วย

นอกจากจะมีศิลปินอีกหลายคนเข้าร่วมในแนวทางศิลปะนี้แล้ว แนวคิดของมันยังส่งอิทธิพลอย่างใหญ่หลวงต่อวิวัฒนาการของวงการศิลปะในเวลาต่อมา

และเป็นต้นธารของศิลปะสมัยใหม่อีกหลากแขนง อาทิ ศิลปะ Abstract, Futurism, Suprematism, Dada, Constructivism และ De Stijl เป็นต้น

Femme à la guitare (Woman with Guitar) (1913) ภาพจากhttps://bit.ly/2Zorky6

อนึ่ง คำว่า “คิวบิสต์” ถูกบัญญัติโดยนักวิจารณ์ชาวฝรั่งเศส หลุยส์ โวแซลล์ (Louis Vauxcelles) จากการเห็นผลงานของบรากในปี 1908 เขาวิจารณ์บรากว่าเป็นคนที่ช่างกล้าลดทอนทุกสิ่งทุกอย่าง ทั้งคน สัตว์ สิ่งของและสถานที่ให้กลายเป็นรูปทรงเรขาคณิตและสี่เหลี่ยมลูกบาศก์

และกล่าวว่า ผลงานของเขาเป็น “ลูกบาศก์อันแปลกประหลาด” (Bizarreries cubiques)

ประจวบกับการที่โวแซลล์ได้ยินศิลปินรุ่นใหญ่อย่าง อองรี มาตีส (Henri Matisse) วิพากษ์วิจารณ์ภาพวาดของบรากและปิกัสโซ่ว่า “เป็นเพียงแค่รูปลูกบาศก์ชิ้นเล็กชิ้นน้อย” (Little cubes)”

Violin and Candlestick (1910) ภาพจากhttps://bit.ly/2Zorky

เขาและสื่อมวลชนจึงเรียกขานศิลปินที่ทำงานในแนวทางนี้ว่า “คิวบิสต์” (Cubism) นั่นเอง

ถึงแม้บรากและปิกัสโซ่จะสนิทสนมกันอย่างมากช่วงหนึ่ง แต่ทั้งสองคนก็มีความแตกต่างกันอย่างสุดขั้ว

บรากเป็นคนรักเดียวใจเดียว

ในขณะที่ปิกัสโซ่นั้นเลื่องชื่อในความมากรักหลายใจ

บรากยังเป็นคนเงียบขรึมและค่อนข้างเก็บตัว จนทำให้เขาถูกบดบังด้วยชื่อเสียงอันโดดเด่นและอื้อฉาวของปิกัสโซ่ ทั้งๆ ที่ความจริงแล้วเขามีบทบาทอย่างมากในการพัฒนาศิลปะคิวบิสต์ไม่แพ้ปิกัสโซ่เลยแม้แต่น้อย

ในขณะที่ภาพวาดของพวกเขาทั้งสองมีความคล้ายคลึงกันในรูปลักษณ์ สไตล์ และหัวข้อในการทำงาน แต่บรากก็ยืนยันว่างานของเขาไม่เหมือนกับปิกัสโซ่

เขากล่าวว่า ผลงานของเขาหลีกเลี่ยงการแฝงเร้นสัญลักษณ์ในเชิงวิพากษ์วิจารณ์แบบปิกัสโซ่ หากแต่ให้ความสำคัญกับพื้นที่และองค์ประกอบในภาพวาดเหนือสิ่งอื่นใด

บรากแสวงหาความสมดุลและความกลมกลืนขององค์ประกอบในภาพวาดของเขา โดยเฉพาะอย่างยิ่งการใช้เทคนิค “Papiers collés” หรือการตัด ปะติดกระดาษต่างๆ หลากชนิดลงบนผืนผ้าใบ ที่เขาและปิกัสโซ่คิดค้นขึ้นในปี 1912

แต่บรากผลักดันเทคนิคนี้ให้ก้าวไกลออกไปอีกด้วยการตัดปะภาพจากสิ่งพิมพ์โฆษณาลงบนผืนผ้าใบ ซึ่งกลายเป็นต้นธารของกระแสเคลื่อนไหวทางศิลปะในยุคสมัยใหม่ที่วิพากษ์วิจารณ์สื่อและวัฒนธรรมสมัยนิยมอย่าง “ป๊อปอาร์ต” นั่นเอง

Balustre et crâne (1938) ภาพจากhttps://bit.ly/2TlAEiz

บรากใช้เทคนิคนานาชนิดอย่างการสเตนซิล หรือการพิมพ์ผ่านลายฉลุ ทำตัวหนังสือลงบนภาพวาด การผสมสีกับทราย และการคัดลอกลวดลายไม้และหินอ่อนสร้างพื้นผิว เพื่อให้เกิดมิติอันลึกซึ้งในภาพวาดของเขา

บรากและปิกัสโซ่ทำงานร่วมกันจนกระทั่งบรากเข้าร่วมรบในสงครามโลกครั้งที่ 1 และปลดประจำการในปี 1914 ปิกัสโซ่เริ่มเหินห่างจากการทำงานแบบคิวบิสต์มาทำงานศิลปะแบบดั้งเดิมที่ได้แรงบันดาลใจจากศิลปะคลาสสิคและตำนานเทพกรีกและโรมัน (ที่ถูกเรียกในภายหลังว่าเป็น “ยุคคลาสสิค” ของปิกัสโซ่) บรากคิดว่าเพื่อนของเขาทรยศต่อแนวทางและกฎเกณฑ์ของความเป็นคิวบิสต์ที่พวกเขาสร้างขึ้นมา และมุ่งมั่นทำงานในฐานะศิลปินคิวบิสต์ต่อไปอย่างต่อเนื่องยาวนานจนถึงช่วงยุค 1920s

บรากมักจะใช้หุ่นนิ่ง (Still life) เป็นหัวข้อในการทำงาน, ในช่วงปี 1944 เขามักจะวาดภาพหุ่นนิ่งอย่างดอกไม้ โต๊ะบิลเลียด เก้าอี้ หรือภาพสตูดิโอของตัวเอง แต่เขามักจะใช้ภาพวัตถุสิ่งของเหล่านั้นแสดงออกถึงความคิดภายในของเขาที่มีต่อตัววัตถุเหล่านั้น และแก่นสารอันเป็นนามธรรมของมัน มากกว่าจะนำเสนอภาพภายนอกอย่างที่ตาเห็น

ในช่วงท้ายของชีวิต บรากมักจะวาดภาพนกออกมาซ้ำๆ ราวกับเป็นการแสดงสัญลักษณ์แห่งความหลงใหลของเขาที่มีต่อพื้นที่ว่างและความเคลื่อนไหวก็ปาน

L’atelier au vase noir (Studio with Black Vase) (1938) ภาพจากhttps://bit.ly/2TlAEiz

ฌอร์ช บราก เสียชีวิตในปี 1963 ด้วยวัย 81 ปี ผลงานและแนวคิดทางศิลปะของเขาส่งแรงบันดาลใจต่อศิลปินรุ่นหลังนับไม่ถ้วน ไม่ว่าจะเป็นศิลปินป๊อปอาร์ตชาวอเมริกันอย่าง จิม ไดน์ (Jim Dine) และ เวย์น ธีโบด์ (Wayne Thiebaud) ผู้มีเอกลักษณ์โดดเด่นในการวาดภาพหุ่นนิ่งเปี่ยมสีสัน หรือเทคนิคการทำงานแบบ “Papiers collés” ของบรากก็ส่งอิทธิพลอย่างมากต่อศิลปินร่วมสมัยหลายต่อหลายคน

อาทิ ประติมากรชาวอเมริกันอย่าง เจสซิก้า สตอกโฮลเดอร์ (Jessica Stockholder) และจิตรกรชาวอเมริกันอย่าง มาร์ก แบรดฟอร์ด (Mark Bradford) ที่พัฒนาต่อยอดแนวคิดของบรากมาใช้ในผลงานที่วิพากษ์วิจารณ์สังคมร่วมสมัยของพวกเขาได้อย่างโดดเด่น เป็นต้น

*อ่านเกี่ยวกับโฟวิสต์ได้ที่นี่ https://bit.ly/2z2dVRX

ขอบคุณข้อมูลจาก http://www.georgesbraque.org/, https://bit.ly/3fYT1Up, https://bit.ly/2AEVi6N, https://bit.ly/2Zorky6