เรียนออนไลน์แต่ชายแดนใต้ซิมโดนตัด ?

ด้วยพระนามของอัลลอฮฺผู้ทรงเมตตาปรานีเสมอ มวลการสรรเสริญมอบแด่อัลลอฮฺผู้ทรงอภิบาลแห่งสากลโลก ขอความสันติสุขแด่ศาสนทูตมุฮัมมัด ผู้เจริญรอยตามท่านและสุขสวัสดีผู้อ่านทุกท่าน

การเรียนออนไลน์กำลังเป็น Talk of the Town ไม่เพียงแต่ทั้งประเทศกำลังถูกตั้งคำถามถึงความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา

ชายแดนภาคใต้กลับมีกรณีสัญญาณโทรศัพท์มือถืออันเป็นสื่อสำคัญที่จะเรียนออนไลน์ถูกเจ้าของค่ายมือถือตัดสัญญาณอ้างนโยบายความมั่นคงชายแดนภาคใต้

นโยบายการใช้โทรศัพท์มือถือ ในพื้นชายแดนภาคใต้

กรณีที่ประชาชนผู้ใช้โทรศัพท์มือถือในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้ (ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส) และ 4 อำเภอของจังหวัดสงขลา (จะนะ นาทวี สะบ้าย้อย และเทพา) โดยเฉพาะกลุ่มที่เป็นผู้ใช้บริการโทรศัพท์แบบเติมเงินทั้งสี่เครือข่ายไม่ว่าจะเป็นของ CAT, DTAC, AIS และ TRUE ร้องว่าสัญญาณโทรศัพท์ถูกตัดแล้ว ไม่สามารถใช้บริการอินเตอร์เน็ต รับสายเข้า และโทรออกได้

ซึ่งก่อนหน้านี้ผู้ใช้โทรศัพท์มือถือมักได้รับข้อความทางโทรศัพท์มือถือว่า ให้ทุกคนที่ต้องการใช้โทรศัพท์มือถือในพื้นที่ดังกล่าวไปลงทะเบียนซิมการ์ดโดยวิธีการตรวจสอบใบหน้า (Face Recognition) เพื่อยืนยันอัตลักษณ์ของตนภายในวันที่ 30 เมษายน 2563 มิเช่นนั้นจะไม่สามารถใช้โทรศัพท์มือถือของตนได้

โดยข้อความลักษณะดังกล่าวมีเนื้อหาแตกต่างกันออกไปบ้าง และมีการจัดส่งอย่างสม่ำเสมอติดต่อกันมาตั้งแต่ปลายปี 2562 เป็นต้นมา

โดยมีข้อมูลของฝ่ายกฎหมาย กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า ที่ให้ไว้กับการประชุมกรรมาธิการการกฎหมาย ยุติธรรมและสิทธิมนุษยชนของสภาผู้แทนราษฎร เมื่อวันที่ 4 ธันวาคม 2562 ซึ่งเป็นข้อมูลของช่วงต้นเดือนธันวาคม 2563 ว่า มีผู้ใช้ซิมการ์ดในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้จำนวนทั้งสิ้น 1.5 ล้านหมายเลข เป็นหมายเลขจดทะเบียนรายเดือนเพียง 300,000 หมายเลข ปัจจุบันนี้ทาง กอ.รมน.ได้ดำเนินการบริการให้ผู้ใช้บริการโทรศัพท์ลงทะเบียนโดยระบบสองแชะ อัตลักษณ์ไปแล้วทั้งสิ้น 888,813 เลขหมาย โดยใช้เจ้าหน้าที่ทหารทั้งสิ้น 7,305 นายดำเนินการมาตั้งแต่มีนโยบายนี้

ความเป็นจริงโดยปกติการเรียนออนไลน์นั้นมันเป็นความเหลื่อมล้ำยุค 4.0 หรือจะ 5.0 ในเวลาที่ทุกคนต้องอยู่บ้านเมื่อโลกอินเตอร์เน็ตมีบทบาทสำคัญมากขึ้น รวมถึงใช้ในการศึกษาการเรียนผ่านอินเตอร์เน็ตนั้นสะดวก

แต่ไม่ใช่ทุกคนที่สามารถเข้าถึงโลกออนไลน์ได้ในประเทศไทย เมื่อมีนโยบายการตัดสัญญาณโทรศัพท์ยิ่งไปซ้ำเติมปัญหาที่ชายแดนภาคใต้ยิ่งขึ้น

นโยบายรัฐบาลบอกว่า ต้อง “ไม่มีผู้ใดถูกทิ้งไว้ข้างหลัง” ดังนั้น จึงไม่แปลกที่ข้อเรียกร้องภาคประชาสังคมทั้งในพื้นที่และส่วนกลางที่ทำงานด้านสิทธิมนุษยชน การศึกษาและสันติภาพประสานเสียงแถลงการณ์ร่วม ขอให้ยุติการตัดสัญญาณโทรศัพท์โดยทันที กรณีผู้ใช้โทรศัพท์ไม่ไปถ่ายรูปสองแชะในจังหวัดชายแดนใต้ ในสถานการณ์โควิด-19 เพราะจะยิ่งมีผลกระทบในมิติการศึกษา

การตัดสัญญาณโทรศัพท์จึงเป็นการตัดโอกาสทางการศึกษาของเด็กๆ เหล่านี้อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ยิ่งไปกว่านั้นในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้เป็นพื้นที่ที่อัตราการเข้าเรียนและคุณภาพการศึกษาต่ำกว่าภาคอื่นๆ ของประเทศ จึงทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาในพื้นที่อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ไม่เพียงมิติทางการศึกษา มันยังมีมิติอื่นๆ

เช่น มิติเศรษฐกิจ จากรายงานของธนาคารโลกระบุว่า อัตราความยากจนในพื้นที่ขัดแย้งจังหวัดชายแดนใต้สูงที่สุดในประเทศไทย และจากสถานการณ์ความมั่นคงและการระบาดของโควิด-19 ทำให้ผู้คนในจังหวัดชายแดนใต้ประกอบอาชีพขายของออนไลน์มากขึ้น การตัดสัญญาณโทรศัพท์จึงเป็นการตัดโอกาสในการรอดพ้นภาวะยากจนและการมีรายได้เพื่อมาเลี้ยงชีพในครัวเรือน

มิติความมั่นคงปลอดภัยในชีวิตและการเข้าถึงความช่วยเหลือทางด้านสาธารณสุขและด้านมนุษยธรรม การตัดสัญญาณโทรศัพท์ทำให้ผู้ที่ต้องเดินทางเป็นประจำหรือเดินทางคนเดียว หรือผู้ที่มีอาการเจ็บป่วยเฉียบพลันเมื่อประสบอุบัติเหตุหรือเหตุร้ายหรือมีปัญหาสุขภาพฉุกเฉิน การร้องขอความช่วยเหลือจึงผ่านทางโทรศัพท์ไม่อาจทำได้จึงมีความเสี่ยงที่จะมีโอกาสในการมีชีวิตรอด

คิดนอกกรอบ “กับการเรียนออนไลน์ของ ศธ.” การปรับตัวของบางโรงเรียน

ในสังคมมุสลิมมีโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลามที่นักเรียนส่วนใหญ่ในพื้นที่เข้าศึกษา ซึ่งผู้เขียนได้สัมภาษณ์ผู้บริหารบางท่านถึงการนำนโยบายนี้ไปปรับใช้ เช่น

อาจารย์ดุลยรัตน์ บูยูโส๊ะ ผู้อำนวยการโรงเรียนมิฟตาฮุดดีน อำเภอนาทวี จังหวัดสงขลา คิดนอกกรอบ กล้าประกาศให้ทางเลือกแก่ผู้ปกครอง ดังที่ท่านได้กล่าวว่า จากกระแสเรื่องการเรียนออนไลน์ดังอยู่ในขณะนี้ กระผมในฐานะผู้บริหารสูงสุดและมีการสอบถามผู้เกี่ยวข้องเบื้องต้นแล้วขอเสนอแนวทางให้กับผู้ปกครองดังนี้

1. ทางครูประจำชั้นจะส่งลิงก์ตารางเวลาในการเรียนให้ในกลุ่มห้องประจำชั้นและผ่าน app school bright ขอให้ทางผู้ปกครองเลือกปฏิบัติตามความเป็นจริง ห้ามไปซื้อทีวีใหม่ โทรศัพท์ใหม่ หรือแม้กระทั่งจะติดจานดาวเทียมใหม่เพราะทางโรงเรียนไม่มีเจตนาจะสร้างผลกระทบให้กับผู้ปกครองและเราเป็นแค่ทางผ่านในการสั่งการจากพวกนั่งห้องแอร์เท่านั้นเอง

2. ทางครูผู้รับผิดชอบแต่ละหมวดวิชาของโรงเรียนจะสร้างคลิปช่วยสอนส่งไปยังช่องทางไลน์กลุ่มประจำชั้น และอาจจะอัพโหลดในแอพพ์ school brigh ด้วย ซึ่งเป็นช่องทางที่ทางครูจะเข้าถึงนักเรียนกับผู้ปกครองมากที่สุด ไม่ระบุเวลาในการดู ท่านสามารถเปิดดูตอนกลางคืนพร้อมกับนักเรียนได้เลย

ผมและคณะครูสัญญาว่าจะหาวิธีการที่ดีที่สุด ที่เหมาะที่สุดกับพวกเรามาปรับใช้กับรั้วมิฟตาฮุดดีน อีกอย่างช่วงวันที่ 18 พฤษภาคมที่ผ่านมา ที่เขาให้เรียนออนไลน์ยังไม่จัดอยู่ในโครงสร้างเวลาเรียน จะนับวันเรียนคือ 1 กรกฎาคม ซึ่งต้องช่วยกันดุอาอ์ (ขอพร) ให้สามารถเปิดเรียนได้ปกติด้วยครับ อามีน

ขณะที่อาจารย์ชากิรีน สุมาลี ผู้บริหารโรงเรียนมุสลิมสันติธรรมมูลนิธิ จังหวัดนครศรีธรรมราช ให้ความสำคัญในการคิดนอกกรอบเพื่อลดความเหลื่อมล้ำ

โดยโรงเรียนได้ร่วมมือกับทางผู้ปกครอง ดังนี้

1. ขอให้ผู้ปกครองช่วยดูแลติดตามการเรียนรู้ของเด็กเป็นระยะๆ โดยไม่จำเป็นต้องบังคับหรือฝืนให้เขาต้องอยู่หน้าจอทีวีหรือคอมพิวเตอร์ตลอดเวลา ในกรณีเด็กเล็ก ควรปล่อยให้เขาได้เล่น ได้ใช้ชีวิตตามวิถีของเด็กๆ

2. ขอให้ผู้ปกครองได้ร่วมกับคุณครูในการจัดการเรียนรู้ร่วมกัน

2.1 ในกรณีนักเรียนระดับปฐมวัย-ประถมศึกษา ให้ผู้ปกครองได้รายงานผลให้กับคุณครูประจำชั้น หรือประจำวิชา ผ่านช่องทางที่โรงเรียนกำหนด เช่น ช่องทางกลุ่มไลน์ หรืออื่นๆ

2.2 ในกรณีนักเรียนระดับมัธยม ม.1-ม.6 มอบหมายให้นักเรียนได้ทำงานบ้าน หรือช่วยประกอบอาชีพตามวิถีของแต่ละครอบครัว และให้นักเรียนส่งงานให้คุณครูทางระบบห้องเรียนออนไลน์ (Google Classroom) ที่ทางโรงเรียนได้เตรียมไว้ให้

2.3 ขอให้ผู้ปกครองช่วยดูแลนักเรียนให้อยู่กับบ้าน ไม่ไปมั่วสุมกับอบายมุข หรือสิ่งมึนเมาต่างๆ

ทางโรงเรียนจึงแจ้งมาเพื่อให้ผู้ปกครองอย่าได้กังวลใจ และเพื่อขอความร่วมมือผู้ปกครอง ขอดุอาอ์ให้อัลลอฮฺได้คุ้มครองพวกเราพ้นจากวิกฤตในครั้งนี้และกลับคืนสู่ภาวะปกติโดยเร็ว

นี่คือสองผู้บริหารโรงเรียนที่กล้าคิดนอกกรอบเพราะเรากำลังต้องการผู้บริหารคิดนอกกรอบ กับนโยบายสั่งการจากห้องแอร์ จากศูนย์อำนาจ กทม. ที่ต้องกระจายอำนาจ กระทรวงเพียงแค่ให้นโยบายกว้างๆ ให้แต่ละพื้นที่ออกแบบการจัดการศึกษาให้สอดคล้องกับผู้เรียนเอง

และรัฐจะต้องรีบขจัดกฎหมายใดที่ไปกีดกันการเข้าถึงการศึกษาอย่างเท่าเทียม เป็นธรรม และทั่วถึงอย่างยั่งยืน

เพื่อไม่ให้มีนักเรียนคนใดถูกทิ้งไว้ข้างหลัง!


พิเศษ! สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์, ศิลปวัฒนธรรม และเทคโนโลยีชาวบ้าน ลดราคาทันที 40% ตั้งแต่วันนี้ – 30 มิ.ย. 63 เท่านั้น! คลิกดูรายละเอียดที่นี่