วรศักดิ์ มหัทธโนบล : จีนก่อนที่จะอยู่ดีกินดี

วรศักดิ์ มหัทธโนบล

แม้จะต้องพบเจอกับโควิด-19 แบบไม่ทันได้ตั้งตัว แต่ก็น่าเชื่อว่าในปี 2020 นี้จีนก็ยังคงยืนยันว่า ตนได้บรรลุสู่สังคมอยู่ดีกินดีตามเป้าที่ตั้งเอาไว้หลังเข้าสู่ยุคปฏิรูปเมื่อหลายสิบปีก่อนแล้ว และการเฉลิมฉลองก็คงพอเดาภาพได้ว่าน่าจะเอิกเกริกตามแบบจีนๆ ได้ไม่ยาก

คำว่าอยู่ดีกินดีนี้ในภาษาจีนคือคำว่า เสี่ยวคัง คำนี้เป็นคำเก่าแก่แต่โบราณที่ปรากฏอยู่ใน กาพยปกรณ์ (ซือจิง) อันเป็นปกรณ์ที่รวบรวมบทกวีราว 300 บทที่มีอายุหลายพันปี และผู้ที่นำมารวบรวมและชำระก็คือ ขงจื่อ (ก.ค.ศ.551-479) ส่วนบทกวีที่ปรากฏคำว่าเสี่ยวคังนั้นเป็นบทกวีที่แต่งขึ้นในสมัยราชวงศ์ซัง (ก.ค.ศ.1600-1046)

คำว่า เสี่ยว แปลว่า เล็ก เล็กน้อย พอประมาณ หรือไม่มากนัก ส่วนคำว่า คัง ในปัจจุบันจะมีความหมายในนัยของความอุดมสมบูรณ์ เช่น ร่างกายสมบูรณ์แข็งแรง แต่ในสมัยซังไม่ได้มีความหมายเช่นนั้นตรงๆ แต่จะหมายถึงรางวัลที่ได้มาจากการทำงานหนัก และในบางบริบทจะหมายถึงการเก็บเกี่ยว ซึ่งมีนัยว่า การเก็บเกี่ยวเป็นสัญญาณที่บอกว่าการอยู่ดีกินดีได้มาถึงแล้ว

ถ้าจะให้แปลคำว่าเสี่ยวคังว่าคือความสุขเล็กๆ ก็ดูกระไรอยู่ แต่ก็ไม่ว่าใครที่แปลเป็นไทยว่าอยู่ดีกินดี แล้วเราก็ใช้คำนี้มาโดยตลอด

 

จากความหมายข้างต้นของคำว่า เสี่ยวคัง คงทำให้เติ้งเสี่ยวผิงอดีตผู้นำสูงสุดของจีนและเป็นผู้ที่นำพาจีนเข้าสู่ยุคปฏิรูปนั้น เกิดความประทับใจในคำนี้หรืออย่างไรไม่ทราบได้ เติ้งได้นำคำนี้มาใช้เรียกสังคมที่จะบรรลุให้ได้ในปี 2020 ว่า สังคมเสี่ยวคัง หรือ สังคมอยู่ดีกินดี

อย่างไรก็ตาม การที่จีนประกาศตนว่าจะเป็นสังคมอยู่ดีกินดีให้ได้ในปีนี้ ในด้านหนึ่งย่อมหมายความว่า ก่อนหน้านี้จีนไม่ได้อยู่ดีกินดีอย่างแน่นอน

จะว่าไปแล้วก่อนการปฏิรูปนั้น มีหลายเรื่องที่คนรุ่นใหม่อาจไม่รู้มาก่อนว่าจีนเคย “อยู่ไม่ดีกินไม่ดี” อย่างไรบ้าง ซ้ำหลายเรื่องเล่าไปแล้วหลายคนอาจไม่เชื่อ

บางเรื่องฟังแล้วอาจจะรู้สึกขำแบบขื่นๆ อีกต่างหาก

 

เอาเรื่องการอยู่การกินก่อน ซึ่งก็คือเรื่องของการเข้าถึงสินค้าอุปโภคบริโภคของคนจีนก่อนปี 1978 เรื่องนี้อย่านึกว่าคนจีนในสมัยนั้นจะหาซื้ออะไรก็ได้ตราบใดที่มีเงินเหมือนในสมัยนี้ จริงๆ แล้วตรงกันข้าม

คนจีนสมัยนั้นจะหาซื้อสินค้าหรืออาหารอะไรก็ตาม ล้วนต้องใช้บัตรปันส่วน (เหลียงเพี่ยว) เพื่อแลกซื้อทั้งสิ้น

บัตรปันส่วนนี้จะมีรูปร่างหน้าตาคล้ายๆ กับแสตมป์ที่เราใช้ปิดซองจดหมาย แต่จะมีขนาดใหญ่กว่าประมาณสองสามเท่า

ทางการท้องถิ่นจะออกบัตรปันส่วนให้แก่คนจีนเดือนละครั้ง ครั้งละ 50 บัตร และทั้งหมดนี้จะอยู่เป็นแผ่นเดียวกันแบบแสตมป์หรือไปรษณียากร คือมีรอยปรุแบ่งเป็นบัตรๆ ไป แต่ละบัตรจะมีสีหรือรูปภาพที่ต่างกัน

ความต่างกันนี้จะแทนสินค้าเฉพาะอย่าง เวลาจะซื้อสินค้าใดก็จะใช้บัตรเฉพาะสินค้านั้นไปแลกซื้อเอา

ที่สำคัญ สินค้าที่จะซื้อนี้จะจำกัดจำนวนหรือปริมาณ จะซื้อมากกว่าที่รัฐกำหนดไว้ไม่ได้เลย ใครที่มีความจำเป็นต้องใช้สินค้านั้นๆ มากกว่าที่กำหนดอาจทำได้ด้วยการไปขอหรือยืมจากญาติมิตร ถ้าได้ก็โชคดีไป

แต่หากญาติมิตรจำเป็นต้องใช้สินค้านั้นเหมือนกันก็ต้องทำใจ

 

ที่ว่าจำกัดจำนวนหรือปริมาณนี้จะขอยกตัวอย่างสินค้าเนื้อสัตว์ เพราะเป็นตัวอย่างที่ผมเห็นว่าคลาสสิคมาก

กล่าวคือ ถ้าเป็นเนื้อสัตว์แล้ว คนจีนในเวลานั้นจะถูกจำกัดให้ซื้อได้ต่อหัวต่อคนต่อเดือนไม่เกินหนึ่งชั่ง หรือประมาณครึ่งกิโลกรัมเท่านั้น

ทุกวันนี้ถ้าเป็นคนอเมริกันจะบริโภคเนื้อสัตว์เฉลี่ยคนละ 120 กิโลกรัมต่อปี ส่วนคนไทยบริโภคคนละ 23 กิโลกรัมต่อปี ฉะนั้น ถ้าคิดถัวๆ กันแล้วคนทั่วไป (รวมคนจีนด้วย) น่าจะไม่ต่ำกว่าสองกิโลกรัมต่อเดือนหรือมากกว่านั้น ถ้าเช่นนั้นก็ลองคิดดูก็แล้วกันว่า คนจีนที่บริโภคเนื้อสัตว์คนละครึ่งกิโลกรัมต่อเดือนหน้าตาจะเป็นอย่างไร

ผมว่าคำว่า “ไพร่ฟ้าหน้าแห้ง” น่าจะเหมาะที่สุด

แล้วลองคิดต่อไปว่า ในเมื่อสินค้าอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นข้าวสาร น้ำมันปรุงอาหาร ผลไม้ ผ้าสำหรับตัดเย็บเสื้อผ้า ฯลฯ ล้วนถูกจำกัดจำนวนและปริมาณ เช่นนี้แล้วคงไม่อาจกล่าวได้ว่าคนจีนอยู่ดีกินดีเป็นแน่

 

ที่ชวนให้ขำขื่นก็คือว่า มีสินค้าอยู่ตัวเดียวที่ไม่ถูกจำกัดการซื้อและราคาถูกมากๆ ก็คือผัก

เมื่อราวยี่สิบปีก่อนตอนที่ผมไปใช้ชีวิตอยู่ในจีนเป็นแรมเดือนนั้น ตอนไปถึงใหม่ๆ ก็นึกอยากจะประหยัดเงินจึงไปสั่งข้าวผัดตามร้านอาหารริมทางมากิน แต่ปรากฏว่ากินแทบไม่ได้เพราะมันเยิ้มไปด้วยน้ำมันจนข้าวผัดแฉะไปหมด

วันต่อมาผมถามอาจารย์อาวุโสท่านหนึ่งว่า ทำไมทางร้านต้องใส่น้ำมันมากขนาดนั้นซึ่งสิ้นเปลืองโดยใช่เหตุ

ท่านตอบว่า เป็นเพราะสมัยก่อนน้ำมันปรุงอาหารเป็นสินค้าที่ถูกจำกัดปริมาณการซื้อ ตัวท่านเองต้องตื่นตั้งแต่ตีสามตีสี่มาเข้าคิวเพื่อใช้บัตรปันส่วนไปแลกซื้อ ถ้าไปช้าอาจหมด ยิ่งหน้าหนาวด้วยแล้วความต้องการน้ำมันก็ยิ่งมีมากกว่าปกติ แต่มันก็มีจำกัด

ท่านกล่าวต่อไปว่า ตอนนี้ (ตอนที่ผมคุยกับท่าน) น้ำมันปรุงอาหารไม่ถูกจำกัดปริมาณอีกแล้ว แถมราคายังถูกอีกด้วย คนจีนจึงบริโภคน้ำมันกันอย่างเต็มที่ ท่านเปรียบว่าเหมือนกินล้างแค้นให้สมกับที่ครั้งหนึ่งต้องกินอย่างจำกัดจำเขี่ย

สรุปแล้วผมไม่อาจประหยัดเงินได้อย่างที่ตั้งใจ ต้องบากหน้าไปกินอาหารในร้านอาหารตามสั่งที่มีราคาสูงกว่า แต่เขาใส่น้ำมันแต่พอดีพอเหมาะ (ซึ่งสำหรับคนไทยโดยเฉพาะผู้หญิงยังเห็นว่า “มัน” อยู่ดี)

 

ตัวอย่างบัตรปันส่วนคงบอกเราได้ดีว่า คนจีนเวลานั้น “อยู่ไม่ดีกินไม่ดี” อย่างไรบ้าง แต่ตอนที่ผมคุยกับอาจารย์อาวุโสนั้นบัตรปันส่วนได้หายไปจากจีนแล้ว และคนจีนก็สามารถเข้าถึงสินค้าต่างๆ ได้อย่างอิสระและเต็มที่ แต่ตอนนั้นก็ยังไม่ถึงกับอยู่ดีกินดีดังทุกวันนี้

เวลานั้น (เมื่อกว่ายี่สิบปีก่อน) แม้คนจีนจะเข้าถึงสินค้าต่างๆ นานาได้แล้ว แต่บ้านเมืองจีนก็ยังไม่เจริญมากนัก ตอนนั้นเองที่ผมได้ต้อนรับเพื่อนชาวจีนคนหนึ่งที่มาเที่ยวเมืองไทย วันที่เรานัดเจอกันนั้น ผมได้ให้เขารอผมในห้องเรียนที่ผมสอนอยู่ กะว่าพอสอนเสร็จก็จะไปกินเที่ยวได้ทันที

หลังออกจากห้องเรียน เรายืนคุยกันสักพัก ระหว่างนั้นเขาถามผมขึ้นมาว่า นิสิตที่เลิกชั้นเรียนแล้วเดินไปที่ลานจอดรถแล้วเปิดประตูรถขับออกไป รถนั้นเป็นของนิสิตหรือ? ผมตอบว่า ใช่ เขาทำหน้างงๆ อยู่พักหนึ่งแล้วเราก็ไปห้างสรรพสินค้ากัน

ที่ห้างผมพาเขาขึ้นบันไดเลื่อนไปยังชั้นต่างๆ เพื่อซื้อของที่เขาต้องการ เมื่อแล้วเสร็จเราก็ไปดื่มกินด้วยกัน ผมดูแลเขาอยู่อีกวันสองวันเขาก็กลับเมืองจีนไป ทั้งก่อนหน้าและหลังจากนี้ผมเจอเขาแทบทุกปี ส่วนใหญ่ผมจะเป็นฝ่ายไปหาเขาที่เมืองจีนเสียมากกว่า จะมีก็แต่สามสี่ปีมานี้ที่เราไม่ได้เจอกันเลย

จนเมื่อปีกลายผมก็ได้พบกับเพื่อนคนนี้อีกครั้งหนึ่ง และก็เช่นเคยที่เมื่อเจอกันแล้วเราก็ไปดื่มกินด้วยกัน ตอนหนึ่งเขาถามผมว่า จำได้ไหมที่ผมเคยพาเขาไปมหาวิทยาลัยที่ผมสอนอยู่แล้วพาเขาไปห้าง ผมถามกลับไปว่า จำได้, ทำไมหรือ?

เขาตอบว่า ตอนนั้นเขาเห็นนิสิตขับรถส่วนตัวมาเรียนแล้วก็รู้สึกทึ่งมาก เพราะที่เมืองจีนไม่มีทางมีอย่างนี้แน่ และสงสัยว่าเมืองไทยมีได้อย่างไร หรือเป็นไปได้ไหมที่เมืองจีนจะมีอย่างนี้บ้าง

แล้วเขาก็พูดต่อไปว่า ตอนที่ผมพาเขาไปห้างแล้วใช้บันไดเลื่อนนั้น เขาไม่ได้บอกผมว่านั่นคือการใช้บันไดเลื่อนเป็นครั้งแรกในชีวิต ตอนอยู่บนบันไดเลื่อนเขาบอกกับตัวเองว่า คอยดูเถิด สักวันหนึ่งเมืองจีนจะต้องมีบันไดเลื่อนให้ได้

จากนั้นเขาก็พูดต่อไปด้วยน้ำเสียงที่แฝงไว้ด้วยความภูมิใจว่า เดี๋ยวนี้นักเรียนจีนขับรถไปเรียนเป็นเรื่องที่เห็นได้โดยทั่วไปแล้ว ส่วนห้างสรรพสินค้าจีนก็มีอะไรที่มากกว่าบันไดเลื่อนเสียอีก

จากนั้นเขาก็ปิดท้ายว่า ตอนนี้จีนกำลังก้าวไปสู่ 6 จี…!!!

 

จะเห็นได้ว่า ก่อนจะอยู่ดีกินดีอย่างทุกวันนี้คนจีนอยู่กันอย่างลำเค็ญจริงๆ ครั้นได้เห็นบ้านเมืองอื่นเจริญกว่าตนก็รู้สึกตะลึงแล้วตั้งคำถามกับตัวเองไปต่างๆ นานา และตอนนี้คงเข้าใจได้แล้วว่า ทำไมจีนจึงตื่นตัวที่จะเฉลิมฉลองความสำเร็จที่ตนบรรลุสู่สังคมอยู่ดีกินดีจนดูเหมือนเห่อ

จะว่าไปแล้วความสำเร็จของจีนเป็นเรื่องที่น่ายินดี แต่โลกก็เป็นเช่นนี้ที่จนแล้วจนรอดจีนก็หนีคนขี้อิจฉาตาร้อนไปไม่ได้ และพยายามหาเรื่องจีนด้วยพฤติกรรมไม่ต่างกับ “หมาป่ากับลูกแกะ” ในนิทานของอีสป

ก็จะใครเสียที่ไหน…โดนัลด์ ทรัมป์ นั่นไง…??!!

 


พิเศษ! สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์, ศิลปวัฒนธรรม และเทคโนโลยีชาวบ้าน ลดราคาทันที 40% ตั้งแต่วันนี้ – 30 มิ.ย.63 เท่านั้น! คลิกดูรายละเอียดที่นี่