คุยกับทูต ‘อันดรีย์ เบชตา’ เส้นทางสู่เอเชียของยูเครน (1)

คุยกับทูต อันดรีย์ เบชตา เส้นทางสู่เอเชียของยูเครน (1)

เป็นที่ทราบกันดีว่าภูมิภาคเอเชียนั้นกำลังเป็นทวีปที่มีการเติบโตทางเศรษฐกิจที่รุ่งเรืองเป็นอย่างมาก โดยมีส่วนในการขับเคลื่อนการเติบโตทางเศรษฐกิจของโลกมาหลายทศวรรษ

และจากการขยายตัวทางเศรษฐกิจอย่างรวดเร็วของเอเชียตะวันออก มีแนวโน้มที่เอเชียตะวันออกจะมาเป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจของโลกอีกครั้ง

พัฒนาการและการเปลี่ยนแปลงในเอเชียตะวันออกจึงมีความสำคัญอย่างมากต่อโครงสร้างทางการเมืองและเศรษฐกิจของโลกในศตวรรษที่ 21

การรวมตัวในเอเชียตะวันออกจึงเป็นประเด็นที่มีความสำคัญและมีหลายประเทศสนใจที่จะเข้ามามีส่วนร่วมในกระบวนการรวมตัวในภูมิภาคนี้

ซึ่งรวมถึงประเทศยูเครนซึ่งได้สถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตกับไทยมาตั้งแต่ปี ค.ศ.1992

โดยไทยเป็นประเทศคู่ค้าสำคัญของยูเครนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

และไทยเป็นหนึ่งใน 100 ชาติสมาชิกองค์การสหประชาชาติที่ลงคะแนนเสียงสนับสนุนมติสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติในประเด็นบูรณภาพแห่งดินแดนยูเครนเมื่อปี ค.ศ.2014 เพื่อตอบโต้การผนวกไครเมียเข้าเป็นส่วนหนึ่งของรัสเซีย

“คุยกับทูต” ฉบับนี้ นายอันดรีย์ เบชตา (H.E. Mr. Andrii Beshta) เอกอัครราชทูตยูเครนประจำประเทศไทย ให้เกียรติมาเล่าถึงการที่ยูเครนให้ความสำคัญกับภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกตามนโยบายของนายดมิโตร คูแลบา (H.E. Mr. Dmytro Kuleba) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศยูเครนคนล่าสุดซึ่งได้รับการแต่งตั้งเมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมานี้

“ไม่เพียงแต่เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศที่มีอายุน้อยที่สุดของยูเครน ซึ่งจะอายุครบ 40 ปีในปีหน้า นายดมิโตร คูแลบา ยังเป็นรัฐมนตรีต่างประเทศคนแรกที่เน้นย้ำอย่างชัดเจนถึงการยกระดับความสัมพันธ์ของยูเครนกับภูมิภาคเอเชียรวมถึงเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งอยู่ในความสำคัญของนโยบายต่างประเทศลำดับแรกๆ อีกด้วย”

“ผมในฐานะเอกอัครราชทูตยูเครนประจำประเทศไทย ขอนำเสนอวิสัยทัศน์นี้ไปสู่ขั้นตอนการปฏิบัติในความสัมพันธ์ระดับทวิภาคีระหว่างยูเครนกับไทยเพื่อผลประโยชน์ร่วมกันของประเทศและประชาชนของทั้งสองประเทศ ดังที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศยูเครนได้กล่าวไว้ ดังต่อไปนี้”

“หลังจากได้รับแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศอย่างเป็นทางการ ผมได้เคยประกาศไปแล้วว่ากลยุทธ์ของยูเครนที่มีต่อประเทศในภูมิภาคเอเชียนั้นจะได้รับการยกระดับขึ้น และอยู่ในลำดับความสำคัญของนโยบายต่างประเทศอันดับต้นๆ ของผม นับตั้งแต่ยูเครนได้รับเอกราชในปี ค.ศ.1991 ความร่วมมือของยูเครนกับภูมิภาคเอเชียได้มีการพัฒนาขึ้นตามลำดับอย่างมีนัยสำคัญ”

“จนถึงวันนี้ ถือว่ามีความสัมพันธ์อันดีในระดับภูมิภาค”

“เรื่องความสัมพันธ์กับภูมิภาคเอเชียนั้น ยูเครนไม่ได้เริ่มต้นจากศูนย์ แต่ถึงเวลาแล้วที่จะต้องปรับเปลี่ยนไปสู่ระดับที่สูงขึ้น ผมเริ่มมีส่วนร่วมอย่างเป็นทางการด้วยการโทรศัพท์ไปยังประเทศคู่ค้าของรัฐบาลหลายแห่งในเอเชีย เพื่อหารือในเรื่องความสัมพันธ์แบบทวิภาคีที่มีต่อกัน ปรึกษาถึงวิธีการเอาตัวรอดและช่วยเหลือซึ่งกันและกันในช่วงที่โลกเกิดวิกฤต ท่ามกลางสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ หรือ COVID-19”

“ผลลัพธ์ของการสนทนาทุกครั้ง คือความเข้าใจซึ่งกันและกัน นอกจากนี้ เราต่างได้พบศักยภาพที่ยังไม่ได้ใช้อีกมากมายที่จำเป็นต่อการพัฒนาการค้าในระดับทวิภาคี รวมถึงโครงการร่วมมือในด้านเทคโนโลยีระดับสูงหรือในโครงสร้างพื้นฐานอีกด้วย”

“แน่นอนที่เรา ยูเครนต้องการที่จะต้อนรับประเทศในภูมิภาคเอเชียเพิ่มขึ้น เช่นเดียวกับต้องการให้ยูเครนมีบทบาทในเอเชียมากขึ้นด้วย เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเมื่อไม่นานนี้ ได้กระตุ้นเตือนให้ทุกคนต้องทบทวนแนวคิดเกี่ยวกับ “ธุรกิจระหว่างประเทศตามปกติ” และค้นหาวิธีการแก้ไขปัญหาและพัฒนาความร่วมมือที่น่าเชื่อถือในระยะยาวแบบใหม่ๆ”

“ในขณะที่เส้นทางของเราในการบูรณาการกับสหภาพยุโรปนั้นยังคงไม่เปลี่ยนแปลง ผมจึงมุ่งมั่นเสริมสร้างความสัมพันธ์ข้ามมหาสมุทรแอตแลนติกต่อไป โดยเห็นว่าความเป็นหุ้นส่วนกับประเทศในภูมิภาคเอเชียมีความเป็นธรรมชาติและเป็นส่วนเสริมแรงบันดาลใจในกับความสัมพันธ์กับยุโรปได้อย่างรวดเร็ว ด้วยแนวคิดในการเป็นผู้เชื่อมโยงอย่างสำคัญต่อความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจระหว่างสหภาพยุโรปและเอเชีย”

“ธุรกิจขนาดใหญ่ของยูเครนได้รับการยอมรับอย่างดีในภูมิภาคเอเชีย มีเรื่องราวความสำเร็จมากมายที่ชวนให้ติดตามอย่างยิ่ง ส่วนบริษัทของเอเชียก็ประสบความสำเร็จอย่างมากมายทั้งในด้านการค้าและการลงทุนในยูเครน บัดนี้ เป็นหน้าที่ของเราที่จะช่วยให้ธุรกิจของยูเครนปูทางไปสู่การเป็นหุ้นส่วนใหม่ในเอเชียเพื่อนำเสนอศักยภาพสำหรับผู้ที่ยังไม่ได้ค้นพบและเปิดโอกาสใหม่ๆ การเปิดธุรกิจของยูเครนในเอเชียจะช่วยให้พลเมืองยูเครนสามารถเข้าใจและเข้าถึงภูมิภาคเอเชียได้มากขึ้น”

“เพื่อความสำเร็จดังกล่าว รัฐบาลจึงต้องเริ่มพัฒนากลยุทธ์ในระยะยาวเพื่อให้ครอบคลุมสู่ภูมิภาคเอเชียนับแต่บัดนี้เป็นต้นไป”

“ยูเครนเป็นประเทศที่มีบทบาทสำคัญในการสร้างความมั่นคงด้านอาหารของโลก รัฐบาลมีความยินดีที่จะมีส่วนร่วมอย่างเป็นรูปธรรมในการจัดหาเสบียงอาหารระยะยาวที่มีเสถียรภาพและเชื่อถือได้สู่ภูมิภาคเอเชีย”

“ในช่วงที่โลกต้องเผชิญกับสภาวะการหยุดชะงักของเรื่องใดเรื่องหนึ่ง เราจึงไม่ควรประมาทหรือนิ่งนอนใจต่อสภาวะนี้ได้”

“เป็นเวลาหลายปีแล้วที่ยูเครนเป็นที่รู้จักกันดีในด้านการสร้างอากาศยานและเทคโนโลยีการบินขั้นสูง เมื่อมนุษยชาติต่างต้องเผชิญกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ หรือ COVID-19 อากาศยานยูเครนชื่อ อันโตนอฟ (Antonov) ซึ่งเป็นอากาศยานขั้นสูงที่มีสมรรถนะในการระบายอากาศที่ไม่เหมือนใครได้กลายเป็นอากาศยานขนส่งแบบเร่งด่วน (express courier) ทำหน้าที่เชื่อมต่อภูมิภาคเอเชียกับยุโรป เพื่อการส่งมอบเวชภัณฑ์ที่มีความจำเป็นอย่างเร่งด่วนทั่วโลกในช่วงที่มีการแพร่ระบาดของโรค”

“ส่งผลให้อากาศยานชนิดนี้ได้รับชื่อเสียงและได้รับการยกย่องเป็นหนึ่งในบริการจัดส่งหลักระหว่างประเทศ (main international delivery services) สำหรับเวชภัณฑ์”

“เหนือสิ่งอื่นใด ยูเครนต้องสร้างถนนสองเลน สายตะวันออก-ตะวันตก โดยวิ่งผ่านยูเครน”

“ผมเห็นด้วยกับความคิดที่ว่า ศตวรรษที่ 20 เป็นศตวรรษแห่งทวีปยุโรป ในขณะที่ศตวรรษที่ 21 คือศตวรรษแห่งภูมิภาคเอเชีย”

“ดังนั้น ถึงเวลาแล้วที่จะพัฒนาศูนย์กลางการผลิตระดับโลกและการขนส่งสินค้าและบริการอย่างไร้พรมแดนซึ่งสามารถใช้ประโยชน์จากแรงงานที่มีทักษะและความสามารถสูงของยูเครน รวมถึงตำแหน่งที่ตั้งและความเชื่อมต่อของประเทศยูเครนด้วย”

“ในสายตามิตรของเราในภูมิภาคเอเชีย ยูเครนต้องเป็นมากกว่าเรื่องธุรกิจในยุโรปตะวันออกและเรื่องความสามารถทางด้านไอที แต่ยูเครนต้องเป็นพันธมิตรที่สามารถไว้วางใจและเชื่อถือได้สำหรับภูมิภาคเอเชียในทุกๆ ด้านอีกด้วย”

“ปีที่แล้ว จีนกลายเป็นคู่ค้ารายใหญ่ที่สุดของยูเครน และประธานาธิบดีโวโลดีเมียร์ เซเลนสกี (Volodymyr Zelensky) ของยูเครนไปเยือนญี่ปุ่นเพื่อเข้าเฝ้าฯ สมเด็จพระจักรพรรดินารูฮิโตะ (Emperor Naruhito)”

“ในขณะเดียวกัน ความสัมพันธ์ของเรากับอินเดียกำลังเพิ่มสูงขึ้น มีความร่วมมือกันในหลายๆ ด้าน เช่น ผลิตภัณฑ์ยา และการเกษตร ส่วนความสามารถด้านไอทีของเราได้ร่วมในอุตสาหกรรมเทคโนโลยีของเกาหลีใต้”

“เราทำงานอย่างใกล้ชิดกับออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ภายในสหประชาชาติ เพื่อแก้ไขปัญหาเร่งด่วนในวาระการประชุมระดับโลก”

“ผมเดินทางไปเยือนภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นการส่วนตัวเมื่อปีที่แล้ว ซึ่งนับเป็นการเปิดหูเปิดตาของผมอย่างมาก ปาฏิหาริย์ในอาเซียนถือเป็นแรงบันดาลใจให้กับคนทั้งโลก ยูเครนให้ความสำคัญกับการพัฒนาเศรษฐกิจและการอยู่ร่วมกันอย่างสันติและคงไว้ซึ่งหลักนิติธรรมในความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ เช่นเดียวกับอาเซียน ยูเครนมีความเชื่อมั่นในความแข็งแกร่งของสถาบันและบรรทัดฐานระหว่างประเทศ”

“นับตั้งแต่ปี ค.ศ.2016 การค้าขายสินค้าและบริการระหว่างยูเครนกับอาเซียนเพิ่มขึ้นเกือบ 45 เปอร์เซ็นต์ โดยการส่งออกของยูเครนนั้นเพิ่มขึ้นในอัตรา 48 เปอร์เซ็นต์ แต่อย่างไรก็ตาม ผมยังเชื่อว่าตัวเลขในปัจจุบันนั้นไม่สอดคล้องกับศักยภาพที่มีอยู่ของยูเครนและอาเซียน ซึ่งสามารถจะเติมเต็มระบบเศรษฐกิจของประเทศซึ่งกันและกันได้อย่างสมบูรณ์มากกว่านี้ โดยใช้ประโยชน์จากศักยภาพด้านไอทีและการเกษตร, ตำแหน่งที่ตั้งของเราในยุโรปตะวันออกและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ สามารถเข้าถึงส่วนที่เหลือของโลก”

“ผมขอยกตัวอย่างความสัมพันธ์ระหว่างยูเครนกับสิงคโปร์ในช่วงสามปีที่ผ่านมา การค้าทวิภาคีระหว่างสองประเทศนั้นเพิ่มขึ้นเป็นสี่เท่า ยูเครนและสิงคโปร์มีประเด็นเดียวกันในวาระระหว่างประเทศรวมถึงการสนับสนุนทางกฎหมายระหว่างประเทศซึ่งกันและกัน มีการทำงานร่วมกันเพื่อต่อสู้กับความท้าทายระดับโลกแบบใหม่ๆ ทั้งมีการเปิดตัวความร่วมมือแบบใหม่จากระบบไซเบอร์สู่ความมั่นคงด้านอาหารการวิจัยและการศึกษาอีกด้วย”

“สถานเอกอัครราชทูตยูเครนในประเทศอินโดนีเซีย มาเลเซีย ไทย สิงคโปร์และเวียดนาม เป็นฐานที่แข็งแกร่งในการกระชับความสัมพันธ์กับประเทศในภูมิภาคอาเซียน ทั้งในด้านการค้า การลงทุนและการท่องเที่ยว ปีที่ผ่านมานั้น จำนวนนักท่องเที่ยวจากภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ซึ่งเดินทางไปยูเครนมีจำนวนเพิ่มขึ้น”

“และผมทราบว่า พลเมืองยูเครนจะได้รับการต้อนรับในภูมิภาคส่วนนี้ของโลกเสมอ”

“ผมขอยกคำกล่าวของโธมัส ฟรายแมน (Thomas Friedman) ที่ว่า ช่วงเวลาวิกฤตอันเกิดจากการแพร่ระบาดครั้งใหญ่นี้จะสิ้นสุดลงไม่ช้าก็เร็ว และจะปรากฏยุคหลังไวรัสโคโรนา หรือ The era A.C. (after corona)”

“เมื่อชุมชนทั่วโลกได้ฟื้นตัวจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ หรือ COVID-19 เราทุกคนจำเป็นต้องพิจารณาหาวิธีรับมือกับข้อบกพร่องและความอ่อนแอที่เกิดขึ้นอย่างเห็นได้ชัดจากไวรัสดังกล่าว”

“เครือข่ายโลกในศตวรรษที่ 21 นั้น จะมีความซับซ้อนและเปราะบางมากขึ้น ทุกประเทศจะต้องคิดค้นหาวิธีการจัดหาเสบียงอาหารโดยไม่ให้เกิดการขาดแคลน การสนับสนุนภาคธุรกิจทั้งขนาดกลางและขนาดเล็ก การให้ความช่วยเหลือประชาชนจัดหางาน และการหาวิธีพัฒนาธุรกิจไม่ให้เกิดการหยุดชะงัก แน่นอนว่า ยูเครนและประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคเอเชียก็ต้องดำเนินการเช่นเดียวกัน”

“เรามาร่วมสร้างถนนสายใหม่นี้ด้วยกันนะครับ”


พิเศษ! สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์, ศิลปวัฒนธรรม และเทคโนโลยีชาวบ้าน ลดราคาทันที 40% ตั้งแต่วันนี้ – 30 มิ.ย. 63 เท่านั้น! คลิกดูรายละเอียดที่นี่