อภิญญา ตะวันออก : สายการบินชาติกัมพูชา! หรือจนกว่าโลกจะขานรับ

อภิญญา ตะวันออก

แลการมาของไวรัสโควิด-19 นับเป็นความมืดมนของอุตสาหกรรมการบินครั้งใหญ่ รวมทั้งพลเมืองราว 25 ล้านคนที่อาจตกงาน ในจำนวนนี้มีบริษัทการบินไทยที่กล่าวกันว่าเป็นสายการบินแห่งชาติรวมอยู่ด้วย

เปรียบเทียบกับสายการบินไทยที่ก่อตั้งมาครบ 60 ปี สายการบินแห่งชาติและแห่งแรกของกัมพูชา หากไม่ล้มไปเสียก่อนจะมีอายุครบ 64 ปีในปีนี้

นั่นคือสายการบิน รอยัลแอร์คัมโบดจ์ (Royal Air Cambodge) เหตุใดเล่าจึงประสบหายนะเช่นนั้น

หากย้อนดูไทม์ไลน์สายการบินแห่งนี้ จะพบประวัติที่เกี่ยวพันทางการเมืองเป็นเบื้องต้น ก่อตั้งโดยกษัตริย์ เป็นแบรนด์เนมที่มีความสำคัญ แต่อายุกาลก็สั้น เพราะก่อตั้งได้เพียง 14 ปีก็ง่อนแง่นด้วยฐานะทางการเงิน จนเมื่อรัฐบาลสีหนุราชถูกรัฐประหารในเดือนมีนาคม 1970

รอยัลแอร์คัม โบดจ์จึงถึงกาลอวสานและเป็นจุดจบยกแรกที่ยาวไกลไปอีก 20 ปีเศษ

เล่าสู่กันว่า ความพยายามที่จะทำให้รอยัลแอร์คัมโบดจ์กลับมาสู่น่านฟ้าอีกครั้งอยู่ในหมู่นโรดมแฟมิลี่ และเบื้องต้นทำให้เกิดทฤษฎีสมคบคิดที่โรงแรมแถวสีลมของกรุงเทพฯ โดยว่าที่หัวหน้าพรรคฟุนซินเปก สมเด็จกรมพระนโรดม รณฤทธิ์ โอรสพระบาทนโรดม สีหนุ ผู้หมายจะรื้อฟื้นสายการบินดั้งเดิมที่ครั้งเคยเป็นกิจการของครอบครัว

นั่นก็คือ การขายสัมปทานสายการบินแห่งความฝันให้เป็นโครงการแก่ธุรกิจไทยบางกลุ่ม หากว่าฟุนซินเปกชนะการเลือกตั้งทั่วไปในปี 1993 แล้วพรรคฟุนซินเปกก็ชนะและได้จัดตั้งรัฐบาล แต่ไม่รักษาวาจาต่อนายทุนผู้จ่ายสัมปทานล่วงหน้าและไปรับก้อนโตจากบริษัทอื่น ซึ่งจบลงที่สายการบินของมาเลเซีย

โครงการรอยัลแอร์คัมโบดจ์รอบสองครานี้จึงเหมือนมีกรรมบังเหมือนครั้งแรก กล่าวคือ ถูกรัฐประหาร โอรสนโรดมต้องระเห็จออกนอกประเทศ ไม่กล้าสู้หน้านายทุนเก่าที่ช่วยเหลือทำพรรค ซ้ำยังพ่ายแพ้แก่การเลือกตั้งครั้งถัดมา ให้สถานการณ์รอยัลแอร์คัมโบดจ์ที่ย่ำแย่อยู่แล้ว ไม่สามารถโงหัวขึ้นมาอีกเลย

จึง 7 ปีพอดีที่เป็นครึ่งทางรอยัลแอร์คัมโบดจ์เวอร์ชั่นแรก ธุรกิจอันหวงแหนของราชสำนักเก่าแก่แห่งนี้ก็ถึงกาลอวสาน (2001)

 

แต่แปลกที่สมเด็จฯ ฮุน เซน ผู้กุมชัยการเมืองตลอดกาล กลับไม่ทะเยอทะยานที่จะเปิดสายการบินแห่งชาติขึ้นใหม่ ทั้งที่เป็นรัฐบาลเดี่ยวพรรคเดียวมาตลอด แต่กลับทอดระยะถึง 8 ปี! กว่าจะเปิดให้มีสายการบินแห่งชาติอีกครั้ง!

มาโป๊ะตรงที่ อาจมีข้อตกลงทางลับเกี่ยวกับยุทธศาสตร์ภราดรภาพแห่งสหพันธรัฐอินโดจีนที่เวียดนามเป็นพี่เอื้อย

นัยยะดังนี้ จึงน่าสังเกตว่า เหตุไฉนสมเด็จฯ ฮุน เซน จึงยอมสมคบภราดร เปิดสายการบิน “แคมโบเดียอังกอร์แอร์” ให้เป็นสายการบินแห่งชาติในปี 2009

ร่วมทุนกับเวียดนามแอร์ไลน์สในสัดส่วน 51:49 โดยเป็นที่น่าสังเกตว่า สายการบินแห่งชาติเขมรยุคนี้ แม้แต่รหัสเที่ยวบิน ก็ยังใช้ร่วมกับสายการบินเวียดนามอีกด้วย!

นอกจากธุรกิจแคมโบเดียอังกอร์แอร์ ยังมีเพียงเครื่องบินเช่าจากสายการบินเวียดนาม ไม่มีการลงทุนใหม่ๆ ที่ทำให้สายการบินแห่งชาตินี้มีการพัฒนา รวมทั้งธุรกิจการบินที่แข่งขันอย่างเสรีทั้งในและนอกประเทศ แต่นโยบายดังกล่าวของเขมรนี้ มีส่วนทำให้สนามบินแห่งชาติโฮจิมินห์ซิตี้กลับมาเป็นฮับแห่งภูมิภาคอีกครั้ง หลังจากเป็นผู้นำด้านนี้มาก่อนสมัยสงครามเวียดนาม

อย่างไรก็ตาม เมื่อโควิด-19 กำลังสร้างวิกฤตต่อทุกสายการบินของโลกเวลานี้ แต่สายการบินแห่งชาติกัมพูชาอาจได้รับการยกเว้นในข้อนี้ เป็นที่รู้กันว่าตลอด 11 ปีมานี้ แคมโบเดียอังกอร์แอร์แทบจะเป็นสายการบินโลว์คอร์สที่ไม่มีตัวตนและคนรู้จัก หากแต่การเหลือรอดครั้งนี้กลับทับซ้อนทฤษฎีสมคบคิดใหม่ในครั้งที่ 2 ตอน : สมเด็จฮุน เซน ทิ้งทุ่นฝากความหวังทั้งหมดกับพรรคคอมมิวนิสต์ ตามทฤษฎียืมทุนจีนสร้างน่านฟ้า

ที่จะบันดาลให้กัมพูชามีสนามบินนานาชาติแห่งใหม่ สนามบินกองทัพอากาศ สนามบินจังหวัดรัตนคีรีและมณฑลคีรี ซึ่งเท่ากับล้างไพ่เก่ากับเวียดนามไปนัยที

แต่แล้วพิษเศรษฐกิจจากโควิด-19 ก็ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในทางตรงข้าม อย่างฉับพลัน

 

อนึ่ง นัยทีเมื่อความพยายามฟื้นฟูกิจการสายการบินรอยัลแอร์คัมโบจด์ในสมัย Khmer Republic (1970-75) ที่ไม่อาจไปต่อเพราะความคอร์รัปชั่นและเกลือเป็นหนอน ดังนั้น นโยบายของรัฐที่ให้เปิดเสรีของบริษัทเอกชนจึงเข้ามาทดแทนในส่วนนี้

แต่เมื่อสงครามกลางเมืองเริ่มยืดเยื้อ กลุ่มสายการบินเสรีเหล่านี้ก็เผยให้เห็นถึงเบื้องหลัง บ้างเป็นนอมินีของกองทัพกับซีไอเอ และบ้างก็เป็นนายทุนมืดที่มีกิจการลับๆ กับบริษัทต่างชาติ

ในยามคับขัน บริษัทเหล่านี้ที่ต้องว่าจ้างนักบินประสบการณ์สูง มีทักษะบินสูงเพื่อหลบปืนครกเขมรแดง

อนึ่ง ในยามสงครามเช่นนั้น การลำเลียงผู้โดยสารก็ดี การบรรทุกสัตว์บ้านสัตว์ป่าและสัตว์น้ำตลอดจนสินค้าแปะตราพิเศษก็ดี ธุรกิจดังกล่าวทั้งหมดนี้ ยังรวมไว้ซึ่งภารกิจลับระหว่างเจ้าของแอร์ไลน์สกับนายหน้าค้าอาวุธและพ่อค้าในตลาดมืด

นอกจากกฎหมายการบินจะไม่รับรองแล้ว ยังเป็นภัยต่อนักบินที่ตกเป็นเป้าโจมตี แม้นักบินบางรายยินดีที่จะเสี่ยงเพื่อแลกกับค่าตอบแทนสูงลิ่ว โดยเฉพาะกรณีภารกิจลับที่ต้องปฏิบัติงานยามราตรี การนำเครื่องลงจอดบนถนนลูกรังแทนสนามบิน สภาพเครื่องบินที่ไม่พร้อม เจ้าหน้าที่สนามบินสายเขมรแดง และขาดวิสัยทัศน์ ทั้งหมดล้วนแต่เป็นส่วนหนึ่งของสมรภูมิแห่งความโหดร้ายที่กัปตันและลูกเรือต้องออกไปเผชิญ และพยายามเอาชีวิตรอดกลับมาให้ได้! ในการบินแต่ละครั้ง!

โดยแม้ว่าความโกลาหลทั้งหมดนี้ดูจะไม่เอื้อต่อการทำงาน แต่ธุรกิจการบินก็ยังเป็นหนึ่งเดียวที่ทำให้พนมเปญอยู่รอดและเต็มไปด้วยชีวิตชีวา จากวีรกรรมของนักบินและลูกเรือทุกคน

ความน่าสนใจคือ การที่คนกลุ่มนี้ต้องบินขนส่งสินค้าสารพัดชนิด ซึ่งมีตั้งแต่ปลาทะเลหลายตัน แต่บางฤดูกาลที่ต้องขนทุเรียนกำโปดในเที่ยวกลับแบบเต็มลำ เล่นเอากีย์ หมูบิน! ถึงกับหลอนและอ้วกแตกคาห้องนักบิน!

นอกจากจะบินขนทุเรียนที่ไม่มีการหีบห่อใดๆ แล้ว กัปตันนักบินคนนี้ยังต้องเข้าสวนทุเรียนไปดูการขนส่ง เพราะบังเอิญเจ้าของแอร์ไลน์สกับเจ้าของสวนทุเรียนดันเป็นคนเดียวกัน! เวรกรรม!

ขนทุเรียนและปลาสดทั้งลำยังไม่หนำใจ คราวหนึ่งเมื่อบินข้ามทะเลสาบ เขายังต้องบรรทุกหมูอู๊ดๆ ตัวเป็นๆ นอนเรียงกันเป็นตับในตะกร้อหวายของห้องผู้โดยสาร!

แต่ทันใดนั้น ปฏิบัติการโกลาหลและฉุกเฉินก็เกิดขึ้น เมื่อเครื่องยนต์เกิดชอร์ต การร้องขอคำแนะนำจากหอบังคับการบินครั้งนั้น พวกเขาได้รับคำแนะนำให้ลดสัมภาระในเครื่องเท่าที่จำเป็นในทันที

ทันที การสละชีพของบรรดาหมูๆ ที่ห้องโดยสารนั่นคือสิ่งแรก ที่จะช่วยประคองเครื่องบินให้สามารถถึงปลายทางสนามบินโปเชนตงอย่างสวัสดิภาพ เร็วเท่าที่คิด พลันร่างที่นอนอุตุอยู่ในห้องโดยสารจำนวนมากก็มีอันลอยละลิ่วลงมาจากเวหาอย่างรวดเร็วระหว่างพื้นที่รอยต่อของจังหวัดโพธิสัตว์-กำปงฉนัง

เป็นเหตุการณ์ที่ทำให้หมู่บ้านแห่งหนึ่งพากันเล่าลืออย่างระทึกระทัน

ถึงสิ่งประหลาดจากฟ้าที่ตกลงมาเป็นหมูดำ!

 


พิเศษ! สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์, ศิลปวัฒนธรรม และเทคโนโลยีชาวบ้าน ลดราคาทันที 40% ตั้งแต่วันนี้ – 30 มิ.ย.63 เท่านั้น! คลิกดูรายละเอียดที่นี่