สมชัย ศรีสุทธิยากร | ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี…แค่โควิด ต้องคิดใหม่

สมชัย ศรีสุทธิยากร

จุดขายหนึ่งของรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 เมื่อตอนที่ทำเสร็จคือ การให้มียุทธศาสตร์ชาติ โดยกำหนดไว้ในมาตรา 65 ว่า “รัฐพึงจัดให้มียุทธศาสตร์ชาติเป็นเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนตามหลักธรรมาภิบาลเพื่อใช้เป็นกรอบในการจัดทำแผนต่างๆ ให้สอดคล้องและบูรณาการกันเพื่อให้เกิดเป็นพลังผลักดันร่วมกันไปสู่เป้าหมายดังกล่าว”

จากมาตราดังกล่าวนำไปสู่การออกพระราชบัญญัติการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ พ.ศ.2560 ตามมาในเวลาไม่นาน (31 กรกฎาคม 2560)

และหลังจากนั้นไม่ถึงปี คณะรัฐมนตรีก็ได้มีมติเห็นชอบกับยุทธศาสตร์ชาติ (5 มิถุนายน 2561) ก็มีการประกาศยุทธศาสตร์ชาติอย่างเป็นทางการในวันที่ 8 ตุลาคม พ.ศ.2561

มีระยะเวลาครอบคลุม 20 ปี คือ ตั้งแต่ พ.ศ.2561-2580

ข้อวิจารณ์ที่ได้รับจากสังคมและนักวิชาการในขณะนั้นคือ กรอบยุทธศาสตร์ 20 ปีที่กำหนดให้เป็นแนวนโยบายแห่งรัฐที่รัฐบาลทุกชุดต้องยึดถือและใช้ประกอบในการแถลงนโยบายต่อรัฐสภาทุกครั้งเมื่อมีการตั้งรัฐบาลใหม่

รวมถึงเป็นกรอบในการปฏิบัติของส่วนราชการทุกแห่งที่จะเสนอแผนงานและโครงการต่างๆ ต้องมีการยึดโยงในกรอบยุทธศาสตร์ชาติที่กำหนดนั้นเป็นเรื่องที่ถูกต้องเหมาะสมเพียงไร

จริงหรือที่จะมีผู้รู้ดี มองการพัฒนาประเทศได้ล่วงหน้าชัดเจนถึง 20 ปี

ทั้งๆ ที่เมื่อเหลียวกลับไปยังแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติแต่ละฉบับ สิ่งที่เขียนไว้ในช่วงต้นแผนกับผลที่ได้รับเมื่อปลายแผนกลับเป็นคนละเรื่องกันมาโดยตลอด

ยิ่งองค์ประกอบของคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติที่ให้สัดส่วนความสำคัญแก่แม่ทัพนายกองและข้าราชการประจำ ยิ่งทำให้ความรู้สึกหวั่นวิตกว่ายิ่งจะเป็นการนำชาติไปสู่ทิศทางที่ไม่ถูกต้องเหมาะสม

ไม่ถึงสองปีจากการประกาศใช้ยุทธศาสตร์ชาติก็ถูกทดสอบด้วยโรคร้ายที่ชื่อโควิด-19 ว่าสิ่งที่เขียนไว้จะยังเหมาะสมกับสถานการณ์หรือไม่ เป็นสิ่งน่านำมาวิเคราะห์กัน

(Photo by Madaree TOHLALA / AFP)

1.แนวคิดในด้านความมั่นคงที่ต้องเปลี่ยน

วิธีการคิดในการสร้างความมั่นคงของประเทศที่ระบุในยุทธศาสตร์ที่ 1 ที่มุ่ง “เสริมสร้างศักยภาพและความพร้อมในทุกด้าน ทั้งคน เครื่องมือ ยุทโธปกรณ์แผน งบประมาณ ระบบควบคุมบังคับบัญชา ระบบงานด้านการข่าวกรอง เทคโนโลยีข้อมูลขนาดใหญ่ ระบบเฝ้าตรวจและแจ้งเตือนต่างๆ”

อาจเป็นเรื่องล้าสมัยไปแล้วในด้านการสะสมอาวุธยุทโธปกรณ์ที่ทันสมัย

แม้ผู้เขียนไม่ใช่ผู้ที่มีความชำนาญด้านอาวุธศึกษา แต่ปรากฏการณ์ทางการทหารที่เกิดขึ้นในรอบสองปี เช่น การที่สหรัฐอเมริกาใช้โดรนสังหารผู้นำทางการทหารของอิหร่าน

หรืออันตรายถึงชีวิตของพลเรือนหลายแสนรายที่เกิดขึ้นจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ซึ่งมีบางสมมุติฐานว่าอาจจะไม่ใช่การระบาดที่เกิดขึ้นทางธรรมชาติแต่อาจมาจากการค้นคว้าในเรื่องอาวุธชีวภาพนั้น

สะท้อนให้เห็นว่า ยุทโธปกรณ์ที่หน่วยงานความมั่นคงตั้งงบประมาณเพื่อจัดหาอย่างต่อเนื่องมาตลอด เช่น เครื่องบินรบ รถหุ้มเกราะ เรือดำน้ำ เรือยกพลขึ้นบก ฯลฯ อาจไม่ใช่คำตอบที่ถูกต้องของการรักษาความมั่นคงของประเทศแล้วในยุคนี้

2.แนวคิดในด้านเศรษฐกิจทันโลกจริงหรือ

กระบวนการคิดในยุทธศาสตร์ชาติทางเศรษฐกิจที่ปรากฏในยุทธศาสตร์ด้านการสร้างความสามารถในการแข่งขันหลายประเด็นเป็นการลอกเลียนวิธีการคิดแบบตะวันตก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องการคาดการณ์ทิศทางของเศรษฐกิจโลกในอนาคต

เช่น การนำเสนอเรื่องเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียนและเศรษฐกิจสีเขียว (Bio-Circular-Green Economy) การเน้นเศรษฐกิจแบ่งปัน (Sharing Economy) ที่มีหลักการที่ดูดีในการจัดระบบการใช้ทรัพยากรร่วมกันในสังคม

ก่อนหน้าวิกฤตโควิด การพูดถึงธุรกิจขนส่งที่ใช้ทรัพยากรร่วมอย่าง Uber ดูทันสมัย ยิ่งแนวคิดให้มีผู้โดยสารร่วมเส้นทาง (Share) เพื่อประหยัดค่าโดยสารยิ่งดูเป็นเรื่องน่าสนใจ แต่เดี๋ยวนี้ หากจะขึ้นรถสาธารณะ อย่าว่าแต่จะมีผู้โดยสารแปลกหน้าเลย แม้คนขับเรายังไม่วางใจ

ธุรกิจที่พัก แบบ Airbnb ที่ดัดแปลงบ้านเป็นที่พักคนเดินทาง หรือธุรกิจโรงแรมและอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวต่างๆ คงต้องคิดวิธีการทางกลยุทธ์เพื่อปรับตัวอย่างมหาศาล เพราะทุกวันนี้มีแต่ข่าวการทยอยปิดโรงแรมทั้งโรงแรมขนาดใหญ่และขนาดเล็กกันมากมาย

การวางยุทธศาสตร์เรื่องการท่องเที่ยวจึงต้องลึกซึ้งมากกว่าที่จะเอาจุดขายของทรัพยากรธรรมชาติมานำเสนอต่อชาวโลก โดยต้องมีมุมมองในเรื่องความปลอดภัยต่อสุขภาพด้วย

3.แนวคิดในด้านสังคมและการศึกษา

ยุทธศาสตร์ที่วางไว้ในด้านการพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพทรัพยากรมนุษย์ อาจเป็นเรื่องใหญ่อีกเรื่องหนึ่งที่ต้องปรับแก้ในยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี เพราะแนวโน้มการประกอบอาชีพที่เปลี่ยนแปลงไป การว่างงานที่เพิ่มขึ้นจากการปิดงานเลิกกิจการของธุรกิจจำนวนมากหลังโควิด ปัญหาความเหลื่อมล้ำในสังคมที่ตามมาอีกมากมาย ทักษะของมนุษย์ที่สังคมต้องการคือเรื่องใด

คำถามเหล่านี้เป็นคำถามใหญ่ว่า สิ่งที่ได้เขียนไว้ในยุทธศาสตร์ชาตินั้นแค่ 2 ปี โจทย์ก็เปลี่ยนแล้วใช่ไหม

การศึกษาที่ใช้เวลายาวนานซึ่งความสำคัญต่อปริญญาบัตรจะลดลงและถูกแทนที่ด้วยการเรียนเพื่อประกอบอาชีพในระยะสั้น การสื่อสารออนไลน์จะกลายเป็นแพลตฟอร์มหลักของการค้าขายและการติดต่อของคนในสังคม คณะวิชาต่างๆ ในมหาวิทยาลัยต้องมีการออกแบบใหม่เป็นการศึกษาที่ตามความต้องการผู้เรียน ไม่ใช่จัดตามความสามารถของผู้สอน

แม้เมื่อพลิกดูในยุทธศาสตร์ที่เขียนไว้จะมีการครอบคลุมที่หลากหลายอยู่ แต่สำหรับสถานการณ์ที่เปลี่ยนไปนี้ คงต้องมีจุดเน้นและจุดหลักของการดำเนินการ (Priority) เพื่อตอบโจทย์สิ่งที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน

4.แนวคิดในเรื่องสาธารณสุข

ในยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ประเด็นเรื่องสาธารณสุขถูกจัดเป็นประเด็นย่อย 1 ใน 7 ประเด็นของยุทธศาสตร์ที่ 3 เท่านั้น โดยเน้นในเรื่องการเสริมสร้างให้คนไทยมีสุขภาวะที่ดี การสร้างความรอบรู้ด้านสุขภาวะและการพัฒนาระบบบริการสุขภาพที่ทันสมัยสนับสนุนการสร้างสุขภาวะที่ดีเท่านั้น

ในขณะที่วิกฤติโควิดที่ผ่านมาเป็นตัวสอนเราให้รับรู้ว่า การรับมือเกี่ยวกับการระบาดของโรคร้ายนั้นเป็นเรื่องใหม่ที่ทุกประเทศทั่วโลกไม่เคยเจอ แม้ประเทศที่ได้ชื่อว่ามีระบบการบริการสาธารณสุขที่ดีเลิศ เช่น อังกฤษ เยอรมนี หรือสหรัฐอเมริกา เพียงแค่การวางแนวคิดในการป้องกันการแพร่ระบาดพลาดในช่วงต้นแต่เพียงเล็กน้อย การแพร่ระบาดก็อาจเกิดการขยายตัวถึงขั้นที่ควบคุมได้ยาก

การให้ความสำคัญอย่างจริงจังในยุทธศาสตร์ด้านสาธารณสุขมากกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบันจึงเป็นอีกหนึ่งประเด็นที่ต้องทบทวนอย่างยิ่ง

5.ตัวชี้วัดและค่าเป้าหมาย

ในแผนยุทธศาสตร์ 20 ปี ได้กำหนดความสำเร็จที่ใช้ในการประเมินเป็นช่วงระยะต่างๆ โดยค่าเป้าหมายในการประเมินทุกช่วง 5 ปี ตัวเลขเหล่านี้คงต้องปรับเปลี่ยนใหม่อย่างมหาศาล ยกตัวอย่างเช่น การตั้งความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจใน 5 ปีแรกในด้านผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศว่าภาคการเกษตรจะขยายตัวร้อยละ 3.8 และภาคอุตสาหกรรมจะขายตัวร้อยละ 4.6 จนถึงทุกวันนี้ การประเมินของภาคเอกชนมองว่าทุกอย่างติดลบหมดแล้ว แต่จะมากหรือน้อยเท่านั้น

เป้าหมายที่เขียนในตัวชี้วัด คงเป็นอีกเรื่องหนึ่งที่ต้องประเมินอย่างตรงไปตรงมาและยอมรับในสถานการณ์ที่เกิดขึ้นใหม่นี้

เคยมีคนบอกแล้วไงว่า อย่าว่าแต่ 20 ปีเลย แค่ปีสองปี ทุกอย่างก็เปลี่ยนมากมายแล้ว

ทุกวันนี้เรายังไม่เห็นการขยับปรับเปลี่ยนใดๆ ของคณะกรรมการยุทธศาสตร์แห่งชาติ ยกเว้นเรื่องเดียวครับคือ ปรับเพิ่มเบี้ยประชุมจากรายครั้งเป็นเหมาจ่ายรายเดือน แบบไม่ต้องประชุม ไม่มีผลงาน ก็รับค่าตอบแทนได้