ต่างประเทศ : วัคซีนโควิด-19 ความหวังที่อาจยังห่างไกลความจริง

ความสำคัญของการผลิตวัคซีนเพื่อจัดการกับการแพร่ระบาดของโคโรนาไวรัสสายพันธุ์ใหม่อย่างซาร์ส โคฟ-2 เชื้อก่อโรคโควิด-19 เป็นสิ่งที่ไม่สามารถปฏิเสธได้ เนื่องจาก “วัคซีน” เป็นความหวังเดียวที่จะทำให้มนุษยชาติสามารถกลับมาใช้ชีวิตได้ตามปกติอีกครั้ง

รัฐบาลหลายประเทศทุ่มเทงบประมาณมหาศาลเพื่อวิจัยและพัฒนาวัคซีนป้องกันโควิด-19 ให้ได้เร็วที่สุดเพื่อฟื้นคืนความเสียหายที่กัดกร่อนเศรษฐกิจโลกเป็นวงกว้างในเวลานี้

เวลานี้มีการทดสอบวัคซีนขึ้นในหลายๆ ประเทศ เช่น ในอังกฤษที่มีการลงนามข้อตกลงการผลิตกันไปแล้ว ขณะที่มหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ดที่ทำหน้าที่วิจัยวัคซีน เริ่มประกาศรับอาสาสมัคร 10,000 คนเพื่อทดสอบวัคซีนต้นแบบในเฟสถัดไป

อย่างไรก็ตาม ยังคงมีความห่วงกังวลว่า วัคซีนโควิด-19 อาจยังไม่สามารถทำได้สำเร็จในเร็ววันนี้

 

หากมองไปในอดีต เชื้อไวรัสเอชไอวี ที่นำไปสู่โรคเอดส์ นักวิทยาศาสตร์ใช้เวลานานกว่า 30 ปีในการควบคุมการแพร่ระบาด และในเวลานี้ก็ยังไม่มีวัคซีนผลิตขึ้นป้องกันเอชไอวีได้

ไวรัสไข้เลือดออกถูกพบครั้งแรกในปี ค.ศ.1943 แต่วัคซีนตัวแรกก็เพิ่งได้รับการอนุมัติไปเมื่อปี 2019 ที่ผ่านมา นับเวลาผ่านไปจากการค้นพบไวรัสครั้งแรกนานถึง 77 ปี

ขณะที่วัคซีนที่ผลิตขึ้นมาต่อสู้กับโรคได้เร็วที่สุดก็คือ “วัคซีนโรคคางทูม” ที่ใช้เวลาพัฒนาถึง 4 ปีเต็ม ส่วนโคโรนาไวรัสที่แพร่ระบาดก่อนหน้านี้อย่างซาร์สและเมอร์สนั้น จนถึงเวลานี้ก็ยังไม่มีวัคซีนที่ผลิตออกมาใช้ได้

อีกหนึ่งปัญหาในการพัฒนาวัคซีนโควิด-19 ครั้งนี้ก็คือ การที่โคโรนาไวรัสมีแนวโน้มที่จะไม่ได้สร้างภูมิคุ้มกันในร่างกายที่ยาวนานเพียงพอ

ผู้เชี่ยวชาญยกตัวอย่าง “โรคไข้หวัด” ธรรมดาๆ ที่เกิดขึ้นจากโคโรนาไวรัสในมนุษย์นั้น ระบบภูมิคุ้มกันที่ต่อต้านการติดเชื้อจะค่อยๆ ลดลงหลังระยะเวลาผ่านไป ทำให้สามารถกลับมาติดเชื้อได้อีกครั้งในอีก 1 ปีข้างหน้า

โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อไม่นานมานี้ นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ดได้นำเลือดของผู้ที่หายจากการติดเชื้อโควิด-19 มาวิเคราะห์และพบว่า ระดับภูมิคุ้มกัน IgG ที่มีบทบาทในการทำให้ภูมิคุ้มกันมีประสิทธิภาพยาวนานนั้นมีสูงขึ้นอย่างมากในเดือนแรกหลังหายป่วย แต่กลับค่อยๆ ลดลงหลังเข้าสู่เดือนที่ 2

ขณะที่นักวิทยาศาสตร์จากมหาวิทยาลัยร็อกเกเฟลเลอร์ในนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา ก็พบด้วยว่าผู้ป่วยโควิด-19 ที่ไม่ได้ไปโรงพยาบาลไม่ได้มีระดับภูมิคุ้มกันที่เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งนั่นสะท้อนถึงประสิทธิภาพของวัคซีนในอนาคตด้วยเช่นกัน

 

อีกหนึ่งความท้าทายก็คือ “การกลายพันธุ์” ของไวรัส ซึ่งจะส่งผลกระทบโดยตรงกับการผลิตวัคซีน แม้เวลานี้ไวรัสซาร์ส-โคฟ-2 จะยังคงไม่มีการกลายพันธุ์มากนัก แต่หากเกิดความเปลี่ยนแปลงขึ้นในโปรตีนบริเวณหนามแหลมของไวรัสแล้วละก็ วัคซีนที่ผลิตมาก่อนหน้าจะล้าสมัยและไม่มีประสิทธิภาพเพียงพอในทันที

ยกตัวอย่างเชื้อไวรัสเอชไอวี ที่มีการกลายพันธุ์อย่างต่อเนื่อง นั่นส่งผลให้เวลานี้ยังคงไม่สามารถผลิตวัคซีนขึ้นมาต้านไวรัสเอชไอวีได้นับจนถึงปัจจุบัน

อีกสิ่งหนึ่งที่ต้องคำนึงถึงก็คือความปลอดภัยของวัคซีนที่จะต้องมั่นใจได้ว่าการใช้ป้องกันโรคในมนุษย์นับล้านๆ คนจะไม่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพ

ยกตัวอย่างวัคซีนที่พัฒนาขึ้นสำหรับโรคซาร์สเมื่อปี 2004 พบผลข้างเคียงทำให้เกิดอาการตับอักเสบในตัวเฟอร์เรตส์

อีกสิ่งหนึ่งที่ต้องคำนึงถึงคือ ภูมิคุ้มกันที่เร่งปฏิกิริยาให้การติดเชื้อในอนาคตมีอาการรุนแรงขึ้น อย่างที่เคยพบในการทดลองวัคซีนโรคซาร์สและโรคเมอร์สในสัตว์ก่อนหน้านี้

 

ปัญหาเหล่านี้ล้วนต้องใช้เวลาในการทำความเข้าใจทั้งสิ้น

แน่นอนว่าวัคซีนโคโรนาไวรัสไม่ได้มีประสิทธิภาพแบบเต็ม 100 เปอร์เซ็นต์ วัคซีนที่เวลานี้อยู่ระหว่างการพัฒนา นำวิธีการต่างๆ กันมาใช้ ตั้งแต่การทำให้ไวรัสอ่อนแอลง เรื่อยไปจนถึงการใช้เทคโนโลยีส่งรหัสพันธุกรรมเข้าไปในเซลล์เพื่อทำลายโปรตีนที่หนามแหลมของไวรัสเพื่อให้ระบบภูมิคุ้มกันสร้างภูมิคุ้มกันขึ้นมาต่อต้าน

ตามหลักการแล้ววัคซีนจะสร้างภูมิคุ้มกันระดับสูงและคงทนนานหลายปีเพื่อกำจัดไวรัส รวมไปถึงผลิตทีเซลล์เพื่อทำลายเซลล์ที่ติดเชื้อ

อย่างไรก็ตาม วัคซีนแต่ละชนิดที่กำลังพัฒนาในเวลานี้ก็มีวิธีการที่จะออกฤทธิ์แตกต่างกันไป และยังไม่มีใครรู้ว่าระบบภูมิคุ้มกันต่อต้านไวรัสแบบไหนที่จะดีพอที่จะใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพ

วัคซีนหลายตัวในเวลานี้บ้างทำให้ผู้รับวัคซีนมีระดับภูมิคุ้มกันเหมือนกับคนที่หายป่วยจากโควิด-19

ขณะที่วัคซีนบางตัวที่อยู่ระหว่างการพัฒนาไม่ได้ช่วยให้ลิงทดลองรอดจากการติดเชื้อ แต่ป้องกันอาการปอดอักเสบ ที่เป็นสาเหตุของการเสียชีวิตส่วนใหญ่ลงได้

นั่นหมายความว่า อาจมีวัคซีนที่ลดการเสียชีวิตจากการติดเชื้อลงได้ แต่ก็ไม่ได้ช่วยลดการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสแต่อย่างใด ซึ่งโลกอาจสามารถใช้วิธีนี้ลดโอกาสการเสียชีวิตในประชากรกลุ่มเสี่ยงอย่างผู้สูงอายุได้

แต่การที่วัคซีนไม่ได้หยุดยั้งการแพร่ระบาดก็อาจส่งผลเสียในอีกด้าน นั่นก็คือ การเปิดโอกาสให้เชื้อไวรัสมีโอกาสกลายพันธุ์ได้มากขึ้นเช่นเดียวกัน

 

ผู้เชี่ยวชาญระบุว่า แม้มนุษย์จะสามารถผลิตวัคซีนที่สร้างภูมิคุ้มกันได้หลายปีก็ตาม ก็ยังยากที่จะเอาชนะเชื้อไวรัสที่จะยังคงกลับมาแพร่ระบาดได้เสมอ โดยเฉพาะโควิด-19 ที่สามารถแพร่ระบาดได้โดยที่ผู้ติดเชื้อไม่มีอาการ

แม้กระบวนการพัฒนาวัคซีนจะประสบผล สามารถทดสอบความปลอดภัย เข้าสู่กระบวนการผลิตได้ก็ตาม ยังคงมีปัญหาอุปสรรคในเรื่องการเข้าถึงวัคซีนที่ต้องเป็นไปอย่างทั่วถึงทั้งโลก ไม่ใช่เพียงแต่ชาติร่ำรวยที่จะมีสิทธิเข้าถึงวัคซีนได้เท่านั้น

เพราะต้องไม่ลืมเช่นกันว่า หากยังคงเกิดการแพร่ระบาดในที่ใดที่หนึ่งบนโลก โอกาสที่จะกลับมาแพร่ระบาดครั้งใหญ่อีกครั้งก็ยังคงเป็นไปได้

ความสำเร็จของวัคซีนในเวลานี้ดูเหมือนจะยังไม่มีความแน่นอนใดๆ แต่สิ่งที่จริงแท้แน่นอนก็คือ มนุษยชาติอาจจะต้องอยู่กับโคโรนาไวรัสสายพันธุ์ใหม่อย่างโควิด-19 ไปอีกนานแสนนาน

 


พิเศษ! สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์, ศิลปวัฒนธรรม และเทคโนโลยีชาวบ้าน ลดราคาทันที 40% ตั้งแต่วันนี้ – 30 มิ.ย.63 เท่านั้น! คลิกดูรายละเอียดที่นี่