วงค์ ตาวัน | วันลบรอยกระสุน 2553

วงค์ ตาวัน

เหตุการณ์ 99 ศพที่จบลงในวันที่ 19 พฤษภาคม 2553 ซึ่งไม่ควรจะเกิดเหตุเศร้าสลดซ้ำในเย็นนั้นอีก เมื่อม็อบสลายไปแล้ว แกนนำถูกคุมตัวไปกักขังหมดแล้ว แต่ยังมีการยิงใส่เข้าไปในวัดปทุมวนาราม ซึ่งมีผู้ชุมนุมจากราชประสงค์เข้ามาหลบภัยอย่างเสียขวัญ จนมีผู้เสียชีวิตในค่ำคืนนั้นอีก 6 คน เป็นอาสาพยาบาล กู้ภัย ผู้ชุมนุม ไม่มีใครเป็นผู้ก่อการร้ายชายชุดดำ

แต่หลังจากนั้นอีก 4 วัน ยังเกิดการกระทำที่น่าสลดหดหู่ใจอย่างที่สุด คือกิจกรรมบิ๊กคลีนนิ่งเดย์ ในวันที่ 23 พฤษภาคม 2553

นักกิจกรรมชนชั้นกลางและคนกรุงเทพฯ แห่กันมาทำความสะอาด ชะล้างภาพความรุนแรง เป็นการแสดงออกเพื่อก้าวข้ามเหตุขัดแย้งในบ้านเมือง

แต่สำหรับคนอีกฝ่ายมองว่า นั่นคือวันกลบเกลื่อนเหตุการณ์ปราบปรามประชาชนจนมีคนตายร่วม 100 คน ซึ่งจะต้องมีการสอบสวนหาความจริงและต้องมีการดำเนินคดี ไม่ใช่พยายามทำให้ลืมเลือนไป

“รวมทั้ง คือวันทำลายพยานหลักฐานของเหตุการณ์อีกด้วย นอกเหนือจากพยายามลบล้างประวัติศาสตร์ ที่สังคมไทยไม่ควรลืมเลือน!”

“วรรณสิงห์ ประเสริฐกุล” ลูกชายของอดีตผู้นำนักศึกษายุค 14 ตุลาคม 2516 ต้องออกมาขอโทษต่อสังคม เมื่อมีการขุดภาพที่เห็นการเข้าร่วมบิ๊กคลีนนิ่งในวันนั้นด้วย

โดยอธิบายว่า ยอมรับครับ ไม่ได้เข้าใจอะไรเรื่องบ้านเมืองมากนัก อายุ 25 ปี ชนชั้นกลาง ไม่ได้เข้าใจจริงๆ ว่าทำไมถึงมีการชุมนุม

มองย้อนกลับไป เข้าใจแล้วว่ามันเป็นการเข้าร่วมทำลายหลักฐาน และการไม่ให้เกียรติผู้ตายอย่างไรบ้าง ตอนนั้นไม่เข้าใจ

“ขอโทษครับ”

อันที่จริงคำอธิบายดังกล่าว เป็นการสะท้อนให้เห็นถึงทัศนคติของชนชั้นกลางและคนกรุงเทพฯ ในเวลานั้นได้เป็นอย่างดี

เพราะเสื้อแดงที่ร่วมชุมนุม ส่วนใหญ่เป็นคนชนบทจากอีสานและจากภาคเหนือ มีความแตกต่างในทางชนชั้นปรากฏอยู่

อีกทั้งเจ้าภาพที่จัดวันบิ๊กคลีนนิ่งก็คือ กทม. ในยุคที่ผู้ว่าฯ สังกัดพรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งเป็นพรรคเดียวกับนายกฯ และรองนายกฯ ฝ่ายความมั่นคงในเหตุการณ์นั้น

“ในทางกลับกัน กลายเป็นคำถามว่า เหตุใดจึงมีการชักนำคน กทม.และชนชั้นกลางให้ออกมาลบล้างลบเลือนเหตุการณ์วันนั้น!?!”

ถ้ามั่นใจว่า เสื้อแดงกระทำผิดพลาด เสื้อแดงเผาบ้านเผาเมือง มีชายชุดดำ ก่อการร้ายแฝงในม็อบ และฆ่ากันเอง มีแต่ต้องเร่งพิสูจน์ความจริงให้ชัด

ต้องกล้าเปิดเผยปฏิบัติการของเจ้าหน้าที่ทหารภายใต้คำสั่ง ศอฉ.ว่า ทำดีทำถูกต้องเช่นไร ไม่เคยยิงคนตายแม้แต่ศพเดียว

เหตุใดจึงพยายามจะให้ทุกคนก้าวข้ามความขัดแย้งความรุนแรงนั้นไป

สามัญสำนึกปกติ ต้องเกิดข้อสังเกตไม่ยากว่า ใครกล้าใครไม่กล้าพิสูจน์ความจริงกันให้เปิดเผยชัดเจน

แต่จะว่าไปแล้ว หลังเรื่องราวผ่านมา 10 ปี ด้วยเหตุการณ์ที่เกี่ยวเนื่องเชื่อมโยงกันหลายอย่าง ทำให้เด็กๆ เยาวชนหนุ่มสาวในปี 2553 ซึ่งเติบโตขึ้นมาอีก 10 ปีในปีนี้ ได้เริ่มทำความเข้าใจกับกรณี 99 ศพเมื่อปี 2553 ด้วยมุมมองแบบใหม่มากขึ้น

ยิ่งกลุ่มการเมืองตัวแทนคนรุ่นใหม่ได้ถูกกระทำอย่างอยุติธรรมทางการเมือง จนต้องกลายมาเป็นคณะก้าวหน้า ได้โดดเข้ามาร่วมตามหาความจริงของเหตุการณ์ปี 2553 นับว่าได้จุดประกายให้คนรุ่นใหม่จำนวนมากต้องสนใจศึกษา

“ปรากฏการณ์ที่เกี่ยวข้องกันทำให้เห็นภาพความจริงได้ในระดับหนึ่งก็คือ”

การรวมตัวประท้วงใหญ่ของเสื้อแดงในเดือนมีนาคม 2553 เริ่มต้นจากการไม่ยอมรับรัฐบาลขณะนั้น ว่ามีที่มาอย่างไม่ชอบธรรม รวมทั้งข้อเรียกร้องคือให้ยุบสภา ซึ่งเป็นการเสนอทางออกตามแนวทางประชาธิปไตยอย่างแท้จริง

เมื่อขัดแย้ง เมื่อมีปัญหา ไม่เป็นที่ยอมรับ ก็คืนอำนาจให้ประชาชนส่วนใหญ่ตัดสิน เป็นทางออกตามครรลองประชาธิปไตย

เหตุที่ไม่ยอมรับรัฐบาลนั้น เนื่องจากไม่ได้เข้าสู่อำนาจเพราะชนะการเลือกตั้งในปี 2550 แต่ด้วยมีการพลิกขั้วการเมือง และมีการเจรจาลับในค่ายทหาร ก่อนจะมาโหวตกันในสภา ได้เป็นรัฐบาลในปลายปี 2551

“ผู้นำกองทัพขณะนั้นมีใครบ้าง รัฐบาลขณะนั้นมีใครเป็นแกนหลัก เจรจากันในบ้านใคร!!”

เมื่อเสื้อแดงเรียกร้องให้ยุบสภา แต่รัฐบาลไม่เอาด้วย การชุมนุมจึงยืดเยื้อและมีการเผชิญหน้าตึงเครียดมากขึ้นเรื่อยๆ

สุดท้ายรัฐบาลอาศัยข้ออ้างว่ามีผู้ก่อการร้าย จึงไม่ปฏิบัติตามมติ ครม.ในยุครัฐบาลอานันท์ ปันยารชุน ที่สรุปบทเรียนการนองเลือดพฤษภาคม 2535 โดยให้ยกเลิกกฎหมายที่ให้ทหารเข้ามาเกี่ยวข้องกับม็อบ ให้จัดตั้งตำรวจปราบจลาจลเต็มรูปแบบ ต่อไปนี้การคุมม็อบต้องมีแต่แก๊สน้ำตา กระสุนยาง โล่ กระบอง

แต่ด้วยการอ้างกลุ่มชายชุดดำ ผู้ก่อการร้าย จึงใช้อำนาจ ศอฉ. ให้ทหารเข้าปฏิบัติการ และใช้กระสุนจริงด้วย ไม่มีแล้วแก๊สน้ำตา กระสุนยาง

“คนที่เจรจากันจัดตั้งรัฐบาลในปี 2551 และร่วมกันสลายม็อบเสื้อแดงในปี 2553 ก็คือกลุ่มเดียวกัน ทั้งผู้นำการเมืองและผู้นำกองทัพ”

สุดท้ายตายไป 99 คน

“ไม่มีแม้แต่ศพเดียวที่เป็นชายชุดดำ ผู้ก่อการร้าย”

 

ต่อมามีการเลือกตั้งในปี 2554 ผลก็คือ ประชาธิปัตย์พ่ายแพ้เลือกตั้งแก่พรรคเพื่อไทย กระบวนการรวบรวมพยานหลักฐานเพื่อดำเนินคดีในเหตุการณ์ปี 2553 จึงเดินหน้า

แล้วเกิดเหตุการณ์ม็อบนกหวีด ประท้วงขับไล่รัฐบาลยิ่งลักษณ์ในปลายปี 2556 ถึงต้นปี 2557

บ้านเมืองเข้าสู่ทางตัน เปิดทางให้รถถังออกมายึดอำนาจ 22 พฤษภาคม 2557

ทั้งนักการเมืองและนักการทหารในเหตุการณ์ปี 2557 ก็ชุดเดียวกันอีก!!

ในการประท้วงรัฐบาลยิ่งลักษณ์ต้นปี2557 นั้น ต่อมารัฐบาลเองรู้ว่าไปต่อได้ลำบาก จึงเลือกหนทางยุบสภา ให้เลือกตั้งใหม่ แต่แกนนำม็อบไม่ยอมรับแนวทางนี้ สร้างกระแสต้องปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง คือยังไม่ยอมให้เลือกตั้งในขณะนั้น ทำให้ทุกอย่างเข้าทางรถถัง

น่าคิดว่า ย้อนไปในปี 2553 ม็อบเสื้อแดงเรียกร้องให้ยุบสภาและการเลือกตั้งใหม่ รัฐบาลนั้นไม่เอาด้วย ไม่ยอมยุบสภา

พอบางคนในรัฐบาลปี 2553 มาเป็นแกนนำม็อบในปี 2557 แล้วรัฐบาลประกาศยุบสภา ให้เลือกตั้งใหม่ ฝ่ายแกนนำม็อบก็ไม่เอายุบสภาอีก

“เป็นเรื่องประหลาดไม่น้อย”

ในปี 2553 ไม่ยอมยุบสภา เลือกแนวทางจัดการม็อบแบบแข็งกร้าว ก็เลยเป็นบทบาททหารในการสลายชุมนุม

ในปี 2557 รัฐบาลขอยุบสภา แต่ผู้นำม็อบไม่เลือกแนวยุบสภา ก็เลยเป็นบทบาททหารอีก แต่เป็นการยึดอำนาจการปกครอง

“ความเป็นพันธมิตรร่วมกันเพื่อเข้าสู่อำนาจ รักษาอำนาจ และทวงคืนอำนาจของนักการเมืองและผู้นำทหารกลุ่มหนึ่ง ผูกพันต่อเนื่องกันมาตลอดจริงๆ”

เห็นได้เลยว่าร่วมหัวจมท้ายกันมาตั้งแต่ปี 2551 ยันถึงปี 2563 ก็ยังรักษาอำนาจนั้นเอาไว้ต่อไป

ปรากฏการณ์เกี่ยวเนื่องกันเหล่านี้ คนจำนวนไม่น้อยที่สนใจศึกษา จะเห็นความจริงได้ไม่ยาก

เห็นความรุนแรงที่ไม่ควรเกิดในคืนวันที่ 10 เมษายน 2553 ไปจนถึงคืน 19 พฤษภาคม ที่ม็อบจบสิ้นไปแล้ว ยังมีคนถูกฆ่าในวัดอีก

ไปจนถึงเห็นวันพยายามลบล้างเลือด กลบเหตุคนตาย ลบร่องรอยกระสุนจริง ในวันที่ 23 พฤษภาคม 2553!


พิเศษ! สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์, ศิลปวัฒนธรรม และเทคโนโลยีชาวบ้าน ลดราคาทันที 40% ตั้งแต่วันนี้ – 30 มิ.ย. 63 เท่านั้น! คลิกดูรายละเอียดที่นี่