คำ ผกา | สลิ่มไม่ได้เลิกเป็นกันง่ายๆ

คำ ผกา

สัปดาห์ที่ผ่านมามีการรำลึกถึงการครบรอบ 6 ปีรัฐประหารปี 2557 และมีการรำลึกการครบรอบ 10 ปีการล้อมปราบประชาชนกลางเมืองในปี 2553

ผลแห่งการรำลึกนั้นทำให้เกิดการอภิปรายที่ค่อนข้างน่าสนใจเกี่ยวกับกรณีของคนที่ฉันจะเรียกว่าเป็น influencer ของคนรุ่นใหม่คือ วรรณสิงห์ ประเสริฐกุล และคำขอโทษของเขาเรื่องการออกไปร่วมงาน Big Cleaning Day

จากนั้นก็นำไปสู่การอภิปรายกันใหญ่โตว่าคำขอโทษนี้ฟังขึ้นหรือฟังไม่ขึ้น

ท้ายที่สุด มันไม่เกี่ยวกับวรรณสิงห์ละ แต่เป็นการซักฟอกกันเองระหว่างฝ่ายสนับสนุนประชาธิปไตยว่า ใจแคบหรือเปล่า?

ตกลงเป็นประชาธิปไตยจริงเปล่าเนี่ย เที่ยวกีดกันคนออก แค่เป็นเสื้อแดงนี้ จะตั้งตัวเป็นเจ้าของขบวนการประชาธิปไตยเหรอ?

ฉันคิดว่าคำถามนี้น่าสนใจมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเราวางมันไว้ในบริบทของประวัติศาสตร์การเมืองไทยร่วมสมัย และการขยับเขยื้อนเปลี่ยนตำแหน่งแห่งที่ของอุดมการณ์การเมืองไทยว่าอะไรคือกระแสหลัก และอะไรคืออุดมการณ์ทวนกระแสในช่วงสิบปีที่ผ่านมา

มีงานที่ศึกษาเรื่องอุดมการณ์ทั้งในมิติการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม อันสัมพันธ์กับสีเสื้อที่น่าสนใจมาก

นั่นคืองานวิจัยของทีมอาจารย์อภิชาติ สถิตนิรามัย

ซึ่งฉันขอใช้กรอบการมองและข้อมูลในงานวิจัยของอาจารย์มาสรุปเป็นความเข้าใจของฉันเอง

ดังนี้

อาจารย์อภิชาติพบว่า กลุ่มคนเสื้อเหลืองที่สนับสนุนรัฐประหาร และมีภาพหลอนของระบอบทักษิณ ต้องการการปฏิรูปการเมือง การเมืองคนดี ซึ่งฉันขอเรียกว่าเป็นกลุ่มที่มีอุดมการณ์ทางการเมือง “ล้าหลัง”

แต่พอไปดูในมิติวัฒนธรรมจะพบว่า กลุ่มคนกลุ่มนี้กลับมีมิติของความก้าวหน้า เช่น สนับสนุนการแต่งงานของคนเพศเดียวกัน สนับสนุนการทำแท้ง มีทัศนคติเรื่องเพศ เรื่องผู้หญิงที่ “ลิเบอรัล”

และเมื่อพวกเขาวิจารณ์การเมืองของต่างประเทศ คนกลุ่มนี้มีแนวคิดสนับสนุนขบวนการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย และต่อต้านเผด็จการ “ที่อื่น” พูดเป็นภาษาชาวบ้านกว่านั้นคือ ความตลกของคนกลุ่มนี้คือ มีมิติของอุดมการณ์ประชาธิปไตยในทุกเรื่อง ทุกที่ ยกเว้นเรื่องการเมืองในบ้านตัวเอง

ส่วนกลุ่มคนเสื้อแดงที่ต่อต้านการรัฐประหาร มีความเข้าใจเรื่องการเมืองในระบอบประชาธิปไตยในมิติของ electoral system เป็นอย่างดี

สำหรับพวกเขา การมีนักการเมือง และพรรคการเมืองที่ represent เสียงและความต้องการของพวกเขาในสภา คือสิ่งที่ตอบโจทย์

การรัฐประหารเป็นเรื่องยอมรับไม่ได้เพราะมันคือการปล้นอำนาจของประชาชน

ในมิติทางเศรษฐกิจ คนกลุ่มนี้สนับสนุนแนวนโยบายเศรษฐกิจเสรีนิยมใหม่ (ในขณะที่กลุ่มคนเสื้อเหลืองมีแนวโน้มจะวิพากษ์สิ่งนี้ในนามของทุนสามานย์)

ในมิติวัฒนธรรม คนเสื้อแดงมีแนวโน้มเป็นอนุรักษนิยมในเรื่องเพศ นั่นคือนิยมในหลักการผัวเดียวเมียเดียว ไม่สนับสนุนการทำแท้ง สนับสนุนโทษประหารชีวิต ไม่สนับสนุนการแต่งงานของเพศเดียวกัน ไม่สนับสนุนสิทธิของ sex workers ฯลฯ ศาสนา

(และในความเห็นส่วนตัวฉันพบว่า ในหมู่คนเสื้อแดงจำนวนไม่น้อยมีลักษณะของการเป็นพุทธศาสนิกแบบ fundamental ด้วย)

ย้อนกลับไปดูสังคมไทยก่อนมีรัฐประหาร 2549 เราจะพบว่า กลุ่มคนที่เป็นแนวร่วมของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยและมาเป็นนกหวีดนั้น ล้วนแต่เป็นอดีต “แกนนำ” ที่ร่วมต่อสู้ขับไล่เผด็จการ และเรียกร้องประชาธิปไตยในเหตุการณ์สำคัญในประวัติศาสตร์การเมืองไทยมาแล้วทั้งนั้น ไม่ว่าจะเป็น 14 ตุลาฯ , 6 ตุลาฯ, พฤษภา 35 หลายคนเคยเข้าป่าไปอยู่กับ พคท. หลายคนเคยเป็นนักโทษการเมือง ติดคุก หรือต้องหนีไปต่างประเทศมาแล้วด้วยซ้ำ

หนังสือพิมพ์ “ผู้จัดการ” หลังปี 2535 เป็นหนังสือพิมพ์ที่มีลักษณะของการเป็น intelecctual อย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นกับหนังสือพิมพ์ไทยฉบับไหนมาก่อน

จะเชื่อไหม ถ้าฉันจะบอกว่า อ่านหนังสือพิมพ์ผู้จัดการในยุคโน้นนนนนนนนน เหมือนเราอ่าน The Guardians เป็นหนังสือพิมพ์ที่ไม่ขายภาพโป๊ ดารา ไม่มีข่าวชาวบ้าน เน้นข่าวหนักๆ ข่าวมีสาระ

นำเสนอข่าวในแวดวงศิลปะ วัฒนธรรม เชิงลึก สัมภาษณ์ศิลปินสายแหกขนบ วิพากษ์ความเป็นไทยประเพณีแบบถึงรากถึงโคน

มีคอลัมนิสต์มันส์ๆ อย่างเกษียร เตชะพีระ ที่มาถกเรื่องความเป็นไทย ความเป็นจีน

มีคอลัมน์วิวาทะเรื่อง “ชาตินิยม” แบบล้ำๆ นำสมัย มีข้อถกเถียงเกี่ยวกับปรัชญาโพสต์โมเดิร์นอย่างเป็นจริงเป็นจัง

งานวิจารณ์วรรณกรรม ละคร ก็เผ็ดร้อน และอาจบอกได้ว่า นักวิชาการสายวิพากษ์ชั้นนำของเมืองไทยทุกคนเป็นคอลัมนิสต์อยู่ในหนังสือพิมพ์ผู้จัดการ

มองย้อนไปแบบนี้ ฉันจึงมีข้อสรุปแบบมักง่ายว่า ถ้าไม่มีรัฐประหารนะ สลิ่มไทยคือเดโมแครตในอเมริกา และเสื้อแดงคือรีพับลิกัน

แต่ข้อผิดพลาดของการศึกษาประวัติศาสตร์การเมืองไทยคือ เราเป็นจุดบอดเล็กๆ ที่เราก้าวข้ามไม่ได้ด้วยกันทั้งสิ้นในทุกสีทุกฝ่าย

เช่น เราไม่ยอมรับเรื่องภาวะ “อาณานิคม” ของเรา ซึ่งเป็นภาวะอาณานิคมที่โคตรซับซ้อน (การไม่ยอมรับนี้ทำให้ประวัติศาสตร์ตอนสำคัญหลายตอนถูกมองข้าม เพิกเฉย เช่น การประกาศเอกราชหลังได้เอกราชทางการศาลจนมีการสร้างอาคารศาลฎีกาหลังที่ถูกรื้อไปเป็นการรำลึก)

เมื่อเราไม่ยอมรับภาวะอาณานิคม ก็ทำให้การพูดถึงกำเนิดรัฐชาติไทยสมัยใหม่บิดเบี้ยวไปอย่างยากจะกอบกู้ หรือนำมาอธิบายให้เข้าใจได้โดยง่าย

เมื่อพูดถึงกำเนิดรัฐชาติไทยสมัยใหม่โดยไม่สัมพันธ์กับภาวะอาณานิคมก็ทำให้การพูดถึงปฏิวัติสยาม 2475 เข้ารกเข้าพงไปอีกอย่างไม่อาจจะกอบกู้

เมื่อพูดถึงปฏิวัติสยาม 2475 อย่างซื่อสัตย์ไม่ได้ก็ทำให้การพูดถึงคนอย่างพิบูล ปรีดี เสรีไทย อยู่ผิดที่ผิดทาง อีเหละเขละขละ โดยพร้อมหน้ากัน

หนึ่งในความผิดพลาดในนั้นคือในหมู่บรรดาสาย “ก้าวหน้า” ของปัญญาชนไทย – จะด้วยเหตุผลและเงื่อนไขใดก็ตามแต่ – ผลลัพธ์ที่ตกผลึกในมโนทัศน์ทางการเมืองคือ ปรีดีเป็นพระเอก และพิบูลเป็นผู้ร้าย ภาพปรีดีเป็นประชาธิปไตยสายก้าวหน้า แต่พิบูลได้ภาพจอมเผด็จการฟาสซิสต์ไป

ความผิดพลาด ผิดที่ผิดทางระหว่างอุดมการณ์ ประวัติศาสตร์ ข้อเท็จจริง อุดมคติ ติดตามคนไทย สังคมไทยเรื่อยมา จนเกิดเหตุการณ์14 ตุลาฯ, 6 ตุลาฯ ระหว่างนี้มีประวัติศาสตร์ของพรรคประชาธิปัตย์ จนนักศึกษารุ่นเข้าป่า ออกจากป่า ไปเรียนเมืองนอก กลับมาเป็น “ชนชั้นนำ” ทาง “ปัญญา” จนคนกลุ่มนี้กลายเป็นคนใหญ่คนโตในแวดวงต่างๆ ทั้งวิชาการ วิทยาศาสตร์ แพทย์ สื่อ ฯลฯ

ความลักลั่น หรืออาจเรียกได้ว่าพิลึกพิลั่นหลายอย่างที่ฉันคิดว่าควรได้รับการอธิบายทำความเข้าใจ

เช่น เหตุใดพุทธทาสภิกขุจึงเป็นตัวแทนของแนวคิด “ก้าวหน้า” ในหมู่ปัญญาชนหัว “ก้าวหน้า” ในสังคมไทย?

และนั่นเป็นคำถามที่ต้องได้รับการสะสางทำความเข้าใจกันใหม่หรือไม่ว่า ส่วนหนึ่งที่ขับเคลื่อนขบวนการนักศึกษา ทั้ง 14 ตุลาฯ และ 6 ตุลาฯ คืออะไรกันแน่?

ขับไล่เผด็จการ ใช่ ถูกต้อง แต่คำว่าเผด็จการนั้นหมายถึง “ตัวบุคคล” หรือหมายถึง “เผด็จการ” ในเชิงอุดมการณ์ และสิ่งที่พวกเขาเรียกว่า “ประชาธิปไตย” นั้นมีนิยามที่ตรงกับสิ่งที่เรานิยามหรือไม่?

หรือแม้กระทั่งความหมายของคำว่า “ชาติ” ในหมู่ขบวนการนักศึกษายุคนั้น ณ ขณะนั้น ชาติหมายถึงอะไรกันแน่?

ในขณะที่การรับรู้ประวัติศาสตร์ไทยร่วมสมัยของเรามันค่อนข้างผิดที่ผิดทาง แต่เวลาเดียวกันก็มี uprising ของชนชั้นกลางใหม่ในรูปของขบวนการนักศึกษาเรียกร้องประชาธิปไตย ขับไล่เผด็จการมาตั้งแต่ปี 2516 เรื่อยมาจนถึงพฤษภาทมิฬ 2535

ฉันคิดว่า uprising เหล่านี้ที่เกิดขึ้นท่ามกลางความรู้ความเข้าใจประวัติศาสตร์ที่มีโครงเรื่องหลักเป็นประวัติศาสตร์ฉบับที่ถูกถักทอขึ้นโดยปัญญาชนกลุ่มที่ถูกเนรเทศไปเกาะตะรุเตา และกลุ่มนักโทษการเมืองคดีกบฏบวรเดชที่ภายหลังพ้นโทษ และได้รับการนิรโทษกรรมกลับมา งานประวัติศาสตร์ และชุดคำอธิบายทางสังคมศาสตร์ ภาษาศาสตร์ของคนกลุ่มนี้ เช่น สอ เสถบุตร กับงานพจนานุกรมของเขา

ไม่นับงานเขียนเรื่องเล่าทางการเมืองที่เขียนในระหว่างที่ถูกจำคุก และถูกนำมาตีพิมพ์ภายหลังอีก ส่งอิทธิพลถึงนักคิด นักเขียน ปัญญาชนไทย อย่างมหาศาล และส่งผลมาถึงปัจจุบัน

สรุปอย่างง่ายและหยาบคือ ความอลวนทางอุดมการณ์และอุดมคติทางการเมืองไทยตั้งแต่อดีตปัจจุบัน เกิดจากการที่กลุ่มนักต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยของไทยรุ่นหลังจาก 2475 ลงมาเป็นกลุ่มปัญญาชน และผู้แอ๊กทีฟทางการเมืองที่ดันไปได้รับอิทธิพลทางความคิดการเมืองสมัยใหม่ (ที่เหมือนจะก้าวหน้า) จากกลุ่มต่อต้านคณะราษฎร ที่การ “เล่า” เรื่องการเมืองของพวกเขาจะเน้นที่การโจมตี “นักการเมือง” และไฮไลต์ไปที่ความ “รู้ไม่เท่าทัน” หรือความเขลาของชาวบ้านที่ถูกล่อลวงโดยนักการเมือง

ตลอดประวัติศาสตร์ของการลุกฮือ หรือต่อต้านเผด็จการ ในประวัติศาสตร์การเมืองไทยร่วมสมัยของไทยในนามของประชาธิปไตยจึงเป็นนิยามประชาธิปไตยที่ค่อนข้างคับแคบ

นั่นคือ นิยามประชาธิปไตยในแบบที่ค่อนข้างเป็นอุดมคติ นั่นคือ เป็นประชาธิปไตย+ธรรมาภิบาล เสมอเผลอๆ ก็ไปตกหล่มที่ “ธรรมาธิปไตย” ได้อย่างง่ายดายไปเลย นั่นคือ เป็นประชาธิปไตยดีนะ มีการเลือกตั้ง ยอดไปเลย แต่เราต้องได้นักการเมืองดี มีคุณภาพ มีการศึกษา สมถะ ถ่อมตัว ฉลาด ชอบอ่านหนังสือ อารมณ์ฝันถึงจัสติน ทรูโด ของแคนาดาตลอดเวลา

และตลอดประวัติศาสตร์ของการลุกฮือต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย เราก็ไม่ค่อยจะได้ยินเรื่องขบวนการชาวนาชาวไร่ ไม่ได้ยิน ส.ส.ภาคอีสานในอดีตที่ต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย

ไม่มีองค์ความรู้เกี่ยวกับ “ชาวบ้าน” ในหัวเมืองและความสัมพันธ์ของพวกเขากับ 2475 เลย ทั้งๆ ที่มันมีเรื่องพวกนี้อยู่

หรือประวัติศาสตร์ของชาวบ้านกับพรรคคอมมิวนิสต์ เรื่องถีบลงเขาเผาถังแดงก็เป็นเสี้ยวหนึ่งของประวัติศาสตร์เล็กๆ ที่เรายังไม่สามารถถักทอให้เป็นประวัติศาสตร์ไทยอีกเวอร์ชั่นหนึ่งที่ต้องเรียนรู้

รัฐธรรมนูญปี 2540 พรรคไทยรักไทยและทักษิณ ได้เริ่มนับหนึ่งปักธงสิ่งที่เรียกว่าเป็น populism democracy บางคนอาจจะเรียกว่าประชาธิปไตยประชานิยม

แต่ฉันขอเรียกว่าประชาธิปไตยกินได้ขึ้นเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์การเมืองไทย

และนั่นคือที่มาของสิ่งที่อาจารย์อภิชาติค้นพบคือ คนเสื้อแดงไม่เอารัฐประหาร แต่มีความ conservative ในมิติของการเมืองเชิงวัฒนธรรม พูดให้ง่ายกว่านั้นคือ นี่เป็นครั้งแรกที่เมล็ดพันธุ์ประชาธิปไตยมันเกิด จะงอกรากมาจากดิน ผลิใบขึ้นมาจากรากหญ้า

แต่ปฐมบทของมันเป็น populism และเป็น electoral คือ การเลือกตั้งทำให้ชีวิตความเป็นอยู่รายได้ของเราดีขึ้น

แต่เนื่องจากมันเพิ่งจะงอกรากผลิใบมาจากคนรากหญ้าที่อยู่ข้างล่าง มันจึงยังไม่เป็น identity politics ที่ขยายขอบเขตความหมายไปที่การเมืองเชิงอัตลักษณ์ สิ่งแวดล้อม คนชายขอบ ความหลากหลายทางเพศ หรือแม้กระทั่งมิติเรื่องธรรมาธิบาลก็เป็นมิติที่ไม่สำคัญเท่ากับว่ามันกินได้ไหม?

ในแง่นี้ความเป็น “เสื้อแดง” แบบ “ควายแดง” จึงมักถูกดูถูกอยู่ร่ำไปว่าเป็น red neck

ความป่วนของการเมืองไทยในเชิงอุดมการณ์จึงอยู่ตรงนี้

คนชั้นกลางคิดว่าตัวเองสู้เพื่อประชาธิปไตยแต่ดันเกลียดนักการเมือง

และรู้สึกว่าตัวเองเหนือกว่าชาวบ้านเพราะเข้าใจการเมืองเชิงอัตลักษณ์ การเมืองเชิงก้าวหน้า การเมืองแบบโพสต์โมเดิร์นต่างๆ

แต่กลับรับไม่ได้กับปฐมบทของประชาธิปไตยว่า จะดีจะชั่วยังไงต้องเริ่มต้นที่การเลือกตั้ง เลือกแล้วจะได้แบบทรัมป์ หรือดูแตร์เต มาอีกร้อยครั้งก็ต้องดันทุรังเลือกไปเรื่อยๆ ห้ามรัฐประหารเด็ดขาด

แต่ชนชั้นกลางที่คิดว่าตัวเองรักประชาธิปไตยมาก หัวก้าวหน้ามาก

เจอทักษิณทีเดียวพากันแห่ไปสนับสนุนรัฐประหารเป็นวรรคเป็นเวร

แล้วชนชั้นกลางที่คิดว่าตัวเองเข้าใจประชาธิปไตยดีกว่าชาวบ้านแม้จะกระมิดกระเมี้ยนไม่กล้าสนับสนุนรัฐประหารเพราะมันดูแย่เกินไป ก็อดไม่ได้ที่ใส่ ปล. ให้ตัวเองว่า ไม่เอาทหารนะ ไม่เอารัฐประหารนะ

แต่รับไม่ได้หรอกกับนักการเมือง พรรคการเมืองที่พาคนไปตาย เอาประชาชนไปสู้ให้ตัวเอง ใช้ประชาชนเป็นเครื่องมือ เสร็จแล้วก็มาทำการเมืองเลวๆ เหมือนเดิม ซื้อเสียง ขายเสียง การเมืองเก่า เก่ามากๆ แย่มากๆ มาสร้างการเมืองใหม่ ใสสะอาด เปี่ยมไปด้วยหัวใจและอุดมการณ์กันเถอะ

ฟังแล้วฉันสยองมาก เฮ้ย ยังไม่เข็ดกับการเอาประชาธิปไตยไปสับสนกับคำว่าคนดี ความดี ความใส ความสะอาด ความบริสุทธิ์ ความปราศจากผลประโยชน์กันอี๊กกกกกกกก

รู้ไหมว่ามีนาซีเท่านั้นแหละที่ obsess กับความ “ขาว” และ “ความสะอาด” ขนาดนั้น

กลับมาที่ข้อถกเถียงเรื่องวรรณสิงห์ กับคำขอโทษของเขาเรื่อง Big Cleaning Day ฉันคิดว่าคนเสื้อแดงที่เป็น “ชาวบ้าน” และมองจากสายตาคนชั้นกลาง คนเสื้อแดงเหล่านี้เป็นฝ่ายประชาธิปไตยแบบ red neck เสียด้วยซ้ำ ฉันคิดว่าคนเหล่านี้ไม่รู้จักวรรณสิงห์ ไม่สนใจวรรณสิงห์ ไม่ give a shit a damn ใดๆ กับคำขอโทษของวรรณสิงห์หรอก

สิ่งที่เราต้องการมีแค่ เมื่อไหร่ประยุทธ์จะไป เมื่อไหร่จะได้รัฐธรรมนูญที่ไม่ใช่รัฐธรรมนูญเพื่อการสืบทอดอำนาจ

ส่วนวรรณสิงห์ก็เป็นผลผลิตแบบชนชั้นกลางไทยที่มีความลิเบอรัล ก้าวหน้าในทุกเรื่องทุกประเด็นบนโลกใบนี้ มีชีวิตท่องโลกกว้าง ไม่ได้อยู่ในกะลา ถ้าอยู่อเมริกาคงเป็นเดโมแครต เกลียดทรัมป์

แต่พอเป็นเรื่องเมืองไทยก็ตายที่คำว่าทักษิณและนักการเมืองเลว

ปีที่ออกไป Big cleaning ก็เพราะตอนนั้นการเป็นสลิ่มมัน so cool so ฉลาด 10 ปีผ่านไป คนรุ่นใหม่ย้อนไปดูอดีตแล้วร้อง “เชี่ย” หนักมาก

แต่ในเมื่อวรรณสิงห์ยังอยากดู cool cool ในสายตาคนรุ่นใหม่ แถมที่ผ่านมายังไปมีกิจกรรมกับพรรคการเมืองของคนรุ่นใหม่ให้คนรุ่นใหม่ได้กรี๊ดกร๊าด

ดังนั้น วรรณสิงห์จะมาฝืนทำตัวเป็นพี่โจ นูโว ก็คงไม่ได้ เพราะมันเอาต์มากๆ หากทำเช่นนั้น วรรณสิงห์ก็ต้องไปอยู่กลุ่มเดียวกับอุ๊ แวนโก๊ะ โจ นูโว และแทค ภรัณยู หยึยยย ไม่ไหวนะ

ส่วนฉันไม่ได้รู้สึกว่าเราจะต้องไปกรี๊ดกร๊าดอะไรนักหนาที่สลิ่มกลับใจ เพราะถ้าไม่กลับใจสิ แปลก คนไม่กลับใจนี่น่าจะมีสองประเภทคือ ถ้าไม่ดักดานเกินทนก็คงเป็นสลิ่มโดยสัมมาชีพ

หรืออีกที เป็นสลิ่มแล้วไม่ดีต่อสัมมาชีพ

ถึงเวลามันก็ต้องเปลี่ยน ส่วนคนจะรับคำขอโทษหรือไม่ขอโทษ เราคงไปยุ่มย่ามกับความรู้สึกของใครไม่ได้ และไม่ควรเอามาเป็นอารมณ์แม้แต่น้อย แถมยังต้องเข้าใจให้ได้ว่าทำไมเขาไม่ยกโทษ

รักจะเป็นฝ่ายประชาธิปไตย ต้องไม่ลำไยนะ


พิเศษ! สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์, ศิลปวัฒนธรรม และเทคโนโลยีชาวบ้าน ลดราคาทันที 40% ตั้งแต่วันนี้ – 30 มิ.ย. 63 เท่านั้น! คลิกดูรายละเอียดที่นี่