จิตต์สุภา ฉิน | ทำความเข้าใจกฎการบินใหม่ ไร้โน้ตบุ๊ก-แท็บเล็ต

จิตต์สุภา ฉินFacebook.com/JitsupaChin

เวลาซู่ชิงต้องบินไฟลต์ยาวๆ ไปไหนสักแห่ง ถึงแม้ว่าบนเครื่องบินจะมีภาพยนตร์ใหม่ รายการทีวี ซีรี่ส์เรื่องโปรด มีเพลงให้ฟัง มีเกมให้เล่นแก้เบื่อ แต่ระบบความบันเทิงบนเครื่องบินมักจะไม่ใช่ตัวเลือกแรกของซู่ชิงหรอกค่ะ

บางครั้งบินสิบกว่าชั่วโมงโดยที่ไม่แกะหูฟังออกมาจากซองพลาสติกก็มี เพราะส่วนตัวแล้วจะชอบฆ่าเวลาบนเครื่องบินด้วยหลากหลายแก็ดเจ็ตที่ตัวเองพกขึ้นไปด้วยมากกว่า ทั้งสมาร์ตโฟน เครื่องเล่นเกมพกพา เครื่องอ่านหนังสืออิเล็กทรอนิกส์ หรือบางครั้งก็หยิบคอมพิวเตอร์โน้ตบุ๊กขึ้นมาทำงาน

ทั้งหมดนี้สลับกันไปมาไม่กี่ครั้งก็ได้เวลาแลนดิ้งแล้ว

ดังนั้น เมื่อจู่ๆ สหรัฐอเมริกาออกมาประกาศกฎการบินใหม่ที่ห้ามนำอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ขนาดใหญ่กว่าสมาร์ตโฟนขึ้นเครื่องและมีผลต่อเที่ยวบินจาก 8 ประเทศตะวันออกกลาง ก็ทำให้ซู่ชิง (และนักเดินทางอีกจำนวนมากทั่วโลก) ร้องอุทานว่า อ้าว เฮ้ย! ออกมา

และถึงแม้ว่าคนไทยเห็นข่าวเรื่องนี้โดยดูจากคีย์เวิร์ดว่า “สหรัฐ” และ “ตะวันออกกลาง” แล้วจะรู้สึกว่ามันไม่น่าจะเกี่ยวกับตัวเรา

แต่จริงๆ สักวันหนึ่งมันก็จะมาเกี่ยวข้องกันจนได้

เพราะฉะนั้น เรามาทำความเข้าใจกฎนี้กันสักหน่อยค่ะ

รายละเอียดของกฎข้อนี้คืออะไร

สหรัฐอเมริกาประกาศห้ามนำอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่มีขนาดใหญ่กว่าสมาร์ตโฟนติดตัวขึ้นเครื่องบิน โดยบังคับให้ต้องโหลดไปพร้อมกับสัมภาระใต้เครื่องเท่านั้น มีผลกับเที่ยวบินที่บินตรงเข้าสู่สหรัฐจาก 8 ประเทศตะวันออกกลาง มีผลบังคับใช้ทันทีและไม่มีกำหนดว่าจะสิ้นสุดเมื่อไหร่

ห้ามนำอะไรขึ้นเครื่องบ้าง

ทุกอย่างที่มีขนาดใหญ่กว่าสมาร์ตโฟนค่ะ ซึ่งก็ประกอบไปด้วย คอมพิวเตอร์โน้ตบุ๊ก แท็บเล็ต เครื่องอ่านหนังสืออิเล็กทรอนิกส์ เครื่องเกมพกพา เครื่องเล่นซีดี ดีวีดี (ถ้าหากว่ายังมีใครพกเครื่องเหล่านี้กันอยู่อะนะ) อุปกรณ์ถ่ายรูป กล้อง เลนส์ ฯลฯ ทั้งหมดนี้จะนำติดตัวไปขึ้นเครื่องด้วยไม่ได้ จะต้องแพ็กใส่กระเป๋าเดินทางและโหลดไปพร้อมกับสัมภาระใต้ท้องเครื่องเท่านั้นค่ะ

ส่งผลกระทบต่อประเทศและสายการบินอะไรบ้าง

ประเทศที่จะกระทบแน่นอนมีทั้งหมด 8 ประเทศ ซึ่งล้วนเป็นประเทศจากตะวันออกกลางทั้งสิ้น คือ จอร์แดน อียิปต์ ตุรกี คูเวต สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ กาตาร์ โมร็อกโก และซาอุดีอาระเบีย ซึ่งสายการบินที่จะถูกบังคับด้วยกฎใหม่ข้อนี้คือ Royal Jordanian, Egypt Air, Turkish Airlines, Saudi Arabian Airlines, Kuwait Airways, Royal Air Maroc, Qatar Airways, Emirates และ Etihad Airways โดยจะส่งผลเฉพาะไฟลต์ที่บินตรงไปสหรัฐอเมริกาเท่านั้น

แล้วจะห้ามไปทำไม

กระทรวงความมั่นคงของสหรัฐ เขาให้เหตุผลว่ามีความเชื่อว่าผู้ก่อการร้ายในพื้นที่ตะวันออกกลางและแอฟริกาเหนือตั้งเป้าก่อการร้ายต่ออุตสาหกรรมการบินด้วยวิธีการที่ทันสมัยที่อาจรวมถึงการนำสารระเบิดแฝงไปกับอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์รูปแบบต่างๆ

คนไทยได้รับผลกระทบอย่างไร

กฎใหม่ข้อนี้จะส่งผลกระทบต่อ “คนไทยที่เดินทางไปสหรัฐอเมริกาด้วยสายการบินตะวันออกกลาง” เช่น สายการบิน Emirates, Etihad, Qatar และ Turkish ซึ่งเป็นสายการบินตะวันออกกลางที่คนไทยจำนวนไม่น้อยเลือกใช้ในการบินไปสหรัฐ

เลี่ยงอย่างไร

ทางเลี่ยงที่พอจะทำได้คือเลือกบินไปสหรัฐกับสายการบินอื่นที่ไม่ใช่สายการบินตะวันออกกลาง เช่น บินด้วยสายการบินสัญชาติไต้หวัน ญี่ปุ่น หรือเกาหลี แต่บางไฟลต์ก็จะทำให้ต้องบินไกลกว่าเดิมโดยเฉพาะการบินไปยังฝั่งตะวันออกของสหรัฐ ดังนั้น ก็ต้องชั่งน้ำหนักดูว่าชั่วโมงในการบินที่เพิ่มขึ้น คุ้มค่ากับการได้ใช้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ในระหว่างการบินหรือไม่

หลังจากที่สหรัฐประกาศกฎนี้ออกมา สหราชอาณาจักรก็ประกาศตามด้วยรายละเอียดที่แตกต่างกันออกไป แต่หลักใหญ่ใจความเหมือนกันคือไฟลต์จากตะวันออกกลางที่บินเข้าสหราชอาณาจักร ถ้ามีประเทศอื่นๆ ร่วมเทรนด์นี้เพิ่มอีกก็จะทำให้เลี่ยงยากขึ้น

และถ้าเลี่ยงไม่ได้ เตรียมตัวอย่างไรจึงจะดีที่สุด

ความน่าเป็นห่วง 2 ประการของการบังคับใช้กฎข้อนี้สำหรับผู้โดยสารทั่วไปคือ

1.อุปกรณ์ที่แพ็กไว้ในกระเป๋าเดินทางที่โหลดอาจพัง เสีย หรือหาย และ 2.ความเบื่อที่จะเกิดขึ้นในระหว่างเดินทางหรือรอต่อเครื่องที่สนามบินถ้าหากไม่มีอุปกรณ์ให้ใช้งาน

ข้อแรก เลี่ยงได้ด้วยการศึกษาการแพ็กกระเป๋าอย่างไรให้รองรับแรงกระแทกให้ได้มากที่สุด ใช้เสื้อผ้าที่มีมาห่อหุ้มเอาไว้รอบๆ หรือใช้อุปกรณ์เสริมในการช่วยกันการกระแทก เรื่องของหายก็น่าเป็นห่วงพอๆ กัน ต้องป้องกันด้วยการเลือกใช้กระเป๋าเดินทางที่มีระบบการล็อกแน่นหนาที่สุด แต่ในขณะเดียวกันก็ต้องเป็นล็อกที่ได้รับการรับรองจาก TSA เพื่อให้เจ้าหน้าที่สามารถเปิดตรวจของที่อยู่ข้างในได้ด้วย

สายการบินตะวันออกกลางบางแห่ง อย่าง Emirates ก็เริ่มออกไอเดียแก้เกมเท่าที่พอจะทำได้ เช่น อำนวยความสะดวกให้ผู้โดยสารใช้อุปกรณ์ต่างๆ ที่ถูกห้ามได้จนถึงวินาทีที่ก้าวเท้าขึ้นไปบนเครื่อง

จากนั้นพนักงานต้อนรับจะเก็บอุปกรณ์ทุกอย่างไว้ในกล่องที่เตรียมไว้เป็นอย่างดี เพื่อช่วยให้ผู้โดยสารไม่ต้องโหลดของมีค่าเหล่านั้นไปใต้ท้องเครื่อง และมีอุปกรณ์ให้ใช้ในระหว่างรอต่อเครื่องที่สนามบินดูไบด้วย

ส่วนสมาร์ตโฟนที่ยังติดตัวขึ้นเครื่องได้ก็สามารถต่อ Wi-Fi ได้ฟรีๆ

สายการบิน Emirates พยายามเปลี่ยนวิกฤตให้เป็นโอกาสด้วยการสื่อสารกับผู้โดยสารว่าจากสถิติการใช้งาน Wi-Fi บนเครื่องบินของสายการบินพบว่า ผู้โดยสาร 90 เปอร์เซ็นต์เชื่อมต่อ Wi-Fi ผ่านทางสมาร์ตโฟน มีเพียงแค่ 6 เปอร์เซ็นต์ และ 4 เปอร์เซ็นต์เท่านั้นที่ต่ออินเตอร์เน็ตกับคอมพิวเตอร์โน้ตบุ๊กและแท็บเล็ต

ซึ่งแม้สายการบินจะทราบดีว่าก็อาจจะมีคนจำนวนไม่น้อยที่ใช้คอมพิวเตอร์หรือแท็บเล็ตแบบออฟไลน์ไม่ต้องอินเตอร์เน็ต แต่ก็ขอให้ทุกคนทำใจร่มๆ และมองในแง่ดีว่านี่ถือเป็นโอกาสที่จะได้วางอุปกรณ์ในมือลงบ้าง และหันไปเพลิดเพลินกับหนัง เพลง รายการทีวี ที่ทางสายการบินเตรียมเอาไว้ให้แทน

นัยๆ ประมาณว่าได้เวลาดิจิตอลดีท็อกซ์กันบนเครื่องบินนี่แหละค่ะ

กฎการเดินทางบนเครื่องบินมีแต่จะเพิ่มรายละเอียดจุกจิกมากขึ้นเรื่อยๆ ก่อนหน้านี้ก็ของเหลว ตอนนี้ก็อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ในอนาคตไม่รู้ว่าจะมีอะไรเพิ่มเข้ามาอีกบ้าง เพราะฉะนั้น ในตอนนี้เราคงต้องหันไปพึ่งวิธีที่ดั้งเดิมที่สุดที่ไม่มีใครมาพรากจากมือเราไปได้

หยิบหนังสือติดไม้ติดมือขึ้นเครื่องไปคนละเล่มสองเล่มแล้วกันนะคะ