E-DUANG : ธรรมเนียม ตรวจสอบ แบบทหาร สะท้อน รูป “รัฐราชการรวมศูนย์”

ท่าทีของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ต่อญัตติจัดตั้งคณะกรรมาธิ การวิสามัญเพื่อตรวจสอบและควบคุมการปฏิบัติตามพระราชกำ หนดกู้เงิน 1.9 ล้านล้านบาท

เป็นท่าทีที่อยู่ในความคาดหมายของสังคมอยู่แล้ว เป็นท่าทีที่มั่นคงของกองทัพ เป็นท่าทีที่รักษามาอย่างยาวนาน

เพราะว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เติบโตมาในกองทัพตั้งแต่ยังเป็นนักเรียนเตรียมทหาร รับราชการเป็นแม่ทัพกระทั่งดำ รงตำแหน่งเป็นผู้บัญชาการทหารบก

ย่อมเคยชินกับ”แบบธรรมเนียม” อันเป็น “ธรรมนิยม”ของกองทัพ ของทหารมาเป็นอย่างดี

อย่าได้แปลกใจหาก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จะเป็นเช่นนี้ อย่าได้แปลกใจหาก พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ จะเป็นเช่นนี้ อย่า แปลกใจหาก พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา จะเป็นเช่นนี้

เพราะว่า “3 ป.”ล้วนเคยดำรงตำแหน่งเป็นผู้บัญชาการทหารบก

 

นับแต่รัฐประหารเมื่อเดือนพฤษภาคม 2557 เป็นต้นมา สังคมเริ่มเคยชินกับระบบและกระบวนการตรวจสอบในแบบของกองทัพใน แบบของทหารมากยิ่งขึ้น

เริ่มจากกรณีที่มีการกล่าวหาการทุจริตในการก่อสร้างอุทยานราชภักดิ์

กองทัพก็จัดตั้งคณะกรรมการตรวจสอบกันขึ้นเอง แล้วผลก็ออกมาว่าไม่ปรากฏการทุจริต แม้ว่าจะมากด้วยเงื่อนงำ แม้ว่าจะมากด้วยเรื่องอื้อฉาว

ตามมาด้วยล่าสุดกรณีที่มีการจัดมวยนัดพิเศษโดยสนามมวยลุมพินีอันเป็นตัวการเผยแพร่ไวรัส โควิด-19 ออกไปทั่วประเทศ กองทัพก็จัดตั้งคณะกรรมการขึ้นตรวจสอบเหมือนเดิม

ผลก็ปรากฏออกมาเช่นเดียวกับกรณีของจ่าสิบเอกทหารปล้นอาวุธจากค่ายออกมากราดยิงประชาชนที่ห้างสรรพสินค้าจังหวัดนครราชสีมา

นั่นก็คือ การตรวจสอบจบลงโดยไม่มี”อะไร”ปรากฏมา

 

แบบธรรมเนียมการตรวจสอบของกองทัพ ของทหาร มีตัวอย่างให้เห็นจำนวนมากมายในยุคหลังรัฐประหารเมื่อเดือนพฤษภาคม 2557

ได้กลายเป็นแบบธรรมเนียมที่ดำรงอยู่ในรัฐบาล ในองค์กรอิสระ ได้รับความนิยมเป็นอย่างสูง

สะท้อนให้เห็นแบบธรรมเนียมอันเป็นความนิยมอย่างสูงไม่เพียงแต่ในกองทัพ หากแพร่กระจายออกไปตามส่วนราชการอื่น

ยืนยันรูปธรรมแห่งความเป็น”รัฐราชการรวมศูนย์”เด่นชัด