สังคมมีสิทธิ์ตั้งคำถาม เมื่อ 13 รองอธิการฯ ลาออก ก่อน กม.แสดงบัญชีทรัพย์สินบังคับใช้

แฟ้มภาพ นพ.อุดม คชินทร อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดล

งานวิจัยชิ้นหนึ่งเกี่ยวกับมหาวิทยาลัยมหิดล เรื่อง “ปูมประวัติศาสตร์มหิดลเพื่อประชาธิปไตย (พ.ศ.2516-2526)” จัดทำขึ้นโดยคณะกรรมการปูมประวัติศาสตร์มหิดลเพื่อประชาธิปไตย แหล่งทุนโดยสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข งานวิจัยชิ้นนี้ ตั้งเป้าหมายของงานไว้ว่า “เพื่อนำเสนออุดมการณ์มหาวิทยาลัยมหิดลที่มุ่งผลิตบุคลากรออกไปรับใช้ประชาชนผู้ด้อยโอกาสในสังคม”

แม้ ม.มหิดลจะถือกำเนิดและมีชื่อเสียงเกี่ยวกับการเรียนการสอนด้านสาธาณสุข เก่งด้านการผลิตแพทย์และพยาบาลคุณภาพเพื่อพัฒนาประเทศ

แต่งานวิจัยชิ้นนี้ระบุชัดว่า นักศึกษาของมหิดลมีประวัติศาสตร์เกี่ยวข้องและสัมพันธ์กับการเมืองมานานมาก ตั้งแต่ก่อน 14 ตุลาคม 2516 จนถึงช่วงหลังเหตุการณ์ ที่มีการลงพื้นที่ให้ความรู้ด้านประชาธิปไตย เป็นปากเสียงต่อสู้ให้ชาวบ้าน ของนักศึกษามหิดลที่สนใจด้านกิจกรรม

หลายคนเข้าร่วมต่อสู้กับเผด็จการทางการเมือง กระทั่งสูญเสียชีวิต และถูกจับเป็นจำนวนมากในเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519

หลังเหตุการณ์รุนแรงดังกล่าว นักศึกษามหิดลบางส่วนหนีเข้าป่าเคลื่อนไหวทางการเมือง

บางส่วนเคลื่อนไหวในรูปแบบสโมสรนักศึกษา ก็ยังพยายามทำคุณประโยชน์กับสังคม เคลื่อนไหวในประเด็นปัญหาเรื่องความเป็นธรรมบ่อยครั้ง

งานวิจัยชิ้นดังกล่าวชี้ให้เห็นว่า ส่วนที่กลับมาจากเข้าป่า ก็กลับมาเรียน เมื่อแกนนำที่มีประสบการณ์จำนวนมากเรียนจบ กิจกรรมต่างๆ ที่เคยคึกคักก็จบลง กิจกรรมนักศึกษาเชิงสังคมการเมืองจึงค่อยๆ ยุติบทบาทลง

นี่คือข้อมูลยืนยันว่ามหิดลมีประวัติศาสตร์เคลื่อนไหวและมีส่วนร่วมทางการเมืองอย่างคึกคักในอดีต

กลับมาที่ความขัดแย้งทางการเมืองในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา คนมหิดลเองก็แตกเป็นสองส่วน เช่นเดียวกับทุกๆ ที่ ในยุคสมัยของการขับไล่ นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี

ช่วงปี 2549 ก็เกิดความเคลื่อนไหวที่ชัดเจนของชาวมหิดลอีกครั้ง เมื่อคณาจารย์ของมหาวิทยาลัยกว่า 50 คนล่ารายชื่อ ร่อนแถลงการณ์ให้อดีตนายกรัฐมนตรีลาออก โดยระบุว่า ขอยืนข้างความถูกต้อง ชอบธรรม ในฐานะชุมชนทางวิชาการ ซึ่งขณะนั้นกำลังเกิดการชุมนุมต่อต้านและเรียกร้องให้มีการตรวจสอบอดีตรัฐบาลอย่างหนัก

อีกหนึ่งเหตุการณ์ที่มีชาวมหิดลไปเคลื่อนไหว ครั้งล่าสุดคือการเคลื่อนไหวของกลุ่ม กปปส. นำโดย นายสุเทพ เทือกสุบรรณ แกนนำกลุ่ม กปปส. โดยผู้นำของมหาวิทยาลัยขณะนั้น ก็แสดงจุดยืนชัดเจนในการร่วมออกแถลงการณ์เพื่อให้รัฐบาลยุบสภา

นอกจากนี้ ยังมีคณาจารย์และนักศึกษาจำนวนมากขึ้นเวทีปราศรัย อาจารย์บางท่านถึงกับประกาศชัดเจนว่า อธิการบดีมหาวิทยาลัยในขณะนั้น สั่งให้หยุดการเรียนการสอนชั่วคราว เพื่อให้นักศึกษาออกมาแสดงพลังในการแสดงความรักชาติ

เรียกร้องให้มีการตรวจสอบรัฐบาลอย่างจริงจัง

ก่อนที่รัฐบาลดังกล่าวจะถูกยึดอำนาจ เมื่อ คสช. เข้ามามีอำนาจ ก็ตั้งอธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดลในขณะนั้น เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข

จนเกิดกรณีประท้วงใช้ปี๊บคุมหัวอันโด่งดังนั่นเอง

ไล่เรียงเรื่องราวมายาว เพราะเกิดกรณีล่าสุด เป็นเหตุการณ์อธิการบดีมหิดลได้ลงนามในคำสั่ง ให้พนักงานมหาวิทยาลัยลาออกจากตำแหน่งประเภทผู้บริหาร เป็นตำแหน่งรองอธิการบดีถึง 13 คน

โดยเป็นการพ้นตำแหน่งก่อนที่กฎหมายจะประกาศใช้ในราชกิจจานุเบกษาในวันที่ 3 เมษายนที่ผ่านมา

ทั้งนี้ กฎหมายดังกล่าว บังคับให้ผู้บริหารระดับรองอธิการบดีต้องยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สิน

การลาออกดังกล่าวจึงถูกมองจากสังคมส่วนหนึ่ง ว่าเป็นการจงใจชิ่งหนี ไม่อยากถูกแสดงบัญชีทรัพย์สินและหนี้สิน

ซึ่งหลักของการให้แสดงบัญชีทรัพย์สินหนี้สิน ถือเป็นการพยายามตรวจสอบสิ่งของมีค่า เพื่อดูความร่ำรวย เปิดเผยความบริสุทธิ์ในการได้มาซึ่งทรัพย์สินอย่างถูกต้องชอบธรรม

กลไกนี้สร้างขึ้นเพื่อพัฒนาความโปร่งใส โดยเน้นไปที่การตรวจสอบทรัพย์สินของเจ้าหน้าที่รัฐทั้งที่เป็นข้าราชการการเมือง ข้าราชการการเมืองท้องถิ่น และข้าราชการประจำระดับสูง ที่ผ่านมา พบว่าได้ผลดีเยี่ยม

ยกตัวอย่าง ปี 2543 พลตรีสนั่น ขจรประศาสน์ ถูกกล่าวหาแสดงบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินเป็นเท็จ จนถูกชี้มูลจาก ป.ป.ช. และศาลรัฐธรรมนูญมีมติตัดสินให้เว้นวรรคทางการเมืองไป 5 ปี

หรือในปี 2545 นายรักเกียรติ สุขธนะ อดีต รมช.กระทรวงสาธารณสุข ถูกคณะกรรมการ ป.ป.ช. ชี้มูลกรณีจงใจยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินและเอกสารประกอบด้วยข้อความอันเป็นเท็จ

ขณะที่เมื่อปี 2551 นายยงยุทธ ติยะไพรัช อดีต รมว.กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ถูกคณะกรรมการ ป.ป.ช. ชี้มูลเรื่องจงใจยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินและเอกสารประกอบด้วยข้อความอันเป็นเท็จ

และท้ายที่สุดได้ถูกศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองตัดสินให้เว้นวรรคทางการเมือง 5 ปี

 

นี่คือตัวอย่างความสำเร็จของกลไกการบังคับให้ผู้มีตำแหน่งบริหารสาธารณะ กินเงินเดือนภาษีประชาชน ทำให้เรารู้ว่าทรัพย์สินของนักการเมืองที่เข้ามามีตำแหน่งสำคัญ มีอำนาจในการกำหนดนโยบายสาธารณะ โดยเฉพาะการจัดสรรทรัพยากรของประเทศ ไม่ให้ตกไปเป็นของส่วนตัวหรือพวกพ้อง

หลักการนี้ไม่ว่าขั้วสีทางการเมืองใดก็คงไม่มีใครปฏิเสธ

ด้านอธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดลออกมาชี้แจงทันทีว่า การลาออกเป็นการตัดสินใจส่วนบุคคล เกิดจากความรู้สึกไม่เป็นธรรมและไม่ได้ทันตั้งตัว

การยื่นบัญชีทรัพย์สินไม่ควรต้องลงมาถึงระดับรองอธิการบดี

เบื้องต้นได้มีการขอร้องให้คณาจารย์ที่ลาออกยังคงตำแหน่งรักษาการไว้ก่อน

พล.ต.อ.วัชรพล ประสานราชกิจ ประธาน ป.ป.ช.

หลังจากการลาออกของรองอธิการบดีมหิดล มหาวิทยาลัยสำคัญหลายแห่ง เช่น จุฬาฯ ได้ออกมายืนยันว่า ไม่มีใครมีปัญหา พร้อมที่จะเปิดบัญชีทรัพย์สิน แม้เวลาจะกะทันหันก็ตาม

ขณะที่ พล.ต.อ.วัชรพล ประสานราชกิจ ประธาน ป.ป.ช. ยืนยันกรณีนี้ว่าจำเป็นต้องมีการยื่นภาษีตามกฎหมายเพื่อตรวจสอบ แต่จะไม่มีการเปิดเผยต่อประชาชน เพราะไม่ใช่ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง โดยแม้มีเสียงเรียกร้องให้ไปตรวจสอบ 13 รองอธิการบดีดังกล่าวย้อนหลัง แต่ ป.ป.ช. ยืนยันว่าไม่สามารถทำได้

ที่สำคัญ ประธาน ป.ป.ช. ยังเปิดเผยอีกว่า ที่ผ่านมา ป.ป.ช. รับเรื่องกล่าวหาที่เกี่ยวกับอธิการบดีและรองอธิการบดี ซึ่งอยู่ในระหว่างการดำเนินการ 311 เรื่อง

แบ่งเป็นชั้นแสวงหาข้อเท็จจริง 259 เรื่อง ไต่สวน 16 เรื่อง

ซึ่งประกาศล่าสุดจะมีรองอธิการบดีต้องยื่นบัญชีทรัพย์สิน 564 คน จาก 84 มหาวิทยาลัย

 

ประเด็นอยู่ตรงนี้เอง จะเห็นว่าการทุจริตคอร์รัปชั่น ไม่ได้เกิดเฉพาะข้าราชการการเมือง ผู้บริหารประเทศที่มีตำแหน่งใหญ่โต

แต่ผู้บริหารระดับกลาง หรือแม้แต่ระดับล่าง ก็มีเรื่องทุจริตไม่แพ้กัน ไม่เว้นแม้แต่คนในวงการการศึกษา

นี่จึงเป็นคำถามของสังคมที่เกิดขึ้นต่อคณาจารย์ซึ่งเป็นผู้บริหารชุดดังกล่าว ทำไมถึงต้องแท็กทีมกันลาออก โดยเฉพาะก่อนกฎหมายมีผลบังคับใช้

เป็นเพราะความยุ่งยากในการจัดเตรียมเอกสารจริงหรือ

จากกรณีการลาออกก่อนกฎหมายบังคับให้ระดับรองอธิการบดีมหาวิทยาลัยทั่วประเทศแสดงบัญชีทรัพย์สินและหนี้สิน มีผลบังคับใช้ การลาออกของรองอธิการบดีทั้ง 13 คน จึงถูกตั้งคำถามว่าเป็นการชิงลาออก โดยเฉพาะการชิงลาออกเพื่อไม่ต้องเปิดเผยบัญชีทรัพย์สินและหนี้สิน ซึ่งแสดงถึงความไม่บริสุทธิ์ใจหรือไม่

ผู้บริหารของมหิดลมีชื่อเสียงด้านการเคลื่อนไหวเข้าร่วมตรวจสอบนักการเมืองจากการเลือกตั้งอย่างมาก ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา

ถึงวันหนึ่ง สังคมได้ยินข่าวผู้บริหาร ม.มหิดลชิงลาออก ก่อนกฎหมายบังคับให้ยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สิน เสมือนกลัวการถูกแสงไฟส่อง

คนทั่วไปเขาก็แค่ประหลาดใจ เท่านั้นเอง