10 ปี พฤษภาคม 2553 ประเมินคุณค่าทักษิณ ไม่ต่อสู้ และยืนหยัดทางการเมือง

เมื่อจุดหมายปลายทางไม่ใช่ “ประชาธิปไตย”

แต่กลับกลายเป็น “โศกนาฏกรรม” ครั้งสำคัญในประวัติศาสตร์ที่ลืมไม่ลง

สำหรับเหตุการณ์พฤษภาคม 2553 การสลายการชุมนุมกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ

หรือที่คุ้นกันในชื่อ “คนเสื้อแดง” ที่มีคนเสียชีวิตจำนวนมาก

พร้อมกับการเกิดวาทกรรม “เผาบ้านเผาเมือง” หรือเรื่องเล่า “ชายชุดดำ” ที่ยังคงเป็นเงาตามหลอกหลอนมาจนถึงปัจจุบัน รวมถึงตลอดระยะเวลา 10 ปีที่ผ่านมา กระบวนการยุติธรรมในเรื่องนี้ กลับหยุดนิ่ง แล้วแบบนี้ความหวังในเส้นทางสู่ประชาธิปไตยยังมีหรือไม่

หนึ่งในทีมงานศูนย์ข้อมูลประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากการสลายการชุมนุม เมษายน-พฤษภาคม 2553 อย่าง รศ.ดร.พวงทอง ภวัครพันธุ์ อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ย้อนกลับไประลึกถึงเหตุการณ์พฤษภาคม 2553 พร้อมฉายภาพ “ความจริง” ที่ต่างฝ่ายต่างเชื่อกันไปคนละชุดว่า ความเข้าใจต่อเหตุการณ์เมษายน-พฤษภาคม 2553 ในเมืองไทยยังไม่ได้เปลี่ยนแปลงในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา

คนที่ยังเชื่อว่าคนเสื้อแดงเป็นผู้ก่อการร้าย เป็นพวกเผาบ้านเผาเมือง ยังเชื่อเหมือนเดิม

ส่วนคนเสื้อแดงก็ยังมองเหมือนเดิมว่าตนเองเป็นฝ่ายถูกกระทำ เป็นเหยื่อของความรุนแรงโดยรัฐ

ภาวะแบบนี้แน่นอนมันไม่เปลี่ยนในช่วง 10 ปีนี้ ด้านหนึ่งเพราะว่าภาวะของการแตกเป็นฝักฝ่าย เป็นสีเสื้อในบ้านเรายังชัดเจนมากๆ

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง กลุ่มผู้มีอำนาจที่เกี่ยวข้องกับการสลายการชุมนุมปี 2553 เขายังมีอำนาจต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน

ฉะนั้น เขาก็พยายามที่จะกดความรับรู้แบบนี้

ยังเน้นย้ำว่าคนเสื้อแดงเป็นผู้ก่อการร้าย เป็นคนใช้ความรุนแรงอยู่

รวมถึงเขาเข้าไปจัดการให้กระบวนการยุติธรรมที่เกี่ยวข้องกับปี 2553 กลาย “เป็นหมัน” ไม่สามารถเดินต่อไปได้

เมื่อกระบวนการยุติธรรมเพื่อเอาผิดกับผู้กระทำความผิดหยุดชะงัก ความน่าจะเป็นที่ในอนาคตกระบวนการยุติธรรมในเรื่องนี้จะเกิดขึ้นได้ยังมีหรือไม่ รศ.ดร.พวงทองกล่าวว่า ขึ้นอยู่กับอำนาจของกลุ่มผู้มีอำนาจในขณะนี้ด้วยว่ามันจะเสื่อมสลายลงหรือไม่

ภาวะปัจจุบัน ปีสองปีข้างหน้า ยังไม่คิดว่าเราจะมีโอกาสที่จะรื้อฟื้นกระบวนการยุติธรรมปี 2553 ได้

คงต้องรอให้ “ทหาร” สูญเสียอำนาจทางการเมือง ซึ่งหมายความว่าอาจจะเป็นอีก 5 ปี หรือ 10 ปีข้างหน้า

หากมองย้อนกลับไปเมื่อ 10 ปี ภาพจำของการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยของกลุ่มคนเสื้อแดงจากทั่วสารทิศ ยังชัดเจนในใจใครหลายคน สู้จนถึงฉากสุดท้ายคือ โศกนาฏกรรมกลางกรุง จนเกิดคำถามถึงการมีอยู่ของขบวนการของคนเสื้อแดงในปัจจุบัน

รศ.ดร.พวงทองได้ให้ความเห็นว่า คิดว่าเขายังอยู่ ในแง่ของจิตใจ ในแง่ของความรู้สึกว่าอยากจะลุกขึ้นมาเรียกร้องสิทธิทางการเมืองของเขา บวกกับความทุกข์ของปัญหาเศรษฐกิจที่มารุมเร้าเขามาก

แต่ตั้งแต่รัฐประหารปี 2557 พวกเขาถูกสลาย จะเห็นว่าแกนนำ นปช.เจอคดีความมากมาย

บางคนก็ตัดสินใจย้ายไปอยู่อีกฟากฝั่งหนึ่ง ไปร่วมมือกับทหารแทน

นอกจากกลุ่มแกนนำคนเสื้อแดงที่แตกสลายไปคนละทิศทางแล้ว หนึ่งในบุคคลสำคัญที่เคยเป็นความหวังในการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย อย่าง “ทักษิณ ชินวัตร” อดีตนายกรัฐมนตรี ก็ดูเหมือนจะคาดหวังอะไรไม่ได้แล้วเช่นกัน

ซึ่งสอดคล้องกับมุมมองของ รศ.ดร.พวงทอง ว่า ไม่ค่อยคาดหวังอะไรกับคุณทักษิณมาตั้งแต่ไหนแต่ไรแล้ว

เพียงแต่ก็มองว่านโยบายของเขามันมีคุณูปการ ที่เห็นได้ชัดคือเรื่องเศรษฐกิจ มันทำให้ฐานะชีวิตความเป็นอยู่ของคนดีขึ้น

สอง มันทำให้คนจน คนต่างจังหวัด ตระหนักว่า สิทธิทางการเมืองของตัวเองมันมีความหมายเท่ากับโอกาสในชีวิตที่ดีขึ้น ซึ่งจริงๆ แล้วมันควรจะเป็นแบบนี้ในสังคมประชาธิปไตย อำนาจทางการเมืองมันจะต้องนำไปสู่อำนาจทางเศรษฐกิจของประชาชน

แต่ถามว่าคุณทักษิณเอง ตลอดเวลาที่อยู่ในอำนาจ แกคิดถึงประเด็นทางการเมืองแค่ไหน

คิดว่าแกไม่ได้คิดถึงประเด็นทางการเมือง คิดว่าเป้าหมายของแกคือทำให้สังคมไทยโดยรวม สภาพชีวิตความเป็นอยู่ โดยเฉพาะทางเศรษฐกิจดีขึ้นได้ พิสูจน์ความสามารถในการบริหารทางเศรษฐกิจของตนเองที่จะทำให้ตนเองได้รับความนิยมจากประชาชน แกคิดแค่นี้แหละ

ดูเหมือนว่าความตั้งใจของ “ทักษิณ” ที่จะขับเคลื่อนโยบายทางเศรษฐกิจเพื่อให้ความเป็นอยู่ของประชาชนดีขึ้น จนละเลยประเด็นทางการเมือง กลับกลายเป็น “ช่องโหว่” ให้ฝ่ายตรงข้ามรังแก

ดั่งคำพูดของ รศ.ดร.พวงทองที่อธิบายว่า พอเมื่อเกิดวิกฤตการณ์ทางการเมืองขึ้น ตัวเองถูกเล่นงานจากฝ่ายตรงข้ามบ่อยครั้ง แกก็ยังแทบจะไม่แตะประเด็นเรื่องทางการเมือง แกไม่เคยวิพากษ์วิจารณ์ฝ่ายตรงข้ามอย่างถึงรากถึงโคน

แกไม่เผชิญหน้ากับกองทัพ

แกไม่เผชิญหน้ากับพวกกลุ่มอำมาตย์ทั้งหลายแหล่

แกก็จะกลับมาลงเลือกตั้งด้วยนโยบายทางเศรษฐกิจ และหวังว่าก็จะซื้อใจ นโยบายทางเศรษฐกิจของตัวเองจะทำให้แกกลับมามีบทบาททางการเมืองได้อีก รวมถึงกลับมามีโอกาสที่จะทวงสิทธิของตัวเองที่เขาถูกรังแก

ต้องยอมรับว่าแกก็ถูกรังแกเยอะ ด้วยกลไกทางการเมืองของผู้มีอำนาจ ทวงความยุติธรรมให้กับตัวเองผ่านเวทีของการเลือกตั้ง

แต่เพียงแต่ว่ามันไม่พอ

พอคุณไม่สู้กับเขาในประเด็นทางการเมือง ไม่ชี้ให้เห็นว่าฝ่ายตรงข้ามเล่นกับคุณยังไงบ้าง โดยใช้กลไกทางการเมืองที่มีอยู่ และมันทำลายระบอบประชาธิปไตยอย่างไร

ขณะเดียวกันฝ่ายตรงข้ามเล่นงานคุณทักษิณด้วยประเด็นทางการเมือง เรื่องคอร์รัปชั่น เรื่องความไม่โปร่งใส เรื่องประชานิยมต่างๆ

คุณทักษิณก็เป็นฝ่าย “ถอย” ในประเด็นทางการเมืองตลอด

เมื่อมีคนหนึ่งถอยในทางการเมือง ก็มีอีกคนที่เป็นความหวังใหม่ ถูกดันขึ้นมารับไม้ต่อในภารกิจทวงคืนประชาธิปไตย อย่าง “ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ” รศ.ดร.พวงทองมองว่า เราไม่ได้มอบให้เขา เขาขึ้นมาเอง คุณทักษิณเองต่างหากที่ไม่รับตรงนี้

คุณธนาธรก็เป็นความหวังใหม่ของคนที่เห็นว่า ถ้าคุณอยากทำให้สังคมนี้ดีขึ้นได้ คุณพูดแต่เรื่องเศรษฐกิจอย่างเดียวไม่ได้ เพราะทันทีที่คุณมีความนิยมขึ้นมา คุณขึ้นมาเป็นผู้บริหารรัฐบาล คุณจะรู้ว่า ต่อให้คุณมีนโยบายเศรษฐกิจที่เทวดาประทานมาให้ คุณก็ทำไม่ได้ เพราะเขาจะไม่ให้คุณเป็นรัฐบาลที่ได้รับความนิยม

เพราะในที่สุดแล้ว คุณจะแก้ปัญหาเศรษฐกิจให้มีประสิทธิภาพได้ในประเทศนี้ มันต้องไปแตะกลไกทางการเมือง ซึ่งมันไปกระทบกับผู้มีอำนาจที่เป็นอยู่ขณะนี้ตลอด

เพราะนี่คือการต่อสู้กับตัว “ระบอบและระบบ”

ที่สุดแล้ว เมื่อถามถึงความหวังของประเทศไทย รศ.ดร.พวงทองตอบว่า มี แต่เป็นความหวังที่น่าเป็นห่วงมากๆ ไม่อยากเห็นการนองเลือดอีก

ไม่อยากเห็นการสูญเสียอีก

และไม่อยากทำรายงานเรื่องคนตายอีกแล้ว