ศัลยา ประชาชาติ : “ประยุทธ์” ลุยเอง “ฟื้นฟูการบินไทย” ตั้งบอร์ดใหม่ ดึงมืออาชีพเสียบ เขี่ยคนภูมิใจไทย ตกรันเวย์

เบื้องหลังเจ้าหนี้รายใหญ่ไทยและต่างประเทศกว่า 10 ล้านราย เจ้าของมูลหนี้ราว 3 แสนล้าน ถอนหายใจเฮือกยาว เมื่อกิจการ บมจ.การบินไทย ถูกส่งถึง “ศาลล้มละลาย”

คือสาระของ “คำร้อง” ที่การบินไทย ในฐานะลูกหนี้ ยอมจำนนว่า “มีหนี้สินล้นพ้นตัว”

พร้อมแสดงรายชื่อ-ที่อยู่ของเจ้าหนี้การค้า เจ้าหนี้สถาบันการเงิน เจ้าหนี้เงินกู้ รวมทั้งสมาชิกบัตรรอยัลออร์คิดพลัส

แม้กระทั่งผู้โดยสารที่ซื้อบัตรโดยสารไว้ล่วงหน้าแต่ยังไม่เดินทาง ล้วนเป็น “เจ้าหนี้” การบินไทย

 

หัวใจของการฟื้นฟู พลิกโฉมการบินไทยครั้งประวัติศาสตร์คือ คณะผู้ทำแผนต้องเก่งกาจ มีทักษะในการเจรจาต่อรองกับเจ้าหนี้ทั้งใน-ต่างประเทศ การทำ due diligence กำหนดแนวทางการ hair cut ที่ยากกว่านั้น คือ การผ่าตัดทุกเส้นเลือดในการบินไทย ให้กลับมาบินแข่งขันได้อย่างแข็งแกร่ง

เหนือสิ่งอื่นใด “คณะบุคคล-มืออาชีพ” ต้องมีบารมีพอ ที่จะทำให้นักการเมือง “เกรงใจ-เข้าใจ และยอมรับ”

นี่จึงเป็นที่มาของ “ทีมทำแผนฟื้นฟู” มืออาชีพ 6 ราย ทุกชื่อ-ทุกคน มาจากการคัดกรองของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม แต่เพียงผู้เดียว

4 ใน 6 รายชื่อผู้ทำแผนฟื้นฟู เป็น “บอร์ดใหม่” ที่คัดสรรจากประสบการณ์ตรงของ “พล.อ.ประยุทธ์”

สาวลึกความสัมพันธ์กับ “นายปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์” ถือเป็นคนกันเองในเครือข่ายอำมาตย์สายแข็ง ร่วมงานกันมาตั้งแต่หลังรัฐประหาร 2549

อีก 2 ชื่อที่ประจำการบนตึกไทยคู่ฟ้ามาตั้งแต่ก่อนการเลือกตั้ง 22 มีนาคม 2562 ในฐานะ “ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี” ทั้ง “นายไพรินทร์ ชูโชติถาวร” และ “นายบุญทักษ์ หวังเจริญ” ผู้ผ่าตัดธนาคารทหารไทยสู่แบรนด์ใหม่ TMB

รายชื่อที่ 4 นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค นั่งมอนิเตอร์ความเคลื่อนไหวการบินไทยอยู่ในตึกไทยคู่ฟ้ามากว่า 5 เดือน นับตั้งแต่ได้รับการแต่งตั้งเป็น “ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี”

อีก 2 รายชื่อเป็น “ตัวแทน” ที่ทรงพลัง-คู่ฟ้า 1 คือ พล.อ.อ.ชัยพฤกษ์ ดิษยะศริน ประธานกรรมการบริษัท 2 คือนายจักรกฤศฎิ์ พาราพันธกุล รองประธานกรรมการ รักษาการกรรมการผู้อำนวยการใหญ่

ทันทีที่มี “บอร์ดใหม่” การบินไทยเดินเครื่องตามแผนฟื้นฟู ด้วยการประชุมนัดพิเศษ ก่อนที่วันรุ่งขึ้นจะนำส่งกิจการขึ้นสู่ “ศาลล้มละลาย”

 

ก่อนการบินไทยถึง “มือหมอ-ทีมผ่าตัด” ระดับอำมาตย์ใหญ่ให้การยอมรับนั้น “พล.อ.ประยุทธ์” ต้องตีไป-ตีกลับและตีตกเอกสารชุดใหญ่ พร้อมเจรจา-ต่อรองกับทีมการเมือง 3 พรรคอย่างเข้มข้น

2 สัปดาห์ก่อนส่งศาลล้มละลาย นายกรัฐมนตรีต้องเคลียร์ศึก 3 เส้า เรียกรัฐมนตรีจากพรรคภูมิใจไทย (ภท.) พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) และพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ขึ้น-ลงตึกไทยคู่ฟ้าถึง 5 ครั้ง ไม่นับรวมการผ่องถ่าย-จ่ายประเด็นให้แยกวงไปหาข้อยุติทางกฎหมายกับ “นายวิษณุ เครืองาม” รองนายกรัฐมนตรี-นักกฎหมายระดับพญาอินทรี ที่ตึกบัญชาการ

การชักเย่อระหว่างนายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กับนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีพรรคภูมิใจไทย และสอดแทรกด้วยนายถาวร เสนเนียม รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ที่ต่างฝ่ายต่างขึงตึง

ไม่ลดราวาศอก ตั้งแต่เรื่องการค้ำประกัน, การเพิ่มทุน, การยื่นหมู-ยื่นแมวเรื่องการลดสัดส่วนหุ้น, ฐานะของการเป็นรัฐวิสาหกิจ ไปจนถึงการแต่งตั้งบุคคลเข้าสู่กระบวนการทำแผนฟื้นฟูกิจการ

ชิงไหว-ชิงพริบ ด้วยการฉวยจังหวะเสนอชื่อบุคคล ทั้งระดับบอร์ด-ผู้ทำแผน-ผู้บริหารแผน และระดับ “ซูเปอร์บอร์ด” ดักหน้า “ทีมทำเนียบ”

หลังการขายหุ้น บมจ.การบินไทย ทิ้งปีกความเป็นรัฐวิสาหกิจออกจากตัวเครื่อง กระทรวงการคลังได้ลดสัดส่วนการถือหุ้นลงต่ำกว่าร้อยละ 50 จำหน่ายหุ้นร้อยละ 3.17 ให้กองทุนรวมวายุภักษ์ แต่ยังคงเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ร้อยละ 47.86 หลุดพ้นจากสภาพการเป็นรัฐวิสาหกิจ ทำให้มีการต่อรอง-ทำข้อตกลงกันอีกรอบว่า ฝ่ายภูมิใจไทย หรือฝ่ายพลังประชารัฐ จะได้สิทธิควบคุมเหนือดินแดนการบินไทย

นายศักดิ์สยามอ้างอำนาจที่ได้จากมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม 2563 ให้กระทรวงคมนาคมดำเนินการ 5 เรื่องประกอบด้วย

1. จัดทำบัญชีทรัพย์สิน และบัญชีหนี้สิน

2. จัดทำร่างทีโออาร์จัดจ้างที่ปรึกษาด้านการเงินและด้านกฎหมาย โดยเน้นย้ำว่าต้องมีธรรมาภิบาล

3. จัดทำแผนการบริหารสภาพคล่องของบริษัท

4. ให้ฝ่ายบริหารการบินไทยให้ความร่วมมือในการให้ข้อมูลต่อคณะทำงานตรวจสอบข้อเท็จจริงในการบริหารงานกิจการ และปัญหาการทุจริต ที่นายถาวร เสนเนียม รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม แต่งตั้งขึ้น

และ 5. เสนอบัญชีรายชื่อคณะผู้จัดทำแผนและผู้บริหารแผน

24 ชั่วโมงก่อนที่ บมจ.การบินไทยจะขึ้นสู่ศาลล้มละลาย ฝ่ายภูมิใจไทยชิงลงมือเสนอชื่อคนของกระทรวงคมนาคม 4 ราย ถึงตึกไทยคู่ฟ้า ในฐานะผู้ร่วมทำแผน แต่ถูกปฏิเสธในชั่วเวลา 30 นาที เป็นเหตุให้ “นายศักดิ์สยาม” วอล์กเอาต์ออกจากทำเนียบรัฐบาล

ทิ้งให้นายอุตตมกับนายวิษณุ นำความขึ้นหารือกับนายกรัฐมนตรีอีกครั้ง

นายอุตตมลงจากตึกไทยคู่ฟ้าด้วยสีหน้าเครียดที่สุด เปิดปากกรณีความไม่ลงรอยเรื่องแผนฟื้นฟูแต่เพียงว่า “ร่วมกันดู ไม่มีอะไรขัดแย้ง คุยกันแล้ว รัฐมนตรีศักดิ์สยามก็อยู่ด้วย”

ส่วนนายวิษณุแจ้งความคืบหน้าว่า “ไม่มีความคืบหน้าว่าจะให้กระทรวงการคลังซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ หรือกระทรวงคมนาคมกำกับดูแลแผนฟื้นฟู ในการประชุม ครม.วันที่ 26 พฤษภาคม 2563 คงจะมีความคืบหน้า”

 

เมื่อถึงวันประชุม ครม. “ดรีมทีม” ของนายกรัฐมนตรี ปฏิบัติการพร้อมกัน 3 วาระรวด

วาระที่หนึ่ง “6 ผู้ทำแผน” และบริษัท เบเคอร์ แอนด์ แม็คเค็นซี่ จำกัด ในฐานะที่ปรึกษาทางกฎหมาย เข้ายื่นคำร้องขอฟื้นฟูกิจการต่อศาลล้มละลายกลาง โดยองค์ประกอบในการยื่นขอฟื้นฟูกิจการมี 3 ส่วนคือ 1.มูลเหตุของการยื่นขอฟื้นฟูกิจการ 2.ชื่อผู้ทำแผน และ 3.ความเป็นไปได้ในการฟื้นฟูกิจการ

วาระที่สอง ให้กระทรวงการคลังรายงานความคืบหน้าสถานะการบินไทย ที่พ้นจากความเป็นรัฐวิสาหกิจ และการขายหุ้นบางส่วนไปให้กองทุนวายุภักษ์ ให้ ครม.รับทราบ

วาระที่ 3 “รับทราบ” การตั้งกรรมการ “ปรองดอง” โดยคำสั่งนายกรัฐมนตรี ที่ 143/2563 แต่งตั้งให้ 9 ชื่อ ซึ่งมีองค์ประกอบจากทั้ง 2 ขั้วอำนาจ เข้าเป็น “คณะกรรมการติดตามการดำเนินการแก้ไขปัญหา บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน)”

โดยมีนายวิษณุเป็นประธาน กรรมการประกอบด้วย นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์, นายประสงค์ พูนธเนศ ปลัดคลัง นายชัยวัฒน์ ทองคำคูณ ปลัดคมนาคม นายชยธรรม์ พรหมศร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร นายวิศิษฏ์ วิศิษฏ์สรอรรถ ปลัดยุติธรรม นายปกรณ์ นิลประพันธ์ เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา นางสาวรื่นวดี สุวรรณมงคล เลขาธิการคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ และนายประภาศ คงเอียด ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ

หลังการประชุม ครม.มีรายงานว่า นายกรัฐมนตรี “เจ็บคอ” ไม่มีการแถลงข่าว

มีแต่เสียงนายศักดิ์สยามที่ยอมรับว่า

“ขณะนี้กระทรวงคมนาคมไม่มีอำนาจกำกับดูแล การบินไทยในฐานะบริษัทจำกัดมหาชน ต้องดำเนินการต่อ โดยมีกระทรวงการคลังเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ ซึ่งสามารถใช้อำนาจในการอนุมัติหรือการกระทำการใดๆ ก็ได้…กระทรวงคมนาคมคงไม่มีสิทธิ์ไปเสนออะไร เพราะไม่ได้กำกับดูแลการบินไทยแล้ว”

จากนี้ไป “การบินไทย” จะเหินคืนสู่น่านฟ้า-ฝ่าพายุหนี้ อีกครั้งได้หรือไม่

ล้วนขึ้นอยู่กับ “กัปตัน” ที่ชื่อ “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา”