ฉัตรสุมาลย์ : การตื่นรู้เพราะโควิด-19

ในช่วงสองเดือนที่ผ่านมา ผู้เขียนได้สัมผัสถึงความเปลี่ยนแปลงหลากหลายมาก เป็นความเปลี่ยนแปลงที่ฉับพลัน เห็นถึงการที่ตัวเองมีการตัดสินใจชั่วข้ามคืน เป็นตัวขับเคลื่อนในการจัดทำโครงการที่คิดใหม่ ทำใหม่

ในการเริ่มโครงการที่ว่านี้ ย้อนไปดูว่ามีปัจจัยอะไรที่ทำให้เราคิดได้ ตัดสินใจได้ ลงมือทำงานนี้

ย้อนไปพิจารณาจริงๆ ไม่ใช่ความคิดที่เป็นตัวแรกเริ่มค่ะ แต่มันเป็นความรู้สึกสดๆ ที่กระแทกเราแรงมาก

แรงมากจนเราทนไม่ได้ เมื่อมีความรู้สึกแล้วจึงจะขับเคลื่อนไปสู่ความคิด ว่า ในสิ่งที่เราเห็นและเรารู้สึกนั้น เราจะทำอะไรได้บ้าง

สิ่งที่เห็นที่ทำให้เกิดความรู้สึก คงจะมีหลายเรื่องอยู่ ว่ากันตามที่พอจะลำดับความได้

 

ภาพแรกคือ ร่างกายของมนุษย์เราที่เปลือยเปล่าเป็นจำนวนมาก ไม่มีใครดูแล

ภาพนี้เป็นวิดีโอ ที่มีคนไปถ่ายมาจากโรงพยาบาลแห่งหนึ่งในอิตาลีในช่วงที่โควิดระบาดจนสาธารณสุขของประเทศจัดการไม่ได้ คนตายมาก ศพล้นมือ ที่เพิ่งตาย ร่างกายยังเปลือยอยู่ นอนบนเตียงเข็นที่พื้นผิวเป็นสเตนเลส

ศพผู้หญิงผู้ชาย ตอนนี้เหมือนกันหมด คือ เป็นศพที่ต้องเปลือยเพราะตายด้วยไวรัสโคโรนา ต้องฉีดแอลกอฮอล์เพื่อฆ่าเชื้อที่อาจจะยังมีอยู่บนศพ

ไม่มีกำลังคนที่จะดูแลเพียงพอ เพราะจำนวนคนตายมากกว่าคนทำงาน ห้องดับจิตก็เต็ม ศพจึงถูกเข็นมาเรียงกันตามทางเดินในโรงพยาบาลนั่นเอง

เมื่อกล้องแพนไปอีกมุมหนึ่งเป็นศพที่ฉีดแอลกอฮอล์แล้ว ใส่ถุงพลาสติกรูดซิป มีป้ายผูกติดทุกศพด้วยคำว่า “โควิด”

ไม่เคยเห็นศพที่มากมายอย่างนั้น ไม่เคยเห็นศพที่ถูกทอดทิ้งโดยเปลือยร่างอย่างนั้น ไม่โทษแพทย์ พยาบาล และบุรุษพยาบาล เพราะทราบว่าทุกคนทำงานเต็มมือ

ตรงกันข้าม รู้สึกขอบคุณ อยากเข้าไปกราบแสดงความขอบคุณที่เขาทำงานดูแลตั้งแต่คนเป็นจนกระทั่งตายไปต่อหน้าต่อตา

ความรู้สึกอเนจอนาถใจต่อภาพที่เห็น ว่ามนุษย์เราหนอ จะรู้ไหมว่า ตัวเองกำลังจะตาย จะรู้ไหมหนอว่า เมื่อตายแล้วร่างกายที่อุตส่าห์ทะนุถนอมมานั้น จะถูกทิ้งไว้โดยปราศจากความอาลัยใยดี เพียงเพราะอาจจะติดไวรัสร้ายที่ว่านี้

ชีวิตหนอ เมื่อจบสิ้นชีวิต ร่างกายนั้นก็เป็นเพียงศพ ที่ไม่มีใครอยากได้ ไม่มีใครปรารถนา

ความตายมันเป็นเรื่องจริง สำหรับเขาที่นอนตายให้เราเห็น

และมันเป็นเรื่องจริงสำหรับเราด้วย

พระพุทธศาสนาก็สอนอย่างนี้ แต่มันไม่ได้ตระหนักจริงๆ

 

มิหนำซ้ำ ในเวลาไล่เลี่ยกันก็ได้เห็นคลิปวิดีโออีกคลิปหนึ่งที่รายงานชาวมุสลิมที่ล้มตายในมหานครนิวยอร์ก

เนื่องจากเป็นมุสลิม เขาต้องประกอบพิธีทางศาสนาในวันเดียวกัน แต่ต้องมีผู้สวดก่อนที่จะนำศพไปฝัง

ศพหลายสิบศพน่าจะถูกนำมาไว้ในที่เดียวกัน และสถานที่นั้นเป็นอพาร์ตเมนต์ที่ก้าวออกมาเพียงสองก้าวก็ถึงริมถนนกลางนครนิวยอร์ก

ศพพวกนี้เป็นผู้ชายหมด ไม่เห็นศพผู้หญิง เป็นหลายสิบศพ บางศพเปลือย มีเพียงผ้าปิดหน้า บางศพมีเพียงผ้าปิดอวัยวะเพศ

ผ้าจะปิดหรือไม่ปิด ก็คือศพ นอนหงาย ไร้วิญญาณ น่าอนาถเหลือแสน

กล้องที่จับภาพตามไปใกล้ๆ กับชาวมุสลิมที่สวมเพียงแมสก์หน้ากากที่ใส่มาเท่านั้น ไม่มีการป้องกันตัวเองอย่างอื่น ทำหน้าที่มาสวดศพเป็นภาษาอาราบิก สวดเร็วมาก เมื่อเข้าไปในอพาร์ตเมนต์ ที่ดูเหมือนจะเป็นออฟฟิศทำงาน เห็นมุมห้องที่มีเก้าอี้ทำงาน มีเสื้อนอกอยู่ที่พนักด้านหลัง เจ้าของเสื้อนอกอาจจะเป็นหนึ่งในศพที่เรียงรายกันนั้น ศพเรียงรายกันอยู่

ทะลุเข้าไปอีกห้องหนึ่ง ก็มีศพเรียงรายกันเต็มพื้นที่ กล้องตามผู้สวดขึ้นไปตามบันไดแคบๆ ขึ้นไปชั้นบน ก็มีศพเอามาวางเรียงกัน

กล้องยังเดินตามผู้สวดลงมาถึงห้องที่อยู่ระดับเดียวกับถนน และประตูที่เปิดออกไปสู่ถนนข้างนอก

ความรู้สึกของผู้เขียนรู้สึกอเนจอนาถเหลือหลาย ชีวิตหนอ ประมาทมิได้เลย ศพที่เห็นอยู่นั้น ยังหนุ่มยังแน่น เขาจะคิดไหมว่า เขาจะตายตั้งแต่อายุยังน้อยๆ

ความรู้สึกนี้เองที่ตอกย้ำว่า แม้เราก็ต้องเป็นเช่นเดียวกับศพเหล่านี้

เราต้องทำอะไรนะ

ตรงนี้เป็นความคิดแล้วค่ะ

 

ตามข่าวทุกวัน และได้เห็นผู้คนที่อาศัยรายได้เพียงรายวัน ที่ตกงานกะทันหัน คนพวกนี้ยังต้องกินต้องใช้

คิดแก้ปัญหาให้กับพี่น้องที่ได้ทุกข์เพราะการเปลี่ยนแปลงกะทันหัน ไม่ได้คิดว่า เรามีต้องช่วยเขา

ไม่ได้คิดเรา-เขา

รู้แต่ว่า เราต้องฟันฝ่าความยากลำบากนี้ไปด้วยกันให้ได้

เมื่อคิดถึงเรื่องปากท้อง ก็คิดถึงข้าวสารมาก่อน ถ้าเราซื้อข้าวสารกระสอบละ 50 ก.ก. 2 กระสอบ เราจะมีข่าวสารแจก 100 ก.ก. สมัยนี้คนซื้อข้าวสารก็จะทราบดีว่า กระสอบละ 50 ก.ก.นั้น ในความเป็นจริงก็ไม่เต็ม 50 ก.ก.

ครั้งแรก ซื้อข้าวสารมา 2 กระสอบ กระสอบละ 50 ก.ก. เมื่อรถกระบะที่ไปซื้อข้าวกลับมา ด้วยความที่อยู่กันตามลำพัง ยกข้าวกระสอบละ 50 ก.ก.ก็เป็นเรื่องยาก แทนที่จะลากกระสอบข้าวสารลงมา เราก็เลยปีนขึ้นไปบนท้ายรถกระบะ แล้วตวงข้าวสารใส่ถุงเล็ก กะว่าจะแจกคนละ 2 ก.ก.

ภาพที่ท่านธัมมนันทาตวงข้าวสารบนหลังรถกระบะนี้ มีคนส่งออกไปทางเฟซบุ๊ก ปรากฏว่า ชายผู้หนึ่งเป็นเจ้าของบริษัทในนครปฐม บอกว่า ทนไม่ได้ที่เห็นภิกษุณีสูงอายุต้องมาตวงข้าวสารเองเพื่อจะแจกจ่ายให้พี่น้องที่ลำบาก

เขาขับรถกระบะเข้ามาเอง ท้ายรถบรรทุกข้าวสารถุงละ 5 ก.ก. รวม 600 ก.ก. เพื่อให้ทางวัตรมีแจกโดยที่ภิกษุณีไม่ต้องมาตวงข้าวสารแยกใส่ถุงเล็กๆ เอง

ที่คือภาวะที่ทนไม่ได้ อันนี้ก็เป็นความรู้สึกค่ะ ต่อไปจึงเป็นความคิดว่าจะจัดการอย่างไร จึงโทรศัพท์ติดต่อเพื่อนที่เป็นเจ้าของโรงสีข้าวที่ยโสธร สั่งซื้อข้าวมาทำบุญ

เมื่อได้ข้าวมาทำบุญแล้ว ก็รู้สึกปีติ แล้วจึงคิดว่า เป็นสิ่งที่ดีที่ได้ทำ

 

การที่จะขับเคลื่อนจากความคิดไปสู่การกระทำ มาจากความรู้สึกในทั้งสองกรณีที่พูด การตื่นรู้ที่เกิดตามมา ก็คือ นับแต่นี้ไป ความเปลี่ยนแปลงนี้มหาศาลนัก เราจะอยู่กันอย่างมีความสุข เราต้องเปิดพื้นที่ให้เราสามารถสัมผัสกับความรู้สึกของเราเองได้ เราต้องคิดเป็น ที่จะรู้ว่า โลกทั้งผองพี่น้องกัน

วิธีคิดที่เราจะแค่ร่ำรวยลำพังเพียงฝ่ายเดียว มันไปไม่รอด มันไร้สุข ความมีจึงต้องเป็นความมีที่แบ่งปันกัน มีด้วยกัน เรามี ไม่ใช่ฉันมี เธอมี

ความมีของเราต้องไม่ใช่ความมีเพราะตักตวงเอาจากผู้อื่น

ความคิดแบบทุนนิยมสุดโต่งมันไม่นำความสุขที่แท้จริงมาให้ โลกาภิวัตน์ที่นำชาวโลกพุ่งไปข้างหน้า กอบโกยเอามากเข้าว่า ก็ยังได้อยู่ แต่เป็นความมีที่ไร้สุข เพราะมองออกไปจากหน้าต่างบนตึกระฟ้า เห็นท้องฟ้าที่หมองหม่น เพราะมวลพิษทางอากาศจากปล่องโรงงานอุตสาหกรรมทั้งหลาย

เมื่อมองลงมาที่ข้างกำแพงยังเห็นพี่น้องเพื่อนมนุษย์อยู่ในสลัม มีทางออกที่แคบๆ แทบจะเดินสวนกัน เพราะบริษัทมาสร้างปิดทางเดินของพี่น้องนับพันนับหมื่นที่อยู่ในสลัมที่ไม่สามารถพัฒนาได้ เพราะไม่มีทางเข้า

ภาพนี้เป็นภาพที่เราเห็นได้ในทุกประเทศ สลัมคลองเตยเป็นอีกแห่งหนึ่งที่ผู้คนอยู่กันอย่างแออัด แต่มองข้ามร่องน้ำเล็กๆ ที่เต็มไปด้วยขยะสารพัดชนิดออกไป เป็นหลังคาโบสถ์ที่อลังการงานวิษณุกรรมประสิทธิ์ทีเดียว

ความรุ่มรวยของศรัทธาฝั่งหนึ่ง กับความยากไร้ของผู้คนอีกฝั่งหนึ่ง มันห่างกันเพียงสองเมตร เป็นความจริงที่เราต้องกลับมาพิจารณาใหม่

 

ยุคโควิด-19 เป็นยุคของความตื่นรู้ที่จะรังสรรค์ให้โลกพลิกผัน กลับมาสู่ความมีด้วยกัน ความสุขด้วยกัน ระหว่างมนุษย์ หญิง-ชาย ระหว่างมนุษย์และสัตว์ ระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติ โดยมีความตระหนักรู้ว่า โลกทั้งผองพี่น้องกัน

คนที่ทำงานด้านอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมไม่เคยคิดว่าจะมีวันที่ฟ้าใสสว่างพอที่จะเห็นเทือกเขาหิมาลัยอีกครั้ง ไม่เคยคิดว่า ตัวนากจะขึ้นมาเดินเล่นในสวนสาธารณะในสิงคโปร์ ไม่เคยคิดว่า จะได้เห็นปลาโลมาเล่นน้ำในลำคลองเมืองเวนิซในอิตาลี ฯลฯ เพราะคิดว่า เรามาไกลเกินแก้

โควิด-19 ใช้เวลาเพียง 1 เดือน ที่กักตัวมนุษย์ผู้สร้างปัญหาให้อยู่แต่ในบ้าน ด้วยกลไกเพียงเท่านั้น ธรรมชาติก็ได้รับการเยียวยาอย่างเป็นรูปธรรม ประจักษ์ต่อสายตาของคนทั้งโลก ยืนยันกับนักอนุรักษนิยมทั้งหลายว่า มนุษย์ต้องทำได้

หากมนุษย์คิดเป็น

ใช่ โควิด-19 เปิดโอกาสยืนยันกับมนุษย์ว่า นิวนอร์มอล (New Normal) นั้นจะงดงามทั้งแก่มนุษย์และสิ่งแวดล้อมทางธรรมชาติ

เราถูกบังคับให้ทดลองทำ แม้กระนั้น เราก็รับรู้ว่า เราทำได้