โฟกัสพระเครื่อง/โคมคำ/พระปิดตาพิมพ์หัวบานเย็น หลวงปู่เอี่ยม สุวัณณสโร พระเกจิดังวัดหนัง กทม.

หลวงปู่เอี่ยม สุวัณณสโร

โฟกัสพระเครื่อง/โคมคำ [email protected]

พระปิดตาพิมพ์หัวบานเย็น

หลวงปู่เอี่ยม สุวัณณสโร

พระเกจิดังวัดหนัง กทม.

 

พระภาวนาโกศล หรือ “หลวงปู่เอี่ยม สุวัณณสโร” หรือ “หลวงพ่อวัดหนัง” เจ้าอาวาสวัดหนังราชวรวิหาร เขตบางขุนเทียน กรุงเทพฯ พระเกจิชื่อดัง ที่ได้รับความเลื่อมใสศรัทธา และรู้จักชื่อเสียงเป็นอย่างดี

วัตถุมงคลที่สร้างชื่อเสียงมีมากมายหลายรุ่น นอกจากเหรียญรุ่นยันต์สี่หรือเหรียญยันต์ห้า พระปิดตายันต์ยุ่งเนื้อโลหะผสม ถือเป็นพระยอดนิยม อีกทั้งพระชัยวัฒน์ก็เป็นพระที่นิยมกันมากเช่นกัน

นอกจากพระปิดตาเนื้อโลหะผสมแล้ว ยังสร้างพระปิดตาเนื้อตะกั่วด้วย สนนราคาก็จะย่อมเยาลงมาหน่อย เช่น พระปิดตาพิมพ์สังฆาฏิ พระปิดตาพิมพ์นะหัวเข่าเนื้อตะกั่วครึ่งซีก พระปิดตาพิมพ์ข้าวตอกแตก เป็นต้น

ส่วนพระปิดตาที่เป็นพระเนื้อผง มีจำนวนน้อยกว่าพระปิดตาเนื้อตะกั่ว เช่น พระปิดตาพิมพ์ข้าวตอกแตกเนื้อผงคลุกรัก พระปิดตาข้าวตอกแตกเนื้อผงคลุกรักจะหายาก

สนนราคาสูง

พระปิดตาเนื้อผงหัวบานเย็น

 

พระปิดตาเนื้อผงอีกรุ่น เป็นพระปิดตาเนื้อผงหัวบานเย็น พระพิมพ์ดังกล่าวหายากมาก

พระปิดตาเนื้อผงหัวบานเย็นนั้น เนื่องจากปลูกต้นบานเย็นไว้ที่บริเวณกุฏิของท่าน และทำน้ำมนต์รดน้ำของท่านทุกวัน โดยจะบริกรรมคาถาขณะรดน้ำให้หัวบานเย็นทุกวันมิได้ขาด พอได้ฤกษ์งามยามดี ก็จะขุดนำหัวของต้นบานเย็นที่ปลูกไว้ นำมาตากแห้ง และบดจนละเอียด นำผสมกับผงพุทธคุณ

จากนั้นจึงนำมาสร้างเป็นองค์พระปิดตา จึงเรียกว่าพระปิดตาเนื้อผงหัวบานเย็น เรียกว่า ดีตั้งแต่การปลูกต้นบานเย็นแล้ว และยังนำมาผสมกับผงพุทธคุณที่ทำไว้ เมื่อทำเป็นองค์พระเสร็จแล้ว ยังปลุกเสกอีกครั้งด้วย ก่อนแจกให้แก่ศิษย์และผู้ที่ใกล้ชิด

เท่าที่พบมีอยู่ 2 พิมพ์ พิมพ์หนึ่งจะต้อกว่า อีกพิมพ์หนึ่งดูชะลูดกว่า และเท่าที่พบพิมพ์ชะลูดมากกว่าพระพิมพ์ต้อ มีท่านผู้รู้บางท่านระบุว่า พระพิมพ์ต้อเป็นพระที่สร้างในครั้งแรก และต่อมาได้สร้างแม่พิมพ์พระพิมพ์ชะลูดขึ้นมาอีกพิมพ์หนึ่ง และจะพบเห็นพระพิมพ์ชะลูดมากกว่าพระพิมพ์ต้อ

นับเป็นพระที่หายากเช่นกัน เนื่องจากพระแท้ที่หายาก และส่วนมากจะอยู่กับศิษย์ที่ใกล้ชิดหลวงปู่หรือญาติโยมที่อยู่ใกล้วัด

สนนราคาในปัจจุบันจะย่อมเยากว่าพระพิมพ์อื่น เนื่องจากส่วนมากจะหาเหรียญหรือพระปิดตายันต์ยุ่งเนื้อโลหะ ซึ่งรู้จักกันแพร่หลายกว่า

นับเป็นพระปิดตา ที่หาได้ยากองค์หนึ่งในวงการทีเดียว

 

หลวงปู่เอี่ยม เป็นชาวบางขุนเทียนโดยกำเนิด เกิดในสกุลทองอู๋ เมื่อวันศุกร์ที่ 2 ตุลาคม 2375 ในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 ครอบครัวประกอบอาชีพชาวสวน

อายุ 9 ขวบ เข้าศึกษาที่สำนักพระอาจารย์รอด วัดหนัง ครั้นอายุได้ 11 ปี ศึกษาพระปริยัติธรรม ในสำนักพระมหายิ้ม วัดบวรนิเวศวิหาร ต่อจากนั้น ได้ไปอยู่ในสำนักพระปิฎกโกศล (ฉิม) วัดราชบูรณะ (วัดเลียบ)

ต่อมาท่านได้กลับมาบรรพชา และศึกษาพระปริยัติธรรมต่อที่วัดหนัง สำนักเดิมอีกวาระหนึ่ง การศึกษาในระยะนี้ดำเนินมาหลายปีติดต่อกันจนกระทั่งถึง พ.ศ.2394 เมื่อท่านอายุได้ 19 ปี จึงได้เข้าสอบ แปลพระปริยัติธรรมสนามหลวง ซึ่งสมัยนั้น ต้องเข้าสอบแปลปากเปล่าต่อหน้าพระพักตร์ ที่วัดพระศรีรัตนศาสดาราม

แต่น่าเสียดายที่ท่านสอบพลาดไป เลยลาสิกขา กลับไปช่วยบิดามารดาประกอบอาชีพอยู่ระยะหนึ่ง

เมื่ออายุ 22 ปี เข้าพิธีอุปสมบทที่วัดราชโอรสาราม มีพระสุธรรมเทพเถร (เกิด) เป็นพระอุปัชฌาย์, พระธรรมเจดีย์ (จีน) พระภาวนาโกศล (รอด) เป็นพระกรรมวาจาจารย์ ได้รับฉายา สุวัณณสโร

เคร่งครัดในพระธรรมวินัย และมุ่งมั่นศึกษาด้านปริยัติธรรมมาก ในระยะสั้น ย้ายไปอยู่จำพรรษาที่วัดนางนอง โดยได้ฝากตัวเป็นศิษย์กับหลวงปู่รอด วัดหนัง ซึ่งมีชื่อเสียงเลื่องลือในด้านวิทยาอาคมขลัง ท่านได้หันมาสนใจศึกษาวิทยาคม กลายเป็นศิษย์เอกที่พระอาจารย์รักมาก

ต่อมาในปลายสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 หลวงปู่รอดถูกถอดจากสมณศักดิ์เดิม ให้เป็นพระสงฆ์ธรรมดา จึงได้ย้ายไปอยู่ที่วัดโคนอน ซึ่งหลวงปู่เอี่ยมตามไปรับใช้ด้วย ไม่นานนักก็ถึงแก่มรณภาพ หลวงปู่เอี่ยมก็ได้ครองตำแหน่งเจ้าอาวาสปกครองวัดโคนอนสืบแทน

นอกจากนี้ ยังเป็นพระเถระชั้นผู้ใหญ่ที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ทรงเคารพนับถือเป็นการส่วนพระองค์

 

พ.ศ.2441 ในหลวงรัชกาลที่ 5 ได้โปรดเกล้าฯ ให้หลวงปู่เอี่ยมไปครองวัดหนัง และรุ่งขึ้นอีก 1 ปี ได้พระราชทานสมณศักดิ์ให้แก่หลวงปู่เอี่ยมแห่งวัดหนัง เป็นพระราชาคณะที่ พระภาวนาโกศล (เอี่ยม) ซึ่งเป็นสมณศักดิ์เดียวกับพระอาจารย์ของท่านนั่นเอง

สร้างความเจริญรุ่งเรืองให้วัดหนังเป็นอย่างมาก จวบจนละสังขาร เมื่อวันที่ 27 เมษายน 2469

สิริอายุ 94 ปี 72 พรรษา