การศึกษา / ปมครูข่มขืน น.ร.ที่มุกดาหาร แรงกระเพื่อมต่อ ‘วงการศึกษา’

การศึกษา

 

ปมครูข่มขืน น.ร.ที่มุกดาหาร

แรงกระเพื่อมต่อ ‘วงการศึกษา’

 

กรณีครู 5 คน และรุ่นพี่ 2 คนข่มขืนกระทำชำเรานักเรียน ม.2 อายุ 14 และ ม.4 อายุ 16 ปี โรงเรียนดงมอนวิทยาคม จ.มุกดาหาร

ครูทั้ง 5 คนถูกตั้งข้อหากระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรงจนถูกตั้งคณะกรรมการสอบสวนในเรื่องกระทำชำเราเด็กอายุไม่เกิน 15 ปี โดยเด็กนั้นจะยินยอมหรือไม่ก็ตาม อันมีลักษณะเป็นการโทรมเด็กหญิง และเป็นการกระทำแก่ศิษย์ซึ่งอยู่ในความดูแล พรากเด็กอายุไม่เกิน 15 ปี ไปเสียจากบิดามารดา ผู้ปกครองเพื่อการอนาจาร และมีเหตุให้พักราชการตามกฎคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) ว่าด้วยการสั่งพักราชการและสั่งให้ออกจากราชการไว้ก่อน

และในจำนวนดังกล่าว มีครูอีก 3 คนถูกแจ้งดำเนินคดีเพิ่มอีก 1 คดีคือ ร่วมกันพรากผู้เยาว์อายุต่ำกว่า 15 ปี แต่ยังไม่เกิน 18 ปีไปเสียจากบิดามารดา ผู้ปกครอง หรือผู้ดูแล เพื่อหากำไร หรือเพื่อการอนาจาร

อย่างไรก็ตาม ทั้ง 2 คดี ครูทั้งหมดได้รับการประกันตัว ต่างปฏิเสธข้อกล่าวหา และขอให้การในชั้นศาล

 

เคสนี้ก่อให้เกิดแรงกระเพื่อมในวงการศึกษา โดยองค์กรเด็กสตรีต่างออกมาเรียกร้องให้กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) รับมือเชิงรุกและอย่างเข้มข้นกว่าเดิม เพราะปัญหาล่วงละเมิดทางเพศเกิดขึ้นบ่อยครั้ง

จากข้อมูลศูนย์เฉพาะกิจคุ้มครองและช่วยเหลือเด็กนักเรียน สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (ฉก.ชน.สพฐ.) รอบ 4 ปี ระหว่าง พ.ศ.2556-2560 มีเด็กถูกล่วงละเมิดทางเพศสูงถึง 727 ราย

ในจำนวนนี้เป็นครูและบุคลากรทางการศึกษา 53 ราย

ขณะที่มูลนิธิหญิงชายก้าวไกลยังได้เก็บข้อมูลปี 2560 จากข่าวหนังสือพิมพ์ พบว่ามีข่าวล่วงละเมิดทางเพศเด็กอายุต่ำกว่า 10 ปี 42 ข่าว อายุ 11-20 ปี 145 ข่าว

ในจำนวนนี้มี 17 ข่าวที่ก่อเหตุในโรงเรียน ส่วนอาชีพครูที่เป็นผู้กระทำ มี 13 ข่าว

 

ก่อเกิดแรงกระเพื่อมแรก

นายเอกชัย กี่สุขพันธ์ ประธานคณะกรรมการมาตรฐานวิชาชีพ (กมว.) คุรุสภา จะเร่งคลอดข้อบังคับคุรุสภาว่าด้วยการพิจารณาประพฤติผิดจรรยาบรรณของวิชาชีพ ฉบับใหม่

เพื่อมาจัดการครูที่ไม่ได้มาตรฐานจรรยาบรรณ

โดยข้อบังคับใหม่ จะกำหนดมาตรฐานจรรยาบรรณที่เข้มข้นขึ้น

ลงโทษเรื่องการพักหรือเพิกถอนใบอนุญาตประกอบวิชาชีพ รวดเร็ว

และรุนแรงขึ้น

 

แรงกระเพื่อมที่ 2 อดีตเคยเกิดเคสการยอมความหรือไกล่เกลี่ย ซึ่งอาจเกิดจากการจ่ายเงินให้ผู้เสียหาย

นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม จึงสั่งการสำนักงานยุติธรรมจังหวัดมุกดาหาร โดยให้พนักงานสอบสวนทำหนังสือยื่นคำร้องต่ออัยการจังหวัด ขอใช้อำนาจพิเศษของอัยการ ตามประมวลกฎหมาย ป.วิอาญา วิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 237 ทวิ “ขอให้ศาลสืบพยานก่อนฟ้อง” ซึ่งอัยการจะนำตัวเด็กหญิงผู้เสียหายไปเบิกความต่อศาล

การให้ศาลสืบพยานก่อนฟ้อง จะดีกว่าการคุ้มครองพยาน เนื่องจากพยานยังจำเหตุการณ์ได้ดีอยู่ หรือยังมีร่องรอยการกระทำผิด สามารถเห็นพฤติกรรมประกอบการพิจารณาคดีได้ หากปล่อยนานเกินไป เด็กอาจให้การไม่ตรงข้อเท็จจริง รวมถึงไม่มีเหตุแทรกซ้อน เช่น จำเลยให้เงินแก่ญาติผู้เสียหาย ข่มขู่ เพื่อให้เบิกพยานอ่อน ตำรวจ อัยการจะไม่กล้าบิดเบือนสำนวน แม้เด็กกลับคำให้การ ศาลก็จะเชื่อผลสืบรอบแรก

“เมื่อจำเลยเห็นว่าหลักฐานมัดตัวก็จะรับสารภาพ จำเลยจะขอเจรจากับฝ่ายโจทก์เพื่อขอให้ยอมความ หรือวิ่งเต้นล้มคดีคงทำได้ยาก เพราะมีการสืบพยานต่อหน้าศาลเรียบร้อยแล้ว ซึ่งคดีนี้จิตใจเด็กคงบอบช้ำซึ่งอาจจะขอยอมความได้”

นายสมศักดิ์ระบุ

 

แรงกระเพื่อมที่ 3 องค์กรสากลอย่างองค์การยูนิเซฟ ประเทศไทย ได้ออกแถลงการณ์ประณามเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ระบุว่าเป็นเหตุการณ์เลวร้าย

ชี้ให้เห็นถึงความล้มเหลวในการปกป้องคุ้มครองเด็ก และควรเป็นจุดเปลี่ยนให้ทุกฝ่ายปรับปรุงการคุ้มครองเด็กในโรงเรียนโดยด่วน

ทั้งนี้ ไม่ควรมีเด็กคนใดควรต้องเผชิญกับความรุนแรงไม่ว่าในรูปแบบใด หรือสถานที่ใด

โดยเฉพาะอย่างยิ่งในโรงเรียน

ซึ่งควรเป็นสถานที่ปลอดภัยสำหรับเด็กทุกคน

 

แรงกระเพื่อมที่ 4 องค์กรเด็กและสตรี 92 องค์กรเคลื่อนไหวผ่านเว็บไซต์ change.org ให้มีการแก้ไขความรุนแรงทางเพศในโรงเรียน โดยมีผู้ร่วมลงชื่อสนับสนุนกว่า 1 หมื่นคน

ล่าสุด น.ส.วราภรณ์ แช่มสนิท ผู้จัดการแผนงานสุขภาวะผู้หญิงและความเป็นธรรมทางเพศ สมาคมเพศวิถีศึกษา

พร้อมด้วย น.ส.อังคณา อินทสา หัวหน้าฝ่ายส่งเสริมความเสมอภาคระหว่างเพศ มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล และตัวแทน “เครือข่ายยุติความรุนแรงทางเพศในโรงเรียน 92 องค์กร” ได้ยื่นหนังสือถึงนายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการ ศธ. เพื่อแก้ไขทั้งกรณีครูและรุ่นพี่ข่มขืนนักเรียนหญิงที่ จ.มุกดาหาร

รวมถึงกรณีครูแชตลวงนักเรียนไปทำอนาจารใน จ.บุรีรัมย์

พร้อมเรียกร้องให้สถานศึกษาเป็นพื้นที่ที่ปลอดภัยสำหรับเด็กและเยาวชน โดยขอให้ดำเนินมาตรการเร่งด่วน อาทิ เมื่อเกิดเหตุล่วงละเมิดทางเพศต่อเด็กนักเรียน

ศธ.ต้องไม่ปล่อยให้เด็กผู้เสียหายและผู้ปกครองเรียกร้องความยุติธรรมอย่างโดดเดี่ยว แต่ต้องเป็นเจ้าทุกข์ร่วมในการแจ้งความและฟ้องร้องดำเนินคดีทางอาญา ตลอดจนการให้ความช่วยเหลือทางกฎหมายแก่เด็กผู้เสียหายและผู้ปกครอง และจัดการให้เด็กเข้าถึงการคุ้มครองสวัสดิภาพและได้รับการเยียวยาทางจิตใจและสังคมโดยเร่งด่วน

กรณีสอบสวนแล้วพบว่าครูหรือบุคลากรทางการศึกษากระทำผิดฐานล่วงละเมิดทางเพศต่อนักเรียน ให้ ศธ.ลงโทษทางวินัยขั้นสูงสุด ถอนใบประกอบวิชาชีพครู และหากยังคงรับราชการหรือปฏิบัติงานในหน่วยงานด้านการศึกษา จะต้องไม่ให้ปฏิบัติงานในตำแหน่งที่เกี่ยวข้องกับนักเรียนโดยตรงอย่างเด็ดขาด เป็นต้น

 

ขณะที่นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการ ศธ.ระบุว่า ที่ผ่านมายอมรับว่ากระบวนการต่อสู้กับการล่วงละเมิดทางเพศยังเข้มข้นน้อยไป

จึงได้ตั้งทีมงานและศูนย์คุ้มครองและช่วยเหลือนักเรียนนักศึกษาซึ่งถูกล่วงละเมิดทางเพศ (ศคพ.) เพื่อแก้ปัญหาต่างๆ โดยต้องทำทุกอย่างให้รวดเร็วและถูกต้อง จาก 4-5 คดีที่เกี่ยวข้องกับการล่วงละเมิดทางเพศที่ผ่านมา พบว่า ศธ.มีความกระตือรือร้น จัดการอย่างรวดเร็วและรอบคอบ เรื่องนี้ ศธ.ให้ความสำคัญและจะต่อสู้อย่างมุ่งมั่นเพื่อไม่ให้คนที่ทำร้ายทั้งชื่อเสียงของครู โรงเรียน ศธ. และสังคม มากระทำผิดใน ศธ.ได้

นอกจากนี้ รัฐมนตรีว่าการ ศธ.ได้ทำหนังสือถึงผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) ขอความร่วมมือว่า หากพบปัญหาล่วงละเมิดทางเพศในพื้นที่ต่างๆ และ ศธ.มีข้อมูลหลักฐานเพียงพอที่จะตั้งคณะกรรมการสอบสวนวินัยร้ายแรง เมื่อมีการกล่าวโทษในกระบวนการยุติธรรม อยากให้ตำรวจคัดค้านการประกันตัว

“ที่ผ่านมาเมื่อมีเรื่องล่วงละเมิดทางเพศ จะมีการไกล่เกลี่ย จ่ายชดเชย เพื่อไม่ให้ผู้ปกครองดำเนินคดี แต่วันนี้ ศธ.ปล่อยให้เกิดขึ้นไม่ได้ ความผิดทางอาญาจะต้องดำเนินการต่อไป ซึ่งผมแจ้งให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องว่า หากผู้ปกครองไม่กล่าวโทษบุคคลเหล่านี้ ให้ผู้อำนวยการโรงเรียนหรือผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา (สพท.) และศึกษาธิการจังหวัด (ศธจ.) ดำเนินการร้องทุกข์กล่าวโทษแทนตามลำดับ หากหน่วยงานเหล่านี้ไม่สามารถดำเนินการได้ ศธ.จะให้ ศคพ.เป็นผู้ร้องทุกข์กล่าวโทษให้แทน” นายณัฏฐพลกล่าว

    หวังว่าเคสนี้จะเป็นเคสสุดท้ายที่เป็นฝันร้ายของเด็กๆ จากนี้สถานศึกษาควรต้องเป็นบ้านหลังที่ 2 ที่ผู้ปกครองอุ่นใจจะฝากลูกหลานไว้อย่างแท้จริง