ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 22 - 28 พฤษภาคม 2563 |
---|---|
คอลัมน์ | เครื่องเคียงข้างจอ |
เผยแพร่ |
เครื่องเคียงข้างจอ/วัชระ แวววุฒินันท์
คอบอลมีเฮ แต่…
เมื่อวันเสาร์-อาทิตย์ที่ผ่านมา แฟนฟุตบอลทั้งหลายเหมือนได้ปลดปล่อยจากที่อดอยากปากแห้งมานานร่วมสองเดือน เพราะโควิดทำเอาการแข่งขันกีฬาทุกประเภทต้องมีอันหยุดลง
พอเหตุการณ์เริ่มดูดีขึ้น จากยอดผู้ติดเชื้อในยุโรปลดลง ฟุตบอลลีกเยอรมันในนามบุนเดสลีก้าก็ชิงตัดหน้าเพื่อนๆ กลับมาแข่งขันใหม่อีกครั้งท่ามกลางสภาพแวดล้อมการแข่งขันที่เป็น New Normal
เป็นการแข่งขันที่หลายฝ่ายจับตาดู เพราะเหมือนเป็น “หนูทดลอง” ให้กับลีกอื่นๆ ได้ทำตามว่า หากจะกลับมาเตะอีกครั้ง ต้องจัดการเรื่องความปลอดภัยจากการติดเชื้ออย่างไรบ้าง โดยมีข้อกำหนดในการปฏิบัติเต็มไปหมด ซึ่งจากการแข่งขันไปก็เหมือนการทำการบ้านส่งครูว่าผ่านหรือไม่
จึงเป็นแมตช์การแข่งขันที่ผู้คนไม่ได้สนใจเฉพาะผลการเตะ แต่สนใจไปถึงกระบวนการจัดการหลังบ้านต่างๆ
และสนใจว่าภาพที่ถูกถ่ายทอดออกไปจะให้อารมณ์ความสนุกแค่ไหน
กฎระเบียบที่ออกมาเป็นข้อกำหนดมีรายละเอียดมากมาย เช่น ห้ามนักเตะเดินทางมาสนามแข่งในรถคันเดียวกัน ทุกคนต้องตรวจร่างกายว่าไม่เจ็บไข้ก่อนลงแข่ง 72 ชั่วโมง
ทุกคนต้องสวมหน้ากากอนามัย
ในสนามจำกัดจำนวนผู้ที่เข้าไปได้ ทีมงานเข้าได้กี่คน
สื่อมวลชนก็ต้องคัดกรองว่าใครเข้าได้ไม่ได้
เจ้าหน้าที่ในการจัดการแข่งขันใครสามารถอยู่ในสนามได้ ใครอยู่ได้แต่ภายนอก
โดยทั้งหมดต้องมีคนในสนามจำนวนไม่เกินกว่าที่กำหนดคือ 322 คน
และแน่นอนที่ไม่มีแฟนบอลเลยแม้แต่คนเดียว
จึงมีการสร้าง New Normal ใหม่ของวัฒนธรรมการดูบอลในยุคนี้ขึ้นมา ไม่ว่าจะเป็นการนำสแตนดี้รูปแฟนบอลมาติดตั้งที่เก้าอี้แทนการเข้าชมจริง โดยสโมสรจะทำการขายพื้นที่นะครับให้กับแฟนที่อยากส่งกำลังใจให้นักเตะของตน
เท่านั้นไม่พอ ยังมีแอปพลิเคชั่นที่แฟนบอลสามารถโหลดไว้ เวลาชมเกมอยู่ทางบ้านหากต้องการแสดงออกถึงความรู้สึกกับเกม ก็สามารถกดในแอพพลิเคชั่นนั้นได้ เช่น ปรบมือ ส่งเสียงเชียร์ เป่าปาก หรือแม้แต่โห่ฮาป่าก็มีให้ได้ปลดปล่อย เสียงที่เลือกกดก็จะไปดังปรากฏในสนามแข่ง เหมือนได้ไปร่วมชมอยู่จริงๆ
จากการได้มีโอกาสรับชมการแข่งขันคู่ระหว่างทีมเสื้อเหลือง “ดอร์ตมุนด์” พบกับทีมราชันสีน้ำเงิน “ชาลเก 04” ซึ่งผลการแข่งขันก็ออกมาล้อกันคือ 4-0 โดยดอร์ตมุนด์กดไปซะ 4 ลูก เหมือนเก็บกดอัดอั้นจากการไม่ได้ลงสนามมานาน บางคนบอกว่า เตะโหดเหมือนโกรธโควิด อะไรอย่างนั้น
เรื่องผลการแข่งขันก็เรื่องหนึ่ง แต่เรื่องรายรอบดูน่าสนใจไม่น้อย เพราะเป็นภาพใหม่ที่เราไม่เคยเห็น เช่น พอเริ่มเกมนักเตะก็ออกจากห้องแต่งตัวเดินลงไปประจำตำแหน่งในสนามเลย งดการเดินแถวจูงมือเด็กน้อย งดการจับมือกับอีกทีม งดการถ่ายภาพหมู่
จึงเป็นเหมือนว่ามาเพื่อเตะ เตะ เตะ อย่างเดียว
บรรยากาศการเล่นแม้จะเอาจริงเอาจังแบบมืออาชีพ แต่ก็ดูเหมือนไม่เต็มสูบนัก ทั้งอาจจะร้างสนามไปนาน ความฟิตจึงลดลง และอาจจะเกร็งๆ จากการปะทะที่เสี่ยงต่อการติดเชื้อได้ ซึ่งมาตรการ social distancing ก็ทำให้เราไม่เห็นภาพการรุมกรูเข้าไปหาผู้ตัดสินยามตัดสินไม่พอใจ หรือภาพผลักอกกระแทกกันไปมา แม้แต่ตอนเตะมุมที่ทั้งสองทีมต้องยืนประกบกัน ก็ดูไม่เบียดเสียดประกบติดเหมือนฝาแฝดเช่นกับแต่ก่อน
แต่สิ่งที่ดูจะปฏิบัติยากคือการห้ามถ่มน้ำลายระหว่างการแข่งขัน ซึ่งภาพก็จับให้เห็นเลยว่า มีใครบ้างที่ทำ…แหมก็มันติดในลำคอนี่นา ไม่รู้หลังเกมแล้วจะโดนลงโทษอะไรหรือไม่
และช็อตที่คนรอดูอย่างมากคือ เมื่อยิงเข้าแล้วจะเป็นอย่างไร
ลูกแรกที่เกิดการส่งบอลตุงตาข่ายมาจากกองหน้าดาวรุ่งชาวอังกฤษนามฮาแลนด์ ตามคาด และฮาแลนด์ก็วิ่งไปที่มุมธงหันกลับมาเต้นแสดงความดีใจกับเพื่อนๆ ที่เต้นอยู่ห่างๆ กัน ไม่มีการพุ่งไถลไปกับสนาม หรือกระโดดกอดกันอย่างที่เคยทำ
ช่างเป็นการแสดงความดีใจที่กร่อยพอแรงทีเดียว
อีก 3 ลูกที่ตามมา ก็เป็นไปในทำนองนี้
อีกประเด็นหนึ่งที่ได้เห็นคือ ภาพสนามไร้คนดู มันช่างเป็นบรรยากาศที่แห้งแล้งสิ้นดี เพราะมนต์เสน่ห์ของเกมฟุตบอลคือ “แฟนบอล” ที่เหมือนเอาชีวิตมาวางไว้ในสนามในช่วง 2 ชั่วโมงกว่าๆ ของการแข่งขัน มีอารมณ์ มีชีวิตชีวา ที่แปรเปลี่ยนผ่านสีหน้า ผ่านเสียงที่เปล่งออกมา และอากัปกิริยาตลอดเวลาของการบรรเลงเพลงเตะ
แมตช์นี้มีการเปิดซาวด์การเชียร์เพื่อช่วยเสริมบรรยากาศให้กับนักเตะ แต่เสียงที่ก้องและไม่ได้มีภาพจริงของต้นกำเนิดเสียง จึงทำให้ดูหลอกๆ ออกจะน่ารำคาญด้วยซ้ำ
แต่นั่นแหละ ก็ต้องแลกเอากับการไม่มีแมตช์เตะเลย
นี่จึงเป็นสัญญาณว่าทุกอย่างจะไม่เหมือนเดิมแล้ว ทุกคนต้องเรียนรู้และยอมรับ พร้อมกับการทำใจว่าอะไรก็จะเปลี่ยนไป
หากไม่มีแฟนบอล รายได้ก้อนโตของสโมสรก็จะหายไป เงินที่จะเอามาพัฒนาทีม หรือซื้อนักเตะฝีเท้าดีราคาสูงๆ จึงไม่อาจเกิดได้ง่าย หรือแทบจะทำไม่ได้เลยสำหรับทีมเล็กๆ
บรรดานักเตะมีชื่อและค่าตัวสูงลิ่ว ก็อาจจะเกิดอาการ “ไม่สมดุล” กับความเป็นจริง เพราะด้วยภาวการณ์นี้ สโมสรอาจจะเลือกขายทิ้ง เอาเงินไปซื้อนักเตะฝีเท้าดีราคากลางๆ มากกว่า ที่เอเย่นต์นักเตะเคยโก่งค่าตัวก็อาจจะทำไม่ได้เหมือนเดิม
ซึ่งอาจจะเป็นการปรับเข้าสู่ความสมดุลตามความจริงที่ควรจะเป็นก็ได้ เพราะที่ผ่านมาต้องยอมรับว่าราคาค่าตัวของนักเตะนั้น “เว่อร์” ไปมากมานับ 10 ปีแล้ว คราวนี้จึงเหมือนกับการเซ็ตซีโร่เรื่องค่าตัวนักเตะก็เป็นได้
แน่นอนที่ราคาค่าลิขสิทธิ์การถ่ายทอดสดก็อาจจะลดลงด้วย เพราะทุกอย่างเปลี่ยนไป แฟนบอลที่เข้าชมในสนามก็ไม่มี มูลค่าทางการตลาดก็อาจจะลดน้อยลง อะไรๆ จะเหมือนเดิมก็คงไม่ได้
ยังมีหลายอย่างรออยู่ว่าสุดท้ายโควิดจะพาวงการฟุตบอลเปลี่ยนแปลงไปถึงจุดไหน ซึ่งอาจเป็นจุดที่ไม่อยากให้เกิด แต่ก็จำเป็นต้องทำใจยอมรับก็ได้
จากนี้ไปต้องมารอลุ้นว่า ลีกดังๆ ของประเทศอื่นๆ ไม่ว่าจะลาลีก้าลีกของสเปน กัลโช่เซเรียอาของอิตาลี พรีเมียร์ลีกของอังกฤษ จะกลับมาเตะกันใหม่เมื่อไหร่ หากศึกบุนเดสลีก้าไม่ได้เพิ่มจำนวนผู้ติดเชื้อแต่อย่างใด ก็อาจจะเป็นแสงสว่างที่ทำให้หลายๆ ลีกมีความมั่นใจในการกลับมาเตะได้
ส่วนไทยลีกนั้น สมาคมฟุตบอลฯ ได้ประกาศออกมาแล้วว่าจะกลับมาบรรเลงเพลงเตะกันอีกทีก็เดือนกันยายนโน่น ตอนนี้นักเตะทั้งหลายก็หาอาชีพเสริมประทังชีวิตกันไปก่อน
ส่วนเจลีกของญี่ปุ่นที่แฟนบอลไทยหลายคนให้ความสนใจ ก็แว่วว่าจะกลับมาเปิดฉากได้อีกครั้งราวเดือนกรกฎาคม ซึ่งนับจากนี้ไปอีกเดือนสองเดือน คอบอลทั้งหลายคงจะคึกคักมากขึ้นหากลีกต่างๆ กลับมาเตะได้จริงตามคาด
แม้จะต้องเตะกันแบบ New Normal ก็ตาม
การชมเกมฟุตบอลอาจไม่ได้ความ “เร้าอารมณ์แบบสุดๆ” เหมือนเดิมแล้ว แต่นั่นก็เป็นเหมือนกับจะยืนยันว่า อะไรที่มากเกินไป อะไรที่ไปไกลเกินพอดี ไม่เดินสายกลางๆ เพื่อสร้างสมดุล สุดท้ายธรรมชาติก็จะจัดการมันเอง
โลกกลมๆ ทั้งใบกำลังจะเปลี่ยนไป รวมทั้งโลกของกีฬาลูกหนังลูกกลมๆ ที่เรียกว่า “ฟุตบอล” นี่ก็ด้วย เรามาคอยติดตามกันดีกว่าว่าจะเปลี่ยนไปอย่างไร มองอย่างเรียนรู้และเข้าใจ
สุดท้ายเราเองนั่นแหละที่ต้องปรับตัวให้ได้ ไม่ว่า New Normal จะเป็นรูปแบบใด
ทุกอย่างอยู่กับ Old Organ คือ “หัวใจ” ดวงเดิมๆ ของเราที่มีมาตั้งแต่เกิด ว่าพร้อมจะมี New Mindset กับการเปลี่ยนแปลงนี้แล้วหรือยัง
ปรี๊ด…หมดเวลาการแข่งขันแล้วครับ พบกันใหม่ฉบับหน้า