สุจิตต์ วงษ์เทศ / น้ำใต้ดิน อยู่บาดาล เลี้ยงคนและก่อบ้านสร้างเมือง

ขุดลอกบึงพลาญชัยในปี พ.ศ.2470 โดยการนำของอำมาตย์เอก พระยาสุนทรเทพกิจจารักษ์ (ทอง จันทรางศุ) ใช้เวลาขุด 2 ปี มีผู้มาร่วมขุดบึงพลาญชัยถึง 40,000 คน

สุจิตต์ วงษ์เทศ

น้ำใต้ดิน อยู่บาดาล

เลี้ยงคนและก่อบ้านสร้างเมือง

 

แหล่งน้ำใต้ดินทำให้มีการก่อบ้านสร้างเมือง เริ่มจากบ้านเล็กเมืองน้อย จนเป็นรัฐใหญ่จำนวนนับไม่ถ้วนทั้งในไทยและในเพื่อนบ้านอุษาคเนย์ ตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน และยังสำคัญถึงรัฐสมัยใหม่ต่อไปในอนาคต

ปัญหาของไทยอยู่ที่ระบบการเรียนการสอนประวัติศาสตร์แห่งชาติ ให้ความสำคัญประวัติศาสตร์ราชธานี “ลอยสวรรค์” ลงมา โดยไม่มีพัฒนาการทางสังคมและวัฒนธรรมของประชาชนไพร่บ้านพลเมือง “ร้อยพ่อพันแม่” ที่ต้องพึ่งพาแหล่งน้ำจากใต้ดินและจากเหนือฟ้า (เรียก “นาทางฟ้า”) เลยไม่รู้จักคุณค่าแหล่งน้ำใต้ดิน แล้วบางครั้งทำลาย

แหล่งน้ำเป็นสิ่งกระตุ้นและชักจูงให้มีชุมชน แล้วขยายเป็นบ้านเมืองใหญ่โต เมื่อแหล่งน้ำนั้นอยู่บนเส้นทางการค้าแล้วหล่อเลี้ยงผู้คนจำนวนมาก มีตัวอย่างสำคัญคือเมืองร้อยเอ็ดเติบโตขึ้นจากชุมชนรอบแหล่งน้ำ (บึงพลาญชัย) ซึ่งอยู่บนเส้นทางคมนาคมการค้าดินแดนภายใน โดยเฉพาะการค้าเกลือและเหล็กซึ่งมีแหล่งใหญ่อยู่ทุ่งกุลาร้องไห้

บึงพลาญชัย (อยู่กลางเมืองร้อยเอ็ด) มีต้นตอจากแหล่งน้ำกว้างใหญ่อันเกิดจากตาน้ำธรรมชาติผุดจากใต้ดินซึ่งมีหลายแห่งกระจัดกระจายทั้งบริเวณบึงและพื้นที่โดยรอบ ปัจจุบันเรียกสระต่างๆ ได้แก่ สระแก้วที่วัดสระแก้ว, สระทองที่วัดสระทอง, สระชัยมงคล วัดบึงพระลานชัย เป็นต้น

 

ตาน้ำธรรมชาติผุดจากใต้ดินที่สำคัญมากของเมืองร้อยเอ็ดสมัยเริ่มแรกหลายพันปีมาแล้ว คือ บ่อน้ำซับสระชัยมงคล วัดบึงพระลานชัย อยู่ขอบบึงพลาญชัย

วัดบึงพระลานชัย มีพระสงฆ์รู้ความสำคัญของตาน้ำ จึงรักษาสภาพแวดล้อมแล้วจัดเป็นสถานที่พิเศษ ดังนี้

  1. สระชัยมงคล เป็นหนองน้ำดั้งเดิมเกิดจากตาน้ำดึกดำบรรพ์ก่อนมีเมืองร้อยเอ็ด แต่ถูกปรับปรุงเป็นสระน้ำหลังมีบ้านเมืองแล้วสร้างวัด
  2. บ่อน้ำซับ เป็นตาน้ำธรรมชาติผุดจากใต้ดินอยู่กลางสระชัยมงคล เป็นหนึ่งในน้ำผุดน้ำพุจากใต้ดินหลายสิบแหล่ง แล้วเป็นต้นน้ำให้บึงพลาญชัยหลายพันปีมาแล้ว ทางวัดสร้างหอไตรครอบบ่อน้ำซับกลางสระชัยมงคล แล้วทำห้องคูหาภายในหอไตรมีบันไดขึ้นลงถึงชั้นดินดานธรรมชาติที่มีตาน้ำกำเนิดเมืองร้อยเอ็ด

บ่อน้ำซับในสระชัยมงคล วัดบึงพระลานชัย อยู่ติดบึงพลาญชัย ปัจจุบันทางวัดสร้างหอไตรครอบบ่อน้ำซับอยู่ในห้องคูหาใต้น้ำ มีทางบันไดขึ้นลงไปดูตาน้ำซับซึ่งเป็นตาน้ำธรรมชาติที่จะกลายเป็นหนองบึง เช่น บึงพลาญชัย

 

ตาน้ำซับ แหล่งกำเนิดเมืองร้อยเอ็ด

บ่อน้ำซับในสระชัยมงคลเป็นหนึ่งในหลายแห่งของตาน้ำธรรมชาติบึงพลาญชัย ต้นกำเนิดเมืองร้อยเอ็ด ที่คนท้องถิ่นเมืองร้อยเอ็ดควรร่วมกันดูแลรักษาแล้วทำความเข้าใจประวัติความเป็นมาซึ่งเกี่ยวข้องกับแหล่งน้ำใต้ดิน

ในความเชื่อดั้งเดิมของไทยและอุษาคเนย์ แหล่งน้ำใต้ดินคือโลกบาดาล มีพญานาคเป็นใหญ่ผู้พิทักษ์น้ำบาดาล ส่วนตาน้ำซับ คือ ช่องทางขึ้นลงของพญานาคระหว่างโลกบาดาลกับโลกมนุษย์ บางแห่งเรียก “รูนาค” แต่หลายแห่งเรียก “สะดือ” เช่น สะดือแม่น้ำ ที่บางปะอิน พระนครศรีอยุธยา (มีบอกในโคลงกำสรวลสมุทร), สะดือเมือง ทางภาคเหนือ (พบทั่วไปในตำนานล้านนา), สะดือทะเล หรือสะดือสมุทรอยู่ทะเลอันดามัน (มีบอกในรำพันพิลาป ของ สุนทรภู่)

 

ท้องถิ่นของใคร?

ประวัติศาสตร์ท้องถิ่นควรเป็นเรื่องราวความเป็นมาเกี่ยวข้องกับทรัพยากรท้องถิ่นโดยเฉพาะแหล่งน้ำของชุมชนจนเป็นบ้านเมือง เพื่อทำความเข้าใจในโลกของความจริงถึงความสำคัญของแหล่งน้ำและทรัพยากรอื่นๆ ที่อาจดัดแปลงพัฒนาแล้วสร้างสรรค์สนองความมีชีวิตในปัจจุบันและอนาคต

แต่สถานศึกษาในไทยตั้งแต่ระดับประถม, มัธยม, จนถึงมหาวิทยาลัย มีการศึกษาประวัติศาสตร์ท้องถิ่นเน้นเป็นพิเศษเฉพาะที่ความสัมพันธ์ของท้องถิ่นกับส่วนกลาง หรือเน้นสำนึกในบุญคุณที่ศูนย์กลางอำนาจทำให้หรือส่งให้ท้องถิ่น เพื่อให้ท้องถิ่นยอมจำนนอย่างศิโรราบต่อศูนย์กลางอำนาจนั้น ส่งผลให้ท้องถิ่นอ่อนแอแล้วจัดการตนเองไม่ได้ จึงควรแก้ไข ดังนี้

  1. สถานศึกษาในร้อยเอ็ด เน้นแลกเปลี่ยนเรียนรู้พัฒนาการของบ้านเมืองจากทรัพยากรท้องถิ่นโดยเฉพาะแหล่งน้ำ เพื่อกระตุ้นให้สำนึกในคุณค่าของแหล่งน้ำทั้งมวล (เลิกหลงทางไปกับ “เมืองสิบเอ็ดประตู” ที่เพิ่งสร้างอย่างลมๆ แล้งๆ)
  2. พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ร้อยเอ็ด ควรจัดแสดงหลักฐานโบราณคดี บอกความเป็นมาของชุมชนสมัยก่อนประวัติศาสตร์ของร้อยเอ็ด จากแหล่งน้ำบึงพลาญชัยและปริมณฑลที่กระตุ้นให้เกิดเมืองใหญ่บนเส้นทางการค้าดินแดนภายใน (นิยมเรียกสมัยทวารวดี)
  3. ท้องถิ่นร้อยเอ็ด ควรให้ความสำคัญ “บ่อน้ำซับ” กลางสระชัยมงคล ในวัดบึงพระลานชัย ทั้งในแง่แหล่งน้ำธรรมชาติจากใต้ดิน กับในแง่ประวัติศาสตร์สังคมเมืองร้อยเอ็ดอย่างแท้จริง (เก่าแก่กว่าศาลหลักเมือง และถูกต้องกว่า “เมืองสิบเอ็ดประตู”)
ขุดลอกบึงพลาญชัย ประมาณ พ.ศ.2469-2471 ระหว่างที่อำมาตย์เอก พระยาสุนทรเทพกิจจารักษ์ (ทอง จันทรางศุ) เป็นผู้ว่าราชการจังหวัดร้อยเอ็ด

 

บึงพลาญชัย เมืองร้อยเอ็ด

หนองน้ำธรรมชาติขนาดใหญ่ (ไม่รู้ชื่อเดิม) มีแล้วหลายพันปีก่อนสร้างเมืองร้อยเอ็ดสมัยแรกสุด เรือน พ.ศ.1000 (สมัยทวารวดี)  เกิดจากตาน้ำซับหลายแห่ง แต่แห่งสำคัญปัจจุบันเรียกบ่อน้ำซับใน “สระชัยมงคล” วัดบึงพระลานชัย (ขอบบึงพลาญชัย)

บึงรกร้าง หลังเมืองร้อยเอ็ดหมดความสำคัญ ตั้งแต่เมื่อไรไม่รู้? ขุดลอกบึง 2469-2471 “เกณฑ์แรงงานคนทุกอำเภอ ขอแรงคนละ 7 วัน แต่ถ้าใครไม่มีเงินเสียรัชชูปการก็ต้องใช้แรงงาน 1 เดือน” [บันทึกของนางบุญมี คำบุศย์ เกิด พ.ศ.2458 หลานเจ้าเมืองร้อยเอ็ด (คนที่7)]

บึงพลาญชัย หมายถึง ที่ลุ่มยอดเยี่ยมซึ่งเป็นแอ่งน้ำกว้างใหญ่ มีน้ำขังตลอดปี [บึง คือ ที่ลุ่มแอ่งน้ำตลอดปี, พลาญ คือ ลานกว้างใหญ่ (คำกร่อนจาก พระลาน), ชัย คือ ยอดเยี่ยม]