เพ็ญสุภา สุขคตะ : “พระเจ้าแข้งคม” เงื่อนงำการฟื้นฟูพุทธศิลป์ละโว้ ของพระเจ้าติโลกราช

เพ็ญสุภา สุขคตะ

ยุคสมัยของ “พระเจ้าติโลกราช” (ครองราชย์ พ.ศ.1984-2030) มีการสร้างงานพุทธศิลป์หลายรูปแบบ นอกเหนือไปจาก “พระพุทธรูปแบบสิงห์สาม” (ชายสังฆาฏิยาว พระพักตร์ไม่กลมมาก มีรัศมีเปลว ขัดสมาธิราบ – เลียนแบบสุโขทัย) ตามที่คนทั่วไปรู้จักแล้ว

ยังมีรูปแบบที่พิเศษมากๆ อีก 2 กลุ่ม

กลุ่มแรก ย้อนยุคหวนกลับไปยังพระพุทธรูปแบบสิงห์ 1 (พระพักตร์กลม พระวรกายอวบอ้วน สังฆาฎิสั้นเหนือพระถัน ขัดสมาธิเพชร) ดังเช่นพระเจ้าทองทิพย์วัดพระสิงห์ เป็นต้น

กลุ่มที่สอง ไปหยิบยืมเอางานพุทธศิลป์โบราณสมัยหริภุญไชยมารังสรรค์ใหม่ หรือมองอีกมุมหนึ่ง เป็นการนำเอารูปแบบศิลปะละโว้-อู่ทองของทางสยามมาสร้าง

ไฉนจึงทำเช่นนั้น เรื่องนี้มีเงื่อนงำให้ต้องวิเคราะห์มากมายหลายประเด็น

 

ชื่อ “พระเจ้าแข้งคม” มาจากไหน

พระเจ้าแข้งคมคืออะไร ใครเป็นคนเรียก

คำตอบง่ายๆ ก็คือ เรียกตามลักษณะของพระพุทธรูปที่ทำพระชงฆ์หรือ “หน้าแข้ง” ตัดตรงคมกริบทั้งสองข้าง ซึ่งไม่เคยมีมาก่อนในล้านนา

เป็นรูปแบบที่นิยมในศิลปะขอมแบบบายน

คำเรียกนี้ไม่ใช่เพิ่งมาเรียกกันภายหลัง มีมาแล้วอย่างน้อยก่อนสมัยพระเจ้ากาวิละ ปฐมกษัตริย์ราชวงศ์เจ้าเจ็ดตนผู้ฟื้นฟูเมืองเชียงใหม่ในปี 2339

เพราะคำว่า “แข้งคม” ปรากฏบนแผ่นจารึกเลขทะเบียน ชม. 14 ตัวอักษรฝักขาม ปัจจุบันปักอยู่หน้าวิหารวัดศรีเกิด กลางเวียงเชียงใหม่ ข้อความยาวเหยียดสองด้าน สรุปย่อได้ว่า

“พ.ศ.2342 พระมหาเถระชั้นผู้ใหญ่ในเชียงใหม่มาเห็น “พระพุทธโบราณพิมพ์รูปเจ้าตนชื่อแข้งคม” ตั้งอยู่วัดป่าตาลน้อยนอกแจ่งกู่เฮือง แดดร้อนฝนรุม สร้างมาตั้งแต่พระติโลกราชเจ้า หนักทอง 3,300,000 จึงชักชวนศรัทธามาบูรณะติดทองคำเปลวและอัญเชิญมาไว้ในวิหารวัดศรีเกิด”

แล้วชื่อ “แข้งคม” นี้จะเรียกกันสืบเนื่องมาตั้งแต่ยุคแรกสร้างในสมัยพระเจ้าติโลกราชด้วยหรือไม่ ไม่มีใครทราบ เนื่องจากพบแต่คำว่า “พระลวปุระ” หรือ “พระเจ้าละโว้” เท่านั้น

 

วัดป่าตาลมหาวิหารอยู่ไหน

ชินกาลมาลีปกรณ์ กล่าวว่า

“จ.ศ.845 (แสง มนวิทูร ผู้แปลชินกาลฯ ใช้ว่าตรงกับ พ.ศ.2027 อันที่จริงเมื่อเอา 1181 ไปบวก จะตรงกับ 2026 มากกว่า) พระเจ้าสิริธรรมจักรพรรดิพิลกราชาธิราช (นามเต็มของติโลกราชา) ทรงมอบภาระให้ “สีหโคตเสนาบดี” และ “อาณากิจจาธิบดีมหาอำมาตย์” หล่อพระพุทธรูปทองสัมฤทธิ์องค์ใหญ่ ทองหนักประมาณสามสิบสามแสน (เทียบเป็นปัจจุบันคำนวณได้ 3,960 กิโลกรัม) ให้มีลักษณะเหมือนพระพุทธรูปแบบ “ลวปุระ” หล่อที่วัดป่าตาลมหาวิหาร ทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ราชธานีเชียงใหม่”

ข้อความนี้มีลายแทงต้องให้ถอดรหัสหลายจุด

ไม่ว่า ช่างผู้หล่อพระพุทธรูปไยจึงไม่มีนามสล่าเอกประจำพระองค์ “หมื่นด้ำพร้าคด”

คำว่า “ลวปุระ” ในยุคติโลกราชาหมายถึงอะไร และ “วัดป่าตาลมหาวิหาร” อยู่ที่ไหน ทำไมปัจจุบันในเชียงใหม่จึงมีแค่วัดป่าตาล ของชุมชนชาวยองที่อำเภอสันกำแพงเท่านั้น

เริ่มที่ประเด็นตามหาวัดป่าตาลมหาวิหารกันก่อน วัดนี้ต้องมีความสำคัญอย่างยิ่ง แสง มนวิทูร ทำหมายเหตุไว้ว่าหมายถึง “วัดตโปทาราม” ซึ่งหากใครไม่คุ้นกับผังเมืองเชียงใหม่ แล้วมาอ่านเชิงอรรถในชินกาลมาลีปกรณ์เข้า อาจเกิดความสับสน เนื่องจากวัดตโปทารามมีอีกชื่อหนึ่งแล้วว่า “วัดร่ำเปิง” ไม่เคยมีการเรียกว่าวัดป่าตาลมาก่อนเลย แม้วัดตโปทารามจะตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ของเชียงใหม่ก็จริง แต่อยู่ไกลถึงคันคลองชลประทาน ห่างจากแจ่งกู่เฮืองมากโขทีเดียว

ทำไมจารึกพระเจ้ากาวิละปี 2342 จึงเรียกวัดป่าตาลมหาวิหารว่า “วัดป่าตาลน้อย” ในเมื่อคำว่า “มหาวิหาร” ควรหมายถึงวัดที่ใหญ่มาก น่าจะแปลว่า “วัดป่าตาลหลวง” มากกว่าไหม หรือว่าในตัวเวียงเชียงใหม่ยุคพระเจ้ากาวิละ มีวัดป่าตาลสองแห่ง (ไม่นับวัดป่าตาลที่บวกค้างสันกำแพง) จึงเรียกแห่งที่ทรุดโทรมกว่าไม่เหลือสภาพความเป็นวัดอีกแล้วว่า “ป่าตาลน้อย”?

ยังมีวัดป่าตาลอีกแห่งที่สร้างสมัยล้านนา ปัจจุบันเหลือแค่เจดีย์ร้าง 1 องค์เช่นกัน (แต่ยังดีกว่าป่าตาลมหาวิหารที่ไม่เหลือแม้ซากเจดีย์) ตั้งอยู่ที่ตำบลช้างเผือก ไม่ไกลจากวัดเจ็ดยอด ทำให้บางคนสับสนเข้าใจว่าคงเป็นป่าตาลแถวเจ็ดยอดบริเวณนี้กระมังที่หล่อพระเจ้าแข้งคม แต่อย่าลืมว่าตำบลช้างเผือกคือทิศตะวันตกเฉียงเหนือ หาใช่ทิศตะวันตกเฉียงใต้ไม่

“ศาสตราจารย์อรุณรัตน์ วิเชียรเขียว” ภาคีราชบัณฑิต ได้ลงสำรวจวัดร้างในเวียงเชียงใหม่ปี 2529 ตามลายแทงที่ “สงวน โชติสุขรัตน์” บันทึกไว้ ค้นพบแล้วว่าวัดป่าตาลร้างตามจารึกวัดศรีเกิด แท้จริงอยู่บริเวณหลังโรงเรียนวัฒโนพายัพ ตรงตามทิศตะวันตกเฉียงใต้นอกคูเมืองไม่ไกลจากแจ่งกู่เฮืองจริง

วัดป่าตาลสำคัญอย่างไร หนังสือ “คนดีเมืองเหนือ” ของ “พระมหาหมื่น วุฑฺฒิญาโน” บันทึกไว้ว่า “พระมหาเทวีพระราชมารดาของพระญาติโลกราช ได้สร้างวัดป่าตาลน้อย” (แสดงว่ายุคพระมหาหมื่น ไม่เกิน 200 ปีก็เรียกวัดป่าตาลมหาวิหารว่าป่าตาลน้อยด้วย)

สอดคล้องกับ “ตำนานมูลศาสนาฉบับป่าวัดป่าแดง” ที่กล่าวว่า “แม่เจ้า (ของพระเจ้าติโลกราช) ไปสร้าง “วัดป่าตาลหลวง” นอกเวียงวันตกหื้อเป็นทานก็บ่พอ จึงไปสร้างวัดป่าแดงให้ในเวลาต่อมา”

ไม่ว่าวัดป่าตาลจะ “หลวง” หรือจะ “น้อย” เอาเป็นว่าวัดนี้มีความเกี่ยวข้องกับพระราชมารดาของพระเจ้าติโลกราช ถือเป็นมูลเหตุสำคัญที่พระองค์ทรงเลือกวัดนี้เป็นสถานที่หล่อพระพุทธรูปองค์สำคัญ

ต่อมาในยุคของพระเจ้ากาวิละช่วง 200 กว่าปีที่ผ่านมา วัดป่าตาลคงไม่เหลือสภาพให้ฟื้นฟูได้ พระองค์จึงอัญเชิญเอาเฉพาะพระพุทธรูปร้างคือพระเจ้าแข้งคมมาประดิษฐานใหม่ในวัดศรีเกิด ซึ่งตั้งอยู่กลางเวียงเชียงใหม่ใกล้กับวัดพระสิงห์

 

คนไหนคือ “หมื่นด้ำพร้าคด”

“หมื่นด้ำ (ด้าม) พร้าคด” หายไปไหน ทำไมจึงไม่มีบทบาทในการร่วมสร้างพระพุทธรูปองค์สำคัญ ทั้งๆ ที่เป็นมือขวาด้านงานช่างศิลปกรรมของติโลกราชามาทุกโปรเจ็กต์

หลักฐานจาก “พงศาวดารโยนก” ของพระยาประชากิจกรจักร์ สันนิษฐานว่าคนที่ชื่อ “อาณากิจจาธิบดีมหาอำมาตย์” ผู้ได้รับมอบหมายให้หล่อพระลวปุระผู้นี้ น่าจะเป็นคนเดียวกันกับ “หมื่นด้ามพร้าอ้ายอาณัติการ” ซึ่งคนมักเรียกย่อๆ ว่า “หมื่นด้ำพร้าคด” นั่นเอง

ความเห็นนี้ขัดแย้งกับคณะอ่านจารึกอักษรมอญโบราณ (ประกอบด้วยจำปา เยื้องเจริญ คงเดช ประพัฒน์ทอง เทิม มีเต็ม) ที่เห็นว่า “สีโคตเสนาบดี” ควรเป็นหมื่นด้ำพร้าคดมากกว่า เนื่องจากคำว่า “คด” ในภาษาล้านนามักใช้ ต. สะกด กลายเป็น “หมื่นด้ำพร้าคต” สามารถแผลงเป็น “โคต” ได้ สอดคล้องกับตำนานการสร้างวัดเจ็ดยอดก็มีการระบุนามว่า ผู้คุมการก่อสร้างคือ หมื่นสีโคตร

เรื่องนี้ยังต้องสืบค้นกันต่อไปว่าระหว่าง “สีหโคตเสนาบดี” กับ “อาณากิจจาธิบดีมหาอำมาตย์” ใครคือหมื่นด้ำพร้าคด(คต) กันแน่?

 

“ลวปุระ” ในสายตาของพระเจ้าติโลกราช

คําว่าให้หล่อพระพุทธรูป “แบบลวปุระ” ในมุมมองของพระเจ้าติโลกราช หมายถึงอะไรกันแน่ มีนัยทางการเมืองซ่อนเร้นหรือไม่ ทำไมจู่ๆ จึงพึงมีพระราชประสงค์ที่จะสร้างงานพุทธศิลป์ย้อนยุคแบบละโว้ขึ้นมาบนแผ่นดินล้านนา ซึ่งขณะนั้นเป็นอริอย่างแรงกล้ากับอยุธยาแล้ว

“ละโว้” หรือ “ลวปุระ” ใครๆ ก็รู้ว่าเป็นเมืองสำคัญยิ่งของกรุงศรีอยุธยาที่สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ “คู่ปรับคนสำคัญ” ปกครองอยู่

รองศาสตราจารย์ ดร.รุ่งโรจน์ ธรรมรุ่งเรือง วิเคราะห์ไว้ในบทความเรื่อง “พระพุทธรูปแบบลวปุระและแบบกัมโพชปฏิมากับโลกทัศน์ของชาวล้านนา” ในวารสาร “ดำรงวิชาการ” ว่าการสร้างพุทธศิลป์แบบละโว้ของพระเจ้าติโลกราชนั้นทำขึ้นเพื่อรำลึกถึง “พระนางจามเทวี” ที่เสด็จมาจากละโว้เพื่อขึ้นมาครองนครหริภุญไชย

นอกจากนี้ อาจารย์รุ่งโรจน์ยังตั้งข้อสังเกตอีกว่า ที่วัดพระธาตุลำปางหลวง มีพระพุทธรูปปางนาคปรกศิลาองค์หนึ่ง คนในท้องถิ่นเชื่อว่าเป็นพระพุทธรูปละโว้โบราณที่พระราชบิดาของพระนางจามเทวีมอบให้เจ้าอนันตยศผู้เป็นหลาน (แท้จริงพระนาคปรกองค์นี้เป็นศิลปะแบบลพบุรีตอนปลายหรืออู่ทองตอนต้นแล้ว ไม่ใช่พุทธศิลป์ทวารวดีช่วงพุทธศตวรรษที่ 12-13 ที่ร่วมสมัยกับพระนางจามเทวี)

หากกุศโลบายการสร้างวิหารพระละโว้ขึ้นในวัดพระธาตุลำปางหลวงก็ดี หรือในวัดพระธาตุหริภุญชัยก็ดี เป็นสัญลักษณ์แห่งการรำลึกถึง “เมืองลวปุระ” แผ่นดินเกิดที่พระนางจามเทวีจากมาจริงแล้วไซร้ (แม้พระพุทธรูปจะไม่เก่าถึงยุคหริภุญไชยก็ตาม)

นัยแห่งการจงใจสร้าง “พระแบบลวปุระ” ของพระเจ้าติโลกราชในยุคที่กำลังทำสงครามกับพระบรมไตรโลกนาถอย่างเข้มข้น ก็อาจใช้ตรรกะเกียวกัน คือต้องการสื่อให้อริราชศัตรูเห็นว่า “ดินแดนละโว้” ที่อยุธยากำลังถือครองอยู่นั้น ในอดีตเคยเป็นมาตุคามของพระนางจามเทวี ปฐมกษัตรีย์ที่บุกเบิกดินแดนตอนเหนือมาก่อนด้วย ใช่หรือไม่?

พุทธปฏิมาแบบละโว้มีลักษณะพิเศษคือ พระพักตร์สี่เหลี่ยม พระเนตรถมึงทึง มีพระมัสสุบางๆ มีกรอบกระบังหน้าหรือที่เรียกว่า “ไรพระศก” พระนาสิกแข็ง พระโอษฐ์หนาแบะ พระหนุเหลี่ยม สังฆาฏิเป็นแผ่นหนา โดยเฉพาะพระชงฆ์แข็งหรือหน้าแข้งตัดคม

ทั้งหมดนี้ พระเจ้าติโลกราชถือว่าเป็นการหยิบเอารูปแบบพุทธศิลป์ละโว้ ที่ทางสยามยังคงทำสืบเนื่องมาจนถึงสกุลช่างอู่ทองมาใช้อย่างชอบธรรม ไม่ใช่จู่ๆ ก็นึกอยากแค่เลียนตามความพอใจ

พระองค์ต้องการสื่อให้โลกภายนอกเห็นว่า พระองค์ไม่ได้จำกัดตนเป็นเพียงแค่กษัตริย์ของล้านนาเท่านั้น

ทว่าทรงมี “สิทธิธรรม” ในดินแดนบางส่วนของอโยธยาด้วย

อย่างน้อยที่สุดพระราชมารดาของพระองค์ก็เป็นขัตติยนารีเชื้อสายสุโขทัย

ด้วยเหตุนี้จึงมีความชอบธรรมที่จะสร้างพุทธศิลป์แบบละโว้ขึ้นในแผ่นดินล้านนา

งานพุทธศิลป์แบบพระเจ้าแข้งคมไม่ได้มีแค่เพียงองค์เดียวที่วัดศรีเกิด แต่กระทำกันเป็นกระบวนช่าง มีอยู่หลายองค์ ที่โดดเด่นคือที่พิพิธภัณฑ์ในวัดพระธาตุหริภุญชัย มีจารึกที่ฐานพระพุทธรูประบุว่าหล่อที่สบลี้ (อำเภอลี้ จังหวัดลำพูน) สร้างขึ้น พ.ศ.2022 ซึ่งอยู่ในสมัยพระเจ้าติโลกราชเช่นกัน

 

พระเจ้าติโลกราช-พระนางจามเทวี

หลักฐานเชื่อมโยงความผูกพันของพระเจ้าติโลกราชที่มีต่อพระนางจามเทวี ปรากฏชัดในศิลาจารึกหลัก ลพ. 32 จารึกอันแตกหักนี้ข้อความเลือนหายเหลือเพียง 6 บรรทัด มีการกล่าวถึงนามของบุคคลสำคัญคือ “โลกติลก” อันหมายถึงพระเจ้าติโลกราช กับนามของนายช่างทั้งหลาย ได้แก่ หมื่นด้ามพร้า หมื่นฝั่งแกน และพันออกซ้าย

คราวนี้นามของหมื่นด้ามพร้าไม่ต้องตีความอะไร เพราะเขียนชัดๆ ตรงๆ

การบูรณะพระมหาสถูปที่วัดจามเทวีครั้งใหญ่นี้ (จะเรียกชื่อเจดีย์ว่าอย่างไรก็แล้วแต่ สุวรรณจังโกฏ มหาพล เจดีย์ทรงปราสาท หรือกู่กุฏิ) มีการฝังหลักหินปักไว้ที่ฐานเจดีย์

จารึก ลพ.32 สะท้อนถึงการที่พระเจ้าติโลกราชให้ความสำคัญต่อศิลปะแบบลวปุระที่เชื่อว่ามีความเกี่ยวข้องกับพระนางจามเทวี จึงระดมนายช่างมาซ่อมและศึกษาซึมซับกับสุนทรียศาสตร์งานพุทธศิลป์แบบหริภุญไชย (ในอดีตไม่ได้เรียกศิลปะดังกล่าวว่า “หริภุญไชย” หรือ “ทวารวดี” ภาคเหนือ เนื่องจากเป็นคำที่มาบัญญัติใช้ในวิชาโบราณคดีภายหลัง แต่คนยุคล้านนาเรียกว่าศิลปะแบบละโว้ หรือลวปุระ)

ถึงแม้ว่าพระพุทธรูปในซุ้มกู่กุฏิจะเป็นแบบประทับยืน 60 องค์ ไม่ใช่ประทับนั่ง แต่ก็สามารถเห็นพระชงฆ์เป็นเส้นตัดตรงคมแข็งอย่างชัดเจนยิ่ง

ดังนั้น แรงบันดาลใจในการสร้างพระเจ้าแข้งคมหรือพระลวปุระที่วัดศรีเกิดก็ดี วัดพระธาตุหริภุญชัยก็ดี พระเจ้าติโลกราชไม่จำเป็นต้องไปหยิบยืมรูปแบบงานพุทธศิลป์ลพบุรีหรืออู่ทองของทางภาคกลางมาเป็นต้นแบบแต่อย่างใด