ถก “ปวีณา” วิกฤตการเมือง ส่งผลสะเทือนปัญหาสังคม ปัญหาข่มขืนมีทุกวัน อายุเฉลี่ยเหยื่อยิ่งต่ำลง

“ในเรื่องของการเมืองกับการแก้ไขปัญหาสังคม ควรให้โอกาสคนได้ทำงานพิสูจน์ให้มันรู้ดำรู้แดงกันไปเลย แต่ถ้าปีหนึ่งมาเปลี่ยนรัฐมนตรีคนหนึ่งแล้วก็อีกปีหนึ่งก็เปลี่ยนหมุนเวียนไปอีกคนหนึ่ง มันจะมีแต่ตายกับตาย แล้วคนที่ตายคือประชาชน เพราะว่าทิศทางนโยบายจะถูกปรับเปลี่ยน ซึ่งกว่าจะทำนโยบายขึ้นมาได้สักหนึ่งเรื่องต้องใช้เวลาขับเคลื่อนงานนาน”

มุมมองของปวีณา หงสกุล ประธานมูลนิธิปวีณาหงสกุลเพื่อเด็กและสตรี อดีต ส.ส.หลายสมัยและอดีตรัฐมนตรีหลายกระทรวง ผู้ที่คลุกคลีกับปัญหาสังคม ความรุนแรงและช่วยเหลือเหยื่อถูกข่มขืนมาอย่างยาวนาน

ยิ่งเมื่อไม่นานมานี้มีข่าวสะเทือนใจใครหลายๆ คนในสังคมกรณีครูรุมข่มขืนเด็ก หรือกระทั่งพ่อแท้ๆ ถูกกล่าวหากระทำไม่ดีกับลูกตัวเอง

จึงต้องหาโอกาสมาแลกเปลี่ยนสนทนากับคุณปวีณาถึงทิศทางแนวโน้มและวิธีแก้ไขปัญหานี้

ปวีณาเล่าว่า ทำงานที่มูลนิธิปีนี้ก้าวย่างสู่ปีที่ 22 หลักๆ คือการรับเรื่องราวร้องทุกข์ โทรศัพท์ 1134 หรือมาด้วยตัวเอง แล้วก็มีแฟนเพจ 24 ชั่วโมง ในแต่ละวันจะมีคนใช้บริการจำนวนมาก วันหนึ่งอย่างน้อยต้องมี 60 กว่ารายขึ้นไปที่ร้องเรียนเข้ามา

แต่ว่าพอเข้ามายุคโควิด-19 บางวันมีเคสรวมพุ่งสูง 900 เรื่อง ซึ่งบทบาทเราที่ผ่านมาได้เน้นความสำคัญในการรับเรื่องราวร้องทุกข์ หลักๆ คือเรื่องการข่มขืน ทารุณกรรม ทำร้ายร่างกาย ค้าประเวณี ค้ามนุษย์ และปัญหาภายในครอบครัว

ซึ่งโดยเฉลี่ยเรื่องราวต่างๆ เป็นข่าวไม่ถึง 1% ด้วยซ้ำ

เมื่อเจาะไปเฉพาะปัญหาการข่มขืน ปวีณาฉายภาพว่ามีความเปลี่ยนแปลงจากอดีตมาสู่ปัจจุบันยุคโลกาภิวัตน์แตกต่างกันมาก เหยื่อของการข่มขืนจะมีการเปลี่ยนแปลงหลายประการ เช่น ในอดีตเด็กอายุ 13-15 จะถูกข่มขืน แต่วันนี้กลายเป็นว่าต่ำกว่า 10 ขวบ ถูกกระทำเสียมาก โดยอายุเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 8 ขวบจะถูกกระทำ

ส่วนเด็กที่อายุมากกว่า 13 จะเป็นเด็กที่เล่นแชต อินเตอร์เน็ต มีความสัมพันธ์และโดนหลอกไป

นี่คือความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในยุค Social Media ในขณะนี้ ซึ่งเป็นเรื่องที่ใกล้ตัวมาก สถานที่เกิดเหตุทั้งในบ้าน ในโรงเรียน บางครั้งคนใกล้ตัว คนรู้จัก โดยที่เด็กอาจจะไปเล่นกับเพื่อนบ้านขี่จักรยานผ่านไปมีคนกวักมือหลอกให้ขนมกินและก่อเหตุ

ขณะที่สถานการณ์ในสถานศึกษา ส่วนตัวเคยได้คุยกับกระทรวงศึกษาธิการในการที่จะพยายามปรับระบบต่างๆ ภายในโรงเรียน

เด่นชัดที่สุดคือ สถานที่ตั้งของ “ห้องน้ำ” ในโรงเรียนหรือห้องพักครู

โดยเฉพาะห้องน้ำในอดีต การก่อสร้างห้องน้ำหากไปไล่ดูในหลายโรงเรียนคือจะอยู่ไกลจากห้องเรียนมาก ก็เลยได้มีการประชุมเรียกร้องเหมือนกันว่าโรงเรียนควรวางมาตรการเรื่องของห้องน้ำ ควรจะมีกล้องวงจรปิดทางเข้า-ออก มีกระดิ่ง มีออด มีปุ่มให้กดขอความช่วยเหลือ

หรือถ้าเป็นไปได้ควรจะย้ายห้องน้ำเข้ามาใกล้ๆ ห้องเรียนมากขึ้น

ปัญหาเหล่านี้ยิ่งมาผนวกกับปัญหายาเสพติดที่มากขึ้น ทุกวันนี้อย่างน้อยต้องมี 4-5 เรื่องเกี่ยวข้องกับปัญหาข่มขืน แล้วก็จะพบว่าสถาบันครอบครัวอ่อนแอมาก ปัญหาเยอะ ฝังลึกในครอบครัว

ที่ชัดที่สุดคือการส่งคนไปบำบัด ตามกำหนดคือ 45 วันก็กลับมาก็ติดอีก มาก่อเรื่องอีก เพราะว่าคนเหล่านั้นกลับมาเขายังอยู่ในสภาพแวดล้อมแบบเดิม สถานที่เดิมๆ กลุ่มเพื่อนเดิมๆ

นี่คือจุดอ่อน ที่ก็อยากจะให้รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปมองและแก้ปัญหาระยะยาวตรงนี้ให้ได้ ในการอบรม ไปฝึกอาชีพ ไปฝึกวินัย เพราะที่ผ่านมากลายเป็นปัญหาที่ไม่ได้แก้อย่างครบวงจร มันจะต้องมีกระบวนการอะไรสักอย่าง ไม่ใช่ปล่อยให้เขากลับมาเลย นี่คือจุดอ่อนอย่างยิ่ง นำมาสู่ปัญหาเด็กถูกทำร้ายร่างกายเยอะเพราะว่าครอบครัวล่มสลาย

ยิ่งบางครอบครัวพ่อและแม่ไม่ได้ตั้งใจจะมีลูก พอแยกทางกัน ลูกเลยกลายเป็นส่วนเกิน มีพ่อเลี้ยงแม่เลี้ยง ก็ไม่เห็นความสำคัญ แล้วเด็กก็จะถูกทำร้ายร่างกาย

โดยเฉพาะเด็กที่ต้องอยู่กับพ่อเลี้ยง ถ้าเป็นผู้หญิงอาจจะถูกข่มขืน

ขณะเดียวกัน สภาพแวดล้อมมันก็มี เช่น การอยู่ในที่จำกัด ต้องนอนด้วยกัน อยู่ด้วยกัน ก็นำมาสู่ปัญหาข่มขืน หรือการถูกทำร้ายร่างกายจนถึงแก่ชีวิตเพียงเพราะพ่อเลี้ยงทนเสียงร้องของเด็กไม่ได้

จากสถิติของเราพบว่าเด็กอายุเฉลี่ย 1-2 ขวบจะเสียชีวิตสูงเพราะว่าเป็นวัยที่ติดแม่ แต่พ่อเลี้ยงรำคาญ เอาหัวฟาดพื้น จับอะไรกรอกปาก

เราได้เข้าไปช่วยเหลือทำเคสเหล่านี้มาหมด ก็เห็นว่านี่คือเรื่องที่เราจะต้องให้ความสำคัญ อบรมให้ความรู้คนที่จะต้องมีครอบครัว ควรจะพร้อมก่อน

แต่ก็น่าเห็นใจเด็กที่เสมือนตายทั้งเป็น ต้องทนทุกข์ทรมานอยู่ในสภาพเหล่านั้นยาวนาน เพราะเด็กไม่มีที่พึ่ง เขาต้องหาโอกาสบอกคุณครู บอกข้างบ้าน มีเด็กอีกจำนวนมากที่ไม่กล้าหรือไม่มีโอกาสแจ้ง บางทีเรื่องผ่านมา 10 ปี โตแล้วถึงจะกล้าพูด

ที่ผ่านมาถามว่าปวีณารู้ได้ยังไงว่าตรงไหนมีเหตุการณ์ เพราะเรามีเครือข่ายพลเมืองดีแจ้งเข้ามา นี่คือการให้ภาคสังคมเข้ามามีส่วนร่วมแท้จริง

บางคนไม่อยากไปแจ้งตำรวจเพราะมีเรื่องการต้องไปเป็นพยานอะไรต่างๆ ไม่อยากเดือดร้อน บ่อยครั้งเราจึงได้รับการร้องเรียนเป็นด่านแรก

สําหรับเหตุการณ์ในโรงเรียนเช่นกัน ปัญหาข่มขืนมีมากเช่นกันในโรงเรียนสหศึกษา บางทีมีอัตรากำลังครูไม่พอที่จะเข้ามาสอดส่อง มีทั้งกรณีเด็กกับครู เด็กกับรุ่นพี่ โดยที่มีเรื่องของอำนาจ มีเรื่องความเป็นผู้ที่สูงวัยกว่าเข้ามาเกี่ยวข้อง คนที่โตกว่ามีอิทธิพลกับผู้เสียหาย

ครูที่ดีก็มีเยอะ แต่ครูที่ทำตัวไม่ดีก็ยังมีอยู่ เพียงแต่เด็กไม่กล้าที่จะบอกกล่าวหรือพูดจา

บางครั้งเขาก็จะไปพูดกับเพื่อน เพื่อนก็บอกผ่านไปทางแม่ แม่เพื่อนก็อาจจะบอกผ่านมาทางมูลนิธิอีกทีหนึ่ง

ดิฉันเองไม่อยากให้มองเรื่องสถาบันการศึกษา แต่เรื่องพวกนี้มันอยู่ที่ตัวบุคคลที่แฝงอยู่ในสถาบันเหล่านั้นต่างหาก เป็นคนเลวที่แฝงตัวอยู่ในอาชีพ ใส่เสื้อสวมเครื่องแบบ แล้วก็ไม่อยากให้โรงเรียนทุกโรงเรียนต้องปกป้องคนเลว ต้องเร่งกำจัดออกไป

เหนือสิ่งอื่นใด เราต้องช่วยกันทำความเข้าใจว่าจะต้องช่วยเด็กก่อน ไม่ใช่ว่าปกปิดกลัวสถาบันตัวเองจะเสื่อมเสียชื่อเสียง

สังคมเราเป็นอย่างนี้จริงๆ ในเรื่องของเพื่อนช่วยเพื่อน ช่วยกันคนรู้จักกัน เรามักมองว่าเขาเป็นคนดีเสมอตอนที่เขาเอาของมาให้เรา ตอนที่เขาคอยช่วยเหลือเรา พูดคุยกับเราดีๆ เราก็เลยคิดว่าเขาเป็นคนดี ไม่น่าจะมีวันก่อเหตุแบบนั้นได้

มันต้องแยกแยะคนดี ที่ทำดีกับเราไม่ใช่ว่าเขาจะทำเลวไม่ได้ ฉะนั้น ต้องมีการเปิดโอกาสให้มีการสืบสวนสอบสวน ใช้กระบวนการยุติธรรมในการหาคำตอบ ผ่านกระบวนการทางนิติวิทยาศาสตร์ ให้มีตำรวจมาสรุปสำนวน ว่าเป็นจริงหรือไม่ประการใด แล้วดำเนินการตามกระบวนการยุติธรรม

ไม่ใช่ว่าจะบอกว่าเขาเป็นคนดี กับเขาไม่น่าจะทำ

เราไม่ได้อยู่กับเขา 24 ชั่วโมง ต่อให้เป็นญาติกันเองก็ยังไม่รู้นิสัยกันแท้ๆ ว่าใครทำดีทำเลว

ส่วนบางคนที่อ้างเรื่องของ “เด็กยินยอมสมัครใจ” นั้น ปวีณามองว่าเด็กไม่มีวุฒิภาวะพอ กฎหมายก็ชี้ชัดอยู่แล้วว่าถ้าเด็กต่ำกว่า 18 ปี ต่อให้ว่าจะยอมหรือไม่ก็ตาม ถือว่าผู้ที่มากระทำนั้นต้องมีความผิด กฎหมายมันชัดเจน

เด็กบางคนโดนขู่จะให้สอบตก บางคนเป็นครูอาจารย์เด็กก็อาจจะกลัว เพราะมีอิทธิพลมีอำนาจบางอย่าง

เมื่อเด็กเหล่านั้นถูกกระทำ ไม่กล้าบอกพ่อ-แม่ เพราะผู้กระทำอ้างว่าจะขู่ฆ่า

นี่คือการที่เขาไม่มีวุฒิภาวะพอ ยังไร้เดียงสา ผู้ที่มาเอาเขาไปกระทำความผิด

อีกประเด็นที่สำคัญนั้นคือเรื่องของ “โทษประหารชีวิต” ที่มักถูกหยิบมาพูดเสมอ ปวีณามองว่าถ้าข่มขืนแล้วฆ่า ยังไงกฎหมายก็ต้องไปให้ถึงที่สุด ส่วนตัวก็รู้สึกเห็นด้วยกับกรณีนี้

ปิดท้ายด้วยสิ่งที่อยากฝากไปถึงรัฐบาล-นายกรัฐมนตรี อดีต รมต.หลายสมัยผู้นี้มองว่าทุกคนก็มีความตั้งใจทำงาน แต่มันจะมีช่วงเวลาที่วิกฤตหลายๆ อย่างเกิดขึ้นพร้อมๆ กัน ทำให้บางคนต้องวิ่งไปทำตรงนั้นก่อน

ยิ่งหลังๆ มันมีวิกฤตการเมือง ที่มันทำให้เกิดความขัดแย้ง ส่งผลให้นโยบายหรือว่าการทำตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติมันขับเคลื่อนไปได้ยาก มันต้องถูกชะงักหรือชะลอลงไป

ยิ่งการเปลี่ยนรัฐบาล เปลี่ยนรัฐมนตรี มีความไม่ต่อเนื่องมันก็ทำให้นโยบายที่จะนำไปสู่การปฏิบัติได้จริงๆ ยิ่งยาก

หน่วยงานของรัฐที่จะไปขับเคลื่อนในกระทรวงต่างๆ พอเริ่มเดินหน้า ก็กลายเป็นว่าเปลี่ยนรัฐมนตรีเจ้ากระทรวง

ไม่ถึงปีหนึ่งเรามีการเปลี่ยนเจ้ากระทรวง เปลี่ยน รมต.

นี่แหละคือความอ่อนแอ ความล้มเหลวของการเมืองที่เกี่ยวข้องกับการแก้ไขปัญหาของสังคม


พิเศษ! สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์, ศิลปวัฒนธรรม และเทคโนโลยีชาวบ้าน ลดราคาทันที 40% ตั้งแต่วันนี้ – 30 มิ.ย. 63 เท่านั้น! คลิกดูรายละเอียดที่นี่