ทำไม ผลสำรวจประชาชนส่วนใหญ่ ถึงอยากให้ยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ?

โควิด-19 ในมุม “ไตรลักษณ์”

ประเมินกันว่าวิกฤตเศรษฐกิจอันต่อเนื่องจากโควิด-19 จะนำมนุษยชาติสู่ความทุกข์ร้อนแสนสาหัสครั้งใหญ่

กฎธรรมชาติที่พุทธศาสนาเรียกว่า “กฎไตรลักษณ์” กำลังแสดงให้ทุกคนได้เห็นอย่างชัดเจน ชนิดไม่ต้องเห็นผ่านกระบวนการฝึกสมาธิ

ไวรัสที่เรียกว่า “โควิด-19” ทำให้วิถีชีวิตมนุษย์เกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่

มนุษย์ที่มีความสุขจากความอบอุ่นที่ได้ชิดใกล้ ได้ร่วมกลุ่มรื่นเริงสังสรรค์ ร่วมกิจกรรมเป็นทีม ถึงกับมีบทสรุปว่า ความสุขของชีวิตอยู่ที่ได้สัมผัสกันและกัน อบอุ่นอยู่ในอ้อมกอดของกันและกัน

โควิด-19 มาบอกว่า นั่นไม่ใช่แล้ว ความใกล้ชิดจะทำอันตรายต่อชีวิต ต่างคนต่างต้องอยู่ห่างกัน คนหนุ่มคนสาวต้องปล่อยให้ผู้เฒ่าว้าเหว่เพื่อความปลอดภัยของท่านที่มีภูมิต้านทานต่ำกว่า

ทุกความใกล้ชิดเป็นอันตราย ต้องรื้อต้องกั้นกันใหม่ทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นโครงประดิษฐกรรมทุกอย่าง หรือจิตสำนึก วิธีคิดที่เกี่ยวข้องกับการจัดการชีวิต

จากที่เคยทำเพื่อให้เกิดความใกล้ชิด เป็นหนึ่งเดียวกันให้มากที่สุด แปรเปลี่ยนเป็นต้องห่างกันออกไปให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้ เพราะความใกล้ชิดเป็นอันตรายต่อชีวิต

โควิด-19 นำ “อนิจจัง” มาโชว์ให้เห็นอย่างชัดๆ แบบถึงรากของวิถีชีวิต

เพราะความสุขของมนุษย์อยู่กับความสมหวัง นั่นหมายถึงเรื่องราวที่คาดการณ์ได้ว่าจะเป็นอย่างไร และเป็นไปตามนั้น

“อนิจจัง” อันคือความไม่แน่นอนย่อมพาชีวิตมนุษย์สู่ฝั่งตรงกันข้ามกับความสุข

ไม่มีอะไรเป็นอย่างที่หวัง และนั่นคือ “ความทุกข์”

ที่ชัดเจนคือเป็นสภาวะที่ “มนุษย์กำหนดไม่ได้” มันเป็นไปตามเหตุที่มาประกอบกันเข้า ไม่ได้เป็นไปตามความอยากให้เป็นของมนุษย์ อันเป็น “อนัตตา”

โลกที่เคลื่อนมาด้วยทุนนิยมเสรียาวนานหลายศตวรรษ มนุษย์เราเคยชินกับ “การจัดการตามแผนที่วางไว้” ไม่ว่าจะเป็น “แผนชีวิต แผนธุรกิจ” หรืออย่างน้อยที่สุดก็เคลื่อนไปตามที่วาดหวังไว้ด้วยความเชื่อว่า “ชีวิตกำหนดได้”

ซึ่งโควิด-19 มาบอกว่า “ไม่มีอะไรที่จะเป็นอย่างนั้นอีกแล้ว”

อาจจะควบคุมการระบาดของโลกได้ แต่ผลที่ตามมาคือความเปลี่ยนแปลงทางระบบเศรษฐกิจ ธุรกิจการค้าที่ล้มละลาย กิจการต่างๆ ที่ต้องปิดตัว ผู้คนไม่มีงานทำ ส่งผลต่อกำลังซื้อในระบบ ทำให้ระบบการค้าล่มสลาย

ชีวิตเกิดความขาดแคลนสิ่งจำเป็น เป็นความเลวร้ายที่เกิดขึ้นโดยไม่ทันตั้งตัว

และนำมนุษย์สู่ความสับสนว่าควรจะเลือกทางไหนดี

“นิด้าโพล” สำรวจล่าสุดเรื่อง “เสรีภาพหรือสุขภาพ” เมื่อหาตำตอบว่าคนไทยต้องการอะไรกันแน่

เมื่อถามถึงการยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน อันหมายถึงการจำกัดเสรีภาพ ร้อยละ 35.98 เห็นด้วยอย่างมาก ร้อยละ 21.76 ค่อนข้างเห็นด้วย มีร้อยละ 15.17 ไม่ค่อยเห็นด้วย และร้อยละ 25.74 ไม่เห็นด้วยเลย

นั่นหมายถึงสรุปได้ว่าคนส่วนใหญ่ต้องการเสรีภาพ

เช่นเดียวกันเมื่อถามถึง “เคอร์ฟิว” แม้มากที่สุดคือร้อยละ 41.22 บอกว่าให้คงไว้เวลาเดิม แต่ร้อยละ 33.68 บอกว่าให้ยกเลิกไปเลย และร้อยละ 23.99 ให้ปรับเวลาให้เกิดความสะดวกมากขึ้น

แปลได้เช่นกันว่าคนที่ต้องการเสรีภาพมีมากกว่า

แต่เมื่อถามแบบต้องการคำตอบที่ชัดเจนว่า “ให้ความสำคัญกับสิ่งใดมากกว่ากันระหว่างเสรีภาพกับสุขภาพ” ร้อยละ 83.80 เลือกสุขภาพ มีแค่ร้อยละ 12.87 เลือกเสรีภาพ ขณะร้อยละ 2.86 บอกว่าสำคัญเท่ากัน

เมื่อนำคำตอบในแต่ละคำถามมาเทียบกันย่อมรับรู้ถึงความขัดแย้งในกันและกันเกิดขึ้นในใจคนส่วนใหญ่

ความขัดแย้งในใจคนย่อมก่อแรงกดดัน เกิดความสุข

โลกหลังโควิดจะเคลื่อนไปด้วยความทุกข์ของผู้คน ทั้งทุกข์ทางกายจากความขาดแคลน ทั้งทุกข์ทางใจจากความขัดแย้งภายในตัวเอง

เป็นทุกข์ที่รุนแรง หลีกเลี่ยง และบังคับให้เป็นไปตามปรารถนาได้ยากยิ่ง