วิกฤติศตวรรษที่ 21 | สงครามกับไวรัส

วิกฤติระบบนิเวศ สงครามและการยับยั้งสงคราม (5)

สงครามกับไวรัส

การระบาดของโควิด-19 ไปทั่วโลก สร้างบรรยากาศแห่งสงครามในเมืองใหญ่และประเทศต่างๆ ได้แก่ เมืองทั้งหลายที่มีตึกรามตระการตา มีกิจกรรมและมหกรรมหลากหลาย มีผู้คนขวักไขว่แออัด กลับเงียบเหงาเหมือนเมืองร้าง ผู้คนเก็บตัวอยู่ในบ้านเป็นหลัก ชีวิตกลางคืนหายไป

มีกองกำลังรักษาความมั่นคงตั้งกระจายอยู่ทั่วไป

ชายแดนที่คึกคัก มีการติดต่อค้าขายไปมาหาสู่กัน ถูกปิด สร้างบรรยากาศแห่งความเบื่อหน่าย ความหดหู่ และการเฝ้าคอยว่าเมื่อใดชีวิตจะกลับเป็นปรกติเหมือนเดิม

บรรยากาศแห่งสงครามนี้ส่วนหนึ่งเกิดจากผู้นำประเทศต่างๆ จำนวนไม่น้อย มีประธานาธิบดีมาครงแห่งฝรั่งเศส และทรัมป์แห่งอเมริกา เป็นต้น ประกาศทำสงครามกับไวรัส

โดยในกลางเดือนมีนาคม 2020 หลังองค์การอนามัยโลกประกาศว่าโควิด-19 เป็นโรคระบาดระดับโลก มาครงประกาศว่าฝรั่งเศสกำลังทำสงครามกับไวรัส ออกคำสั่งให้ชาวฝรั่งเศสอยู่ในบ้านอย่างน้อย 15 วันนับแต่นี้ (แต่มีการขยายเวลาออกไปอีกในภายหลัง)

มาครงปราศรัยแก่ชาวฝรั่งเศสว่า “เรากำลังทำสงครามกับศัตรูที่มองไม่เห็น จะต้องมีการระดมกำลังทั้งหลายเพื่อการนี้”

มีการใช้กองทหารเพื่อลำเลียงผู้ป่วยไปโรงพยาบาล และการตั้งโรงพยาบาลสนาม เป็นต้น

ประเทศอื่นในยุโรปก็มีการออกมาตรการเข้มงวดคล้ายกัน

เช่น ในเยอรมนีมีการห้ามทำกิจกรรมทางศาสนา ปิดบาร์ คลับ ดิสโก้เธค และซ่องโสเภณี ร้านอาหารถูกจำกัดเวลาขาย โรงแรมไม่รับนักท่องเที่ยว และการปิดโรงเรียนยาวนาน

นางแมร์เคิล นายกรัฐมนตรีเยอรมนีตอบโต้ข้อกล่าวหาที่ว่ารัฐบาลทำช้าไปว่า “ในช่วง 70 ปี ของการเกิดขึ้นของสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี เรายังไม่เคยทำอย่างที่เราต้องทำในขณะนี้เลย” (ดูบทรายงานของ Steven Erlanger ชื่อ Macron Declares France “at War” With Virus, as E.U. Proposes 30- Day Travel Ban ใน nytimes.com 16/03/2020)

ในสหรัฐช่วงปลายเดือนมีนาคม ทรัมป์ประกาศตัวเองว่าเป็นประธานาธิบดียามสงครามในการต่อสู้กับไวรัส ศัตรูที่ร้ายกาจและมองไม่เห็น การแถลงข่าวครั้งนี้คล้ายกับการแถลงข่าวอื่น มีลักษณะเด่น 3 ประการด้วยกันคือ

ก) มีความขัดแย้งในตัวเอง สร้างความไม่แน่นอนว่าจะเอาอย่างไรแน่ เช่น ก่อนหน้านั้นทรัมป์แสดงความไม่สนใจภัยคุกคามของโควิด-19 เห็นว่ามันอันตรายน้อยกว่าไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาล มาตอนนี้บอกว่าเป็นศัตรูที่ร้ายกาจ แต่มาถึงกลางเดือนเมษายน ทรัมป์กล่าวว่า มันจะหายไปเองเมื่อฤดูร้อนมาถึง

ข) การยกย่องตนเอง ซึ่งในที่นี้ยกย่องตนเองเป็นประธานาธิบดียามสงคราม ที่จะรบชนะไวรัสโดยไม่ยากเย็น และนำชัยชนะมาสู่ชาวอเมริกัน

ค) การโจมตีผู้อื่น ในที่นี้คือโจมตีจีน ที่ไม่ยอมรับความช่วยเหลือจากชาติอื่น กับทั้งโจมตีในประเด็นอื่นว่าเป็นไวรัสของจีน จีนไม่โปร่งใส

ไปจนถึงระยะหลังมีความคิดที่จะเรียกค่าเสียหายจากจีนที่ปล่อยให้เชื้อนี้ก่อความเสียหายแก่สหรัฐ

ทรัมป์ใช้ยุทธวิธีนี้ซ้ำๆ เนื่องจากมันให้ผลดีในการรักษาคะแนนเสียง สร้างความนิยม และเอาชนะการเลือกตั้งในปลายปี 2020

แต่ว่าครั้งนี้ทรัมป์ต้องเล่นเกมกับไวรัส ที่เขาไม่สามารถแซงก์ชั่นหรือขึ้นอัตราภาษีได้ง่ายๆ เหมือนทำกับประเทศต่างๆ

การทำสงครามกับไวรัส

ในความไม่รู้และความไม่พร้อม

ผู้นำโลกเข้าสู่สงครามกับไวรัสด้วยความไม่รู้และความไม่พร้อมอย่างทั่วด้าน

ความไม่รู้เบื้องต้นเป็นความไม่รู้เกี่ยวกับโควิด-19 เพราะว่าเป็นเชื้อสายพันธุ์ใหม่ แต่อาศัยว่ามีการศึกษาวิจัยอย่างต่อเนื่องเกี่ยวกับโรคอุบัติใหม่จากไวรัส นอกจากเพื่อการแพทย์สาธารณสุขแล้ว ยังเพื่อความมั่นคงและสงครามเคมี-ชีวภาพ

ดังนั้น จึงสามารถสร้างความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับโควิด-19 ได้อย่างรวดเร็ว ได้แก่ รหัสพันธุกรรม ระยะฟักตัว ระยะและระดับการแพร่ระบาด อาการโรค ความรุนแรงของโรค ไปจนถึงวิธีการป้องกันและรักษา

แต่ก็ยังมีความไม่รู้อยู่อีกมาก เช่น ไม่รู้ว่ามันได้กลายพันธุ์ไปกี่สายพันธุ์ ทั้งก่อนหน้าและหลังจากระบาดไปในหมู่ผู้คน หรือผู้ที่หายแล้วจะมีภูมิคุ้มกันนานเพียงใด และกลับมาติดเชื้อได้ใหม่หรือไม่

ที่ไม่รู้มากขึ้นไปอีก ได้แก่ การยังไม่รู้จักว่าไวรัสทั้งหมดคืออะไรเป็นมาอย่างไร มีความสัมพันธ์ระหว่างกันอย่างไร

มีการเสนอทฤษฎีกันไปต่างๆ นักชีววิทยาส่วนใหญ่เห็นว่าไวรัสเป็นสิ่งไม่มีชีวิต แต่ก็มีบางกลุ่มเห็นว่าควรถือเป็นสิ่งมีชีวิต

รวมความคือนอกจากรบกับศัตรูที่มองไม่เห็นแล้ว ยังต้องรบกับศัตรูที่เรามีความรู้ไม่มากนัก

การรบกับโควิด-19 จึงอยู่ในเชิงรับ เพราะเครื่องมือเชิงรุกจริงๆ ได้แก่วัคซีน จะต้องใช้เวลานาน 12-18 เดือน กว่าจะพัฒนาและผลิตได้จำนวนมาก

อีกอย่างหนึ่งคือ ยารักษาต้านเชื้อไวรัส ซึ่งสามารถพัฒนาขึ้นได้เร็วกว่า แต่ก็ยังต้องใช้เวลาอยู่ดี ในเฉพาะหน้าจำต้องใช้วิธีการให้ยาที่มีอยู่แล้วในการรักษาโรคอื่นหรือโรคจากไวรัสด้วยกัน

เครื่องมือในการป้องกันโรคที่สำคัญได้แก่ การตรวจวินิจฉัยเชื้อไวรัสว่าใครบ้างที่ติดเชื้อหรือไม่ และการสืบย้อนหาแหล่งต้นตอของการติดเชื้อนั้น เพื่อแยกผู้ติดเชื้อและกลุ่มเสี่ยงโดยเร็วซึ่งถือได้ว่าเป็นกึ่งเชิงรุก แต่ในการปฏิบัติจริงพบปัญหาในการขาดแคลนอุปกรณ์ ไปจนถึงความแม่นยำ แต่ปัญหานี้ได้คลี่คลายไปในระดับหนึ่ง

นอกจากนี้ยังพบว่ามีการขาดแคลนอุปกรณ์การแพทย์ ตั้งแต่หน้ากากอนามัย ชุดป้องกันการติดเชื้อ จำนวนเตียงในการรับผู้ป่วยที่ประดังเข้ามา ไปจนถึงเครื่องช่วยหายใจ

ดังนั้น ถ้าจะมีความพร้อมในการทำสงครามกับไวรัสมากกว่านี้ จะต้องมีการสร้างคลังอุปกรณ์การแพทย์และชุดป้องกัน

ลงทุนในการวิจัยและพัฒนาวิธีการรักษาโรคที่ได้ผล

การซ้อมรับมือ (คล้ายกับการซ้อมรบ) ของหน่วยงานรัฐทุกระดับว่ามีความพร้อมในการปฏิบัติเพียงใด หากมีการระบาดครั้งใหม่ และโดยเฉพาะแพทย์และพยาบาล และกลุ่มบุคคลอื่นมีอาสาสมัครและตำรวจเป็นต้น ที่อยู่ในแนวหน้าของการต่อสู้จะต้องได้รับการป้องกันที่ดีขึ้น

(ดูบทความของ Richard N. Haass ชื่อ At War With a Virus ใน cfr.org 06/04/2020)

ยุทธวิธีดีที่สุดเฉพาะหน้าได้แก่ การกระจายตัวผู้คน ไม่ให้เป็นเป้าโจมตีของไวรัสได้ง่าย เรียกรวมๆ ว่าการรักษาระยะห่างทางสังคม ได้แก่ เมื่ออยู่ในที่สาธารณะให้ทิ้งระยะห่างกัน 1-2 เมตร

การงดกิจกรรมและมหกรรมทางสังคม การปิดห้างร้านอาคารสำนักงาน การให้ผู้คนอยู่บ้าน การลดและเลิกการเดินทางการไปมาหาสู่กันทั้งภายในและต่างประเทศ

เรียกรวมๆ ว่าการปิดเมือง ปิดประเทศ ที่ค่อยๆ ทยอยปฏิบัติกันจนทั่วโลก

แต่สิ่งที่ดีที่สุดเฉพาะหน้านี้ ได้ก่อปัญหาใหญ่ทางเศรษฐกิจ-จิตวิทยาตามมา ด้านหนึ่งทำให้เศรษฐกิจถดถอย ฉับพลันรุนแรง ยิ่งกว่าเกิดจากวิกฤติการเงินปี 2008 เสียอีก

รัฐบาลต่างๆ ต้องออกมาตรการช่วยเหลือเยียวยาเป็นการด่วน ตั้งแต่ลูกจ้างคนงาน คนยากจน ไปจนถึงผู้มีอาชีพอิสระ ผู้ประกอบการขนาดเล็กและขนาดกลาง

และที่สำคัญคือ ผู้ประกอบการรายใหญ่รวมทั้งตลาดหลักทรัพย์ ที่ใหญ่เกินกว่าจะปล่อยให้ล้ม

ซึ่งรวมแล้วเป็นเงินก้อนใหญ่ ประมาณว่า ประเทศกลุ่ม 20 ใช้เงินช่วยเหลือจนถึงสิ้นเดือนเมษายน 2020 กว่า 6 ล้านล้านดอลลาร์

นี้ยังไม่รวมเงินกู้ของรัฐบาล และเงินช่วยเหลือของธนาคารกลางประเทศต่างๆ การเยียวยาป้องกันและอันตรายจากโควิด-19 จึงรุนแรงไม่แพ้กัน

ในด้านจิตวิทยา-สังคม เกิดความตระหนก ความหวาดระแวง ค

วามโกรธ ความสิ้นหวังไม่แน่ใจในอนาคต ว่าจะสามารถกลับมาเป็นปกติเหมือนเดิมได้หรือไม่

เพราะว่ามาตรการปิดเมือง ปิดประเทศเป็นการปฏิเสธวิถีการดำเนินชีวิตของผู้คนทั่วไปอย่างรุนแรง กระทบต่อการเป็นเมือง ระบบเมือง และชีวิตที่ต้องมีการบริโภค กิจกรรมและมหกรรมต่อเนื่อง ไปจนถึงโรงงานและระบบการผลิต ที่ต้องผลิตปริมาณมากอย่างมีประสิทธิภาพ

เหล่านี้ไม่อาจเป็นไปเหมือนเดิมได้ หากยังต้องรักษาระยะห่างทางสังคม

มนุษย์จะชนะสงครามไวรัสได้เมื่อใด

เหล่าผู้นำที่ประกาศทำสงครามกับไวรัส มีความคิดว่าจะสามารถเอาชนะหรือแสดงความเหนือกว่าได้ในเวลาไม่นานนัก แต่ถ้าหากมองย้อนไปในอดีตของสหรัฐที่ผู้นำประเทศประกาศสงครามกับศัตรูที่มองไม่เห็นหลายครั้งด้วยกัน ได้แก่

ก) สงครามต่อต้านความยากจน (1964)

ข) สงครามต่อต้านยาเสพติด (1971)

ค) สงครามต่อต้านลัทธิก่อการร้ายโลก (2001)

ทั้งหมดลงเอยด้วยความล้มเหลว เช่น สงครามต่อต้านความยากจนในสมัยประธานาธิบดีลินดอน บี.จอห์นสัน ล้มเหลวมาตั้งแต่ต้น ในขณะนี้เมื่อเกิดโควิด-19 ความยากจนในสหรัฐยิ่งพุ่งสูงขึ้น

หลังจากทำสงครามกับไวรัสไม่กี่เดือน ก็พบความอ่อนล้าและความแตกแยกในหมู่ผู้คนทั่วไป

พวกหนึ่งต้องการให้ยกเลิกผ่อนปรนการปิดเมือง

พวกหนึ่งต้องการให้ปิดต่อหรือเปิดอย่างระมัดระวังเป็นขั้นตอน

ผู้เชี่ยวชาญจำนวนหนึ่งให้ความเห็นว่า เชื้อโควิด-19 อาจจะอยู่กับมนุษย์อีกนานถึง 2 ปีก็เป็นไปได้

ดังนั้น มันย่อมไม่ใช่สงครามแตกหักรวดเร็ว แต่เอียงไปข้างสงครามยืดเยื้อ

มีบางคนชี้ว่า ไวรัสนี้ไม่ได้มีเพียงโควิด-19 แต่ยังมีสายพันธุ์อื่นที่ระบาดแล้วในระยะใกล้ เช่น เอชไวอี (ตั้งแต่ทศวรรษ 1980) ซาร์ส (2003) ไข้หวัดนก (2003) เอชวันเอ็นวัน (2009) เมอร์ส (2011) และอีโบลา (2014) เหล่านี้ สามารถอุบัติซ้ำใหม่ได้ ดังนั้น ควรรักษาพลังต่อสู้ไว้ ไม่อ่อนล้าง่าย และไม่ประมาท เก็บรับบทเรียนเท่าที่จะเป็นไปได้

ฉบับต่อไปจะกล่าวถึงการเมืองเรื่องไวรัส