คนของโลก : ฟ่าง ฟ่าง ผู้ตีแผ่ความจริงหรือคนทรยศชาติ

ผลงานบันทึกความทรงจำการใช้ชีวิตระหว่างการล็อกดาวน์ เมืองอู่ฮั่น มณฑลหูเป่ย ประเทศจีน ต้นตอการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ของนักเขียนมือรางวัลชาวจีนอย่างฟ่าง ฟ่าง นักเขียนวัย 65 ปี ถูกแปลเป็นภาษาอังกฤษและพร้อมวางขายทั่วโลกแล้ว

หนังสือในชื่อ “บันทึกอู่ฮั่น” รวบรวมงานเขียนที่ฟ่าง ฟ่าง หรือนักเขียนผู้มีชื่อจริงว่า หวัง ฟ่าง เผยแพร่ผ่านสื่อโซเชียลมีเดียในจีนอย่างเว่ยป๋อ ตั้งแต่รัฐบาลจีนประกาศปิดเมืองอู่ฮั่น เพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 เป็นแห่งแรกของโลกเมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา

ผลงานเขียนของฟ่าง ฟ่าง โด่งดังมากขึ้นเรื่อยๆ ในฐานะข้อมูลสะท้อนชีวิตในเมืองอู่ฮั่นที่น่าเชื่อถือ

จนกระทั่งสำนักพิมพ์ฮาร์เปอร์คอลลินส์ 1 ใน 5 สำนักพิมพ์ที่ใหญ่ที่สุดในโลกในนครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา ประกาศจะรวบรวมงานเขียนของฟ่าง ฟ่าง มาแปลเป็นหลายภาษาและตีพิมพ์ออกขายไปทั่วโลก

ความโด่งดังของฟ่าง ฟ่าง ในระดับนานาชาติ มาพร้อมกับเสียงวิพากษ์วิจารณ์จากชาวจีนกลุ่มชาตินิยมโดยเฉพาะในโลกออนไลน์ของจีน ที่บางส่วนถึงขั้นมองเธอเป็นคน “ทรยศชาติ”

 

งานเขียนของฟ่าง ฟ่าง ในบันทึกความทรงจำจากอู่ฮั่น บรรยายทุกอย่างตั้งแต่ความท้าทายในการใช้ชีวิตประจำวัน เรื่อยไปจนถึงผลกระทบกับสภาพจิตใจที่มีขึ้นจากการถูกกักกันตัวจากโลกภายนอก

ฮาร์เปอร์คอลลินส์ระบุถึงงานของฟ่าง ฟ่าง ว่าเธอ “เป็นเสียงสะท้อนความกลัว ความหมดหวัง ความโกรธเกรี้ยว และความหวังของพี่น้องพลเมืองชาวจีนนับล้านๆ คน”

นอกจากนี้ เธอยังเป็นผู้ส่งเสียงต่อต้านความอยุติธรรมทางสังคม การใช้อำนาจในทางที่ผิด และปัญหาอื่นๆ ที่ส่งผลกระทบให้การตอบสนองการแพร่ระบาดล่าช้าออกไป

และนั่นก็ทำให้เธอตกเป็นศูนย์กลางของเสียงวิจารณ์ในโลกออนไลน์

 

หนึ่งในบทความของเธอที่เผยแพร่ผ่านหนังสือพิมพ์ซันเดย์ไทม์ เล่าเหตุการณ์ที่เธอต้องไปรับลูกสาวที่สนามบินว่า “มีรถและคนเดินถนนน้อยมากๆ ในช่วงเวลาสองสามวันนั้น เป็นช่วงเวลาที่ความตื่นตระหนกและความหวาดกลัวของผู้คนในเมืองเพิ่มระดับขึ้นสู่จุดสูงสุด เราทั้งคู่สวมหน้ากากอนามัย”

เรื่องราวของฟ่าง ฟ่าง ผู้ที่เคยรับรางวัลวรรณกรรมในจีนเมื่อปี 2010 กลายเป็นจุดสนใจจากคนทั่วโลกในฐานะข้อมูลที่น่าเชื่อถือจากเมืองอู่ฮั่น ในขณะที่สื่อที่เป็นอิสระจากรัฐบาลในจีนนั้นแทบจะไม่มีอยู่เลย

“ประเทศนี้ต้องการนักเขียนที่มีสำนึกผิดชอบเช่นคุณ สังคมสูญสิ้นความไว้เนื้อเชื่อใจต่อสื่อทางการไปแล้ว” ดิ อินดิเพนเดนซ์ รายงานความเห็นผู้ใช้เว่ยป๋อรายหนึ่งที่พูดถึงงานของฟ่าง ฟ่าง

อย่างไรก็ตาม ชื่อเสียงก็ตามมาด้วยเสียงวิพากษ์วิจารณ์อันเดือดดาลและรุนแรงจากชาวจีนจำนวนหนึ่งในโลกออนไลน์ที่เรียกกันว่ากลุ่ม “ชาตินิยมไซเบอร์” ที่พร้อมจะตอบโต้กับเสียงวิพากษ์วิจารณ์ การโจมตีหรือการเหยียดหยามโดยเฉพาะจากต่างชาติ

และฟ่าง ฟ่าง ก็ไม่ใช่นักเขียนชาวจีนคนแรกที่ต้องเผชิญกับผลสะท้อนกลับอันรุนแรงเหล่านี้

โดยเฉพาะในบรรยากาศที่ผู้คนทั่วโลกวิพากษ์วิจารณ์การจัดการการแพร่ระบาดของรัฐบาลจีนในเวลานี้

“เธอหาประโยชน์จากช่วงเวลาที่ประเทศกำลังเกิดวิกฤต” ผู้ใช้งานเว่ยป๋อรายหนึ่งระบุ และว่า “นี่มันเป็นสิ่งที่น่ารังเกียจ”

 

ความเดือดดาลยิ่งเพิ่มมากขึ้นอีก สะท้อนผ่านสื่อกระบอกเสียงของรัฐบาลจีนอย่างโกลบอลไทม์ เมื่อสำนักพิมพ์ที่จัดพิมพ์หนังสือของฟ่าง ฟ่าง เป็นสำนักพิมพ์ในสหรัฐอเมริกา ชาติที่กำลังเกิดความขัดแย้งกับจีนทั้งในด้านการค้าและการทูตในเวลานี้

“ความโด่งดังระดับโลกของเธอที่มาจากแรงขับจากสื่อต่างชาติ เป็นสัญญาณเตือนให้กับประชาชนชาวจีนว่า นักเขียนผู้นี้อาจกลายเป็นอีกหนึ่งเครื่องมืออันแสนสะดวกสบายของชาติตะวันตกในการบ่อนทำลายความพยายามของประชาชนชาวจีน” บทความของโกลบอลไทม์ระบุ และว่า เรื่องราวของฟ่าง ฟ่าง “เปิดเผยด้านมืดในอู่ฮั่น แต่ก็ละเลยที่จะกล่าวถึงความพยายามของประชาชนในท้องถิ่นและแรงสนับสนุนจากทั่วประเทศ”

ฟ่าง ฟ่าง จะเป็นเพียงหนึ่งเครื่องมือของชาติตะวันตก ที่กลายเป็นเชื้อฟืนก่อเกิดความขัดแย้งในสังคมจีน

หรือจะเป็นผู้ตีแผ่ความจริงในเมืองอู่ฮั่นผ่านตัวหนังสือ คงจะต้องตัดสินจากผลงานของเธอที่ถูกแปลเป็นภาษาอังกฤษในชื่อ “Wuhan Diary : Dispatches From a Quarantined City” ที่กำลังวางขายแล้วทั่วโลก