วิรัตน์ แสงทองคำ : เหตุเกิด ณ ศูนย์การค้า

วิรัตน์ แสงทองคำviratts.wordpress.com

วันแรกเปิดห้างสรรพสินค้า หลังล็อกดาวน์กรุงเทพฯ มาเกือบ 2 เดือน ดูจะเป็นปรากฏการณ์อันไม่ปกติ

กรณีหนึ่งเป็นกระแสครึกโครม “ประกาศจากอิเกีย บางนา… เนื่องจากขณะนี้สโตร์อิเกีย บางนา มีผู้ใช้บริการจำนวนมาก เราจึงจำเป็นต้องหยุดรับคนเข้าสโตร์ชั่วคราว เพื่อให้สามารถดูแลความปลอดภัยให้ทุกคนได้ตามมาตรการเว้นระยะห่างทางสังคมของเรา…” ปรากฏใน Social media หลังจากเปิดบริการไปราวๆ ครึ่งวัน

พิจารณาอย่างกว้างๆ คงเป็นไปตามภาพรวมวันนั้น ผู้คนในกรุงเทพฯ เดินทางไปยังศูนย์การค้าอย่างล้นหลาม เป็นปรากฏการณ์แตกต่างไปจากที่เป็นมา

จะว่าไปเป็นเพียงภาพสะท้อน ว่าด้วยความสัมพันธ์ระหว่างผู้คนเมืองหลวงกับห้างสรรพสินค้า ด้วยวิวัฒนาการมามากกว่าครึ่งศตวรรษ

จากโมเดลห้างสรรพสินค้า สู่ศูนย์การค้าหลากหลายรูปแบบ พัฒนาการไปอย่างไม่หยุดชะงัก แม้อยู่ในช่วงอิทธิพลทฤษฎีโดมิโนปลายสงครามเวียดนาม วิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจครั้งใหญ่ น้ำท่วมใหญ่ ชุมนุมทางการเมืองครั้งใหญ่และยืดเยื้อ จนกระทั่งกล้าปะทะและสวนกระแสกับการค้าปลีกออนไลน์

 

เรื่องราวยุคต้นๆ ย้อนไปหลังสงครามโลกครั้งที่สอง ผ่านบทเรียนกลุ่มเซ็นทรัล จากร้านขายหนังสือต่างประเทศเล็กๆ ที่สี่พระยา เป็นจุดหัวเลี้ยวหัวต่อ สู่การกำเนิดห้างสรรพสินค้าแห่งแรกในประเทศไทย

สังคมกรุงเทพฯ หลังสงครามโลก ปรากฏกลุ่มคนรุ่นใหม่ เติบโตต่อเนื่อง มาตั้งแต่การเปลี่ยนแปลงการปกครองปี 2475 การเปิดพรมแดนความรู้ใหม่ (จากหนังสือต่างประเทศ) เชื่อมโยงวิถีชีวิตให้มีความสัมพันธ์กับโลกตะวันตกมากขึ้น

“พวกเด็กสาวแต่งตัวประกวดประชันกันตามแฟชั่น สวมเสื้อสีสวยงดงามดังนางแบบที่ออกมาจากแคตตาล็อก แบบเสื้อสาวๆ ที่ล้ำหน้ากว่าคนอื่นๆ ก็ใส่แว่นกันแดดสีดำ สวมเสื้อใส่อาบน้ำสองท่อน ซึ่งทำให้เห็นเนื้อขาวผ่องตรงกลาง เป็นแฟชั่นใหม่ของเสื้ออาบน้ำที่ตกมาถึงเมืองไทย” ดังภาพตัวอย่างในหนังสือ “ชีวิตเหมือนฝัน” (2533) ของคุณหญิงมณี ศิริวรสาร เล่าประสบการณ์ที่หัวหินในปี 2490

ปี 2499 เตียง จิราธิวัฒน์ ผู้นำธุรกิจครอบครัว เริ่มต้นเปิดห้างเซ็นทรัลแห่งแรกที่วังบูรพา ต้นแบบห้างสรรพสินค้า (Department store) ในไทย

จนมาถึงอิทธิพลสหรัฐอเมริกา ซึ่งมากับสงครามเวียดนาม (2507-2518) มิได้มีเฉพาะในเรื่องการเมืองและการทหาร หากมีอย่างกว้างขวางต่อระบบเศรษฐกิจไทย จนกระทั่งถึงวิถีชีวิตผู้คน

ธุรกิจสหรัฐขยายการลงทุนอย่างเป็นขบวน ที่สำคัญคือกิจการ Consumer Product อิทธิพลโลกตะวันตกลงลึกถึงวิถีชีวิตและรสนิยมคนไทย เป็นกระบวนการเชิงขยาย จากชนชั้นนำกลุ่มเล็กๆ ไปสู่ฐานผู้คนที่กว้างขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มชนชั้นกลางที่เติบโตในช่วงเศรษฐกิจขยายตัว

 

ธุรกิจค้าปลีกในไทยเกิดขึ้นตามมาเป็นขบวนอย่างคึกคัก ทั้งนี้ เซ็นทรัลแสดงบทบาทนำในธุรกิจห้างสรรพสินค้า ด้วยการเปิด เซ็นทรัล สีลม (2511) และเซ็นทรัล ชิดลม (2516)

เชื่อว่าในยุคนั้น ว่าด้วยโมเดลห้างสรรพสินค้า เชื่อว่าอิทธิพลและบทเรียนมาจากอังกฤษ โดยเฉพาะเรื่องราว Selfridges มีความเชื่อมโยงกับห้างเซ็นทรัล สีลมพอสมควร

สารคดีเรื่อง Secrets of Selfridges ได้เล่าเรื่องราวห้างสรรพสินค้าใหม่ในกรุงลอนดอนเมื่อ 100 กว่าปีที่แล้ว โดยชาวอเมริกันผู้มีประสบการณ์ไม่ดีนักกับห้างหรูในลอนดอน

Selfridges เปิดศักราชใหม่ สร้างแรงกระตุ้นต่อผู้บริโภคอย่างเหลือเชื่อ ว่ากันว่าชาวลอนดอนราว 1 ใน 4 เข้าร่วมงานเปิดตัวครั้งแรก Selfridges เป็นห้างสรรพสินค้าตอบสนองลูกค้าทุกระดับ ท้าทายกับวัฒนธรรมชนชั้นดั้งเดิมของอังกฤษ มีแนวความคิดทางธุรกิจและการตลาดที่ไม่เคยมีมาก่อน ไม่ว่าการจัดแสดงสินค้า การลดราคาประจำปี ให้ความสำคัญในการจัดแต่งหน้าร้าน ฯลฯ ล้วนเกิดขึ้นเป็นครั้งแรกในโลกห้างสรรพสินค้า

ห้างกับคนกรุงเทพฯ ค่อยๆ ปรับเปลี่ยนไปไกลกว่านั้น พยายามผสมผสานกับวิถีชีวิตผู้คนมากขึ้นๆ เชื่อมโยงกับกิจกรรมเชิงสังคมและวัฒนธรรม เช่น เทศกาลขายสินค้าแบบ “งานวัด” จำหน่ายผลผลิตการเกษตรตามฤดูกาล รวมไปจนถึงกิจกรรมประเพณี อย่างวันสงกรานต์ หรือลอยกระทง บางทีบางคน ห้างกลายเป็นพื้นที่กิจกรรมชีวิตมากกว่าอยู่บ้านเสียอีก

 

เมื่อเข้าสู่ยุคหลังสงครามเวียดนาม จนมาถึงช่วงเศรษฐกิจไทยเฟื่องฟู ห้างสรรพสินค้าพัฒนาไปอย่างหลากหลาย โดยเฉพาะการเกิดขึ้นในโมเดลศูนย์การค้าในลักษณะ fully enclosed shopping mall ซึ่งเปิดฉากขึ้นครั้งแรกในสหรัฐ ในช่วงยุค 60″ (ซิกซ์ตี้) มักอยู่ในย่านชานเมือง เพียงทศวรรษเดียวก็มาถึงเมืองไทย อย่างกรณีเซ็นทรัลพลาซาลาดพร้าว (เปิดปี 2525) และศูนย์การค้ามาบุญครอง หรือ MBK (เปิดปี 2528)

อีกยุคหนึ่ง ขับเคลื่อนโดยการพัฒนาโครงข่ายคมนาคมครั้งใหญ่ ศูนย์กลางจับจ่ายใช้สอยอาณาบริเวณหัวถนนพระราม 1 ตัดกับสี่แยกปทุมวัน อยู่ในตำแหน่งกลายเป็นใจกลางกรุงเทพฯ ก็ว่าได้

แม้ว่าอยู่ในช่วงวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจ แต่ศูนย์การค้าสามารถดำเนินธุรกิจต่อไปได้ค่อนข้างดี โดยเฉพาะหลังจากบีทีเอสเปิดบริการในปี 2542 พลังและแรงดึงดูดมหาศาลเกิดขึ้นที่สยามเซ็นเตอร์-สยามดิสคัฟเวอรี่ ต่อเนื่อง เชื่อมโยง แผ่ขยายอาณาบริเวณนั้นให้กว้างขึ้นๆ

สยามเซ็นเตอร์ เปิดบริการครั้งแรกเมื่อปี 2516 ได้ปรับปรุงอีกครั้งเป็นครั้งที่สองเมื่อปี 2540 ตามแผนการผนวกกับสยามดิสคัฟเวอรี่เซ็นเตอร์ ซึ่งเปิดตัวในปีเดียวกัน ในพื้นที่ต่อเนื่องกัน ดูภาพกว้างๆ กลายเป็นย่านศูนย์การค้าหลายระดับ จากสยามสแควร์ สู่ศูนย์การค้า MBK

ศูนย์กลางจับจ่ายใช้สอยใหม่ ได้ขยายจินตนาการ เชื่อมภูมิศาสตร์ตามแนวรถไฟฟ้า สู่เอ็มโพเรียม ริมถนนสุขุมวิท ศูนย์การค้าขนาดใหญ่เปิดตัวท่ามกลางวิกฤตการณ์ (ปี 2540) และต่อมาได้เพิ่มสีสันขึ้นอีกในใจกลาง เมื่อสยามพารากอน เปิดขึ้นท่ามกลางวิกฤตการมืองไทย (ปี 2548) ในจังหวะกรุงเทพฯ กลายเป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยวแห่งภูมิภาคอย่างจริงจัง ด้วยความเชื่อมั่น ตามมาด้วยแผนการลงทุนโครงการใหญ่ๆ

ท้าทายกระแสใหม่ ที่ว่าศูนย์การค้าทั่วโลกกำลัง “ตกดิน” ขณะ Online shopping กำลังพุ่งแรง

 

IKEA เครือข่ายธุรกิจเฟอร์นิเจอร์ระดับโลกแห่งสวีเดนเปิดตัวในเมืองไทย ยุคขยายจินตนาการเช่นกัน จุดเริ่มต้น พัฒนาการรูปแบบค้าปลีกที่มีขนาดใหญ่รอบนอกกรุงเทพฯ ที่เรียกว่า Super regional mall เปิดบริการเต็มรูปแบบในปี 2555

IKEA เข้ามาในช่วงเวลาน่าสนใจ ผู้คนชนชั้นกลางเติบโตมากขึ้นในกรุงเทพฯ บางส่วนออกไปอยู่ “บ้าน” ไกลย่านชานเมือง ขณะที่อีกส่วนซึ่งกำลังเพิ่มมากขึ้นๆ อยู่กับที่ที่เล็กลงๆ ในคอนโดมิเนียม ตามแนวโครงการขนส่งมวลชนระบบรางกำลังเร่งก่อสร้าง

คนกรุงเทพฯ กับ “บ้าน” มีมิติอย่างที่เคยว่าไว้ “ความหมาย “บ้าน” ในกรุงเทพฯ คือส่วนที่แยกออกอย่างชัดเจนจากวิถีชีวิตส่วนใหญ่ ก็คือการทำงาน การแยกตัวออกจากกันระหว่างการทำงานกับการอยู่บ้าน เริ่มต้นกลายเป็นความแปลกแยกในการดำเนินชีวิต”

ขณะเดียวกัน “มีสถานบริการเปิด 24 ชั่วโมงมากที่สุดแห่งหนึ่งในโลก ห้างสรรพสินค้าปิดบริการดึกมาก รวมทั้งเครือข่ายค้าปลีก ร้านสะดวกซื้อ และโดยเฉพาะร้านอาหารซึ่งมีอยู่มากมาย” (Work@home มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 27 มีนาคม – 2 เมษายน 2563)

ทว่าจากประสบการณ์กักตัวและการทำงานที่บ้าน (Work From Home) ในช่วงภาวะฉุกเฉินและ Curfew มิได้เป็นเช่นนั้นเสียแล้ว

ความสัมพันธ์ระหว่าง IKEA กับชนชั้นกลางกรุงเทพฯ ในมิติข้างต้น น่าจะมีความหมายและนัยยะอยู่บ้างบางระดับ อาจเป็นภาคผนวกแห่งวิถีชีวิตแบบตะวันตก

เท่าที่แวะเวียนไปหลายครั้ง มองเห็นภาพ IKEA ในฐานะผู้นำเสนอประสบการณ์ในบ้านที่สำคัญ 2-3 มิติ จากประสบการณ์อันตื่นเต้นและสะดวกสบายในครัว (พื้นที่จำนวนอุปกรณ์ใช้ในครัว มีสัดส่วนค่อนข้างมาก)

สู่ระบบและเฟอร์นิเจอร์การจัดเก็บสิ่งของอย่างมีประสิทธิภาพ

ที่สำคัญขยายจินตนาการว่าด้วยการออกแบบพื้นที่เล็กๆ ให้คุณภาพชีวิตจับต้องได้ ด้วยสไตล์และรสนิยม ซึ่งเป็นไปได้ด้วยตนเอง

บางทีผู้คนซึ่งแห่แหนไป IKEA อาจมีทางแยก คงไม่เพียงเป็นไปตามสัญชาตญาณการออกนอกบ้านครั้งแรก ตาม “กระแสไปห้าง” หากเพื่อแสวงหาจินตนาการใหม่ๆ หลังจากตกผลึกด้วยประสบการณ์อยู่บ้านยาวนานอย่างไม่เคยทำมาก่อน